วันพุธที่ 17 กรกฎาคม พ.ศ. 2567

“ศิริกัญญา” นำฝ่ายค้านอภิปรายเปิด ชำแหละร่างงบกลางปี 67 รัฐบาลขอเพิ่ม 1.22 แสนล้านโปะดิจิทัลวอลเล็ต ชี้เพิ่มความเสี่ยงการคลัง ประเทศเสียหายถึงอนาคต แลกกับการรักษาหน้ารัฐบาล

 


ศิริกัญญา” นำฝ่ายค้านอภิปรายเปิด ชำแหละร่างงบกลางปี 67 รัฐบาลขอเพิ่ม 1.22 แสนล้านโปะดิจิทัลวอลเล็ต ชี้เพิ่มความเสี่ยงการคลัง ประเทศเสียหายถึงอนาคต แลกกับการรักษาหน้ารัฐบาล

 

วันที่ 17 กรกฎาคม 2567 ในการประชุมสภาผู้แทนราษฎร มีการพิจารณาร่าง พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายเพิ่มเติมประจำปีงบประมาณ (งบกลางปี) 2567 วงเงิน 1.22 แสนล้านบาท เสนอเป็นวาระด่วนโดยคณะรัฐมนตรี เพื่อเป็นส่วนหนึ่งของงบประมาณในการนำไปทำโครงการดิจิทัลวอลเล็ต

 

โดย ศิริกัญญา ตันสกุล สส.บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล ได้อภิปรายถึงความสุ่มเสี่ยงต่อการทำผิดกฎหมาย และสิ่งที่ผิดหลักการในการของบกลางปีเพื่อมาทำโครงการดิจิทัลวอลเล็ตในครั้งนี้ โดยระบุว่าโครงการดิจิทัลวอลเล็ตนี้ มีการเปลี่ยนแปลงวงเงินและแหล่งที่มาของเงินในการทำโครงการมาโดยตลอด ล่าสุดนอกจากงบประมาณรายจ่ายประจำปี 2568 ที่เพิ่งผ่านวาระ 1 เมื่อไม่นานมานี้ ที่จะมีการกู้เพิ่ม 1.52 แสนล้านบาท ก็ยังต้องกลับไปบริหารจัดการภายในงบประมาณปี 2568 อีก 1.32 แสนล้านบาท และยังมีส่วนของงบประมาณปี 2567 ที่มาขอสภากู้เพิ่มวันนี้อีก 1.22 แสนล้านบาท และหารายได้อื่นมาโปะเพิ่มอีกประมาณ 1 หมื่นล้านบาท ซึ่งเข้าใจว่าน่าจะมาจากเงินสดของบริษัทบริหารสินทรัพย์ไทย ที่อยู่ระหว่างการชำระบัญชี

 

การกู้เพิ่มอีก 1.22 แสนล้านบาท จะส่งผลเท่ากับว่าในงบประมาณปี 2567 จะมีการกู้เพิ่มเพื่อชดเชยขาดดุลทั้งสิ้น 8.05 แสนล้านบาท ซึ่งก็ยังสูงเป็นประวัติการณ์อยู่ดี เป็นรองแค่ปี 2568 ทำให้สัดส่วนการกู้ชดเชยขาดดุลสูงถึง 4.34% ถ้าย้อนกลับไปไม่เคยมีการตั้งงบประมาณเพื่อขาดดุลสูงขนาดนี้ ปกติควรต้องกดลงมาให้เหลือ 3% แต่รัฐบาลน่าจะติดใจกับการที่สามารถเบ่งงบออกไปเรื่อย ๆ และทำการกู้ชดเชยขาดดุลเพิ่มขึ้นไปได้เรื่อย ๆ ถึง 4.34% ซึ่งจะเป็นปัญหาในการเพิ่มหนี้สาธารณะและภาระในการชำระดอกเบี้ยชำระหนี้ตามมา

 

ศิริกัญญาอภิปรายต่อไปว่า แต่ที่เป็นปัญหาเฉพาะหน้ามากกว่านั้นคือการกู้จนเต็มเพดานของงบประมาณปี 2567 ซึ่งเพิ่งจะผ่านไปเมื่อต้นปีที่ผ่านมา จาก 3.48 ล้านล้านบาทวันนี้จะกลายเป็น 3.6 ล้านล้านบาทแล้ว เท่ากับจะมีการกู้เพิ่มจากเดิม 6.93 แสนล้านบาท เป็น 8.5 แสนล้านบาท แต่ถ้าไม่ได้มีการขยายเพดานของการกู้ก็จะกู้ได้แค่ 7.9 แสนล้านบาท ซึ่งไม่เพียงพอต่อการทำโครงการดิจิทัลวอลเล็ต จึงต้องมีการขยายเพดานเงินกู้โดยการขยายงบประมาณรายจ่ายประจำปีออกไปอีก 8.15 แสนล้านบาท แต่ก็ยังเป็นการกู้จนเกือบสุดเพดานเหมือนเดิม เหลือพื้นที่ให้กู้เพิ่มได้อีกเพียง 1 หมื่นล้านบาท

 

เหมือนกับว่าถ้ารัฐบาลนึกอะไรไม่ออกก็ใช้วิธีการเบ่งงบ กู้เพิ่ม เบ่งรายจ่ายให้สูงขึ้นไปเรื่อย ๆ โดยไม่มีรายได้เพิ่ม และถ้ารายได้ไม่มาตามคาดการณ์ก็จะไม่เหลือพื้นที่ให้กู้เพิ่มได้อีกเลย ปัญหาคือเมื่อหาเงินไม่ทันก็ต้องไปดูที่ฝั่งรายได้ ว่ารัฐบาลจะสามารถมีงบประมาณเหลือเพียงพอที่จะรองรับความเสี่ยงเวลาจัดเก็บรายได้ไม่เข้าเป้าได้หรือไม่ ถ้าเก็บรายได้ไม่ได้ตามที่คาดไว้ สมมุติว่าหลุดเป้า 5 หมื่นล้านบาท ก็จะกู้โปะได้อีกแค่ 1 หมื่นล้านบาท ทำให้งบประมาณที่สภาอนุมัติไป 3.48 ล้านล้านบาท สุดท้ายอาจจะใช้ได้ไม่ครบ เพราะรายได้ไม่เข้าเป้าและกู้โปะได้ไม่เพียงพอ แต่ที่รัฐบาลกำลังทำอยู่ก็คือการไม่สนใจสภาวะความเสี่ยงนี้ เพียงเพื่อได้ทำโครงการดิจิทัลวอลเล็ต และทำให้ต้องกู้จนสุดเพดานขนาดนี้

 

ปัญหาจะเกิดขึ้นเมื่อจัดเก็บรายได้ได้ไม่เพียงพอ จากการประมาณการจีดีพีใหม่ที่เดิมประมาณการไว้เฉลี่ยที่ 2.7% วันนี้มาเหลือ 2.5% และเมื่อดูเอกสารงบประมาณเกี่ยวกับประมาณการรายได้ ก็จะพบว่าไม่มีการประมาณการรายได้ใหม่ มีเพียงบอกว่าจะจัดเก็บรายได้ได้เท่าเดิม ทั้งที่เศรษฐกิจไม่ได้โตตามคาด และที่เพิ่มมา 1 หมื่นล้านบาทก็เป็นของใหม่ล้วน ๆ จะเป็นไปได้อย่างไรที่จะไม่มีการประมาณการรายได้ใหม่เลย และผลการจัดเก็บก็เห็นอยู่ว่าไม่มีทางได้เท่าเดิม

 

ศิริกัญญากล่าวต่อไป ว่าเมื่อต้นปีตนได้อภิปรายเอาไว้ว่ารายได้จะจัดเก็บได้ไม่เข้าเป้า ซึ่งตอนนี้ตัวเลขทางการออกมาของ 8 เดือนแรกก็ต่ำกว่าเป้าไปแล้ว 2.6 หมื่นล้านบาท และผล 9 เดือนก็น่าจะออกเร็วๆ นี้ คาดการณ์ว่ากรมสรรพสามิตน่าจะต่ำกว่าเป้า 5.8 หมื่นล้านบาท, กฟผ. ก็นำส่งได้ต่ำกว่าเป้า 8 พันล้านบาท, กรมศุลกากรจัดเก็บได้เกินเป้า 2.8 พันล้านบาท, กรมสรรพากรจัดเก็บเกินเป้า 1.1 หมื่นล้านบาท, กองทุนวายุภักษ์นำส่งรายได้เกิน 1.1 หมื่นล้านบาท แต่สุดท้ายก็ไม่มีทางที่รัฐบาลจะจัดเก็บภาษีได้ตามเป้า ด้วยสถานการณ์แบบนี้ที่ยังไม่รู้ว่าจะมีรายได้เพียงพอใช้สำหรับงบประมาณปี 2567 หรือไม่ แต่รัฐบาลก็ยังจะมาขอกู้สภาแบบเต็มเพดานอีก ถามว่าจะไม่เหลือพื้นที่ไว้ให้ได้บริหารความเสี่ยงอะไรเลยหรือ

 

ในส่วนการบริหารรจัดการ 4.3 หมื่นล้านบาทที่นายกรัฐมนตรีมายืนยันกับสภาว่าจะใช้งบกลางเงินสำรองจ่ายฉุกเฉินจำเป็น ซึ่งที่ผ่านมาใช้ไปแค่กับมาตรการลดค่าใช้จ่ายพลังงาน 2 ครั้งเกือบ 4 พันล้านบาท, ช่วยเหลือคนไทยในอิสราเอล, แก้ฝุ่น pm 2.5, แจกงบให้กลุ่มจังหวัด และแก้ปัญหาน้ำท่วมน้ำแล้ง ผ่านมา 7 เดือนงบกลางยังใช้ไปไม่ถึงไหน อนุมัติไปแค่ 1.79 หมื่นล้านบาท ยังไม่นับว่าการเบิกจ่ายจริงในบางโครงการจะน้อยกว่านี้หรือไม่มีการเบิกจ่ายเลยอีก

 

แม้รัฐบาลจะบอกว่าเศรษฐกิจแย่ แต่ที่ผ่านมาก็ไม่มีมาตรการออกมาช่วยเหลือประชาชน ที่ออกมาล่าสุดก็ไม่ได้มีมาตรการใหม่ที่ช่วยเหลือประชาชนระหว่างรอโครงการดิจิทัลวอลเล็ตเลย เมื่อเป็นแบบนี้ก็ได้แต่สรุปว่างบกลางเงินสำรองใช้จ่ายฉุกเฉินจำเป็นที่สภาอนุมัติไว้เกือบแสนล้านบาท ที่ไม่ออกมาเลยก็เพราะรัฐบาลยังไม่รู้ว่าตกลงจะต้องเอามาใช้กับโครงการดิจิทัลวอลเล็ตกี่บาท ตอนนี้น่าจะเคาะแล้วว่าจะใช้ 4.3 หมื่นล้านบาท ก็เท่ากับว่าเงินส่วนนี้จะไม่ได้ถูกเอาไปกระตุ้นหรือสร้างการเจริญเติมโตทางเศรษฐกิจในช่วงปีงบประมาณนี้ใช่หรือไม่” ศิริกัญญากล่าว

 

ศิริกัญญาอภิปรายต่อไป ว่างบกลางส่วนนี้ถ้าจะต้องเอามาเบิกจ่ายข้ามปีมาในปี 2568 เพื่อแจกดิจิทัลวอลเล็ต พร้อมกับงบประมาณอีกส่วนหนึ่งที่มาขอสภาวันนี้อีก 1.22 แสนล้านบาท รวมแล้ว 1.65 แสนล้านบาท จะถูกโยกข้ามมาใช้หลังจบปีงบประมาณ 2567 ในวันที่ 30 กันยายนนี้ เงินที่จะต้องไหลเวียนหลังจากอั้นไว้เพราะงบประมาณปี 2567 ออกล่าช้าก็จะถูกปล่อยออกมาไม่สุด เพราะต้องถูกกั๊กเอาไว้ใช้กับดิจิทัลวอลเล็ต

 

ซึ่งสุดท้ายไม่น่าจะทำได้ตามกฎหมาย เพราะตาม ม.21 ของ พ.ร.บ.วินัยการเงินการคลัง ก็บอกไว้ชัดเจนว่างบกลางปีต้องใช้จ่ายระหว่างปีงบประมาณ ใช้ข้ามปีไม่ได้ และไม่สามารถรอใช้พร้อมงบประมาณรายจ่ายประจำปี 2568 ได้ รัฐบาลอาจบอกว่าใช้ข้ามปีได้ แต่ ม.43 ของ พ.ร.บ.วิธีการงบประมาณ ก็ระบุว่าต้องก่อหนี้ผูกพันไว้ก่อนสิ้นปี ซึ่งรัฐบาลน่าจะใช้วิธีการตีความว่าการลงทะเบียนถือว่าเป็นการก่อหนี้ผูกพันแล้ว ทั้งที่ไม่ใช่

 

การก่อหนี้ผูกพันต้องเป็นสัญญาที่ทำทั้งสองฝ่าย การทำฝ่ายเดียวถือว่าเป็นการให้ การลงทะเบียนถือว่าไม่เป็นสัญญาต่างตอบแทนจึงไม่เกิดหนี้ ถ้าถือว่าการลงทะเบียนเป็นการก่อหนี้แล้ว ในอนาคตจะมีการเอาเยี่ยงอย่าง ใช้งบประมาณประจำปีไม่ทันก็เรียกประชาชนมาลงทะเบียนไว้ก่อนแล้วไปเบิกจ่ายข้ามปี งบประมาณในแต่ละปีจะใช้ไม่หมด จะเป็นการสร้างบรรทัดฐานที่ผิดที่จะทำให้การบริหารงบประมาณผิดพลาด

 

ศิริกัญญากล่าวต่อไป ว่าอีกประเด็นที่ทำให้รัฐบาลน่าจะเลือกใช้งบกลางเงินสำรองใช้จ่ายฉุกเฉินจำเป็น 4.3 หมื่นล้านบาทจากงบประมาณปี 2567 คือถ้างบกลางเงินสำรองใช้จ่ายฉุกเฉินจำเป็นไม่พอเมื่อไหร่ ก็ สามารถเบิกจ่ายทุนสำรองจ่ายได้อีก 5 หมื่นล้านบาท แต่ตาม ม.45 ของ พ.ร.บ.วิธีการงบประมาณ ระบุว่าจะใช้ได้ก็ต่อเมื่องบกลางเงินสำรองใช้จ่ายฉุกเฉินจำเป็นไม่เพียงพอ และเมื่อมีความจำเป็นเร่งด่วนเพื่อประโยชน์แก่ราชการแผ่นดินเท่านั้น

 

ทุนสำรองจ่ายเคยถูกใช้มาก่อนในช่วงโควิดเพื่อใช้แจกเงินเยียวยาในช่วงแรก แต่รอบนี้ความจำเป็นเร่งด่วนอย่างเดียวที่เห็นคือความจำเป็นที่จะต้องรักษาหน้ารัฐบาล แต่อย่าลืมว่างบประมาณก้อนนี้ต้องตั้งงบโอนคืนในโอกาสแรก ถ้าใช้ไป 5 หมื่นล้านบาทสุดท้ายก็ต้องมาตั้งงบประมาณคืนในปี 2569 อยู่ดี เรียกว่ายืมเงินข้ามปี แต่ถ้ารัฐบาลไม่คิดจะใช้ก็ดี แต่คำถามคือถ้าถึงเวลาลงทะเบียนจริงแล้วประชาชนมาลงทะเบียนเกิน 45 ล้านคนจนงบประมาณไม่พอแจกทุกคน แล้วรัฐบาลจะทำอย่างไรกันต่อ

 

ศิริกัญญาอภิปรายต่อไป ว่าปัญหาต่อมาคือการตีความงบประมาณโครงการนี้เป็นรายจ่ายลงทุนสูงถึง 80% ซึ่งตามนิยามปกติ งบรายจ่ายลงทุนคืองบประมาณที่ใช้ซื้อสิ่งของ สร้างสิ่งปลูกสร้างอายุเกิน 1 ปี ค่าจ้างใช้ทำของหรือปลูกสร้างสิ่งปลูกสร้างเหล่านั้น แต่ในโครงการดิจิทัลวอลเล็ตทุกคนก็ทราบกันดีว่าเป็นการใช้เพื่อการอุปโภคบริโภคเป็นหลัก

 

ตาม ม.20 ของ พ.ร.บ.วินัยการเงินการคลัง ระบุว่าถ้าจะตั้งงบประมาณแล้ว งบประมาณรายจ่ายลงทุนต้องไม่น้อยกว่า 20% ของงบประมาณรายจ่ายประจำปี และต้องไม่น้อยกว่าวงเงินส่วนที่ขาดดุลของงบประมาณรายจ่ายประจำปี ซึ่งถ้ารวมดิจิทัลวอลเล็ตตามการตีความว่าเป็นรายจ่ายลงทุน 80% เข้าไป ก็จะมีสัดส่วนสูงถึง 22.4% และเกินกว่าการขาดดุลงบประมาณที่ 8.76 แสนล้านบาท แต่ถ้าตีความตามที่เป็นจริง ก็จะไม่ผ่านทั้งเกณฑ์ 20% และเกณฑ์ที่ต้องเกินการขาดดุลงบประมาณ

 

ศิริกัญญาอภิปรายต่อไป ว่านอกจากความสุ่มเสี่ยงที่จะทำผิดกฎหมายแล้ว โครงการดิจิทัลวอลเล็ตยังมีปัญหาในเรื่องความไม่พร้อม อีก 15 วัน หรือวันที่ 1 สิงหาคม 2567 จะมีการเริ่มลงทะเบียนแล้ว แต่วันนี้ยังหาเจ้าภาพไม่ได้เลย รัฐบาลยังคงเสนอเป็นภาพรวมไว้ในงบกลาง ซึ่ง ม.22 ของ พ.ร.บ.วินัยการเงินการคลัง ระบุว่าตั้งได้เฉพาะเมื่อไม่สามารถจัดสรรให้หน่วยรับงบประมาณหรือไม่ควรจัดสรรให้หน่วยรับงบประมาณเท่านั้น

 

ไม่ใช่แค่เรื่องเจ้าภาพเท่านั้น ระบบลงทะเบียนก็เพิ่งจะได้ผู้ชนะการประมูลมา 2 ราย ในวันที่ 10 กับ 11 กรกฎาคม 2567 ในส่วนของระบบชำระเงินก็ยังไม่ได้ประกาศจัดซื้อจัดจ้าง มีการระบุแค่ว่าเป็นงานจ้างพัฒนาแพลตฟอร์มการชำระเงิน ซึ่งเมื่อตนเข้าไปตรวจสอบข้อมูลล่าสุด ก็ยังขึ้นแผนเหมือนเดิมว่าคาดว่าจะจัดซื้อจัดจ้างได้ภายในเดือนกรกฎาคม แต่อีก 15 วันจะลงทะเบียนแล้วระบบการชำระเงินจะทันได้อย่างไร

 

ไม่ต้องพูดถึงว่างบประมาณที่ใช้ก็แปลกประหลาด ระบบลงทะเบียนที่เป็นการต่อยอดจากแอปพลิเคชันภาครัฐที่มีอยู่แล้ว มีการใช้งบประมาณ 89.5 ล้านบาท ระบบจ่ายเงินที่จะใช้เป็น open-loop system ให้ธนาคารพาณิชย์มี interface รับชำระเงินดิจิทัลวิลเล็ตได้ ฯลฯ ใช้เงินแค่ 95 ล้านบาท ซึ่ง DGA (สำนักงานพัฒนารัฐบาลดิจิทัล) ชี้แจงว่าเป็นแค่งบประมาณในการพัฒนาระบบ แต่ไม่ได้รับประกันว่าจะเป็นเจ้าของระบบ ซึ่งอาจตีความได้ว่าผู้เข้ามาช่วยพัฒนาระบบก็จะมาเป็นเจ้าของระบบในที่สุด

 

นอกจากนี้ เงื่อนไขต่างๆ ยังมีการเปลี่ยนไปมาในส่วนของสินค้าที่เข้าร่วมได้ แต่ที่น่ากังวลที่สุดคือส่วนของร้านค้า อีก 15 วันต้องลงทะเบียนร้านค้าแล้วแต่ยังไม่มีมาตรการสร้างแรงจูงใจให้ร้านค้ารายย่อยเข้าร่วมโครงการได้ ระบบที่ถูกออกแบบมาเอื้อให้ร้านค้าที่มีสายป่านยาว แต่รายย่อยที่ใช้เงินสดเป็นหลักจะอยู่ไม่ได้ เงินดิจิทัลวอลเล็ตแม้จะใช้ซื้อวัตถุดิบได้ก็จริงแต่ก็ไม่ได้ทุกร้าน หรือไม่ได้มีแค่ต้นทุนค่าวัตถุดิบอย่างเดียว ยังมีค่าแรง ค่าเช่า ค่าน้ำมัน ฯลฯ เมื่อธุรกิจเงินสดเงินหมุนเข้าร่วมไม่ได้ แล้วจะให้มาลงทะเบียนได้อย่างไร หรือคนที่พร้อมลงทะเบียนแต่ยังไม่อยู่ในฐานภาษี มีการแจ้งหรือยังว่าต้องเข้าฐานภาษีเมื่อไหร่ จ่ายย้อนหลังได้หรือไม่ หรือถ้ามีเงินสดไม่พอจริงๆ มีสินเชื่อให้เขาเพื่อจูงใจให้เข้าร่วมโครงการหรือไม่ รัฐบาลไม่มีอะไรบอกเลย ที่ออกแบบมาเอื้อให้ทุนขนาดใหญ่ที่มีเงินสดและสายป่านมากพอนั้นก็แย่มากอยู่แล้ว แต่รัฐบาลยังไม่ทำอะไรเลยที่จะลดอุปสรรคให้รายย่อยเข้ามาได้ นี่คือการกีดกันรายย่อยกลาย ๆ

 

โครงการนี้ที่ตีไว้ 5 แสนล้านบาท ลงทุนไปแล้วได้อะไร คำตอบคือได้รักษาหน้าว่าได้ทำตามที่หาเสียงไว้แล้ว แม้หน้าตาของนโยบายจะไม่เหมือนกับตอนที่หาเสียงไว้เลยตั้งแต่ต้น ได้เพิ่มจีดีพีเต็มที่เลยตามประมาณการของกระทรวงการคลัง ก็ยังได้แค่ 3.5 แสนล้านบาท วิญญูชนควรรู้ว่าลงทุน 5 แสนล้านได้คืน 3.5 แสนล้านบาทเรียกว่าคุ้มหรือไม่ แต่สิ่งที่จะเสียก็คือการเพิ่มความเสี่ยงทางการคลังให้แก่ประเทศ ตอนนี้รัฐบาลไม่มีปัญญาจะรับมือกับสถานการณ์ฉุกเฉินเลย แค่ฝ่ายค้านพูดว่าต้องมีมาตรการเฉพาะหน้า วิ่งหาเงินก็ไม่เหลือแล้ว เพราะต้องเก็บไว้ทำดิจิทัลวอลเล็ต และยังต้องเสี่ยงทำผิดกฎหมายอีกหลายข้อ ซึ่งถ้าสามารถทำต่อไปได้จะสร้างบรรทัดฐานที่ผิดๆ ในการบริหารจัดการงบประมาณในอนาคต ซึ่งอาจจะสร้างความเสียหายที่ประเมินไม่ได้

 

อุตส่าห์ลงเงินไป 5 แสนล้าน แต่ก็สร้างเงื่อนไขกลไกโดยตั้งใจหรือไม่ได้ตั้งใจที่จะเอื้อค้าปลีกรายใหญ่ กีดกันรายย่อยโดยไม่รู้ตัว จนถึงทุกวันนี้ก็ยังไม่มีการแก้ไข เสียโอกาสแก้ปัญหาเศรษฐกิจเฉพาะหน้าให้ประชาชน เพียงเพราะต้องกั๊กเงินส่วนหนึ่งเอาไว้เพื่อไปทำโครงการนี้ตอนปลายปี และยังมีอีกหลายโอกาสที่จะต้องเสียไปที่จะได้ทำนโยบายอื่นๆ เพราะภาระที่จะเกิดขึ้นต่อจากนี้ไม่ได้จบแค่งบประมาณปี 2567-2568 มันจะตามเราอีกไปถึงปี 2569-2570 และจะไปทำให้พื้นที่ที่จะมีงบประมาณไปใช้ในการพัฒนาประเทศต่างๆ ลดน้อยถอยลงไปเรื่อย ๆ นี่จะเป็นกระสุนนัดใหญ่ นัดแรก นัดเดียว และนัดสุดท้ายของทั้งรัฐบาลที่จะได้มีโครงการขนาดใหญ่ขนาดนี้ ด้วยข้อจำกัดทางงบประมาณที่จะเกิดขึ้นตามมา” ศิริกัญญากล่าว

 

ศิริกัญญาอภิปรายทิ้งท้าย ว่าเมื่อครั้งที่แล้วที่มีการพิจารณางบประมาณปี 2567 ตนได้ส่งความห่วงใยไปยังข้าราชการประจำที่ยังซื่อตรงต่อหลักการให้ออกมากล้าท้วงติงกับโครงการนี้ที่มีปัญหา ไม่ตรงไปตรงมา และไม่ถูกต้องตามหลักวิชาการ แต่วันนี้ตนขอส่งความห่วงใยไปยังพรรคร่วมรัฐบาล ว่าจะกลายมาเป็นผู้สมรู้ร่วมคิดในการกระทำที่สุ่มเสี่ยงต่อการผิดกฎหมายครั้งนี้หรือไม่ ถ้าท่านเองก็ยังพอยึดถือหลักการอะไรอยู่ในหัวใจ ยังถือหลักวิชาการ มีความรู้เรื่องงบประมาณและการคลัง ท่านคงรู้ได้โดยไม่ต้องสงสัยว่าทำแบบนี้จะทำให้ประเทศสุ่มเสี่ยงต่อปัญหาที่จะเกิดขึ้นในอนาคตอย่างไร

 

#UDDnews #ยูดีดีนิวส์ #ดิจิทัลวอลเล็ต #งบ67