วันพฤหัสบดีที่ 5 ตุลาคม พ.ศ. 2566

"พริษฐ์" ตั้งกระทู้ถามรัฐบาล ความชัดเจนคกก.ศึกษาฯ จะร่างรธน.ใหม่ทั้งฉบับโดย สสร. เลือกตั้ง 100% หรือไม่ ด้าน "ภูมิธรรม" ไม่ตอบเลือกตั้ง สสร. แต่ให้ทุกฝ่ายมั่นใจ โรดแมป 4 ปี มีรธน.ใหม่-กม.ลูก เดินหน้าเลือกตั้ง

 


"พริษฐ์" ตั้งกระทู้ถามรัฐบาล ความชัดเจนคกก.ศึกษาฯ จะร่างรธน.ใหม่ทั้งฉบับโดย สสร. เลือกตั้ง 100% หรือไม่ ด้าน "ภูมิธรรม" ไม่ตอบเลือกตั้ง สสร. แต่ให้ทุกฝ่ายมั่นใจ โรดแมป 4 ปี มีรธน.ใหม่-กม.ลูก เดินหน้าเลือกตั้ง


วันที่ 5 ตุลาคม 2566 ในที่ประชุมสภาผู้แทนราษฎร พริษฐ์ วัชรสินธุ สส.บัญชีรายชื่อ และโฆษกพรรคก้าวไกล ได้ตั้งกระทู้ถามสดต่อรองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ ภูมิธรรม เวชยชัย ต่อกรณีการตั้งคณะกรรมการศึกษาแนวทางการทำประชามติแก้ไขรัฐธรรมนูญ พร้อมขอให้ตอบยืนยันในหลักการสำคัญ


พริษฐ์ระบุว่า หากย้อนไปเมื่อวันที่ 2 สิงหาคม ที่พรรคเพื่อไทยฉีก MOU และแยกทางจากก้าวไกล หัวหน้าพรรคเพื่อไทยในเวลานั้นกล่าวอย่างชัดเจนว่าในการประชุม ครม. นัดแรก รัฐบาลที่นำโดยพรรคเพื่อไทยจะมีมติให้เดินหน้าจัดทำประชามติ เพื่อนับหนึ่งไปสู่การจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ของประชาชน


แต่ 42 วันถัดมา ในการประชุม ครม. นัดแรกเมื่อวันที่ 13 กันยายน รัฐบาลกลับลำจากการเดินหน้าจัดทำประชามติ มาเป็นเพียงการตั้งคณะกรรมการศึกษาแนวทางการทำประชามติ ที่นายกรัฐมนตรีได้ลงนามแต่งตั้งเมื่อวานนี้ ซึ่งตนไม่ติดใจหากรัฐบาลอยากตั้งคณะกรรมการขึ้นมาศึกษาในประเด็นต่างๆ เพื่อความรอบคอบ แต่สิ่งที่ถูกศึกษาควรจำกัดเฉพาะสิ่งที่ยังไม่เคยถูกศึกษามาก่อน หรือสิ่งที่เคยถูกศึกษามาแล้วแต่ด้วยกระบวนการที่ไม่ได้มีส่วนร่วมของทุกฝ่าย


ดังนั้น เมื่อนำเกณฑ์และหลักการดังกล่าวมาใช้ ตนจึงกังวลว่าคณะกรรมการศึกษาที่ตั้งขึ้นมาจะกลายเป็นกระบวนการศึกษาที่อาจจะเสียทั้งเวลาและงบประมาณเพิ่มเติมโดยไม่จำเป็น หรือหากมองโลกในแง่ร้าย นี่คือกระบวนการที่เสี่ยงจะถูกใช้เพื่อลบหลักการที่เคยเป็นข้อสรุปร่วมกันมาก่อนแล้ว


พริษฐ์กล่าวต่อไป ว่าเพราะแนวทางการแก้ปัญหารัฐธรรมนูญ 2560 เป็นสิ่งที่ถูกศึกษา พิจารณา และถกเถียงกันมาโดยละเอียดผ่านกระบวนการที่ทุกฝ่ายมีส่วนร่วม จนนำไปสู่ข้อสรุปและแนวทางที่หลายฝ่ายเคยเห็นตรงกันมาแล้ว โดยมี 4 เหตุการณ์สำคัญที่ทำให้เห็นได้ชัดว่าสังคมเคยได้ข้อสรุปอะไรร่วมกันมาแล้วบ้าง กล่าวคือ 


1) ย้อนไป 2562 สภาผู้แทนราษฎรได้มีการตั้ง “คณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาศึกษาปัญหา หลักเกณฑ์ และแนวทางการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ 2560” ที่มีตัวแทนจากทุกพรรคในสภาเวลานั้น ใช้เวลากว่า 8 เดือนในการรับฟังความเห็นและศึกษาทุกมาตราของรัฐธรรมนูญ 2560 โดยละเอียด สรุปเป็นรายงานออกมากว่า 600 หน้า โดยหนึ่งข้อสรุปสำคัญที่มีความเห็นตรงกัน คือการสนับสนุนให้มีการร่างรัฐธรรมนูญใหม่โดย สสร.


2) ในปี 2563 - 2564 สมาชิกรัฐสภาบางส่วนได้นำข้อสรุปจากคณะกรรมาธิการนี้ มาเสนอเป็นร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญเข้าสู่การพิจารณาของรัฐสภา โดยมี 2 ร่างที่มีหลักการเดียวกัน คือการให้มี สสร. มาร่างรัฐธรรมนูญใหม่ เมื่อเข้าสู่การพิจารณาในวาระที่ 1 สมาชิกรัฐสภาได้ลงมติรับหลักการทั้ง 2 ร่าง ด้วยคะแนนสูงที่ถึง 88% และ 79% ตามลำดับ และในวาระที่ 2 สมาชิกรัฐสภาเสียงส่วนใหญ่ก็ได้ลงมติยืนยันว่า สสร. ต้องมาจากการเลือกตั้งทั้งหมด 


แต่พอมาถึงวาระที่ 3 ที่ร่างดังกล่าวไม่ผ่านก็ไม่ใช่เพราะสมาชิกรัฐสภาไม่เห็นด้วยกับการจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ แต่เป็นเพราะสมาชิกรัฐสภาบางส่วนไปอ้างว่าคำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญที่ 4/2564 ที่ระบุให้ต้องจัดทำประชามติเพื่อถามประชาชน ก่อนจะมีการเสนอร่างใด ๆ เข้าสู่วาระ 1 


3) ในปี 2565 พรรคก้าวไกลและพรรคเพื่อไทยร่วมกันยื่นเสนอญัตติเข้าสภา เพื่อให้มีการจัดทำประชามติดังกล่าวด้วยคำถามว่า “ท่านเห็นชอบหรือไม่ ว่าประเทศไทยควรจะมีการจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ทั้งฉบับ แทนที่รัฐธรรมนูญ 2560 ฉบับปัจจุบัน โดย สสร. ที่มาจากการเลือกตั้งโดยตรงของประชาชน” และเมื่อมีการลงมติ ข้อเสนอคำถามประชามตินี้ก็ได้รับความเห็นชอบอย่างเป็นเอกฉันท์จากสภาผู้แทนราษฎร รวมถึงจาก สส. ทุกพรรคที่มี สส. ในสภาฯ ณ เวลานั้น และร่วมรัฐบาลในวันนี้ แม้ญัตติของ สส. ดังกล่าวจะถูก สว. ปัดตก แต่ทุกคนรู้ดีว่าตามกลไกของ พ.ร.บ.ประชามติ สว. ไม่มีอำนาจปัดตกข้อเสนอประชามติ หากถูกเสนอโดย ครม. 


4) ในช่วงการเลือกตั้งปี 2566 หลายพรรค รวมถึงทั้งพรรคก้าวไกลและพรรคเพื่อไทย ประกาศว่าหากได้รับเลือกเป็นรัฐบาล ก็พร้อมที่จะออกมติให้มีการเดินหน้าจัดทำประชามติทันที โดยไม่จำเป็นต้องอาศัยเสียงของ สว. 


พริษฐ์กล่าวต่อไป ว่าแต่มาถึงวันนี้ ท่านกลับเลือกจะตั้งคณะกรรมการศึกษาขึ้นมาก่อน ทั้งที่แทบทุกฝ่ายเคยได้ข้อสรุปร่วมกันแล้วว่าต้องมีรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ ว่าต้อง มี สสร.ที่มาจากการเลือกตั้งทั้งหมด ว่าต้องเริ่มต้นจากการทำประชามติ และเคยได้ข้อสรุปร่วมกันแล้วแม้กระทั่งตัวคำถามประชามติ


ตอนนี้จึงไม่ใช่เวลาของการศึกษา แต่คือเวลาของการตัดสินใจว่าจะเดินหน้าต่ออย่างไร จึงขอถามรองนายกรัฐมนตรีชัดๆ ว่าท่านตั้งคณะกรรมการศึกษาขึ้นมาเพื่ออะไร ถ้าตั้งขึ้นมาเพื่อศึกษารายละเอียดปลีกย่อยที่อยู่ภายใต้กรอบของข้อสรุปที่เคยมีร่วมกันแล้วตนก็พอเข้าใจได้ แต่ท่านยืนยันได้หรือไม่ว่าไม่ได้ตั้งขึ้นมาเพราะท่านไม่กล้าตัดสินใจเดินหน้าตามจุดยืนเดิม แต่ต้องการยืมมือคนอื่นมาสร้างความชอบธรรม ในการกลับย้อนหลักการเดิมที่ท่านเคยยืนยันและที่แทบทุกฝ่ายเคยได้ข้อสรุปร่วมกันไปแล้ว


ด้านภูมิธรรม ได้ตอบคำถามแรก โดยระบุว่ารัฐบาลไม่คิดว่าจะดึงให้ทุกอย่างล่าช้า แต่อยากให้การแก้ไขรัฐธรรมนูญที่ประสบความสำเร็จ เพราะจากที่มีการดำเนินการมาหลายครั้ง ข้อสรุปก็มีความเปลี่ยนแปลงไปมากขึ้น สะท้อนความรู้สึกที่ยังไม่ตรงกันของคนในสังคมมาก 


การทำครั้งนี้จึงเป็นความมุ่งมั่น มีการนำเรื่องนี้เข้าหารือในการประชุมคณะรัฐมนตรีครั้งแรก แต่ก็เห็นว่ายังมีความคิดเห็นที่แตกต่างหลากหลายอยู่ มีหลายเรื่องที่ถ้าไม่สามารถกำหนดประเด็นให้เหมาะสมชัดเจนจะก่อให้เกิดความขัดแย้งใหม่ รัฐบาลจึงพิจารณาอย่างรอบคอบ ให้มีคณะกรรมการที่จะติดตามหาข้อสรุปในการทำประชามติ เพื่อแก้ไขปัญหาความเห็นที่แตกต่างในรัฐธรรมนูญ โดยมีหลักการที่ชัดเจนคือ


1) จัดทำให้เกิดรัฐธรรรมนูญฉบับใหม่โดยเร็วที่สุด ตามกรอบที่กฎหมายกำหนดไว้ โดยให้คำมั่นได้ว่าภายใน 4 ปีจะมีรัฐธรรมนูญที่ผ่านความเห็นชอบของคนในสังคม แต่ในละช่วงเวลาก็ยังสามารถร่นเวลาได้ และต้องการให้การทำประชามติเหลือน้อยครั้งที่สุด เพราะในเวลาอันใกล้ไม่ควรต้องเสียงบประมาณมากขนาดนั้น อยากให้มีการทำประชามติสัก 2 ครั้ง


2) ให้การแก้ไขรัฐธรรมนูญครั้งนี้ทำได้สำเร็จ ไม่ใช่ให้ตกไปเหมือน 4 ครั้งที่ผ่านมา จึงต้องหาจุดร่วมที่ดีที่สุด ให้เกิดรัฐธรรมนูญที่มีความเป็นประชาธิปไตยมากขึ้น โดยคาดว่าภายใน 4 ปีนี้จะเสร็จพร้อมกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญทุกฉบับ สำหรับการเลือกตั้งครั้งใหม่หลังจากนั้น โดยประเด็นที่สำคัญ คือหลักการว่าต้องยกเว้นหมวด 1 และหมวด 2 ซึ่งเป็นประเด็นที่ทุกคนเห็นพ้องต้องกัน 


ภูมิธรรมยังระบุด้วย ว่าที่ต้องใช้เวลาในการดำเนินการ ก็เพราะการทำประชามติใหม่มีขั้นตอนและกระบวนการตามกฎหมาย เพื่อความรอบคอบจึงเสนอให้มีการรับฟังความเห็นของประชาชนให้เต็มที่ที่สุดเท่าที่จะทำได้ และได้มีความพยายามรวบรวมพรรคการเมืองทุกพรรคเข้ามาหาความเห็นแล้ว เสียดายที่พรรคก้าวไกลไม่ได้เข้าร่วม แต่ก็เคารพในเหตุผลของพรรคก้าวไกล และแม้พรรคก้าวไกลจะยังไม่ได้เข้าร่วม แต่ก็จะยังมีการขอความเห็นจากพรรคก้าวไกล และนี่จะไม่ได้ทำให้การแก้ไขรัฐธรรมนูญสะดุดลง


ด้านพริษฐ์ ได้อภิปรายสอบถามต่อในคำถามที่สอง โดยระบุว่าขอบคุณรองนายกรัฐมนตรีที่ให้ความชัดเจนขึ้นมาบ้างในด้านกรอบเวลา 4 ปีเป็นอย่างช้า แต่ขอชี้แจงว่าที่พรรคก้าวไกลมีมติออกมาว่ายังไม่ร่วมคณะกรรมการ ก็เพราะพรรคก้าวไกลมีสองจุดยืนชัดเจน ว่ากระบวนการจัดทำรัฐธรรมนูญต้อง 1) เป็นการจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ทั้งฉบับ และ 2) เป็นการจัดทำโดย สสร. ที่มาจากการเลือกตั้งทางตรงของประชาชน ซึ่งเป็นกรอบที่กว้างแต่ขาดไม่ได้ หากไม่ยืนยันในจุดยืนดังกล่าวก็อาจจะเป็นการติดกระดุมเม็ดแรกที่ผิดได้


ตราบใดที่รัฐบาลไม่มีความชัดเจนว่าการทำงานของคณะกรรมการจะเป็นไปภายใต้กรอบสองจุดยืนนี้ และอาจจะเป็นการทลายกรอบดังกล่าว พรรคก้าวไกลก็ขอไม่เข้าไปร่วมในฐานะกรรมการ แต่เรายินดีให้ความร่วมมือในการให้ข้อมูล ความเห็น และข้อเสนอของพรรคต่อคณะกรรมการ 


พริษฐ์ยังกล่าวต่อไป ว่าในประเด็นที่เกี่ยวกับหมวด 1 และ หมวด 2 ของรัฐธรรมนูญ แม้ท่านจะมีความชัดเจนแล้วว่าจะไม่ให้มีการแก้ไขเนื้อหาใด ๆ แต่ท่านยังไม่เคยตอบว่าหากประชาชนหรือบุคคลที่อาจไม่ใช่ประชาชนทั่วไป ประสงค์อยากจะเสนอแก้ข้อความบางส่วนที่ไม่กระทบต่อระบอบการปกครองหรือรูปแบบของรัฐ ท่านจะอธิบายกับบุคคลดังกล่าวอย่างไร ว่าท่านจะไม่อนุญาตให้แม้กระทั่งเสนอความเห็นหรือการแก้ไขบางข้อความ?


แต่ยิ่งไปกว่านั้น แม้คุณภูมิธรรมได้ให้สัมภาษณ์ในทำนองว่ารัฐบาลจะสนับสนุนให้มีการยกร่างใหม่ทั้งหมด จากหมวด 3 เป็นต้นไป แต่ตนต้องการคำยืนยันว่าจุดยืนนี้ไม่ใช่ความเห็นหรือเป้าหมายส่วนตัว แต่เป็นจุดยืนของรัฐบาลที่ไม่เปลี่ยนแปลงอีกในอนาคต ดังนั้น ตนขอถามรองนายกรัฐมนตรีต่อ ว่ารัฐบาลยืนยันได้หรือไม่ ว่าจะสนับสนุนการจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ โดยคณะกรรมการนี้จะมีหน้าที่ในการหารือภายใต้เป้าหมายในการจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ มิได้มีอำนาจในการปรับลดเป้าหมาย ให้เหลือเพียงแค่การแก้ไขรายมาตรา


ต่อคำถามที่สอง ภูมิธรรมระบุว่าความกังวลต่อการติดกระดุมเม็ดแรกที่ผิดเป็นสิ่งที่เราคิดเหมือนกัน แต่การตั้งคณะกรรมการขึ้นมาเช่นนี้ต่างหาก คือการติดกระดุมเม็ดแรกที่ถูก เพราะเป็นการดึงทุกส่วนมายืนยันอีกครั้ง ซึ่งจะไม่ใช้เวลามากเพราะตนวางกรอบไว้ประมาณ 3 เดือนเท่านั้น


ที่ควรรับหลักการ คือวันนี้ต้องทำให้รัฐธรรมนูญเป็นประชาธิปไตยมากขึ้น โดยดูจากความเป็นจริงและทำความเข้าใจ แก้ไขอุปสรรคที่เป็นปัญหาของประเทศ ซึ่งตนเสนอว่าพรรคก้าวไกลไม่ควรมองแง่ร้ายเกินไป ทำใจกว้างและเข้ามาคุยกันในเวทีที่จะปรึกษาหารือกัน แม้พรรคก้าวไกลจะไม่เข้าร่วมคณะกรรมการ แต่ก็ได้มีการหารือกันแล้วว่าจะเชิญพรรคก้าวไกลเข้ามาหารือ และจะเปิดเวทีให้สื่อมวลชนและประชาชนแสดงความคิดเห็นก่อน แม้จะช้าไป 3 เดือนแต่ก็จะทำให้ได้ความเห็นของทุกคนมากขึ้น


ด้านพริษฐ์ได้อภิปรายถามต่อในคำถามสุดท้าย โดยระบุว่าตนไม่ได้ถามเรื่องกรอบเวลา แต่เป็นเรื่องหลักการพื้นฐาน และตนก็ให้เกียรติคณะกรรมการทุกคนที่อาจมีความคิดที่แตกต่างออกไป แต่นี่เป็นกระบวนการปกติที่จะต้องมีการสอบถามก่อนตอบตกลงเข้าร่วมคณะกรรมการใด ว่ากรอบการทำงานและหลักการที่คณะกรรมการยึดถือคืออะไร


ดังนั้น ตนจึงขอถามต่อเกี่ยวกับจุดยืนในการมี สสร. ที่มาจากการเลือกตั้ง เพราะตนมองว่าตามหลักการประชาธิปไตยพื้นฐาน ในเมื่อ สส. ที่มีอำนาจร่างกฎหมายทั่วไปยังต้องมาจากการเลือกตั้งทั้งหมด สสร. ที่มีอำนาจร่างกฎหมายสูงสุดอย่างรัฐธรรมนูญจึงควรต้องมีความยึดโยงกับประชาชนไม่น้อยกว่า สส.


และหากไม่ต้องการให้ สสร. ถูกผูกขาดโดยฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง แต่เป็นกระจกสะท้อนความหลากหลายในสังคม วิธีที่ดีที่สุดย่อมไม่ใช่การมี สสร. จากการแต่งตั้ง ที่เสี่ยงถูกแทรกแซงโดยบางฝ่าย แต่ควรเป็น สสร. ที่ประกอบไปด้วยตัวแทนที่มาจากการเลือกตั้งของประชาชน เพราะจะเป็นตัวแทนของทุกชุดความคิดตามสัดส่วนที่มีอยู่ในสังคม โดยยังจะสามารถมีพื้นที่ให้ผู้เชี่ยวชาญทางกฎหมายเข้ามามีส่วนร่วมจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ได้ ด้วยการตั้งคณะกรรมาธิการยกร่าง


ดังนั้น การทำให้ สสร. มาจากการเลือกตั้ง 100% เป็นเพียงการวางหลักประกันว่าเมื่อผู้เชี่ยวชาญช่วยให้คำแนะนำหรือช่วยยกร่างมาแล้ว ทุกการตัดสินใจจะต้องผ่านความเห็นชอบของตัวแทนที่มาจากการเลือกตั้งโดยตรงของประชาชนเท่านั้น


พริษฐ์กล่าวต่อไป ว่าดังนั้น ตนจึงอยากถามรองนายกรัฐมนตรี ว่าตกลงแล้ว สสร. ที่ท่านเคยให้สัมภาษณ์ว่าต้องมี จะยืนยันได้ไหมว่าจะเป็น สสร. ที่มาจากการเลือกตั้งทางตรงทั้งหมด หรือหากเจาะจงกว่านั้น คณะกรรมการนี้จะมีหน้าที่หารือเกี่ยวกับรายละเอียดปลีกย่อยของ สสร. ที่มาจากการเลือกตั้ง ไม่ว่าจะเป็นจำนวน ระบบเลือกตั้ง หรือกรอบระยะเวลาในการทำงาน หรือคณะกรรมการนี้จะมีอำนาจในการลดทอน สสร. จากการเลือกตั้ง 100% ให้กลายเป็น สสร. ที่มีส่วนผสมของการแต่งตั้ง


ด้านภูมิธรรม ได้ตอบคำถามสุดท้าย โดยระบุว่า ครม. มีจุดมุ่งหมายให้การจัดทำรัฐธรรมนูญครั้งนี้ได้ร่างด้วยกระบวนการที่มีส่วนร่วมมากที่สุด แต่กระบวนการแรกที่สำคัญคือการดึงความมีส่วนร่วมจากทุกฝ่าย ผ่านเวทีที่จะเปิดขึ้น และจะทำให้กระบวนการทั้งหมดมีความหนักแน่นขึ้น โดยตนยืนยันได้ว่ารัฐธรรมนูญฉบับใหม่จะทำให้ดีที่สุด เป็นประชาธิปไตยให้มากที่สุด ประชาชนมีส่วนร่วมที่สุด ให้เป็นไปตามกฎหมายมากที่สุด


#UDDnews #ยูดีดีนิวส์ #ประชามติ #แก้รัฐธรรมนูญ #เพื่อไทย #ก้าวไกล