แลไปข้างหน้ากับ
ธิดา ถาวรเศรษฐ EP.110
ประเด็น
: มุมมองต่อคนเสื้อแดงในการเลือกตั้ง 2566
วันนี้ดิฉันก็อยากจะพูดเรื่องสำคัญอีกเรื่องหนึ่งเพราะมันเป็นที่โจษจันกันมากก็คือ
“มุมมองต่อคนเสื้อแดงในการเลือกตั้งปี 2566”
เป็นที่เข้าใจกันแล้วว่าเรื่องราวของคนเสื้อแดงเป็นจุดพลิกผันที่สำคัญว่า
ผลการเลือกตั้งครั้งนี้จะเป็นอย่างไร
ตอนนี้เป็นที่เข้าใจกันแล้วแม้กระทั่งคนอย่างกลุ่มของพรรคพลังประชารัฐ
แล้วก็ลุงป้อม พูดกันตรง ๆ ว่ามีการแบ่งขั้วเป็นฝั่ง “เสรีนิยม” กับฝั่ง
“อนุรักษ์นิยม” แต่สำหรับดิฉัน ดิฉันว่าคำว่า “อนุรักษ์นิยม” มันเบาไป ดิฉันมักจะใช้คำว่า
“จารีตอำนาจนิยม” เพราะอนุรักษ์นิยมถ้าพูดถึงในต่างประเทศ (Conservative) ยังมีสปิริตของประชาธิปไตย
แต่อนุรักษ์นิยมในประเทศไทยนั้นค่อนข้างสุดขั้ว
ไม่มีสปิริตในการที่จะมองเห็นอำนาจประชาชนด้วยซ้ำ เพราะฉะนั้นดิฉันมักจะใช้คำว่า
จารีตนิยม อำนาจนิยม นั่นก็คือ การเมือง ความเชื่อ
ความชอบของประชาชนได้แบ่งออกเป็น 2 ขั้ว ก็คือฝั่งเสรีนิยม
กับจารีตและอำนาจนิยม
อันที่จริงมันก็มีเฉดของมัน
แต่ว่าความขัดแย้งในประเทศไทยนั้นร้าวลึกจนกระทั่งมันเกิดเส้นแบ่งที่ยิ่งใหญ่
แม้นจะมีคนกระโดดข้ามอยู่บ้างจำนวนหนึ่ง แต่ว่าผลของการมีกิจกรรมทางการเมือง
การปราบปรามประชาชน การจับกุมคุมขัง ความเกี่ยวข้องกับองค์กรอิสระและเรื่องยุบพรรคการเมือง
มันได้บอกให้เรารู้ว่ามีการแบ่งการเมืองเป็น 2 ขั้วอยู่แล้วตั้งแต่ต้น
ตัวดิฉันเองก็มีความเชื่อว่าฝั่งเสรีนิยมจะแลนด์สไลด์ ก็คือฝ่ายที่เลือกการเมืองในระบอบประชาธิปไตยที่เรามักจะเรียกกันว่ามีความคิดเสรีนิยมจะต้องเป็นฝ่ายชนะ
เพราะฉะนั้น
แม้นเราจะขมขื่นปวดร้าวกับการที่มีการทำรัฐประหาร แล้วสืบทอดอำนาจมาถึง 9 ปี
แต่ในทัศนะของดิฉัน เรามองอีกด้านหนึ่งของเหรียญ
มันก็มีความคุ้มค่าที่เราพบการตื่นตัวของประชาชนเป็นจำนวนมากในการเลือกตั้งคราวนี้
แล้วก็กลุ่มคนที่เคยเป็นฝ่ายอนุรักษ์นิยม หรือว่าเลือกพรรคฝ่ายอนุรักษ์นิยม
จารีตนิยม จำนวนหนึ่งก็มองเห็นโทษ มองเห็นพิษภัยของการทำรัฐประหารแล้วมีอำนาจ
รวมทั้งกลุ่มคนรุ่นใหม่
คนเหล่านี้ได้มาเพิ่มเติมสัดส่วนให้ฝ่ายเสรีนิยมฝ่ายที่ต้องการเสรีประชาธิปไตยมีจำนวนที่มากขึ้น
ๆ ๆ เรื่อย ๆ นี่เป็นภาพรวมใหญ่ทั้งหมด
ทีนี้เรามาพูดเรื่องของคนเสื้อแดง
เนื่องจากคนเสื้อแดงนั้นต้องบอกตรง ๆ
ว่าเป็นผู้รักประชาธิปไตยที่ต่อสู้กับระบอบที่เราเรียกกันว่าระบอบอำมาตยาธิปไตยหรือฝ่ายอำนาจนิยม
ต่อต้านรัฐประหาร มาตั้งแต่รัฐประหาร 2549 ตั้งแต่วันแรก ๆ เลย
แล้วก็ยืนหยัดมาจนถึงบัดนี้ มันก็เป็นเสื้อแดงรุ่นเก่า
แล้วในระหว่างทางมันก็มีการเติม บางคนสู้มาตั้งแต่ปี 2550
บางคนก็มาสู้เอาตอน 2552, 2553
หลังจากนั้นบางคนก็มาสู้หลังปี 2554 มันก็มีพัฒนาการมาเรื่อย
ๆ และแน่นอนมันก็มีเสื้อแดงส่วนหนึ่งซึ่งอาจจะเป็น”แดงอ่อน”
แล้วก็มีปัญหาทางเรื่องสุขภาพ ร่างกาย แล้วก็เศรษฐกิจ โรยราไป แต่ว่ามีออกไป
ไม่ได้ออกไปเป็นเสื้อเหลืองนะคะ คือโรยราไป อาจจะไม่มีอุดมการณ์เข้มแข็ง แต่ก็มีเสื้อแดงรุ่นใหม่เติมเข้ามา
ดังนั้น
ในฝ่ายของผู้รักประชาธิปไตย (ดิฉันอยากจะพูดอย่างนี้) มันก็เพิ่มจำนวน
เพิ่มพละกำลังอย่างกล้าแข็งมากขึ้นเรื่อย ๆ โดยเฉพาะคนรุ่นใหม่เราจะเรียกเขาเสื้อแดงหรือเปล่า
แต่ถ้าโดยนิยามของคนเสื้อแดงที่รักประชาธิปไตย รักความยุติธรรม เขาเป็นเสื้อแดงนะ
แต่เป็นคนเสื้อแดงรุ่นใหม่ที่ไม่จำเป็นต้องเรียกตัวเองว่าเป็นคนเสื้อแดง ดิฉันก็ยังเห็นว่าในการหาเสียงเลือกตั้งครั้งนี้ที่
“เพื่อไทย” ใช้สีแดงเป็นสัญลักษณ์ มันก็เร้าอารมณ์ความรู้สึกเก่า ๆ
หลายคนก็มีเอาธงนปช.มาโบก ดิฉันเห็น
แล้วภาพที่มีคนจำนวนมากมันก็ไม่ต่างกับภาพในอดีต
เพียงแต่นี่เป็นกิจกรรมทางการเมืองในการต่อสู้ในเวทีรัฐสภา แต่เสื้อแดงนปช.
เป็นการต่อสู้นอกเวทีรัฐสภา
ซึ่งดิฉันจำเป็นต้องพูดเพราะว่าหลายคนบางทีก็จะสับสนเรื่องระหว่างนอกรัฐสภากับในรัฐสภา
แต่เราจะค่อย ๆ สนทนากันไป
เราเจ็บปวดที่เราใช้เวลานานมากในการที่มีการสืบทอดการทำรัฐประหารจนถึงปัจจุบัน
แต่ผลที่ได้รับในทัศนะดิฉัน มันน่าชื่นใจ ชื่นใจยังไงคอยดูไปเลย ผลวันที่ 14 นี้แหละ
มันจะประกาศให้สังคมกับโลกรู้ว่า ผู้รักประชาธิปไตยในประเทศไทยมีจำนวนมากเท่าไหร่
โดยที่ไม่จำเป็นที่จะต้องมีการจับอาวุธขึ้นสู้
ทีนี้พอเรามาพูดเรื่องคนเสื้อแดง
ดิฉันอยากจะเรียนว่า คำว่า “เสื้อแดง” หรือเสื้อสีแดง
มันเป็นสัญลักษณ์ของการที่ไม่เอารัฐธรรมนูญ 50 ที่มาของมัน
แปลว่าเสื้อแดงมันเกิดขึ้นมาจากการต่อสู้ทางการเมืองของประชาชนหลายกลุ่มขอบประชาชนนอกรัฐสภา
เป็นการต่อสู้ต่อต้านรัฐประหารปี 2549
คือพอมีการทำรัฐประหารก็เริ่มมีการต่อต้านทันที แล้วก็ไม่เอารัฐธรรมนูญ 2550 ด้วย ตอนนั้นเวลาค่อนข้างเร็วมาก
เพราะฉะนั้นสีเสื้อแดงและการใส่เสื้อแดงคือการแสดงตัวของนักต่อสู้ทางการเมืองด้วยอุดมการณ์ที่ต่อต้านรัฐประหาร
เป็นการต่อสู้นอกเวทีรัฐสภา กระทั่งในหลายส่วน
พวกทำรัฐประหารยังนึกว่าตอนยุบพรรคเอย
ตอนยึดทรัพย์คุณทักษิณจะมีคนเสื้อแดงออกมามาก ปรากฏว่าถ้าคุณไปดูลำดับเหตุการณ์
ไม่ใช่เลยค่ะ เวลาที่ออกมานั้นเป็นท่วงทำนองของการต่อสู้ทางการเมืองด้วยอุดมการณ์ทั้งสิ้น
แต่ว่าหลายคนไปนิยามว่า “เสื้อแดง” ก็หมายถึง พูดตรง ๆ ก็ที่เขาเรียกกันว่า
“ควายแดง” บ้าง ก็คือเป็นพลพรรคคนรักทักษิณ
ดิฉันไม่เถียงว่าในกลุ่มของคนเสื้อแดงนั้น
นอกจากอุดมการณ์ต่อสู้ทางการเมือง เขามีความพึงพอใจในผลที่พรรคไทยรักไทยได้กระทำต่อประชาชน
ทำให้เชามีชีวิตที่ดีขึ้น
และเป็นผลงานที่แตกต่างจากรัฐบาลในอดีตซึ่งเป็นรัฐข้าราชการ สภาพัฒน์ฯ
เป็นคนออกนโยบายหมด สำนักงบประมาณเป็นคนจัด ข้าราชการเป็นคนทำหมด
รัฐมนตรีแทบจะไม่ต้องทำอะไร ในสมัยคุณชายคึกฤทธิ์ยังบอกว่าตั้งไว้เยอะ ๆ
ถ้าไม่มีงานทำก็เทกระโถนก็ได้ เอาไว้เทกระโถน พูดอย่างนี้เลย
เพราะฉะนั้นก็ไม่ได้ให้ความสำคัญกับเรื่องนโยบายเท่าไหร่
นอกจากการเกิดขึ้นของคนเสื้อแดงที่เกิดจากอุดมการณ์ในการต่อต้านรัฐประหาร
แล้วมาสมทบกันกับคนที่มีความรักพรรคไทยรักไทย คนที่เสียประโยชน์จากการที่ไทยรักไทยถูกยุบ
และการทำรัฐประหาร
ก็ได้มาร่วมมือกันกับการต่อสู้ทางการเมืองของประชาชนที่ใช้สัญลักษณ์เสื้อแดง
เสื้อแดงก็เติบใหญ่ แต่การก่อกำเนิดมาจากการต่อสู้ทางการเมืองนอกรัฐสภา
ส่วนพรรคไทยรักไทย หลายคนก็อาจจะไม่เข้าใจถ้ามองกันคนละมิติ เพราะว่าเรื่องราวมันยาว
และเรื่องราวมันมาก เพราะฉะนั้นบางคนก็มุมมองด้านหนึ่ง
อีกคนมองด้านนี้ก็เห็นอีกด้านหนึ่งมองคนเสื้อแดงไม่เหมือนกัน
สำหรับดิฉัน
ในฐานะที่ทำงานแนวร่วมและเป็นผู้รักประชาธิปไตยมายาวนาน พูดจากมุมมองนี้
ไม่ได้พูดจากมุมมองของพลพรรคการเมืองใด ๆ ทั้งสิ้น
แต่พูดจากมุมมองของการต่อสู้นอกเวทีรัฐสภาที่มองเข้ามา สำหรับพรรคไทยรักไทย
ก็ต้องเข้าใจว่าเขาก่อเกิดขึ้นมาหลังจากผลพวงของการต่อสู้ของประชาชนปี 2535 ในปี
2540 ก็มีรัฐธรรมนูญซึ่งเป็นผลิตผลจากการต่อสู้
ทางการเมืองมันดูเหมือนว่าประเทศไทยเข้าสู่ระบอบประชาธิปไตยเต็มที่
เหมือนเป็นเช่นนั้นเลย แล้วในทางเศรษฐกิจเราเจอต้มยำกุ้ง เราวิกฤต ดังนั้น
ในท่ามกลางวิกฤตเศรษฐกิจ และในท่ามกลางที่ประชาธิปไตยมีรัฐธรรมนูญที่ก้าวหน้า
“ไทยรักไทย” มาถูกที่ถูกเวลาในเวลานั้น จึงได้รับการต้อนรับจากประชาชนกว้างขวาง
ก็คือในการเลือกตั้งครั้งแรกก็ได้ที่นั่งจำนวนมาก แบบแบ่งเขตก็ได้ถึง 200 ที่นั่ง แบบบัญชีรายชื่อก็ได้ 48 ที่นั่ง ก็ถือว่าประสบผลสำเร็จ
เพราะมาถูกที่ถูกเวลาและนำเสนอในสิ่งที่สอดคล้องความเรียกร้องต้องการของประชาชน
เพราะฉะนั้น
พัฒนาการของ “ไทยรักไทย” ที่ได้ความสำเร็จจากการที่วิเคราะห์สังคมด้านประชาชนในเวลานั้นและนำเสนอนโยบายที่สอดคล้องนั้น
ก็ทำให้กลายเป็นเสือตัวใหม่ที่น่ากลัวสำหรับพวกจารีตอำนาจนิยม
พวกจารีตสุดขั้วก็มีความหวาดกลัวมาก จนกระทั่งนำมาสู่การทำรัฐประหารของปี 2549
และเมื่อมีการเลือกตั้งในครั้งต่อมา แนวโน้มที่เพื่อไทยจะได้เป็นลำดับ 1
ก็เป็นเช่นนั้นตามลำดับ โดยเฉพาะอย่างยิ่งผลการเลือกตั้งปี 2548 อันนั้นตัวเลขยิ่งมากซึ่งเราจะไม่พูดถึง
ตรงนี้ก็ต้องทำความเข้าใจว่าที่มาของ
“ไทยรักไทย” ที่มาของ “พลังประชาชน” และ “เพื่อไทย” มาจากความสำเร็จของ “ไทยรักไทย”
และโดยทั่วไปก็ยังอยู่ในเส้นทางเดิมก็คือเน้นเศรษฐกิจปากท้องเป็นหลัก
เพราะการเมืองในปี 2544 เป็นการเมืองที่ระบอบประชาธิปไตยไม่น่าห่วง ไม่ต้องไปต่อสู้เรื่องทำรัฐธรรมนูญใหม่
ทุกอย่างดูดีไปหมด อันนี้ก็ต้องเข้าใจที่มาที่ไป
ซึ่งตรงนี้ดิฉันก็อยากจะเข้าสู่ประเด็นเลยว่า ถ้าเราเปรียบเทียบกับพรรค “อนาคตใหม่”
หรือ “ก้าวไกล” เวลามันผ่านมานานจากปี 2544 จนเดี่ยวนี้มา 2566 ลองคิดดูมัน 20
กว่าปี บ้านเมืองก็เปลี่ยน พัฒนาการเศรษฐกิจที่ตกต่ำ อ้าวดีขึ้น พอดีขึ้นจากการมีการเลือกตั้งก็ไป
Low ตอนทำรัฐประหาร อะไรประมาณนี้
มาบัดนี้วิกฤตที่สำคัญในประเทศนั้น
แน่นอนเศรษฐกิจก็มีวิกฤต แต่วิกฤตการเมืองนั้นหนักหน่วงเมื่อมีการทำรัฐประหารซ้ำ
ครั้งที่ 2 ปี 2557 และผลการปราบปรามประชาชน คนที่สั่งฆ่า/คนที่ปราบปรามประชาชนยังลอยนวล
แปลว่าทำอะไรก็ได้กับประชาชนที่เป็นเจ้าของอำนาจ ไม่คืนอำนาจซะเฉย ๆ จนอยู่มา 9 ปี
ถามว่าวิกฤตมั้ย แน่นอนมันวิกฤตทั้งการเมืองและวิกฤตเศรษฐกิจ และผู้คนก็ถือเอาว่าที่มันเป็นอย่างนี้
จะเรียกลุงตู่หรือพี่ตู่ก็ตาม ที่มาทำรัฐประหารแล้วไม่ยอมลงจากอำนาจ
มันก็เป็นที่ชัดเจนว่ามีทั้งวิกฤตเศรษฐกิจ ซึ่งมีต้นเหตุมาจากวิกฤตการเมือง
“ก้าวไกล”
กับ “อนาคตใหม่” ก็เกิดขึ้นเพราะมีวิกฤตการเมือง
ในช่วงของ
“ไทยรักไทย” ขึ้นมาเพราะมีวิกฤตเศรษฐกิจ
เพราะฉะนั้นเราจะเห็นที่มาที่ไปต่างกัน
สำหรับ
“คนเสื้อแดง” เกิดมาเพื่อต่อต้านรัฐประหาร ในขณะเดียวกัน
คนที่ต้องเดือดร้อนจากการที่พรรคไทยรักไทยถูกยุบ
ตอนนั้นยังไม่ได้คิดเรื่องการเมืองมากนักก็ตาม แต่ว่าเมื่อถูกยุบแล้ว
ประชาชนเดือดร้อนแล้ว ความเข้าใจเรื่องการต้องต่อต้านรัฐประหาร
เรื่องความไม่ชอบธรรมที่เสรีประชาธิปไตยถูกทำลายมันก็กลับมา
แปลว่าประชาชนเรียนรู้ว่าเพราะการเมืองนี่แหละที่มันไม่ถูกต้อง
ทำให้ชีวิตประชาชนต้องเผชิญกับความยากลำบากแบบนี้ นี่คือสิ่งที่ประชาชนได้เรียนรู้
เพราะฉะนั้น
“คนเสื้อแดง” จำนวนคนซึ่งค่อยเพิ่มขึ้น ๆ มากมาย ยกตัวอย่างเช่น
การต่อต้านรัฐธรรมนูญ 2550 คนที่ไม่เอารัฐธรรมนูญ 2550 ในเวลานั้นประมาณ 10 ล้าน
เวลาไม่เอารัฐธรรมนูญนั้นไม่ได้เกี่ยวกับพรรคการเมืองเลยนะ
เป็นเรื่องของอุดมการณ์ทางการเมืองล้วน ๆ ดิฉันคิดว่าจำนวนคนโดยเฉพาะคนเสื้อแดงในช่วงปี
2550 ในตอนนั้นก็มีถึง 10 ล้าน ที่มีความคิดทางการเมือง
แม้นเขาอาจจะเป็นคนที่รักไทยรักไทย แล้วก็อาจจะมีความนิยมชมชื่นส.ส.ไทยรักไทย
รักคุณทักษิณด้วยก็ตาม แต่ว่าถ้าไม่มีความคิดทางการเมืองก็จะไม่ออกไปต่อต้านรัฐธรรมนูญ
ต่อต้านเผด็จการ เพราะว่าหลายคนก็เฉย ๆ ก็ได้ ก็คือรีบให้มันมีรัฐธรรมนูญเร็ว ๆ จะได้เลือกตั้งเร็ว
ๆ
มาถึงตอนช่วงรัฐธรรมนูญ
2560 คนที่ต่อต้านรัฐธรรมนูญ อันนี้ก็ไม่เกี่ยวกับพรรคการเมืองอีกเหมือนกัน
ท่ามกลางการกดดันของหน่วยงาน กอ.รมน. โดยเฉพาะอย่างยิ่งในต่างจังหวัด ก็ประมาณ 10
ล้านเหมือนกัน อันนี้แปลว่าเสื้อแดงบางส่วนอาจจะโรยรา คนไม่ออกไปแสดงความคิดเห็น
แต่ต้องแดวเจเทจริง ๆ นะ อุดมการณ์ทางการเมืองมันต้องแก่กล้าจริง ๆ
ถึงจะออกไปไม่เอารัฐธรรมนูญ ก็ประมาณนี้
ดังนั้น
ถามว่าตัวเลขคนเสื้อแดงมีมากน้อยแค่ไหน? สำหรับดิฉันเวลาคุยกับคนต่างประเทศตั้งแต่ปี
2553, 2554 ดิฉันใช้ตัวเลขของการโหวตประชามติเป็นหลัก แม้นมันอาจจะไม่ถูกต้อง 100%
แต่เราเอาขั้นต่ำ เพราะถ้าดูผลการเลือกตั้งในช่วงกระแสสูง Popular โหวตบัญชีรายชื่อของพรรคไทยรักไทยในช่วงนั้นถึง 19 ล้าน แล้วเมื่อปี 2554
คือหลังการปราบปราม ตัวเลขก็ 15 ล้านกว่าเกือบ 16 ล้าน อันนี้ก็คือรวมทั้งแฟนคลับไทยรักไทย
แฟนคลับเพื่อไทย แฟนคลับคุณทักษิณ และคนเสื้อแดงและผู้รักประชาธิปไตย
นั่นคือตัวเลขรวม
พูดตรง
ๆ ว่า “คนเสื้อแดง” ในทัศนะของดิฉัน เอารุ่นเก่านะ อย่างต่ำก็ประมาณ 10 ล้าน
แล้วเพิ่มเติมคนรุ่นใหม่เข้ามา เพราะมันมีคนเพิ่มเข้ามาเรื่อย ๆ จากปี 2554, 2555,
2556, 2557 มาจนถึงปัจจุบัน ถ้าก่อน 2557 ก็ยังนับเป็นคนเสื้อแดง แต่พอหลัง 2557
มันก็เกิดการต่อต้านของคนรุ่นใหม่มากขึ้น
เราอาจจะถือว่ารัฐประหารครั้งหลังเป็นเส้นแบ่งว่าเป็นการต่อต้านของคนยุคใหม่ที่มีคนเสื้อแดงหนุน
เพื่อทำความเข้าใจตรงนี้ว่า แล้วคนเสื้อแดงกับการเลือกตั้ง
2566 จะเป็นอย่างไร?
เมื่อเรามองเห็นว่าในกลุ่มคนเสื้อแดงมีทั้งแฟนคลับไทยรักไทย
แฟนคลับคุณทักษิณ แล้วก็มีอุดมการณ์ประชาธิปไตย เราก็หันมามองสภาพปัจจุบัน ปี 2566
ไม่เหมือนปี 2554 ในปี 2554 เรามีพรรคเดียวก็คือพรรคฝ่ายประชาธิปไตยก็มีแต่
(ดิฉันดูผลการเลือกตั้งในปี 2554) มีพรรคใหญ่อีกพรรคหนึ่งคือประชาธิปัตย์ที่ได้เลข
3 หลักขึ้นไป แต่ก็เป็นครึ่งของพรรคเพื่อไทย ดิฉันจะบอกให้ว่าคนเสื้อแดงถูกปราบปี
2553 แต่เขาเอากลับตอนเลือกตั้งปี 2554 คือไม่มีปืน ไม่มีอาวุธ แต่ว่าผลการเลือกตั้งปี
2554 ก็มีคะแนนเสียงบัญชีรายชื่อ 15.7 ล้าน ประมาณเกือบ 50 ที่นั่ง เพราะฉะนั้น
นี่คือคนรุ่นเก่า มีทั้งเสื้อแดงและคนรักทักษิณ
พอมาดูปัจจุบัน
ดังที่ดิฉันบอก วิกฤตเพิ่มขึ้นมาคือวิกฤตการเมืองเป็นหลัก ตามด้วยวิกฤตเศรษฐกิจและวิกฤตสังคม
ซึ่งมีมากมาย ซึ่งถือว่าหนัก
แต่ในขณะเดียวกันผู้รักประชาธิปไตยก็มีมากขึ้นโดยเฉพาะคนเยนเนอเรชั่นหลัง ดังนั้น
ถามว่าคนเสื้อแดงจะให้มองในมุมมองของดิฉันว่าในการเลือกตั้งครั้งนี้
คนเสื้อแดงจะคิดและจะทำอย่างไร
ในมุมมองของดิฉันมองว่า
ถ้าคนเสื้อแดงที่เอาการต่อสู้ทางการเมืองเป็นหลัก เขาก็จะเน้นในเรื่องอุดมการณ์การเมืองมากกว่าการเรียกร้องทางเศรษฐกิจ
ก็มีความเป็นไปได้ที่เขามีพรรคอื่นทางเลือกใหม่ แต่ในขณะเดียวกัน
เสื้อแดงที่มีอุดมการณ์ทางการเมืองแล้วก็มีความเชื่อมั่นในพรรคเดิม
มีความเชื่อมั่นในฝีมือ ก็ยังเลือกพรรคเดิม ดังที่เราเคยบอกว่าการมีพรรคการเมืองมากขึ้นมันเป็นสิ่งที่มันต้องเกิดขึ้น
คุณจะให้ทุกอย่างหยุดนิ่งอยู่กับที่เหมือนในยุค 20 กว่าปีก่อน มันเป็นไปไม่ได้
สถานการณ์เปลี่ยน ขั้วของฝั่งจารีตอำนาจนิยมก็หนักหน่วง หนักหน่วงกว่าเมื่อตอนปี
2549 เยอะเลย การทำรัฐประหารปี 2557 รุนแรง ร้ายกาจ อำมหิตมากกว่าเมื่อปี 2549
ด้วยซ้ำ ปี 2549 เวลามีการพูดถึงเรื่องการโหวตประชามติเรายังรณรงค์ได้
เรายังมีเสื้อแดงที่ออกมารณรงค์ไม่เอารัฐธรรมนูญ แต่ถามว่าปี 2560 ทำได้มั้ย
ไม่ได้ ถูกจับเป็นแถว อ.ธิดายังเข้าไปนั่งอยู่ในเรือนจำหญิงอยู่สัก 7 ชม.ได้มั้ง
ตอนนั้นก็เป็นปัญหาเรื่องประชามติ คือเราออกมารณรงค์ไม่เห็นด้วยกับรัฐธรรมนูญฉบับปี
2560 อย่างนี้เป็นต้น เพราะฉะนั้น ความรุนแรงมันหนักหน่วงขึ้น
การเกิดของพรรคการเมืองในฝ่ายประชาธิปไตยก็มากขึ้น
เราก็มีหลายพรรคมากขึ้นที่ให้เลือก ก็เกิดพรรคอนาคตใหม่ แล้วก็มีการยุบพรรค
ทั้งไทยรักษาชาติ ทั้งอนาคตใหม่ ดังนั้น
วิกฤตการเมืองจึงกลายเป็นเรื่องสำคัญที่คนเสื้อแดงจำนวนหนึ่งมองว่าการเมืองมันเป็นทั้งสิ่งตั้งต้นและเป็นเป้าหมายที่จะต้องต่อสู้
เราก็จะเห็นอย่างหนึ่งว่า เมื่อการเลือกตั้ง 2562
ประกอบกับรัฐธรรมนูญมันแย่เพราะใช้บัตรใบเดียว
เราก็จะเห็นว่าที่นั่งของส.ส.เขตของพรรคเพื่อไทยก็ลดลง และแน่นอนไม่มีบัญชีรายชื่อเมื่อตอนปี
2562 มันลดลงมาก ขนาด Popular โหวตของพลังประชารัฐยังมากกว่าของเพื่อไทยเลย (พลังประชารัฐได้ 8
ล้านกว่า, เพื่อไทยได้เกือบ 8 ล้าน) แน่นอนมันหลายไปเท่าไหร่สำหรับไทยรักไทย
หายไปครึ่งหนึ่ง เพราะฉะนั้น
การที่มีความพยายามจะรณรงค์เพื่อดึงคนเสื้อแดงกลับมาก็เป็นเรื่องที่เข้าใจได้
แต่ว่าสถานการณ์มันเปลี่ยนไปแล้ว มันไม่เหมือนเดิม
แต่สำหรับดิฉัน
มันเป็นเรื่องที่ต้องเข้าใจ และถ้าเป็นคนที่มองภาพทั้งประเทศ
เราต้องเข้าใจว่าไม่มีอะไรหยุดนิ่ง คุณจะให้มีพรรคเดียวเหมือนเดิมไม่ได้
และดิฉันอยากจะพูดอีกคำหนึ่งก็คือว่า ถ้าเข้าใจโรงเรียนการเมืองนปช.
เวลาเราพูดในเรื่องยุทธศาสตร์ของคนเสื้อแดง เราใช้คำว่า “2 ขา” 2 ขาในโรงเรียนนะ
ไม่ใช่ในความเข้าใจของพี่น้องซึ่งอาจแตกต่างกันได้ ก็คือเวทีรัฐสภาขาหนึ่ง
นอกรัฐสภาขาหนึ่ง คนทีมาเป็นแกนนำเสื้อแดงจำนวนมากมาจากในเวทีรัฐสภาก่อน
แล้วจึงออกมาข้างนอก
เราก็อนุโลมกันอยู่ว่าในการต่อสู้สันติวิธียังไงมันก็ต้องมีวิถีทางต่อสู้ในรัฐสภา
เพราะฉะนั้น มันก็ต้องมีพื้นที่ในการต่อสู้ในรัฐสภา
แล้วก็ต้องมีพื้นที่ในการต่อสู้นอกรัฐสภาด้วย
เพราะฉะนั้น
คำว่าในรัฐสภาในช่วงเวลาก่อนมีพรรคเดียว ดังนั้นคนเสื้อแดงอีกขาหนึ่งก็คืออยู่กับไทยรักไทยหรือเพื่อไทยเท่านั้น
อันนี้ก็คือเป็นขาที่มีพรรคเดียว แต่ช่วงเวลาที่ผ่านมาเมื่อมีวิกฤตการเมืองเพิ่มมากขึ้น
มีพรรคการเมืองมากขึ้น พรรคการเมืองที่อยู่ฝ่ายประชาธิปไตยมากขึ้น มันจึงเป็นสิทธิเสรีภาพที่คนเสื้อแดงอาจจะมีความสนใจสนับสนุนพรรคการเมืองที่หลากหลายมากขึ้น
เช่น
ถ้าคนเสื้อแดงที่เน้นการต่อสู้ทางเศรษฐกิจและต้องการความเชื่อมั่นในพรรคดั้งเดิม
มีความเชื่อถือและมีความภักดีต่อแบรนด์เก่า โดยเฉพาะคุณทักษิณและครอบครัว
อันนี้ก็เหนียวแน่น ดังที่ดิฉันเคยบอกว่าไม่ว่าจะมีใครมาโจมตีคุณทักษิณไม่มีผล
เพราะคนเหล่านี้อย่างไรเสียก็ยังเลือกพรรคเพื่อไทย
อย่างน้อยที่สุดเราจะเห็นของเก่า 7-8 ล้านเมื่อปี 2562 แต่จริง ๆ
มันมากกว่านั้นใช่มั้ย แล้วที่เหลือก็แปลว่าตั้งแต่ปี 2562 ก็ไปสู่พรรคอื่นด้วย
เพราะว่าในเวลาเดียวกันในขณะที่พรรคเพื่อไทยมี 7.8 ล้าน พลังประชารัฐมี 8.4 ล้าน
อนาคตใหม่มี 6.3 ล้าน ในสถิติของการเลือกตั้งปี 2562
“อนาคตใหม่”
ไม่ได้เอามาจากคนเสื้อแดงทั้งหมด ดิฉันเชื่อ ได้จากคนรุ่นใหม่ อาจจะมากเกือบครึ่งหนึ่ง
แล้วก็ได้มาจากผู้รักประชาธิปไตยใหม่ หรือคนที่ 2 ไม่ (ไม่เอารัฐประหาร +
ไม่เอาทักษิณ) แต่ปัจจุบันอาจจะเป็น 3 ไม่ มีไม่อย่างอื่นด้วย นี่เราก็จะเห็นว่ามันมีมาตั้งแต่ปี
2562 ดังนั้น จึงไม่แปลกที่ในปี 2566 ก็จะเกิดปรากฏการณ์มีติ่งส้ม มีนางแบก
ก็ทะเลาะกัน เพราะว่ามันมีคนเสื้อแดง
มีผู้รักประชาธิปไตยที่มากำหนดว่าจะสนับสนุนพรรคไหนก็แล้วแต่ความเชื่อมั่นและเป้าหมายของตัวเองว่า
ต้องการต่อสู้ทางการเมืองเป็นหลัก ต้องการความชัดเจน
หรือต้องการที่จะให้มีชีวิตที่ดีขึ้นในทางเศรษฐกิจ และมีความเชื่อมั่น พูดง่าย ๆ
ว่าในฝ่ายประชาธิปไตยและคนเสื้อแดงมันก็มีเฉดของมัน พวกเน้นไปทางการเมือง กับพวกที่เน้นไปในทางเศรษฐกิจก็ได้
เมื่อเป็นเช่นนี้
ตัวดิฉันเองถือว่ามันเป็นเรื่องธรรมดา ประเทศที่เจริญแล้วในยุโรป
ถ้าเป็นฝั่งซ้ายนะเขามีเป็นเฉด ๆ ๆ เลย ดังที่ดิฉันเคยบอก ซ้ายสุดพรรคคอมมิวนิสต์
ถัดมาพรรคสังคมนิยมแก่ สังคมนิยมอ่อนลงมา พรรคสังคมประชาธิปไตย อะไรอย่างนี้
แล้วก็พรรคที่บอกว่าอยู่กลาง เหมือนประธานาธิบดี มาครง ฝรั่งเศส เดี๋ยวก็กระโดดจากสังคมประชาธิปไตยมา
อย่างนี้เป็นต้น อันนี้ก็คือเมื่อมีพัฒนาการทางการเมือง
เป้าหมายของคนก็อาจจะไม่เหมือนกัน เพราะฉะนั้นดิฉันไม่แปลกใจ ไม่ตกใจ แต่ถือว่ามันเป็นการเพิ่มส่วนและขยายส่วนให้คนที่รักประชาธิปไตยมีพื้นที่
มีกำลังมากขึ้น ดังนั้น ก็ไม่จำเป็นต้องทะเลาะกัน
ดิฉันเคยพูดไว้นานแล้วว่า
ต้องคิดว่าวันหนึ่งก็ต้องมาร่วมรัฐบาล ต้องมีวุฒิภาวะและมองภาพรวม ถ้าคุณเป็นนักต่อสู้แล้วยืนอยู่ฝ่ายประชาธิปไตย
มุมมองนี้จะเป็นมุมมองเดียวกันกับดิฉัน ก็คือขอให้ฝ่ายประชาธิปไตยมีกำลังมากขึ้นและอาจจะมีความหลากหลายบ้าง
นั่นเป็นเรื่องที่ดี เพราะเราจะได้ขยายทั้งปริมาณและยกระดับทั้งคุณภาพ
เราจะอยู่แบบเดิม ๆ แบบคนเสื้อแดง 20 ปีที่แล้ว ได้ยังไง? ไม่ได้! มันก็ต้องปรับเปลี่ยน
แล้วก็ไม่จำเป็นต้องโทษกัน ถ้าพรรคการเมืองมีความเข้าใจและปรับตัวให้ถูกต้อง
ให้ทันกับประชาชน ยกระดับเพื่อจับจองการตลาด ของฝ่ายประชาชนและฝ่ายประชาธิปไตย
อันนั้นก็เป็นสิ่งที่พรรคการเมืองฝ่ายประชาธิปไตยควรจะทำ แล้วถ้าพรรคการเมืองฝ่ายประชาธิปไตยพรรคไหนทำแล้วไม่สอดคล้องกับความเป็นจริง
ก็คือประชาชนส่วนใหญ่เขาคิดอย่าง แล้วตัวเองก็ยังจะทำตามอัตวิสัยตามความเชื่อของตัวเอง
นี่มันเป็นวิธีคิดของพวกจารีต ด้านหนึ่งเป็นจารีต
อีกด้านหนึ่งก็คือเป็นพวกเอาตัวเองเป็นใหญ่ แม้กระทั่งในฝ่ายประชาธิปไตย
ฝ่ายเสรีนิยม คนที่เอาตัวเอง เอาเฉพาะพวกตัวเองเป็นใหญ่ จะเป็นพวกวีรชนเอกชน
สุดท้ายคิดว่าตัวเองเป็นอัศวินขี่ม้าขาว สุดท้ายตกม้าตายหมด
ก็คือมันต้องมีความเข้าใจต่อการเปลี่ยนแปลงของสังคมและปรับตัวเองให้สอดคล้องกับความเป็นจริงจึงจะได้รับชัยชนะ
สรุป
“คนเสื้อแดง” วันนี้ก็ไม่เหมือน “คนเสื้อแดง” เมื่อ 10-20 กว่าปีที่แล้ว
ทั้งคุณภาพและทั้งปริมาณ มีตั้งแต่อายุน้อยจนถึงอายุมาก ดังนั้น
พรรคการเมืองที่จะช่วงชิงคนเสื้อแดงก็ต้องเข้าใจตรงนี้ด้วย เริ่มต้นจากประชาชน
เริ่มต้นจากผลประโยชน์ เริ่มต้นจากความต้องการของประชาชน ก็จะได้ความสำเร็จ
สำหรับตัวดิฉันเองซึ่งเราเคยทำทั้งโรงเรียนนปช.
ดิฉันภูมิใจว่าเราทำโรงเรียนการเมือง เราทำให้ชาวบ้านธรรมดาจำนวนหนึ่งเข้าใจการต่อสู้ทางการเมือง
แล้วเขาก็ยกระดับของเขาเองท่ามกลางการต่อสู้ ดังนั้นเขามีความเข้าใจ
คุณจะไปเรียกป้าคนไหนเอาไมค์ใส่ พูดได้ทั้งนั้นแหละ อยู่ที่ว่าแกจะพูดแบบไหน
แรงหรือไม่แรง เพราะเขามีความเข้าใจทางการเมืองแล้ว อันนี้ก็เป็นความภูมิใจว่าคนเสื้อแดงเขายกระดับทางคุณภาพมานานแล้ว
แต่ว่าพรรคการเมืองเข้าใจหรือเปล่าเท่านั้นเอง
นอกจากนั้น
คนรุ่นใหม่เองซึ่งเกือบ 100% จะไม่เอาจารีตนิยม อำนาจนิยมหมด
จะเอาประชาธิปไตยและแนวคิดเสรีนิยมเป็นด้านหลักเกือบ 100%
ดังนั้น ในทัศนะของดิฉัน มันก็เป็นรุ่งอรุณของวันใหม่นั่นแหละ ก็คือเราเสียหาย
แต่ว่ามันคุ้มค่าที่ทำให้ประชาชนตื่นตัวขึ้นมา แล้วคอยดูต่อ ดิฉันเชื่ออย่างนั้นนะ
ดิฉันเชื่อว่าผลก็น่าชื่นใจ มันก็คุ้มค่าเพราะว่าการสู้รบด้วยวาทกรรมและด้วยอาวุธที่พยายามปราบปรามนั้น
มันไม่เท่าประสบการณ์จริง สำหรับดิฉันมีความหวัง แต่ว่าก็ประมาทไม่ได้
ก็ต้องเตรียมตัวไว้ว่าความพยายามจะทำรัฐบาลเสียงข้างน้อย ความพยายามที่จะทำให้เกิดความวุ่นวายจนกระทั่ง
พี่ประยุทธ์ หรือ ลุงประยุทธ์ ก็อยู่รักษาการไปเรื่อย ๆ แล้วก็หาวิธีโดยใช้องคาพยพของเครือข่ายอำมาตย์
ไม่ว่าจะเป็นองค์กรอิสระหรืออะไร แล้วก็อยู่รักษาการไปยาว
เป็นอุปสรรคทำให้ตั้งรัฐบาลชุดใหม่ไม่ได้ หรือการที่เริ่มแล้ว มีเพลงหนักแผ่นดิน
ทั้งหมดนี้มันเป็นเรื่องตั้งแต่ปราบคอมมิวนิสต์ มันก็เริ่มออกมาแล้ว
ดิฉันเพิ่งเห็นเพจบางคนบอกว่าพรรคลุงตู่นี่แหละ อย่าเพิ่งเอาประชาธิปไตย เอาชาติไว้ก่อน
แล้วคุณรู้หรือเปล่าว่า “ชาติ” คืออะไร? “ชาติ” คือองค์ประกอบของแผ่นดินเป็นอาณาจักรที่มีประชาชน
สั้น ๆ เลย ชาติคือประชาชนที่อยู่ในขอบเขตในพื้นที่ที่เราครอบครอง แต่คำว่า “ชาติ”
มีประชาชนเป็นสำคัญ
ดังนั้น
อย่าประมาท ฝ่ายเสรีประชาธิปไตยควรจะได้รับชัยชนะในการเลือกตั้งครั้งนี้
แต่อาจจะตั้งรัฐบาลไม่ได้ เพราะฉะนั้นไม่ต้องมาทะเลาะกันเอง
คุณทำให้ดีที่สุดในส่วนของคุณ คิดถึงวันที่จะต้องสามัคคีกัน
ใครจะไปรู้ว่าจะต้องมีการปะทะอย่างรุนแรงกับฝั่งจารีตอำนาจนิยมอีกหรือเปล่าก็ไม่รู้
ก็เป็นไปได้ นี่อีก 7 วันแล้ว อาจจะยิ่งหวดกันรุนแรงหนักไปอีกหรือเปล่าไม่รู้
แต่ต้องเข้าใจนะว่าอำนาจอยู่ในมือประชาชนนะ
ถ้าคุณทำให้สอดคล้องกับความต้องการของเขา คุณก็จะได้ใจเขาไป
คุณจะไปบังคับให้เขามาเลือกคุณ ทั้ง ๆ ที่เขาไม่ชอบแบบนี้ เขามีแบบอื่น
มีคนที่เขาชอบมากกว่า คุณก็บังคับเขาไม่ได้ เพราะฉะนั้น ดิฉันอยากฝากไว้ว่ามองไปข้างหน้าแล้วดูตัวเองว่าทำได้สอดคล้องกับความเป็นจริง
ไม่จำเป็นที่ต้องใช้ท่วงทำนองศัตรูต่อมิตรค่ะ
#UDDnews #ยูดีดีนิวส์ #ธิดาถาวรเศรษฐ #คนเสื้อแดง #เลือกตั้ง66