วันพุธที่ 17 พฤษภาคม พ.ศ. 2566

“จาตุรนต์” ชี้! กฎกติกาที่ผู้ทำรัฐประหารสร้างไว้เป็นอุปสรรคในการตั้งรบ.ให้เป็นไปตามฉันทามติของปชช. ถึงเวลาพรรคการเมืองนักการเมืองจะช่วยกันหาทางออกให้ประเทศแล้ว!

 


“จาตุรนต์” ชี้! กติกาที่ผู้ทำรปห.สร้างไว้เป็นอุปสรรคในการตั้งรบ.ให้เป็นไปตามฉันทามติของปชช.  ถึงเวลาพรรคการเมืองนักการเมืองจะช่วยกันหาทางออกให้ประเทศแล้ว!


วานนี้ (16 พฤษภาคม 2566) นายจาตุรนต์ ฉายแสง กรรมการยุทธศาสตร์ พรรคเพื่อไทย ได้โพสต์ในเฟซบุ๊คส่วนตัว ชี้ ถึงเวลาพรรคการเมืองนักการเมืองจะช่วยกันหาทางออกให้ประเทศแล้ว โดยระบุว่า


เมื่อพรรคการเมืองรวมเสียงได้เกินครึ่งของสภาผู้แทนราษฎรแล้ว ปกติก็ไม่มีความจำเป็นที่จะต้องเรียกร้องให้พรรคการเมืองอื่น ๆ ลงมติสนับสนุนพรรคที่้เป็นแกนนำจัดตั้งรัฐบาล ยิ่งการเรียกร้องให้พรรคการเมืองที่ไม่ได้ร่วมรัฐบาลลงมติสนับสนุนการเลือกตั้งนายกรัฐมนตรีก็ยิ่งเป็นเรื่องแปลก


แต่ที่ต้องเรียกร้องกันอยู่ก็เพราะเราอยู่ในระบบที่ไม่ปกติคือไม่เป็นประชาธิปไตย ที่ให้สว.ร่วมลงมติเลือกนายกฯ ได้ด้วย


หลังการเลือกตั้งเมื่อปี 2562 ในการเลือกนายกรัฐมนตรี สว. 250 พร้อมใจกันเลือกพลเอกประยุทธ์เป็นนายกฯ ซึ่งเป็นเรื่องที่เข้าใจได้ เพราะรัฐธรรมนูญถูกออกแบบมาให้มีสว.ไว้ช่วยในการสืบทอดอำนาจของพลเอกประยุทธ์โดยเฉพาะ


มาคราวนี้สถานการณ์เปลี่ยนไปมาก พลเอกประยุทธ์มาเดินหาเสียงเหมือนนักการเมืองคนอื่นอย่างเต็มตัว และผลการเลือกตั้งออกมาก็แสดงให้เห็นอย่างชัดเจนว่าประชาชนส่วนใหญ่ไม่ต้องการให้พลเอกประยุทธ์เป็นนายกฯ อีกแล้ว อีกทั้งคะแนนของพรรคร่วมรัฐบาลก็น้อยกว่าพรรคร่วมฝ่ายค้านอย่างมาก สว.ทั้งหลายจึงไม่มีเหตุผลความจำเป็นใด ๆ ที่จะสนับสนุนพลเอกประยุทธ์อีกต่อไป


แต่ดูเหมือน สว.ส่วนใหญ่จะเลือกใช้วิธีการงดออกเสียงในการเลือกนายกฯ ซึ่งจะทำให้การเลือกนายกฯ เกิดผลสำเร็จได้ยากเนื่องจากต้องการเสียง สส.มากถึง 376 คนขึ้นไป


ดังนั้น หากจะให้เกิดรัฐบาลใหม่ขึ้นได้จึงต้องอาศัยเสียงจากสส.มากกว่า 309 เสียงซึ่งหมายถึงต้องอาศัยเสียงสส.จากพรรคร่วมรัฐบาลเดิมด้วย และหากพรรคร่วมรัฐบาลเดิมไม่สนับสนุนการจัดตั้งรัฐบาลที่พรรคก้าวไกลเป็นแกนอยู่ ก็มีความเป็นไปได้ที่จะเกิดสถานการณ์เป็น 2 แบบคือ


1. พรรคร่วมรัฐบาลเดิมย้อนกลับไปตั้งรัฐบาลเสียงข้างน้อยที่อาศัยเสียงสว. 250คนให้การสนับสนุน ซึ่งจะเป็นรัฐบาลที่ขาดความชอบธรรม ขัดต่อเจตจำนงของประชาชนและไม่มีเสถียรภาพอย่างยิ่ง บริหารประเทศไม่ได้และจะมีอายุสั้นมาก

 

2.ไม่มีใครจัดตั้งรัฐบาลได้และรัฐบาลรักษาการก็ทำหน้าที่ต่อไปเรื่อย ๆ จนกว่าสว.จะหมดอำนาจในการเลือกนายกฯ รัฐบาลที่ไม่มีใครเชื่อถือที่จะดันทุรังกันต่อไปจะไม่สามารถแก้ปัญหาอะไรได้และยังจะทำให้สถานการณ์บ้านเมืองเลวร้ายลงไปอีก


สถานการณ์ทั้งสองแบบนี้จะทำให้ประเทศไทยจมดิ่งลงไปในวิกฤตที่ร้ายแรงมากยิ่งขึ้น เกิดความเสียหายต่อทุกฝ่ายทุกคนในประเทศนี้


มีการพูดอยู่เสมอว่าถ้านักการเมืองพรรคการเมืองพร้อมใจกันไม่ร่วมมือกับเผด็จการบ้านเมืองคงดีกว่านี้ แต่นักการเมืองและพรรคการเมืองของไทยเราก็ไม่เคยรวมกันติด


มาคราวนี้ผู้ที่ทำรัฐประหารมาก็เสื่อมถอยลงไปมาก ถูกประชาชนตัดสินไปแล้วว่าประชาชนไทยไม่ต้องการให้พวกเขาอยู่ในอำนาจต่อไป เพียงแต่กฎกติกาที่พวกเขาสร้างไว้ยังเป็นอุปสรรคในการที่จะตั้งรัฐบาลให้เป็นไปตามฉันทามติของประชาชน


ในสถานการณ์เช่นนี้ เพื่อจะหลีกเลี่ยงความเสียหายที่อาจเกิดขึ้นจาการตั้งรัฐบาลไม่ได้ จึงมีความจำเป็นที่นักการเมืองทั้งหลายจะช่วยกันหาทางออกให้แก่บ้านเมืองด้วยการสนับสนุนพรรคการเมืองที่รวบรวมเสียงได้มากกว่าครึ่งหนึ่งของสภาผู้แทนราษฎรให้สามารถจัดตั้งรัฐบาลได้ต่อไป


เห็นแก่บ้านเมือง เห็นแก่ประชาชนเถอะครับ ตั้งรัฐบาลแล้ว ต่างฝ่ายต่างก็ทำหน้าที่กันต่อไป ถึงเวลาต้องแข่งขันกันอีก ก็ให้ประชาชนเป็นผู้ตัดสิน ไม่ใช่ให้ระบบที่เผด็จการวางไว้มาตัดสินและทำให้บ้านเมืองเสียหายย่อยยับอย่างที่ผ่านมา


#UDDnews #ยูดีดีนิวส์ #เพื่อไทย #สวต้องฟังเสียงประชาชน #นายกคนที่30