วันพุธที่ 24 พฤษภาคม พ.ศ. 2566

กลุ่มราษฎร จัดเสวนาหน้ารัฐสภา “ส.ว.ต้องไม่สวนมติประชาชน” พร้อมอ่านจดหมายเปิดผนึก ไทย-อังกฤษ ถึงส.ว.ขอให้เคารพเจตนารมณ์ประชาชนในการโหวตเลือกนายกรัฐมนตรี

 


กลุ่มราษฎร จัดเสวนาหน้ารัฐสภา “ส.ว.ต้องไม่สวนมติประชาชน” พร้อมอ่านจดหมายเปิดผนึก ไทย-อังกฤษ ถึงส.ว.ขอให้เคารพเจตนารมณ์ประชาชนในการโหวตเลือกนายกรัฐมนตรี


วันนี้ (23 พ.ค. 66) เวลา 18.00 น. ที่หน้าอาคารรัฐสภา เกียกกาย กลุ่มราษฎร"โหวตเพื่อเปลี่ยน" นำโดยแนวร่วมธรรมศาสตร์และการชุมนุม ได้จัดกิจกรรมเสวนา “ส.ว. ต้องไม่สวนมติประชาชน” โดยกิจกรรมเป็นไปมนรูปแบบวงเสวนา วงแรก มีผู้ร่วมเสวนาได้แก่ อนุสรณ์ อุณโณ อาจารย์ประจำสาขามานุษยวิทยา คณะสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และ อุเชนทร์ เชียงเสน อาจารย์ประจำหลักสูตรรัฐศาสตร์ สำนักวิชารัฐศาสตร์และนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ โดยรัฐภูมิ เลิศไพจิตร หรือเติร์ด กลุ่ม We Volunteer เป็นผู้ดำเนินรายการ 


จากนั้น รัฐภูมิ เลิศไพจิตร เป็นตัวแทนขึ้นอ่านจดหมายเปิดผนึก ขอให้สมาชิกวุฒิสภาเคารพเจตนารมณ์ของประชาชนในการลงมติเห็นชอบให้ผู้ที่ได้รับเสียงข้างมากจากประชาชนดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี รวมถึงมีตัวแทนอ่านฉบับภาษาอังกฤษด้วย 


สำหรับรายละเอียด ในจดหมายเปิดผนึก ที่ระบุขอให้สมาชิกวุฒิสภาเคารพเจตนารมณ์ของประชาชนในการลงมติเห็นชอบให้ผู้ที่ได้รับเสียงข้างมากจากประชาชนดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี มีใจความว่า


เรียน สมาชิกวุฒิสภาทุกท่าน ​สืบเนื่องจากวันที่ 14 พฤษภาคม พ.ศ. 2566 ได้มีการจัดเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร ผลปรากฏว่าพรรคก้าวไกลได้รับความไว้วางใจจากประชาชนมาเป็นลำดับที่ 1 โดยได้ที่นั่งในสภาผู้แทนราษฎรจำนวน 152 ที่นั่ง และสามารถรวมเสียงจากพรรคการเมืองอื่นๆในการจัดตั้งรัฐบาลรวมกันได้มากกว่ากึ่งหนึ่งของสภาผู้แทนฯ จึงหมายความว่าพรรคก้าวไกลมีสิทธิอันชอบธรรมโดยสมบูรณ์ในการจัดตั้งรัฐบาล แต่ปรากฏว่า สมาชิกวุฒิสภาบางท่านแสดงท่าที่ไม่เห็นด้วยในการเลือกนายกรัฐมนตรีที่มาจากเจตจำนงค์และความต้องการส่วนใหญ่ของประชาชน


​ด้วยท่าที่ของสมาชิกวุฒิสภาบางท่านที่ปฏิเสธเจตจำนงของประชาชน นำมาซึ่งการตั้งคำถามต่อสมาชิกวุฒิสภาในการดำรงไว้ซึ่งหลักการพื้นฐานของระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข ที่ประชาชนไม่ว่าจะมีฐานะหรือสถานภาพแตกต่างกันเพียงใด ล้วนมีหนึ่งสิทธิหนึ่งเสียงเท่ากัน ด้วยเกียรติและศักดิ์ศรีของสมาชิกวุฒิสภาผู้ซึ่งต้องรับผิดชอบต่อผลประโยชน์ของประชาชน ตามบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย จึงขอความกรุณาสมาชิกวุฒิสภาเคารพเจตจำนงของประชาชนโดยการลงคะแนนเสียงเห็นชอบให้ตัวแทนพรรคการเมืองที่ได้รับความไว้วางใจจากประชาชนมากที่สุด ในการดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีและสนับสนุนให้พรรคการเมืองที่มาจากประชาชนในการจัดตั้งรัฐบาล เพื่อประโยชน์สูงสุดของประเทศและประชาชน


​ทั้งนี้ การกระทำที่สง่างามและตามหลักการของประชาธิปไตยในครั้งนี้ จะถูกบันทึกในหน้าประวัติศาสตร์การเมืองไทย

ขอแสดงความนับถือ

ราษฎร


จากนั้นสลับเป็นดนตรี จากศิลปินเพลงเพื่อราษฎร อาเล็ก โชคร่มพฤกษ์ อาทิ เพลงเสียงของไพร่, เพลงไม่รักระวังติดคุก 


ต่อมาเป็นวงเสวนาวงที่สอง ซึ่งเป็นตัวแทนจากกลุ่มกิจกรรมทางการเมือง มาพูดคุยเพิ่มเติมถึงจุดยืนของส.ว. ในการโหวตนายกฯ 


โดยมีผู้ร่วมเสวนา ยิ่งชีพ อัชฌานนท์ หรือ เป๋า ไอลอว์, ธนพร วิจันทร์ เครือข่ายแรงงานเพื่อสิทธิประชาชน และ กิตติชัย ตั้งภรณ์พรรณ หรือ บิ๊ก แนวร่วมธรรมศาสตร์และการชุมนุม โดยมีแอม จากแนวร่วมธรรมศาสตร์และการชุมนุมเป็นผู้ดำเนินรายการ


จากนั้นปิดท้ายด้วย แก้วใส สามัญชน ขึ้นร้องเพลงบทเพลงของสามัญชน, เพลงอยากจะมีชีวิตที่ดีกว่านี้, เพลงแตกต่างเหมือนกัน และปิดท้ายด้วยเพลงเราคือเพื่อนกัน 


โดยเวลา 20.30 น. รัฐภูมิ เลิศไพจิตร ขึ้นกล่าวปิดงานและแยกย้ายด้วยความสงบ 


สำหรับบรรยากาศภายในงาน ก่อนเริ่มกิจกรรมได้มีเจ้าหน้าที่ตำรวจ และตำรวจรัฐสภา ได้เข้าพูดคุยหารือทำความเข้าใจต่อการจัดกิจกรรมใรครั้งนี้ และมีการกระจายกำลังโดยรอบ


โดยผู้จัดกิจกรรมประกาศยืนยันว่า กิจกรรมที่เกิดขึ้นจะดำเนินการภายใต้กรอบของกฎหมาย โดยได้มีการแจ้งการชุมนุม และประสานงานกับผู้เกี่ยวข้องอย่างครบถ้วน และกิจกรรมจะถูกจัดขึ้นโดยยึดหลักความสงบเรียบร้อย ภายใต้หลักสิทธิและเสรีภาพในการชุมนุมเป็นสำคัญ 


ด้าน ภัสราวลี ธนกิจวิบูลย์ผล หรือ “มายด์ นักกิจกรรมจากกลุ่มโหวตเพื่อเปลี่ยน ก็ได้เข้าร่วมสังเกตการณ์ในกิจกรรมครั้งนี้ด้วย โดยระบุว่า เมื่อประชาชนพูดด้วยเหตุผล สภาก็ควรรับฟังเสียงประชาชน


#UDDnews #ยูดีดีนิวส์ #สวต้องฟังเสียงประชาชน #โหวตเพื่อเปลี่ยน #จัดตั้งรัฐบาล #สวต้องไม่สวนมติประชาชน