วันพฤหัสบดีที่ 25 พฤษภาคม พ.ศ. 2566

‘ศิริกัญญา’ เผยเจรจาตั้งรัฐบาลคืบหน้า ลงนาม MOU ผลตอบรับดี มั่นใจได้เสียง ส.ว. เพียงพอโหวต ‘พิธา’ เป็นนายกฯ พร้อมพูดคุยพรรคร่วม เคาะนโยบาย-แบ่งงานกระทรวง เชื่อ ‘เพื่อไทย’ ร่วมจัดตั้งรัฐบาลจนสำเร็จ

 


ศิริกัญญา’ เผยเจรจาตั้งรัฐบาลคืบหน้า ลงนาม MOU ผลตอบรับดี มั่นใจได้เสียง ส.ว. เพียงพอโหวต ‘พิธา’ เป็นนายกฯ พร้อมพูดคุยพรรคร่วม เคาะนโยบาย-แบ่งงานกระทรวง เชื่อ ‘เพื่อไทย’ ร่วมจัดตั้งรัฐบาลจนสำเร็จ

 

วันที่ 25 พฤษภาคม 2566 ศิริกัญญา ตันสกุล รองหัวหน้าพรรคก้าวไกล แถลงความคืบหน้าการเจรจากับพรรคร่วมรัฐบาล และชี้แจงข้อสงสัยเกี่ยวกับนโยบายของพรรคก้าวไกลในหลายประเด็น โดยระบุว่า หลังจากมีการลงนามในบันทึกความเข้าใจร่วมกันในการจัดตั้งรัฐบาล (MOU) เมื่อวันที่ 22 พฤษภาคมที่ผ่านมา การตอบรับทั้งจากพรรคร่วมรัฐบาลและประชาชนเป็นไปในทางบวก ความชัดเจนเรื่องจุดยืนและนโยบายของพรรค ทำให้ฝั่งวุฒิสมาชิกมีความเข้าใจมากขึ้น โดยขณะนี้ได้เดินหน้าเจรจากับ ส.ว. เป็นรายบุคคลอย่างต่อเนื่อง เชื่อว่าสุดท้ายจะได้เสียงมากเพียงพอในการโหวต พิธา ลิ้มเจริญรัตน์ หัวหน้าพรรคก้าวไกล เป็นนายกรัฐมนตรีคนต่อไป

 

ศิริกัญญากล่าวว่า ในสัปดาห์นี้ได้เดินสายพูดคุยกับคนกลุ่มต่างๆ หน่วยงานแรกคือสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) ซึ่งต้องขอขอบคุณที่ยอมรับวิสัยทัศน์และความสามารถของพิธา พรรคก้าวไกลย้ำอีกครั้งว่านโยบายของพรรคเน้นการสร้างเศรษฐกิจที่จะเติบโตอย่างเป็นธรรม ลดความเหลื่อมล้ำ ส่งเสริมทั้งแรงงานและผู้ประกอบการ เชื่อว่าการเดินหน้าพูดคุยจะทำให้ทุกฝ่ายมีความเชื่อมั่นในนโยบายของพรรคก้าวไกลมากขึ้น

 

ต่อกรณีตำแหน่งประธานสภาผู้แทนราษฎร ศิริกัญญากล่าวว่า พรรคก้าวไกลยืนยันว่าเราจำเป็นต้องมีตำแหน่งประธานสภาฯ ไว้กับพรรคก้าวไกล เพราะนอกเหนือจากการใช้อำนาจฝ่ายบริหาร ยังมีอีก 3 วาระที่พรรคจำเป็นต้องมีประมุขฝ่ายนิติบัญญัติช่วยขับเคลื่อน ได้แก่ วาระหนึ่งคือการผลักดันร่างกฎหมายทั้ง 45 ฉบับของพรรค เพื่อทำตามนโยบายที่ได้หาเสียงไว้กับประชาชน รวมถึงร่างกฎหมายของพรรคการเมืองอื่นและของภาคประชาชน จะสามารถทำได้อย่างรวดเร็ว เพราะจาก 4 ปีที่ผ่านมา เชื่อว่าทุกคนเห็นแล้วว่าตำแหน่งประธานสภาฯ มีความสำคัญมากแค่ไหนในการอำนวยความสะดวกหรือขัดขวางการออกกฎหมายเพื่อผลประโยชน์ของประชาชน

 

วาระสองคือการผลักดันการแก้ไขรัฐธรรมนูญที่เป็นประชาธิปไตยให้เดินหน้าอย่างราบรื่น เพราะตามกระบวนการ ต้องมีการประชุมร่วมรัฐสภาหลายครั้ง จึงจำเป็นต้องมีประธานสภาฯ ที่มีเจตจำนงที่แน่วแน่ อยากให้มีการแก้ไขรัฐธรรมนูญ เพื่อทำภารกิจนี้ให้ลุล่วง และวาระสาม คือการผลักดันให้เกิดรัฐสภาที่โปร่งใสและสร้างการมีส่วนร่วมของประชาชน ไม่ว่าจะเป็น การผลักดันให้มีการถ่ายทอดสดการประชุมกรรมาธิการหรืออนุกรรมาธิการ ส่งเสริมการทำงานของสำนักงบประมาณของรัฐสภา (Parliamentary Budget Office) ซึ่งเป็นแขนขาที่สำคัญของฝ่ายนิติบัญญัติในการตรวจสอบงบประมาณของรัฐบาล และการจัดตั้งสภาเยาวชนเพื่อรับฟังเสียงของเยาวชนที่ยังไม่มีสิทธิเลือกตั้ง โดยตัวสภาฯ ขึ้นตรงต่อสำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร

 

พรรคก้าวไกลมีบุคลากรหลายคนที่มีความเหมาะสม และเรามีวาระที่ชัดเจนต่อตำแหน่งประธานสภาฯ ไม่ใช่แค่เรื่องการควบคุมการประชุมเท่านั้น แต่รวมถึงการฟื้นฟูความเป็นประชาธิปไตย ดังนั้นหากยึดประเด็นเรื่องความอาวุโสมากเกินไป อาจทำให้ความเปลี่ยนแปลงเกิดขึ้นได้ยาก” รองหัวหน้าพรรคก้าวไกลระบุ

 

ส่วนกรณีมีการวิเคราะห์และข้อเรียกร้องจากบางกลุ่มให้พรรคเพื่อไทยถอนตัวจากการร่วมจัดตั้งรัฐบาลกับพรรคก้าวไกล ศิริกัญญากล่าวว่า “ไม่มีความกังวลในเรื่องนี้ มั่นใจว่าพรรคเพื่อไทยจะอยู่ร่วมกับพรรคก้าวไกลต่อไป ไม่ว่าจะได้รับตำแหน่งประธานสภาฯ หรือไม่ ที่ผ่านมาเมื่อมีเรื่องใดที่ไม่เข้าใจกัน ก็พยายามพูดคุยสื่อสารอย่างตรงไปตรงมา และยืนยันว่าหลังจากได้พูดคุยกันหลายครั้ง เราไม่มีความเชื่อใดว่าพรรคเพื่อไทยจะถอนตัวจากการร่วมรัฐบาลครั้งนี้”

 

ส่วนกรณีจำนวน ส.ส. แบบแบ่งเขตของพรรคก้าวไกลที่ลดลงจาก 113 ที่นั่ง เป็น 112 ที่นั่ง จากการประกาศของคณะกรรมการเลือกตั้ง (กกต.) ศิริกัญญากล่าวว่า อยู่ในการคาดการณ์ของพรรคก้าวไกลอยู่แล้ว เนื่องจากเราเห็นข้อผิดพลาดของ กกต. ตั้งแต่แรก และได้ยืนยันจำนวน ส.ส. เขตที่ 112 คนตามที่ปรากฏในเฟซบุ๊กเพจของพรรค โดยปัจจุบันจำนวน ส.ส. ทั้งหมดของพรรคก้าวไกลอยู่ที่ 151 ที่นั่ง ซึ่งไม่ได้กระทบต่อการจัดตั้งรัฐบาลแต่อย่างใด

 

ศิริกัญญากล่าวต่อว่า ช่วงนี้อยู่ระหว่างการเจรจาจัดตั้งรัฐบาลในประเด็นต่างๆ อย่างต่อเนื่อง ทั้งการจัดแบ่งกระทรวง ตำแหน่งรัฐมนตรี รวมถึงหารือเกี่ยวกับนโยบายที่ยังเห็นต่างกัน เช่น ที่ผ่านมามีการพูดถึงกันมากเกี่ยวกับนโยบายค่าแรงขั้นต่ำ 450 บาท ซึ่งพรรคเพื่อไทยได้ให้สัญญาณในทางบวกแล้วว่าไม่ขัดข้องหากพรรคก้าวไกลจะดำเนินนโยบายนี้ หรือนโยบายดิจิทัลวอลเล็ตของพรรคเพื่อไทย ที่ต้องพูดคุยกันว่าสรุปแล้วจะมีการดำเนินการหรือไม่ เพื่อให้ได้ข้อสรุปสุดท้าย นำไปแถลงนโยบายต่อรัฐสภาต่อไป

 

ต่อกรณีความกังวลเกี่ยวกับวาระร่วมที่ระบุใน MOU จัดตั้งรัฐบาล ว่าจะนำกัญชากลับไปเป็นยาเสพติดผ่านการออกประกาศของกระทรวงสาธารณสุข จะส่งผลกระทบอย่างไรนั้น ศิริกัญญากล่าวว่า ขอยืนยันว่าการออกประกาศดังกล่าวเพื่อให้กัญชากลับไปเป็นยาเสพติด มีวัตถุประสงค์เพื่อให้เจ้าพนักงานยาเสพติดทั้งตำรวจและเจ้าหน้าที่สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามยาเสพติด (ป.ป.ส.) สามารถทำงานได้อย่างเต็มที่ อย่างไรก็ตาม เราเข้าใจดีถึงความกังวลของประชาชนและผู้ประกอบการบางส่วน จึงขอยืนยันว่ามาตรการคุ้มครองที่จะมีขึ้น ไม่ได้คุ้มครองเฉพาะประชาชนที่ได้รับผลกระทบจากนโยบายกัญชาของรัฐบาลที่ผ่านมา แต่รวมถึงการคุ้มครองผู้ประกอบการและผู้ปลูกที่ทำถูกต้องตามกฏหมายทุกประการ ไม่ว่าจะเป็น ผู้ปลูกที่จดทะเบียนถูกต้องตามแอปพลิเคชัน ‘ปลูกกัญ’ หรือผู้จำหน่ายที่จดทะเบียนถูกต้องในการเป็นผู้ขายสมุนไพรควบคุม

 

ขอยืนยันว่าจะดูแลไม่ให้เกิดผลกระทบกับผู้ที่ทำถูกต้องตามกฏหมาย ณ เวลานี้อย่างแน่นอน ขอให้วางใจได้ โดยจะมีการพูดคุยถึงการออกประกาศเพื่อคุ้มครองผู้ประกอบการ เรื่องนี้เป็นอีกเรื่องหนึ่งที่ต้องพูดคุยกับพรรคร่วมรัฐบาลต่อไป” ศิริกัญญากล่าว

 

#UDDnews #ยูดีดีนิวส์ #รัฐบาลก้าวไกล #จัดตั้งรัฐบาล #MOU8พรรคร่วมรัฐบาล #สวต้องฟังเสียงประชาชน