วันพฤหัสบดีที่ 28 เมษายน พ.ศ. 2565

คนส. "เยี่ยมหยุดขัง" ให้กำลังใจนักกิจกรรมที่ถูกคุมขัง อ่านแถลงการณ์ "หยุดใช้กฎหมายปิดปากประชาชนที่เห็นต่าง หยุดคุมขังประชาชนที่ยังบริสุทธิ์" แจ้งรายละเอียดจัดเสวนา "ประชาชนอยู่ตรงไหน ในระบอบที่ไม่เป็นธรรม" จนท.แจ้ง เยี่ยมต้องจองคิวล่วงหน้า ด้านมวลชนฝากโปสการ์ดถึงตะวัน

 


คนส. "เยี่ยมหยุดขัง" ให้กำลังใจนักกิจกรรมที่ถูกคุมขัง อ่านแถลงการณ์ "หยุดใช้กฎหมายปิดปากประชาชนที่เห็นต่าง หยุดคุมขังประชาชนที่ยังบริสุทธิ์" แจ้งรายละเอียดจัด เสวนา "ประชาชนอยู่ตรงไหน ในระบอบที่ไม่เป็นธรรม" จนท.แจ้ง เยี่ยมต้องจองคิวล่วงหน้า ด้านมวลชนฝากโปสการ์ดถึงตะวัน 


วันนี้ (28 เม.ย. 65) เวลา 10.00 น.ที่ ทัณฑสถานหญิงกลาง เครือข่ายนักวิชาการเพื่อสิทธิพลเมือง (คนส.) นำโดย รศ.ดร.อนุสรณ์ อุณโณ คณะสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ พร้อมด้วยนักวิชาการ คนส. อาทิ รศ.ดร.ประภาส ปิ่นตบแต่ง คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, รศ.ดร.ยุกติ มุกดาวิจิตร รองคณบดี คณะสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา ม.ธรรมศาสตร์, ผศ.ดร.ชลิตา บัณฑุวงศ์ ภาควิชาสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา คณะสังคมศาสตร์ ม.เกษตรศาสตร์ และนายสมยศ พฤกษาเกษมสุข เดินทางมาทำกิจกรรม "เยี่ยมหยุดขัง" เพื่อให้กำลังใจนักกิจกรรมทางการเมืองที่ถูกคุมขัง พร้อมอ่านแถลงการณ์ และแถลงข่าวการจัดกิจกรรมทางวิชาการครั้งใหญ่ ในหัวข้อ "ประชาชนอยู่ตรงไหน ในระบอบที่ไม่เป็นธรรม"


โดยก่อนเริ่มกิจกรรม "เยี่ยมหยุดขัง" คณะรณรงค์เพื่อรัฐธรรมนูญฉบับประชาชน (ครช.) ได้ทำกิจกรรมโพลสอบถามความคิดเห็นประชาชน "คุณคิดว่าผู้ต้องขังทางการเมืองควรได้รับสิทธิในการประกันตัวหรือไม่"


จากนั้น นักวิชาการ คนส.พร้อมด้วยมวลชน ได้ไปยืนหน้ารั้วทัณฑสถานหญิงกลาง โดยมวลชนถือภาพ #ทานตะวัน ตัวตุลานนท์ หรือ ตะวัน รวมถึงป้ายข้อความ อาทิ ยกเลิก112, ปล่อยตะวัน ปล่อยนักโทษการเมือง เพื่อเรียกร้องสิทธิการประกันตัวชั่วคราว


ขณะที่ รศ.ดร.อนุสรณ์ อุณโณ เป็นตัวแทน นักวิชาการ คนส. อ่านแถลงการณ์ "หยุดใช้กฎหมายปิดปากประชาชนที่เห็นต่าง หยุดคุมขังประชาชนที่ยังบริสุทธิ์" ระบุว่า

.

ประชาชนไทยต้องอยู่ใต้การกดขี่มาอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะหลังรัฐประหาร 22 พฤษภาคม 2557 เป็นต้นมา ที่รัฐบาลคณะรัฐประหารอาศัยอำนาจจากกฎหมายที่เขียนขึ้นมา ปิดกั้น ข่มขู่คุกคาม และจับกุมคุมขังประชาชนฝ่ายตรงข้ามเป็นจำนวนมาก ขณะที่รัฐบาลที่อวดอ้างว่ามาจากการเลือกตั้งในปัจจุบันก็ไม่ได้ช่วยให้สถานการณ์ดีขึ้น กลับตั้งข้อหาดำเนินคดีประชาชนที่เห็นต่างเพิ่มขึ้นหลายเท่าตัว


ตั้งแต่เดือนกรกฎาคม 2563 จนถึงเดือนมกราคมที่ผ่านมา มีผู้ชุมนุมเคลื่อนไหวและแสดงออกทางการเมืองอย่างน้อย 1,767 คน ถูกตั้งข้อหาดำเนินคดี ส่วนใหญ่เป็นคดีละเมิดพระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน จำนวน 1,428 คน ตามด้วยกฎหมายอาญามาตรา 112 จำนวน 169 คน พระราชบัญญัติว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ จำนวน 117 คน และกฎหมายอาญามาตรา 116 จำนวน 116 คน


การตั้งข้อหาดำเนินคดีเหล่านี้ ไม่อาจนับว่าเป็นไปเพื่อผดุงความยุติธรรมในสังคมได้ หากแต่เป็นไปเพื่อกดปราบประชาชนที่เห็นต่างเป็นหลัก เพราะการประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินอ้างการควบคุมการระบาดของโรคโควิด-19 ทว่า นอกจากการชุมนุมที่ผ่านมาไม่ก่อให้เกิดการระบาดของโรคเป็นกลุ่มก้อนที่จะนำไปสู่การอ้างได้ การรวมกลุ่มหรือการชุมนุมลักษณะเดียวกันของฝ่ายเดียวกับรัฐบาลกลับไม่ถูกตั้งข้อหา


ขณะที่กฎหมายอาญามาตรา 112 นอกจากจะมีปัญหาตั้งแต่ระดับของตัวบท กระบวนการบังคับใช้ในหลายกรณีไม่เข้าข่ายความผิด ไม่นับรวมวิธีการพิจารณาคดีที่ปิดลับจนไม่อาจนำไปสู่ความยุติธรรมได้ ส่วนพระราชบัญญัติว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ หลายกรณีมีการตีความพฤติการณ์เกินขอบเขต ก้าวล่วงสิทธิเสรีภาพและความเป็นส่วนตัวของประชาชน


นอกจากนี้ ผู้ต้องหาในคดีเหล่านี้ยังมักถูกปฏิเสธสิทธิ์ในการประกันตัว ด้วยเหตุผลว่า จะไปก่อเหตุในลักษณะเดียวกัน ซึ่งขัดหลักการพื้นฐานทางกฎหมายและกระบวนการยุติธรรมที่บัญญัติไว้ในกฎหมายระหว่างประเทศ รัฐธรรมนูญ และประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา ที่ให้สันนิษฐานว่าผู้ต้องหาหรือจำเลยเป็นผู้บริสุทธิ์จนกว่าศาลจะมีคำพิพากษาถึงที่สุด เพราะเป็นการตัดสินล่วงหน้าว่าการกระทำของผู้ต้องหาเป็นความผิด ทั้งที่กระบวนการพิจารณคดียังไม่เริ่ม และแม้การควบคุมตัวจำเลยระหว่างการพิจารณาคดีจะกระทำได้ แต่ก็ต้องมีเหตุอันเชื่อได้ว่าจำเลยจะหลบหนี ยุ่งเหยิงพยานหลักฐาน ก่อเหตุอันตราย หลักประกันไม่น่าเชื่อถือ หรือเป็นอุปสรรคต่อการพิจารณาคดี ซึ่งแทบไม่มีผู้ต้องหาคนใดในคดีเหล่านี้มีพฤติการณ์ดังกล่าว


เครือข่ายนักวิชาการเพื่อสิทธิพลเมือง (คนส.) จึงเรียกร้องให้รัฐบาล หยุดใช้กฎหมายปิดปากประชาชนที่เห็นต่าง โดยเฉพาะอย่างยิ่งคือกฎหมายอาญามาตรา 112 ที่มีผู้ถูกตั้งข้อหาดำเนินคดีอย่างต่อเนื่อง รวมถึงต้องยกเลิกการประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินและการบังคับใช้กฎหมายที่ลิดรอนสิทธิเสรีภาพประชาชน


นอกจากนี้ คนส. เรียกร้องให้ปล่อยตัวชั่วคราวผู้ถูกตั้งข้อหา ต้องยึดมั่นในหลักการจำเลยเป็นผู้บริสุทธิ์จนกว่าจะมีคำพิพากษาถึงที่สุด จะควบคุมตัวจำเลยระหว่างพิจารณาคดีก็ต่อเมื่อมีเหตุที่เข้าหลักเกณฑ์อย่างชัดแจ้ง และจะอ้างเงื่อนไขที่เป็นเสมือนการตัดสินล่วงหน้าว่าจำเลยกระทำผิดในการถอนประกันมิได้


ปัญหาและความขัดแย้งในประเทศไทยจะคลี่คลายได้ ก็ต่อเมื่อทุกฝ่ายสามารถแสดงออกได้อย่างอิสระบนข้อเท็จจริงและด้วยเหตุผล โดยมีกฎหมายและศาลเป็นหลักประกันความเสมอภาคและยุติธรรม มิใช่เป็นเครื่องมือของเผด็จการในการกดปราบประชาชนที่เห็นต่างอย่างในปัจจุบัน


ด้วยความเชื่อมั่นในสิทธิ เสรีภาพ และความเสมอภาค


เครือข่ายนักวิชาการเพื่อสิทธิพลเมือง

ทัณฑสถานหญิงกลาง และเรือนจำพิเศษกรุงเทพมหานคร

28 เมษายน 2565


จากนั้น รศ.ดร.ยุกติ มุกดาวิจิตร ได้กล่าวถึงรายละเอียดกิจกรรมเชิงวิชาการในชื่อ เสวนา "ประชาชนอยู่ตรงไหน ในระบอบที่ไม่เป็นธรรม" ซึ่ง คนส. จะจัดร่วมกับคณะสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา ม.ธรรมศาสตร์ ซึ่งจะมีการเสวนาเรื่องปัญหาของมาตรา 112 ซึ่งเราเห็นตัวเลขที่น่าตกใจ พุ่งขึ้นสูงในช่วง 2 ปี


และอีกเรื่องคือ สิทธิประกันตัวชั่วคราว เราเห็นปัญหานี้มีมาตลอด มีลักษณะมาตรฐานที่ไม่เท่ากันในคดีต่าง ๆ โดยเฉพาะผู้ต้องหาคดีการเมือง หากไม่ได้รับการประกันตัว ก็มักจะถูกถอนประกันด้วยเงื่อนไข จึงต้องมีการทำความเข้าใจในเรื่องกฎหมายให้ชัดเจนขึ้น ซึ่งคาดว่าจะจัดกลางเดือนพฤษภาคมนี้ โดยจะแจ้งรายละเอียดให้ทราบต่อไป


เรามาในวันนี้ เพื่อที่จะให้สังคมไม่นิ่งดูดาย เฉยเมย หรือเงียบต่อสถานการณ์ไม่ปกติที่เกิดขึ้นในขณะนี้ ขณะเดียวกันก็อยากส่งเสียงไปถึงผู้มีอำนาจในกระบวนการยุติธรรม รวมทั้งรัฐบาล ซึ่งถูกมองว่ารัฐบาลมีนโยบายในลักษณะมุ่งใช้กฎหมายปิดปาก ปิดกั้นเสรีภาพในการแสดงออกของประชาชน


ขณะที่ รศ.ดร.อนุสรณ์ อุณโณ กล่าวต่อไปว่า นี่คือปฐมฤกษ์ เพราะเราเชื่อว่าการตั้งข้อหา จับกุมคุมขัง ดำเนินคดี และปฏิเสธสิทธิประกันตัว น่าจะยังเกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง นอกจากกิจกรรมเรียกร้องให้ปล่อยตัวชั่วคราวอย่าง ยืนหยุดขัง การมาเยี่ยมให้กำลังใจตรงนี้ เป็นอีกส่วนที่สำคัญที่เราพอจะทำได้ และในอนาคตอาจทำเป็นกิจวัตร 1 - 2 สัปดาห์ครั้ง หรือตามเงื่อนไขที่จำเป็น


จากนั้น เครือข่ายนักวิชาการฯ ได้เจรจากับเจ้าหน้าที่ทัณฑสถานหญิงกลาง เพื่อเข้าเยี่ยม ตะวัน และ ปฏิมา โดยเจ้าหน้าที่ได้กล่าวชี้แจงถึงเกณฑ์การเข้าเยี่ยม ซึ่งจะต้องมีการจองล่วงหน้า สามารถจองล่วงหน้าได้ 7 วันผ่านระบบการเข้าเยี่ยม ทั้งนี้ ต้องดูคิวที่เข้าเยี่ยมด้วย เนื่องจากตอนนี้มีผู้ต้องขังเกือบ 4,000 คน โดย กรณี น.ส.ทานตะวัน สามารถจองเข้าเยี่ยมได้ในวันที่ 30 เมษายน


ทั้งนี้เครือข่ายนักวิชาการฯ ได้ฝากรายชื่อ นักวิชาการ คนส. และประชาชนที่จะเข้าเยี่ยม ตะวัน และ ปฏิมา ซึ่งเจ้าหน้าที่รับปากจะประสานงานให้

.

ขณะที่นายสมยศ ให้ฝากโปสการ์ด 150 ใบ ที่ประชาชนร่วมกันเขียนข้อความให้กำลังใจ "ตะวัน" ในเรือนจำ โดยเจ้าหน้าที่แจ้งว่าจะต้องตรวจสอบข้อความตามขั้นตอนก่อน และจะนำส่งต่อให้ตะวันต่อไป 


จากนั้น ผศ.ดร.ชลิตา บัณฑุวงศ์พร้อม ด้วยมวลชนหญิงอีก 2 ท่าน เป็นตัวแทนเข้าไปซื้อของฝากเยี่ยม ตะวัน และ ปฏิมา 


กระทั่งในเวลา 11.40 น. นักวิชาการ คนส. และประชาชน เดินทางต่อไปยังเรือนจำพิเศษกรุงเทพฯ เพื่อเข้าเยี่ยม นายเอกชัย, นายเวหา, นายคทาธร, นายคงเพชร และนายพรพจน์ ซึ่งยังไม่สามารถเยี่ยมได้เช่นเดียวกัน โดยเป็นการฝากชื่อเยี่ยมไว้และผศ.ดร.ชลิตา พร้อมประชาชนชายอีก 2 ราย เป็นตัวแทนเข้าไปซื้อของเยี่ยม ด้านมวลชนที่รออยู่ด้านนอกร่วมกันเขียนข้อความใส่กระดาษและลงชื่อให้กำลังใจฝากเจ้าหน้าที่ไปให้ผู้ต้องขังทั้ง 5 ราย 


#UDDnews #ยูดีดีนิวส์ #คนส #เยี่ยมหยุดขัง