วันศุกร์ที่ 8 เมษายน พ.ศ. 2565

#12ปีรำลึกเมษาพฤษภา53 ตอนที่ 11

 


#12ปีรำลึกเมษาพฤษภา53 ตอนที่ 11


จากบทบรรยาย ยุทธการขอคืนพื้นที่ เมษา 53

(เหตุการณ์วันที่ 10 เมษายน 2553) 


สรุปการสูญเสียชีวิตจากปฏิบัติการ “ขอคืนพื้นที่” ในบริเวณต่าง ๆ


เสียชีวิตบริเวณกระทรวงศึกษาธิการ


เมื่อเวลาล่วงเลยมาจนถึงประมาณ 15.30 น. ของวันที่ 10 เมษายน 2553 ก็ได้มีกรณีการสูญเสียชีวิตจากการเรียกร้องประชาธิปไตยของกลุ่มผู้ขุมนุมนปช. เกิดขึ้นเป็นรายแรก นั่นก็คือกรณีการเสียชีวิตของนายเกรียงไกร คำน้อย ซึ่งเกิดขึ้นบริเวณสะพานมัฆวานรังสรรค์ ข้างกระทรวงศึกษาธิการ สาเหตุการเสียชีวิตจากการสอบสวนนั้น เนื่องมาจากการถูกยิงที่สะโพกด้วยอาวุธปืนสงคราม กระสุนฝังในช่องท้อง และเสียชีวิตจากสาเหตุเลือดออกในช่องท้องจากบาดแผลที่ถูกยิง ทำให้อวัยวะในช่องท้องฉีกขาด โดยนายเกรียงไกรได้เสียชีวิตในวันที่ 11 เมษายน 2553 เวลา 03.30 น. ที่โรงพยาบาลวชิรพยาบาล จากรายงานการชันสูตรศพระบุว่าเป็นการเสียชีวิตจากกระสุนปืนความเร็วสูง


เสียชีวิตบริเวณคอกวัว

1. นายธวัฒนะชัย กลัดสุข เสียชีวิตช่วงเวลาเกือบ 19.00 น. จากการถูกยิงที่อก จากปากคำของญาติระบุว่า ก่อนตายทางผู้ตายนั้นได้เป็นคนกันทหารไม่ให้เข้ามาที่สี่แยกคอกวัว และถูกยิงเสียชีวิตเวลาประมาณ 19.00 น.

2. นายอำพน ตติยรัตน์ เสียชีวิตเวลาประมาณ 19.00 น.เศษ จากการถูกยิงที่หัว พยานได้เล่าว่านายอำพนก่อนตายหลบอยู่ที่หลังเสาไฟฟ้า ก่อนที่จะถูกยิงในเวลาต่อมา

3. นายไพรศล ทิพย์ลม เสียชีวิตเวลาประมาณ 19.00 น.เศษ จากการถูกยิงที่หัว พยานซึ่งเป็นเพื่อนได้บอกให้เขาวิ่งหลบกระสุน แต่ผู้ตายได้ก้มหยิบหินและขว้างออกไปพร้อมกับก้มหยิบหินลูกที่สองก่อนที่จะถูกยิงที่ศีรษะ

4. นายเทิดศักดิ์ ฟุ้งกลิ่นจันทร์ เสียชีวิตเวลาประมาณ 20.00 น.เศษ จากการถูกยิงที่อก พยานได้เล่าว่าตนและผู้ตายได้เข้าช่วยเหลือผู้ที่ถูกยิง ผู้ตายได้บอกกับพยานว่าให้อุ้มคนเจ็บออกไปก่อน แล้วผู้ตายก็เดินสวนเข้าไป ด้วยความเป็นห่วง พยานเลยเดินทางเข้าไปภายหลัง แต่ไม่เห็นตรงที่ผู้ตายยืนอยู่

5. นายอนันต์ สิริกุลวาณิชย์ เสียชีวิตเวลาประมาณ 20.00 น.เศษ เสียชีวิตจากการถูกยิงที่คอ

6. นายสวาท วางาม เสียชีวิตเวลาประมาณ 20.00 น.เศษ จากการถูกยิงที่หัว น้องชายนายสวาทซึ่งอยู่ในเหตุการณ์นี้ด้วย ได้ให้การว่า ตนเองและผู้ตายอยู่แนวหน้าของผู้ชุมนุม ขณะนั้นทหารเริ่มยิงกระสุนและแก๊สน้ำตาใส่ผู้ชุมนุม นายสวาทพี่ชายจึงวิ่งถือธงเข้าไปหาแนวทหารด้วยความโกรธและโดนยิงที่ศีรษะในเวลาต่อมา สวาทโดนยิงในขณะที่สวนหมวกกันน๊อคสีขาว ถูกยิงที่ศีรษะด้านขวาทะลุขมับซ้าย หลังเกิดเหตุคุณพ่อของนายสวาทได้ถอดเสื้อเพื่อห่อสมองของบุตรชายที่กองอยู่บริเวณถนนตะนาว แยกคอกวัว ด้วย

7. นายบุญธรรม ทองผุย เสียชีวิตเวลาประมาณ 20.00 น.เศษ จากการถูกยิงที่หัว ผู้ร่วมเหตุการณ์ให้การว่า ก่อนผู้ตายถูกยิงมีการผลักกันไปมา ผู้ตายบอกให้ผู้ชุมนุมซึ่งเป็นผู้หญิงกลับไปเนื่องจากอันตรายมาก ผู้ตายยืนโบกธงเพื่อให้ทหารหยุด แต่ทหารก็ยิงเข้ามา

8. นายสมิง แตงเพชร เสียชีวิตเวลาประมาณ 20.00 น.เศษ จากการถูกยิงที่หัว พยานได้ให้การว่า ขณะเกิดเหตุนายสมิงได้วิ่งสวนเข้าไปหาแนวทหาร ขณะที่คนอื่นนั้นวิ่งออกมาเพราะนึกว่าทหารยิงกระสุนยาง แต่ต่อมาก็ได้ยิงกระสุนจริง จนเป็นสาเหตุการตายของนายสมิง

9. นายสมศักดิ์ แก้วสาร เวลาเสียชีวิตไม่ทราบแน่ชัด เสียชีวิตจากการถูกยิงที่อก ภรรยาระบุว่านายสมศักดิ์ถูกยิงและเสียชีวิตทันทีที่สี่แยกคอกวัว


เสียชีวิตบริเวณถนนดินสอ โรงเรียนสตรีวิทยา

1. นายบุญจันทร์ ไหมประเสริฐ เสียชีวิตช่วงเวลา 18.00 น. - 19.00 น. จากการถูกยิงที่บริเวณหัวเหน่า ขณะร่วมชุมนุมที่บริเวณถนนดินสอ และเสียเลือดมากจากแผลที่ถูกยิง นายบุญจันทร์ถูกนำตัวส่งโรงพยาบาลและเสียชีวิตในเวลาต่อมา

2. นายจรูญ ฉายแม้น เสียชีวิตช่วงเวลาเกือบ 20.00 น.เศษ จากการถูกยิงที่อก ผู้ตายได้เข้าร่วมชุมนุมอยู่บริเวณโรงเรียนสตรีวิทยาและอนุสาวรีย์ประชาธิปไตย ถูกยิงด้วยกระสุนปืนความเร็วสูงและเสียชีวิตที่โรงพยาบาล

3. นายทศชัย เมฆงามฟ้า เสียชีวิตช่วงเวลาเกือบ 20.00 น.เศษ เสียชีวิตจากการถูกยิงที่หัวด้วยกระสุนปืน และเสียชีวิตขณะทำตัวส่งโรงพยาบาล

4. นายวสันต์ ภู่ทอง เสียชีวิตเวลาประมาณ 20.00 น.เศษ เสียชีวิตจากการถูกยิงที่หัวด้วยกระสุนปืนความเร็วสูง ภาพที่ปรากฎต่อสายตาของคนทั้งโลกต่อการเสียชีวิตของนายวสันต์ เป็นภาพที่นับว่าสยดสยองและสะเทือนขวัญเป็นอย่างมาก วสันต์เสียชีวิตขณะร่วมชุมนุมบริเวณถนนดินสอ หน้าโรงเรียนสตรีวิทยา ซึ่งขณะนั้นนายวสันต์ได้ถือธงอยู่ในมือ ถูกยิงล้มลงและเสียชีวิตทันที ซึ่งนับว่าเป็นความโหดเหี้ยมอำมหิตอย่างมากต่อการกระทำกับประชาชนที่ต่อสู้ด้วยความสันติ

5. นายสยาม วัฒนนุกูล เสียชีวิตในเวลา 20.20 น. เสียชีวิตขณะนำตัวส่งโรงพยาบาลจากการถูกยิงที่อกขณะร่วมชุมนุมอยู่บริเวณถนนดินสอ หน้าโรงเรียนสตรีวิทยา

6. นายคนึง ฉัตรเท เสียชีวิตในเวลาประมาณ 20.30 น. เสียชีวิตขณะนำตัวส่งโรงพยาบาล จากการถูกยิงที่อกด้านขวา กระสุนฝังใน ปอดฉีกขาด

7. นาย Hiroyuki Muramoto เสียชีวิตในเวลาประมาณ 21.00 น.เศษ Hiroyuki เสียชีวิตจาการยิงด้วยกระสุนปืนความเร็วสูงที่อกด้านซ้าย ขณะกำลังบันทึกภาพเหตุการณ์ที่บริเวณถนนดินสอ หน้าโรงเรียนสตรีวิทยา และได้เสียชีวิตลงระหว่างนำตัวส่งโรงพยาบาล


เสียชีวิตบริเวณอื่น ๆ

1. นายมนต์ชัย แซ่จอง เสียชีวิตจากอาการผลกระทบของแก๊สน้ำตา มนต์ชัยทิ้งแผงขายเทปเพลงมือสองทันทีที่ทราบว่าทหารจะเข้าสลายการชุมนุมที่บริเวณผ่านฟ้า และบ่ายวันนั้นเขาโดนแก๊สน้ำตา และในเย็นวันนั้นเองเขามีอาการไม่สบาย หนาวสั่น ต่อมาชีพจรของเขาเต้นเร็วผิดปกติจนต้องนำตัวส่งโรงพยาบาลและเสียชีวิตในเวลา 02.50 น. ของวันที่ 11 เมษายน 2553 แพทย์ได้ระบุในใบมรณะบัตรว่าเกิดจากการติดเชื้อในกระแสเลือด ส่วนในใบชันสูตรของโรงพยาบาลตำรวจ ระบุว่าระบบหายใจล้มเหลวเฉียบพลัน

2. นายอนันต์ ชินสงคราม เสียชีวิตช่วงเวลาบ่ายโมงจากอาการผลกระทบของแก๊สน้ำตาหลังจากโดนแก๊สน้ำตาที่ทหารยิงใส่บริเวณสะพานมัฆวานในเวลาบ่ายของวันที่ 10 เมษายน จากนั้นอีก 2-3 วัน อนันต์ก็มีอาการแน่นหน้าอก หายใจไม่ออก เพื่อนในที่ชุมนุมได้พาไปโรงพยาบาล พออาการทุเลาก็กลับไปร่วมชุมนุมและมีอาการอีกเป็นระยะ ๆ จนกระทั่งหลังเหตุการณ์ 19 พฤษภา ก็มีการป่วยตลอดและเข้ารับการรักษาที่โรงพยาบาลศรีนครินทร์ จ.ขอนแก่น กระทั่งวันที่ 15 ตุลาคม 2553 จึงได้ส่งตัวกลับบ้านและได้สิ้นลมในวันรุ่งขึ้น

3. นายยุทธนา ทองเจริญพูลพร เสียชีวิตในเวลา 20.00 น.เศษ เสียชีวิตจากการถูกยิงด้วยกระสุนปืนความเร็วสูงที่ศีรษะด้านหลังทะลุด้านหน้า และนอกจากนี้ยังมีแผลกระสุนยางที่ขา

4. นายมานะ อาจราญ เสียชีวิตช่วงเวลา 23.00 น. ถึง 23.30 น. เสียชีวิตจากการถูกยิงที่ศีรษะด้านหลังทะลุด้านหน้า สมองฉีกขาด

5. นายนภพล เผ่าพนัส ช่วงเวลาเสียชีวิตไม่ทราบแน่ชัด เสียชีวิตจากการถูกยิงด้วยอาวุธปืนสงครามที่ท้อง บริเวณถนนดินสอ


ส่วนของเจ้าหน้าที่ทหาร


ปฏิบัติการขอคืนพื้นที่ในวันที่ 10 เมษายน 2553 นั้น นอกจากจะมีการสูญเสียชีวิตของพลเรือนจำนวนมากแล้ว ก็ยังมีการสูญเสียชีวิตของเจ้าหน้าที่ทหารในปฏิบัติการครั้งนี้ถึง 5 นายด้วยกัน มีดังนี้

.

1. พ.อ.ร่มเกล้า ธุวธรรม (43 ปี)

2. พลทหารภูริวัฒน์ ประพันธ์ (25 ปี)

3. พลทหารอนุพงษ์ เมืองอำพัน (21 ปี)

4. พลทหารสิงหา อ่อนทรง (22 ปี)

5. พลทหารอนุพงศ์ หอมมาลี (22 ปี)


🛑 กรณีของการสูญเสียชีวิตของทหารทั้ง 5 นาย โดยมีการกล่าวหาว่าเป็นฝีมือชายชุดดำ ซึ่ง ศอฉ. มองว่าเป็นกองกำลังติดอาวุธที่แฝงตัวอยู่ในกลุ่มผู้ชุมนุมนปช. โดยอ้างถึงเพียงแค่คลิปวีดีโอสั้น ๆ ที่ปรากฎภาพชายชุดดำที่ทาง ศอฉ. บอกว่าได้มาจากสำนักข่าวอัลจาชีรา ซึ่งเป็นที่สังเกตว่าการนำเสนอคลิปภาพชายชุดดำของ ศอฉ. นั้น ได้นำเสนอหลังเหตุการณ์ผ่านไปแล้วหลายวัน โดยในภายหลังก็ได้รับการปฏิเสธอย่างเป็นทางการจากสำนักข่าวอัลจาชีราว่า ภาพคลิปวีดีโอชุดดังกล่าวไม่ได้เป็นภาพจากสำนักข่าวของตนที่ถ่ายได้ และเมื่อพิจารณาถึงภาพแล้วก็เห็นได้ชัดเจนว่า ภาพจากคลิปดังกล่าวมีการจัดเตรียมและมีการตกแต่งภาพอย่างชัดเจน และอาวุธที่ปรากฎในภาพชายชุดดำที่ถือนั้นเป็นอาวุธปืนอาก้า แต่ในข้อเขียนของนายอภิสิทธิ์ที่มักกล่าวอ้างเสมอเรื่องวาทกรรมชายชุดดำที่ปฏิบัติการพร้อมกับปืน M79 และอ้างว่าทหารเสียชีวิตจากการปะทะกับชายชุดดำ ซึ่งผลการชันสูตรจากการเสียชีวิตของทหารก็ได้ระบุชัดเจนว่า พบสะเก็ดระเบิดชนิดขว้าง M67 ซึ่งจะต้องมีระยะทำการที่ใกล้จุดเกิดเหตุพอสมควรเพื่อความแม่นยำ ซึ่งขัดกับความจริงของการเสียชีวิตของทหารในวันที่ 10 เมษา ที่บริเวณหน้าโรงเรียนสตรีวิทยานั้นยึดครองพื้นที่โดยทหารอย่างเบ็ดเสร็จด้วยจำนวนทหารที่มากถึง 15 กองร้อย มีทหารกว่า 2,000 นาย พร้อมรถหุ้มเกราะ 6 คัน จอดขวางหัวถนนดินสอพร้อมพลคุ้มกันอยู่บนรถหุ้มเกราะ รวมถึงไม่พบผู้บาดเจ็บล้มตายด้วยปืนอาก้าจากชายชุดดำตามคลิปที่ปรากฎ และประเด็นเรื่องชายชุดดำนั้นก็ได้มีการไต่สวนการตายในชั้นศาล ไม่มีใครพบชายชุดดำในที่เกิดเหตุ ไม่มีมวลชนติดอาวุธแต่อย่างใด และมีหลายกรณีที่มีการยกฟ้องไปแล้ว สำหรับผู้ถูกจับกุมที่มีการอ้างว่าโยงกับชายชุดดำ และมีหลายความคิดเห็นที่ออกมาในขณะนั้นว่ากรณีชายชุดดำนั้นอาจเป็นความขัดแย้งภายในกองทัพโดยอาศัยช่วงเวลานี้กำจัดผู้นำของกลุ่มที่มีอำนาจ


🎯 หลังเหตุการณ์สลายการชุมนุมวันที่ 10 เมษายน 2553 ปฏิบัติการวาทกรรมผู้ก่อการร้ายและการโยนความผิดให้ชายชุดดำของรัฐบาลอภิสิทธิ์ก็ได้เริ่มขึ้น เมื่อนายสุเทพ เทือกสุบรรณ ให้สัมภาษณ์ต่อผู้สื่อข่าวหลังเหตุการณ์การสลายการชุมนุม และกลายเป็นถ้อยคำที่ปรากฎต่อสื่อแขนงต่าง ๆ ตั้งแต่วันที่ 12 เมษายน 2553 เป็นต้นมา เพื่อเป็นการสร้างความชอบธรรมของปฏิบัติการขอคืนพื้นที่หลัง 10 เมษายน 3 วัน ศอฉ. ได้ยกระดับความรุนแรงของมาตรการต่าง ๆ โดยอนุญาตเจ้าหน้าที่สามารถใช้อาวุธปืนลูกซองได้ ต่อมา 11 เมษา นายสุเทพในฐานะ ผอ.ศอฉ. ได้อนุมัติให้เจ้าหน้าที่ใช้อาวุธกระสุนจริง และอนุญาตใช้พลแม่นปืน รวมถึงสามารถร้องขอการสนับสนุนพลซุ่มยิงหรือสไนเปอร์จาก ศอฉ.


การประกาศมาตรการต่าง ๆ ที่ออกมาหลังจากการสลายการชุมนุม เป็นการแสดงจุดยืนอย่างชัดเจนถึงความต้องการในการใช้ความรุนแรงของ ศอฉ. โดยปราศจากการแสดงความรับผิดชอบใด ๆ ของการสูญเสียชีวิตของผู้ชุมนุม รวมถึงเจ้าหน้าที่ทหาร ไม่มีคำขอโทษ หรือการแสดงความรับผิดชอบจากปากนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ มีเพียงคำกล่าวอ้างการใช้ความรุนแรงและการโยนความผิดให้กับชายชุดดำ และยังยืนยันว่าจะเดินหน้าปราบปรามด้วยมาตรการขั้นเด็ดขาดต่อไป นั่นคือจุดยืนของรัฐบาลนายอภิสิทธิ์จนนำไปสู่เหตุการณ์การสลายการชุมนุมเมื่อเดือนพฤษภาคม 2553 จนทำให้มีผู้เสียชีวิตและบาดเจ็บเป็นจำนวนมาก และเป็นหนึ่งในประวัติศาสตร์ของการต่อสู้ภาคประชาชนกับระบอบเผด็จการที่ประเทศชาติต้องจารึกต่อไป


#นปช #คนเสื้อแดง

#UDDnews #ยูดีดีนิวส์