แจงแล้ว! คำชี้แจงจากสถาบันปรีดี พนมยงค์
คำชี้แจงจากมูลนิธิปรีดี พนมยงค์
ณ วันที่ 2 เมษายน 2565
ตามที่ได้มีข่าวเกี่ยวกับสถาบันปรีดี พนมยงค์ ซึ่งเป็นหน่วยงานของมูลนิธิปรีดี พนมยงค์ ปรากฏทางโซเชียลมีเดียและสื่อมวลชนบางส่วน ที่อาจก่อให้เกิดความเข้าใจผิดเกี่ยวกับมูลนิธิและสถาบันปรีดี พนมยงค์ นั้น มูลนิธิฯ ขอเรียนชี้แจงต่อสาธารณชนผู้รักประชาธิปไตยและความเป็นธรรม เพื่อให้เกิดความเข้าใจที่ถูกต้อง ดังนี้
1. “สถาบันปรีดี พนมยงค์” เป็นองค์กรพัฒนาเอกชน ที่ไม่แสวงหาผลกำไร ดำเนินงานภายใต้การกำกับดูแลของมูลนิธิปรีดี พนมยงค์ ซึ่งได้รับอนุญาตให้จัดตั้งขึ้นอย่างถูกต้องตามกฎหมาย เมื่อวันที่ 9 มิถุนายน 2526 โดยมีวัตถุประสงค์สำคัญในการจัดตั้ง 2 ประการ คือ 1) เพื่อเผยแพร่อุดมการณ์ การส่งเสริมประชาธิปไตยสมบูรณ์ และคุณูปการของนายปรีดี พนมยงค์ แก่สาธารณะ และ 2) จัดตั้งสถาบัน เพื่อส่งเสริมสนับสนุน ค้นคว้า การวิจัยเพื่อเผยแพร่การพัฒนาทางเศรษฐกิจ การเมือง สังคม วัฒนรรม รวมถึงส่งเสริม
ด้านการศึกษา จริยธรรม และสาธารณประโยชน์อื่นๆ
2. การบริหารงานของมูลนิธิและสถาบันปรีดี พนมยงค์ ประกอบด้วยคณะกรรมการกลางและคณะกรรมการบริหาร ที่ได้รับการแต่งตั้งและมีข้อบังคับในการดำเนินงานอย่างถูกต้องตามกฎหมาย และดำเนินงานตามวัตถุประสงค์มูลนิธิฯ และไม่ได้ขึ้นอยู่กับหน่วยงานรัฐหรือองค์กรอื่นใด ดังนั้น นโยบายและการดำเนินงานใดๆ จึงเป็นเรื่องภายในของมูลนิธิและสถาบันปรีดี พนมยงค์
3. ครูองุ่น มาลิก เป็นบุคคลสำคัญผู้หนึ่งที่มีส่วนสนับสนุนการจัดตั้งสถาบันปรีดี พนมยงค์ โดยได้มอบที่ดินแก่มูลนิธิปรีดีฯ เพื่อก่อสร้างอาคารสถาบันปรีดี พนมยงค์ ตามหนังสือมอบที่ดิน ลงวันที่ 5 กันยายน 2526 ทั้งนี้ เพื่อประโยชน์ในการสืบสานเจตนารมณ์ของนายปรีดี พนมยงค์ ตามวัตถุประสงค์ ข้อบังคับ ของมูลนิธิปรีดีฯ ซึ่งในคราวทำตราสารจัดตั้งมูลนิธิปรีดีฯ เมื่อปี พ.ศ. 2526 ครูองุ่น มาลิก ยังมีชีวิตอยู่ ก็ได้รับทราบเนื้อหาในตราสารนั้นด้วย ดังนั้น การทำงานของมูลนิธิฯ จึงยึดตามข้อบังคับในตราสารดังกล่าวเป็นหลักเสมอมา และไม่อาจกระทำการใดนอกจากวัตถุประสงค์ของมูลนิธิฯ ได้
4. เหตุที่ต้องมีการปรับปรุงรื้อถอนอาคาร เนื่องมาจากความเสื่อมโทรมของอาคารสถานที่ ซึ่งใช้งานมากว่า 20 ปี โดยไม่เคยมีการปรับปรุงครั้งใหญ่ ทำให้สภาพอาคารและอุปกรณ์เครื่องใช้ต่างๆ เสื่อมโทรมลงไปมาก ทางคณะกรรมการมูลนิธิฯ พิจารณาแล้วเห็นว่าอาจเกิดปัญหาเรื่องความปลอดภัย และไม่สะดวกต่อการใช้งาน จึงได้ประกาศปิดปรับปรุงพื้นที่ชั่วคราว
หลังจากที่ได้ให้ผู้เชี่ยวชาญทำการตรวจสอบประเมินสภาพอาคารแล้ว พบว่ามีความเสี่ยงด้านความปลอดภัยหลายประการ เช่น โครงสร้างอาคารไม่แข็งแรง ฝ้าอาคารถล่มลงมา ระบบไฟฟ้า ประปา ชำรุด ซึ่งไม่สามารถที่จะซ่อมแซมอาคารเดิมได้ แต่ควรเป็นการรื้อถอนและสร้างอาคารใหม่ทั้งหมด เพื่อให้สามารถใช้สอยได้อย่างยั่งยืนต่อไปได้ในระยะยาว (อย่างน้อยอีกกว่า 30 ปี ขึ้นไป)
อย่างไรก็ตาม การสร้างอาคารใหม่ต้องใช้งบประมาณค่อนข้างสูง ในขณะที่งบประมาณของมูลนิธิฯ มีไม่เพียงพอต่อการปรับปรุงดังกล่าว ประกอบกับในช่วง 3 ปี ที่ผ่านมา รายได้จากเงินบริจาคลดลงมาก และมีข้อจำกัดในเรื่องการระดมทุนหารายได้ ทางคณะกรรมการจึงได้หาทางออกเพื่อให้สถาบันปรีดีฯ ได้ดำเนินกิจกรรมเพื่อสาธารณะต่อไป แทนที่จะต้องปิดตัวลง ด้วยวิธีการเปิด TOR ให้เอกชนยื่นข้อเสนอพัฒนาพื้นที่ในรูปแบบ BOT (Build Operate Transfer) เพื่อให้มีพื้นที่มูลนิธิฯ สำหรับจัดกิจกรรมตามวัตถุประสงค์ของมูลนิธิอย่างยั่งยืน (อย่างน้อยอีกกว่า 30 ปีขึ้นไป)
การดำเนินการในครั้งนี้จึงเป็นประโยชน์และทำให้มูลนิธิสามารถทำกิจกรรมต่างๆ ตามวัถตุประสงค์ได้อย่างยั่งยืน โดยบริษัท ยูโร ครีเอชั่นส์ จำกัด ได้ยื่นนำเสนอโครงการและมีคุณสมบัติสอดคล้องกับ หลักเกณฑ์ใน TOR มากที่สุด จึงได้ตกลงเซ็นสัญญาพัฒนาโครงการฯ เมื่อวันที่ 21 ธันวาคม 2564 ตามที่สถาบันปรีดีฯ ได้แจ้งให้สาธารณชนรับทราบในสารอวยพรปีใหม่ 2565
อย่างไรก็ตาม ในขั้นตอนการเจรจาโครงการพัฒนาพื้นที่สถาบันปรีดีฯ มูลนิธิปรีดีฯ ได้ทำหนังสือ ลงวันที่ 21 เมษายน 2563 ถึงมูลนิธิไชยวนา (สวนครูองุ่น) ซึ่งมีพื้นที่ติดกัน ให้รับทราบว่าโครงการพัฒนาพื้นที่สถาบันปรีดีฯ จะเป็นอาคารสูง 7 ชั้น และขอความคิดเห็น ซึ่งทางมูลนิธิไชยวนาก็ไม่ขัดข้อง โดยได้ทำหนังสือแจ้งรับทราบ ลงวันที่ 28 พฤษภาคม 2563 มีเนื้อหาระบุว่า ขอบคุณมูลนิธิปรีดีฯ ที่ให้ความสำคัญกับผลกระทบต่อสภาพแวดล้อมระหว่างการรื้อถอน และการก่อสร้างอาคารหลังใหม่สูง 7 ชั้น มูลนิธิไชยวนายินดีให้ความร่วมมือกับมูลนิธิปรีดีฯ ในการพัฒนาพื้นที่สถาบันปรีดี พนมยงค์ เท่าที่ไม่ขัดกับเจตนารมณ์ของครูองุ่นฯ และวัตถุประสงค์ของมูลนิธิไชยวนา ตามข้อบังคับและตราสารที่ได้จดทะเบียนไว้
5. สำหรับการใช้สอยพื้นที่อาคาร 7 ชั้น จะแบ่งออกเป็นพื้นที่ของ บริษัท ยูโร ครีเอชั่นส์ จำกัด ซึ่งกำหนดให้เป็นโชว์รูมและสำนักงานให้เช่า และพื้นที่ของสถาบันปรีดีฯ จะอยู่บริเวณชั้น 6 และ 7 ขนาดพื้นที่รวมประมาณ 600 ตรม. ประกอบด้วยโถงทางเข้า ซึ่งจะเป็นการใช้สอยพื้นที่แบบ Mixed Use ออกแบบโดยคำนึงถึงการใช้พื้นที่อย่างเต็มศักยภาพ รองรับการใช้งานที่หลากหลาย ที่มีฟังก์ชั่นเป็นศูนย์การเรียนรู้ประชาธิปไตย พื้นที่แสดงผลงานนิทรรศการ ห้องสมุด และ Co-working space พร้อมสิ่งอำนวยความสะดวก เป็นต้น นอกจากนี้ยังมี Auditorium ขนาด 100 ที่นั่ง ในรูปแบบ Black Box Theater ซึ่งสามารถรองรับการจัดกิจกรรมได้หลากหลาย ไม่ว่าจะเป็นงานเสวนา สัมมนา ห้องเรียน คอนเสิร์ต และการแสดงทางศิลปวัฒนธรรมต่างๆ โดยมีกลุ่มผู้ใช้งานเป้าหมาย คือ เครือข่ายวิชาการ เครือข่ายศิลปวัฒนธรรม และเครือข่ายธุรกิจ SME/Startup ตลอดจน NGO/NPO
มูลนิธิปรีดี พนมยงค์ ตระหนักดีถึงบทบาทหน้าที่ในการสืบสานอุดมการณ์เพื่อชาติและราษฎรไทย รวมถึงเจตนารมณ์ประชาธิปไตยสมบูรณ์ของนายปรีดี พนมยงค์ ให้เป็นจริงในสังคมไทย จึงได้ปฏิบัติตามวัตถุประสงค์ในการพัฒนาส่งเสริมงานด้านวิชาการ ควบคู่กับด้านศิลปวัฒนธรรมและประสานความร่วมมือกับองค์กรพันธมิตรอื่นๆ ในเรื่องการวิจัย เสวนา และกิจกรรมเพื่อสาธารณประโยชน์อย่างเคร่งครัด
ดังนั้น ผู้ที่ติดตามการดำเนินงานของสถาบันปรีดีฯ จะเห็นได้ว่าสถาบันปรีดีฯ มิได้สื่อเรื่องราวของความดี และความจริงทางสังคมโดยผ่านงานวิจัย ปาฐกถา และงานเสวนาทางวิชาการเท่านั้น หากยังสื่อผ่านงานทางด้านศิลปวัฒนธรรม เพื่อให้อุดมการณ์ประชาธิปไตยสมบูรณ์สื่อออกไปถึงมวลชนทุกหมู่เหล่า แม้มีความจำเป็นต้องเปลี่ยนแปลงอาคารสถานที่ แต่มูลนิธิและสถาบันปรีดี พนมยงค์ ยังคงดำเนินงานตามเจตนารมณ์เดิมของนายปรีดี พนมยงค์ อย่างมั่นคง ไม่เปลี่ยนแปลง
นางสาวสุดา พนมยงค์
ประธานที่ปรึกษากิตติมศักดิ์
มูลนิธิปรีดี พนมยงค์
#ปกป้องสถาบันปรีดี
#UDDnews #ยูดีดีนิวส์