วันศุกร์ที่ 1 เมษายน พ.ศ. 2565

ธิดา ถาวรเศรษฐ : ฟื้นความทรงจำ รำลึกขบวนการประชาชน เมษา-พฤษภา 2553 ตอน 4

 

อนุพงศ์ เผ่าจินดา - ประยุทธ์ จันทร์โอชา - ประวิตร วงษ์สุวรรณ
(ภาพ : ข่าวสด)



ฟื้นความทรงจำ รำลึกขบวนการประชาชน เมษา-พฤษภา 2553 ตอน 4

 

[ผ่านมา 15 ปี คนเสื้อแดง นปช. มีบทบาทอย่างไรในการต่อต้านรัฐประหารปี 2557 จนถึงปัจจุบัน]

 

การก่อรูปองค์กรนปช.มาจากการวิเคราะห์สังคมไทยทางการเมือง จึงมีการทำนโยบาย ยุทธศาสตร์ เป้าหมายยุทธศาสตร์ เพื่อตอบโจทย์ว่าการต่อสู้ของประชาชนให้ได้ระบอบประชาธิปไตยที่อำนาจเป็นของประชาชนแท้จริง (นั่นคือรัฐบาลมาจากการเลือกตั้งของประชาชน) โดยที่อำนาจสูงสุดในฝ่ายต่าง ๆ และตัวรัฐธรรมนูญต้องมาจากประชาชนในระบอบประชาธิปไตยแบบอารยประเทศ

 

เมื่อวิเคราะห์ว่าเป็นการต่อสู้ที่ยืดเยื้อยาวนานระหว่างระบอบเก่าและระบอบใหม่ องค์กรนำแนวร่วมนี้จึงต้องมีการนำโดยหลักนโยบาย มีการนำรวมหมู่ มีโรงเรียนการเมืองสำหรับมวลชนและแกนนำผู้ปฏิบัติงาน ทำนองเดียวกับแนวร่วมการปฏิวัติประเทศ เพียงแต่ไม่มีกองกำลังสู้รบเท่านั้น การจัดตั้งก็ต้องเข้มแข็งด้วย

 

ดังนั้น จึงไม่ต้องแปลกใจว่า เหตุใดนปช.จึงเป็นองค์กรนำยาวนานมากนับเนื่องจากปี 2549-2557 ก็เป็นเวลา 8 ปี ส่วนบทบาทหลังรัฐประหาร 2557 ก็ไม่อาจเข้มแข็งแบบเดิมได้ เพราะครั้งหลังสุดแกนนำถูกจับกรณีทำประชามติรัฐธรรมนูญกันทั่วประเทศ ส่วนหนึ่งมีความผิดพลาดที่ให้แกนนำแสดงตัวทุกท้องที่ ทุกจุดสำคัญ ทำให้แกนนำภูมิภาคต่าง ๆ ถูกรวบตัวหมด และกดดันแกนนำนปช.ทั่วประเทศ ไม่ให้ขยับเขยื้อนตัวนับแต่นั้น

 

สำหรับแกนนำส่วนกลาง เมื่อพ่วงภาระกิจการเลือกตั้งสำหรับพรรคการเมือง คนจำนวนมากก็หันไปทุ่มเทให้กับพรรคการเมืองมากกว่า เพื่อหวังให้มีบทบาทในเวทีรัฐสภา หรืออาจได้มีส่วนในการบริหารงานรัฐบาล รัฐสภา มีปัจจัยหลายประการที่ทำให้บทบาทนปช. คนเสื้อแดง ที่อ่อนล้าจาก

 

1. ถูกกระทำโดยการทหารปราบปรามเข่นฆ่ามาเป็นถูกกระทำโดยกระบวนการยุติธรรม มีคดีความ จากคดีปี 2551, 2552, 2553 และหลังจากนั้น ทั้งแพ่ง, อาญา คดีหมิ่นบุคคล, สถาบัน, พบทั้งก่อการร้าย, 112, 116 ฯลฯ

 

บ้างติดคุกกันหลายรอบ แม้ขณะนี้แกนนำส่วนกลางเดิมยังต้องขึ้นศาลตลอด และมีโอกาสเข้าคุกใหม่อีกหลายรอบ หลายคดี คดีแพ่งก็ต้องรับผิดชอบคดีเผา 2 คดี ๆ ละประมาณ 30-40 ล้านบาท

 

2. ถูกกระทำโดยธรรมชาติเรื่องอายุขัย แกนนำและมวลชนจำนวนมากกลายเป็นผู้สูงวัย เวลาผ่านมา 15 ปี นับจาก 2550 หลายคนก็เกินวัยเกษียณไปมากแล้ว พร้อมทั้งมีปัญหาสุขภาพตามวัย ไม่คล่องตัวทางกายภาพ สมอง และการใช้เทคโนโลยียุคใหม่ ในการประสานงาน, ติดต่อ

 

3. ถูกกระทำโดยการไร้ความสามารถของรัฐบาลเผด็จการทางเศรษฐกิจ ปัญหาความยากจน แกนนำและคนเสื้อแดงทั่วประเทศส่วนมากมีปัญหาเศรษฐกิจ ต้องทำมาหากินปากกัดตีนถีบ ไม่มีเงิน ไม่มีเวลามากพอที่จะทุ่มเทเหมือนในอดีต วิกฤตเศรษฐกิจหลังรัฐประหาร ยังกระหน่ำซ้ำเติมคนยากจนทั้งในเมืองและในชนบท

 

4. ปัญหาองค์กรว่าด้วยการนำมวลชน นอกจากคดีความโซ่ตรวนเรือนจำ ทำให้แกนนำจำนวนหนึ่งลดบทบาท บ้างก็หันไปเอาดีทางพรรคการเมือง ผู้นำนปช.บางคนบอกดิฉันว่าไม่ต้องฝันเรื่องการต่อสู้ของประชาชนอีกแล้ว มันจบไปแล้ว

 

ภาวะการนำขององค์กรจึงไม่ดำรงอยู่ต่อไป มีแค่เรื่องราวส่วนบุคคลเท่านั้น (บ้างก็เปลี่ยนจุดยืนไปอยู่กับฝั่งอำนาจนิยม จารีตนิยม)

 

บทบาทการต่อต้านรัฐประหาร 2557 จึงถูกกดและปิดด้วยปัจจัยต่าง ๆ ที่กล่าวมาข้างต้น โชคดีที่มีการเติบใหญ่ของเยาวชนมารับไม้ต่อ มวลชนคนเสื้อแดงส่วนมากจึงยอมรับการนำของคนรุ่นใหม่แทนการนำของคนรุ่นเก่า เพราะมีบทบาทการเคลื่อนไหวที่เป็นจริง แม้แกนนำใหม่จะเป็นเยาวชน แต่เรื่องราวและเส้นทางการต่อสู้ยังเป็นเส้นทางเดิมเดียวกัน

 

ดังนั้น คนเสื้อแดงยังอยู่ และมีคนรุ่นใหม่ร่วมข้างผู้รักประชาธิปไตยและรักความเป็นธรรมมากขึ้นทุกวัน แต่องค์กรนำ ผู้นำ ย่อมเปลี่ยนไปตามสภาพที่เป็นจริงทางภววิสัย

 

ถ้าจะว่าไป คนรุ่นใหม่ที่ไม่เคยเห็นการขับเคลื่อนของคนเสื้อแดง ซ้ำถูกใส่ร้ายป้ายสีว่าเป็นพวกควายแดง ไม่มีอุดมการณ์อะไร เป็นสมุนบริวารนายทุนสามานย์ และมีชายชุดดำ กองกำลังอาวุธ เผาบ้านเผาเมือง พวกแนวคิดอนุรักษ์นิยม พลพรรคอนุรักษ์นิยม และคนจำนวนมากก็เชื่อปฏิบัติการ IO เช่นนี้ และการที่สื่อฝ่ายจารีตนิยม อำนาจนิยม พรรคจารีตนิยมระดมโจมตีตลอดเวลา 2 ทศวรรษ ทำให้คนจำนวนมากเชื่อตามนั้น แต่เขายังให้เกียรติ ไม่ดูแคลนแบบพวกปัญญาชนและผู้ใหญ่ สลิ่มทั้งหลาย

 

ดิฉันอยากให้คนรุ่นหลังและคนที่ยังไม่เข้าใจ ได้ติดตามข้อมูล คลิป และวิดีทัศน์ต่าง ๆ ที่ดิฉัน เพื่อน ๆ และสำนักข่าว เช่น ยูดีดีนิวส์, ประชาไท, วอยซ์ทีวี, ข่าวสด และของบุคคล รวมทั้งสำนักข่าวต่างประเทศต่าง ๆ ซึ่งทำให้เห็นภาพและความจริงในช่วงเวลานั้น ๆ ดิฉันอยากจะเรียนว่า แม้หลังจากถูกปราบแล้ว ขบวนคนเสื้อแดงก็ยังมีทั้งคุณภาพและปริมาณเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ จากปี 2552 ซึ่งมีการชุมนุมหลายแสน แต่เวลาสั้น ๆ ประมาณ 2 สัปดาห์ มาปี 2553 ชุมนุมใหญ่กว่า 2 เดือน 13 มี.ค. ถึง 19 พ.ค. จำนวนคนนับแสน รวมทั้งการแห่แรลลี่ตามถนน ถ้าเป็นรัฐบาลอื่นเขาลาออกไปแล้ว แต่รัฐบาลอภิสิทธิ์, สุเทพ และกองทัพไทย หน่วยงานความมั่นคงไทย เลือกใช้วิธีการทางทหารปราบปรามเฉกเช่นข้าศึกศัตรู ทั้ง ๆ ที่เป็นพี่น้องไทยมือเปล่าทั้งนั้น (อ่านวารสารเสนาธิปัตย์ ปีที่ 59 ฉบับที่ 3 กันยายน - ธันวาคม 2553 ของกรมยุทธศึกษา กองทัพบก ลิ้งค์ https://fliphtml5.com/hubo/wqrz

 

การต่อสู้กับระบอบอำมาตยาธิปไตย ที่เป็นจารีตนิยม อำนาจนิยม มีเครือข่ายอำนาจนำครอบงำสังคมไทย ซึ่งยากมาก แม้จะมีคนมากขนาดไหน แม้จะมีเหตุผลและความชอบธรรมเพียงใด เขาก็ไม่ฟัง ยิงเราอยู่นาน ขบวนยิ่งมีคนมากเท่าไร ยิ่งต้องใช้การทหารปราบปรามแบบ “การสู้รบในเมือง” เต็มรูปแบบ โดยไม่คำนึงถึงความชอบธรรมของประชาชนที่คิดต่างแต่ต่อสู้สันติวิธี (ขนาดรัสเซียบุคเข้ายูเครนคนยังด่าทั้งโลก) นี่เป็นคนไทยด้วยกันแท้ ๆ ก็เหี้ยมพอ ๆ กับเพื่อนบ้านเราทางตะวันตกนั่นแหละ!

 

เรามีคนนับสิบล้านที่คิดเหมือนกับคนเสื้อแดง ตอนกปปส. Shut Down ขัดขวางการเลือกตั้ง ก็มีคนออกมาออกเสียงอย่างน้อย 20 ล้าน (เท่าที่เขาให้มีการลงคะแนนได้) มาถึงเวลานี้ ผู้รักประชาธิปไตยรวมกันเกิน 20 ล้านแน่นอน แต่การออกมานอกถนนแบบเดิมนั้นยาก ด้วยวิกฤตเศรษฐกิจ วิกฤตโควิด และอายุขัยสำหรับผู้สูงวัยที่เป็นคนเสื้อแดง ดังนั้น พลังปัญญาชน ชนชั้นกลาง และชนชั้นบน ในขั้นตอนการต่อสู้เพื่อเสรีประชาธิปไตย จึงสำคัญมาก และเสียงที่ส่งมาจะมีอิทธิพลมากกว่ามวลชนพื้นฐาน งานแนวร่วมจึงสำคัญยิ่ง ไม่จำเป็นต้องทำเป็นรูปการณ์อย่างนปช.ก็ได้ ซึ่งจำเป็นในการนำมวลชนพื้นฐาน ในระยะเวลายาวนานร่วมสิบสองปี (2550-2562)

 

ถ้าพิจารณาเวลาปัจจุบัน จากปี 2550 ถึง 2565 เป็นเวลานานมากสำหรับคนเสื้อแดงและนปช. ดังนั้น บทบาทภาวการณ์นำที่ถูกกระหน่ำซ้ำเติมจากรัฐประหารรอบหลัง คือปี 2557 จึงมีผลต่อบทบาทคนเสื้อแดง นปช. ตามที่ได้กล่าวมาแล้ว จัดได้ว่าเป็นการต่อต้านรัฐประหารรอบสอง เรารู้ว่านี่คือสงครามยืดเยื้อระหว่างระบอบการเมืองการปกครองที่ยังไม่สิ้นสุด แต่ว่าในแต่ละยุคในแต่ละช่วงเวลา นักต่อสู้ก็ได้ทำเต็มความสามารถของแต่ละคน แต่ละกลุ่ม แล้วที่เหลือมีทั้งมรดกชัยชนะ มีทั้งบทเรียนจากความพ่ายแพ้ในแต่ละรอบการต่อสู้ มีความตาย มีโซ่ตรวน มีรอยแผล เลือด น้ำตาของนักต่อสู้รุ่นแล้วรุ่นเล่า สิ่งที่ขอฝากไว้สำหรับผู้รักประชาธิปไตย รักความยุติธรรม ก็คือ อย่าให้การเมืองเรื่องผลประโยชน์ มาทำลายขบวนการต่อสู้ของประชาชน

 

ธิดา ถาวรเศรษฐ

1 เมษายน 2565


ขอบคุณภาพจาก : ข่าวสด, ไทยรัฐ, ประชาไท


#นปช #คนเสื้อแดง 

#UDDnews #ยูดีดีนิวส์


การชุมนุมของนปช. คนเสื้อแดง ที่ถนนอักษา ปี 2557
ภาพ : ไทยรัฐ

ประชาชนต้านรัฐประหาร เมื่อ 24 พฤษภาคม 2557
ภาพ : ประชาไท

เยาวชนคนรุ่นใหม่ออกมาชุมนุม เมื่อปลายปี 2563
ภาพ : ข่าวสด