#12ปีรำลึกเมษาพฤษภา53
“ยูดีดีนิวส์” ขอนำเสนอบทความตอนหนึ่งจาก
ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน สนทนากับ “ไพศาล จันปาน” ฉากชีวิตของคนขับแท็กซี่
สู่การเป็นนักกิจกรรมทางการเมือง พร้อมข้อยืนยันที่ว่า
‘เรายังต้องการความหวังในการต่อสู้’
ไพศาล จันปาน : คนเสื้อแดง
บาดแผล และความเจ็บปวดที่ยากจะลืม
ปี พ.ศ. 2552
สังคมไทยเริ่มเข้าสู่ยุคของความขัดแย้งด้วยสัญลักษณ์สีเสื้อ
เมื่อมีการเกิดขึ้นของกลุ่มแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ (นปช.)
ไพศาลที่สนใจเรื่องการเมืองเป็นทุนเดิม
จึงไม่ลังเลที่จะเข้าร่วมเป็นส่วนหนึ่งของการต่อสู้ เริ่มจากเทียวไปเทียวมาที่ม็อบ
ในที่สุดก็ปักหลักชุมนุมยืนระยะเมื่อกระแสการต่อสู้พุ่งขึ้นสูงในปี 2553
จนกระทั่งเหตุการณ์ “เมษา – พฤษภาเลือด”
มาถึง…
“ปี 52
ปีนั้นกลุ่มคนเสื้อแดงเข้ามาปักหลักชุมนุมกันที่ข้างทำเนียบรัฐบาล
เราก็แวะเข้าไปฟัง เห็นการอภิปราย พูดคุยเรื่องปัญหาบ้านเมือง ปัญหาเรื่องปากท้อง
สิ่งที่เกิดขึ้นกับประชาชน แล้วมันสัมพันธ์กับเรื่องที่เราเรียน
เห็นว่ามันมีกลุ่มผลประโยชน์ที่กุมอำนาจทางการเมืองไว้ข้างบน ก็เริ่มตาสว่าง”
“ปี 53 ช่วงที่มีม็อบต่อเนื่อง
ผมไม่ได้ทำงานเลย ไปร่วมชุมนุมกับเขาตั้งแต่วันที่ 12 มีนา
จำได้ว่ามีเงินเก็บอยู่สองหมื่น ก็ใช้เงินเก็บไป จนมาถึงวันที่ เสธ.แดง (พลตรีขัตติยะ
สวัสดิผล) โดนยิง ใช้เงินเก็บจนหมด เลยต้องออกไปรับจ้างขับรถ เป็นงานสัญญาจ้าง
ขับไปจนถึงระยองถึงได้รู้ข่าวว่า เสธ.แดง โดนยิงในที่ชุมนุม”
“วันที่มีการสลายการชุมนุมบริเวณราชดำเนิน
เวทีผ่านฟ้า วันที่ 10 เมษา 53 ตัวผมอยู่ที่หน้า จปร. เริ่มมีการสลายฯ ในช่วงบ่าย
เกิดความรุนแรงที่บริเวณแยกคอกวัวกับแถวโรงเรียนสตรีวิทย์
ผมไปร่วมกับผู้ชุมนุมคนอื่น
ตรึงกำลังกันเป็นโล่มนุษย์เพื่อกันไม่ให้ทหารเข้ามาเสริมกับชุดที่อยู่ที่ราชดำเนิน
สื่อสารกันผ่านวอร์ ก็ได้ยินเสียงปืนดังจากวอร์เป็นช่วง ๆ”
“ตอนนั้นยังไม่มีการถ่ายทอดสดจากที่ชุมนุมเหมือนในทุกวันนี้
จนสถานการณ์เริ่มคลี่คลายตอนเวลาประมาณสองทุ่ม ก็ย้ายกันมาตรงแยกผ่านฟ้า ราว 3
ทุ่ม ณัฐวุฒิขึ้นประกาศให้ยุติการชุมนุม ขอให้คนเสื้อแดงถอนตัว
ผมเดินมาต่อจนถึงเต้นท์พยาบาลตรงใกล้กับเทเวศน์ประกันภัย ราว 4 – 5 ทุ่ม
เหนื่อยจนน็อค ตื่นมาอีกทีตีห้า เดินกลับไปดู เจอทั้งรถถัง รถฮัมวี่ รอยเลือด
รอยระเบิด รอยกระสุน”
“ตอนที่มีการสลายการชุมนุมที่แยกราชประสงค์
วันที่ 19 พฤษภา ผมก็อยู่ร่วมด้วย รวมกับคนอื่นอยู่ในวัดปทุม วันต่อมา
จำได้ว่ามีกลุ่ม ส.ส. มาเชิญออกจากวัด พร้อมกับเจ้าหน้าที่หน่วยอรินทราชกว่า 10
นาย ถือปืนมาด้วย สัญญาว่าจะดูแลความปลอดภัยให้
เพราะคนที่อยู่ในวัดไม่กล้าเดินออกมากันเอง
เพราะเห็นทหารถือปืนตรึงกำลังอยู่บนรางรถไฟฟ้า”
“เหตุการณ์ในช่วงนั้นทำให้เราได้เห็นอะไรหลายอย่าง
เราเห็นการที่รัฐใช้ความรุนแรงกับประชาชน มีคนถูกยิง เพื่อนของเราต้องมาตาย
บ้างสูญหาย พอสลายชุมนุมได้ เจ้าหน้าที่รัฐเอาอาวุธมากอง
อ้างเคลียร์ออกมาจากในวัดปทุมฯ บอกว่าคนเสื้อแดงมีอาวุธ
แต่กลับไม่มีการตรวจหมายเลขทะเบียนอาวุธ (Serial
Number) เลยว่ามีที่มาอย่างไร
อาวุธจำนวนมากไปอยู่ตรงนั้นได้อย่างไร”
“หลังจากการสลายการชุมนุม
ผมมีอาการทางจิตอยู่ 2 – 3 ปี เวลาไปงานรำลึกการชุมนุม เวลาที่เห็นภาพการปะทะ
ภาพคนยิงกัน อยู่ๆ น้ำตามันก็ไหลออกมาเองอัตโนมัติ เป็นอย่างนั้นอยู่นาน
ทุกครั้งที่ไปก็ร้องไห้ เพราะคนที่โดนยิงโดนฆ่าคือเพื่อนเรา
มันเจ็บปวดที่เห็นคนโดนยิงต่อหน้าต่อตา”
“ทั้งๆ
ที่มีหลายคนอยู่กับผมในช่วงสลายการชุมนุม ทั้งหมอ ทั้งตำรวจ
แต่กลับไม่มีใครไปเป็นพยานในคดีการสลายการชุมนุมเลยว่า วันนั้นมันเกิดอะไรขึ้น”
อ่านฉบับเต็มที่ https://tlhr2014.com/archives/42154
ขอบคุณ
: ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน
#นปช #คนเสื้อแดง
#UDDnews #ยูดีดีนิวส์