วันอังคารที่ 5 เมษายน พ.ศ. 2565

#12ปีรำลึกเมษาพฤษภา53 ตอนที่ 6

 



#12ปีรำลึกเมษาพฤษภา53 ตอนที่ 6


จากบทบรรยาย ยุทธการขอคืนพื้นที่ เมษา 53

(เหตุการณ์ 13 มีนาคม 2553 ถึง 10 เมษายน 2553)


สถานการณ์ในเหตุการณ์วันที่ 10 เมษายนนั้น มีมูลเหตุของเหตุการณ์และลำดับความรุนแรงมาโดยลำดับจากวันที่ 7 เมษายน 2553 ซึ่งรัฐบาลนายอภิสิทธิ์ได้มีการประกาศ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน โดยอ้างว่าได้มีผู้ชุมนุมบางส่วนของกลุ่ม นปช. ได้บุกรุกเข้าไปในรัฐสภา ซึ่งมูลเหตุที่แท้จริงนั้นเกิดจากการที่ผู้ชุมนุมที่ปราศรัยด้านหน้าประตูรัฐสภานั้นได้ถูกขว้างกระป๋อง, ระเบิดเพลิงใส่ผู้ชุมนุม และปลุกเร้าให้ผู้ชุมนุมนั้นเข้าไปในรัฐสภา และเป็นการเข้าไปเพียงเพื่อหาคำตอบจากนายสุเทพ เทือกสุบรรณ สิ่งที่ผู้ชุมนุมได้พบเห็นคือ การ์ดส.ส.และเจ้าหน้าที่ส่วนหนึ่งถืออาวุธสงครามคุ้มกันนายสุเทพปืนกำแพงรั้วรัฐสภาเพื่อขึ้นเฮลิคอปเตอร์ออกไป หลังเหตุการณ์ กลุ่มผู้ชุมนุมนปช.ก็ได้ออกจากรั้วรัฐสภาอย่างสงบไร้ความรุนแรงใด ๆ ทั้งสิ้น


นายสุเทพ เทือกสุบรรณ และคณะ พร้อมอาวุธครบมือ
ขณะหนีออกจากรัฐสภา
ภาพ : มติชน

ต่อมากลุ่มผุ้ชุมนุม นปช. ก็ได้เคลื่อนไปยังสถานีดาวเทียมไทยคม เพราะว่ารัฐบาลนายอภิสิทธิ์นั้นได้สั่งการให้เจ้าหน้าที่ทหารเข้าไปยึดและตัดสัญญาณการออกอากาศของสถานี PEOPLE CHANNEL นับเป็นการลิดรอนสิทธิเสรีภาพการรับรู้ข่าวสารของประชาชน รวมถึงสั่งการให้ปิดสถานีวิทยุชุมชน จนเป็นเหตุของการเคลื่อนกำลังของกลุ่มผู้ชุมนุม นปช. ไปที่สถานีดาวเทียมไทยคม และนี่คือมูลเหตุเพียงอย่างเดียวที่รัฐบาลอภิสิทธิ์ได้ใช้ในการประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินที่มีความร้ายแรงในเขตพื้นที่กรุงเทพฯ-ปริมณฑลและจังหวัดใกล้เคียง โดยอาศัยอำนาจตาม พ.ร.ก.ฉุกเฉิน และ ศอ.รส. ถูกยกระดับไปเป็น ศอฉ. เพื่อใช้เป็นความชอบธรรมในการอยู่ในอำนาจต่อไป


หลังการประกาศใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน นายสาธิต วงศ์หนองเตย ได้ให้สัมภาษณ์ว่ารัฐบาลจะดำเนินการเคลียร์พื้นที่บริเวณสี่แยกราชประสงค์, ปิด PEOPLE CHANNEL, จับกุมแกนนำ นปช.และเพิ่มมาตรการเข้มข้นป้องกันการก่อวินาศกรรม


หลังการประกาศ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน ในเช้าวันต่อมาคือวันที่ 8 เมษายน 2553 ก็ได้มีการออกหมายจับแกนนำ นปช. ที่นำมวลชนไปบุกรัฐสภา 7 คน และต่อมาก็ได้ออกหมายจับแกนนำเพิ่มเติมอีก 7 คน และ ศอฉ. ยังสามารถตัดสัญญาณสถานีโทรทัศน์ PEOPLE CHANNEL ซึ่งเป็นสื่อเพียงช่องทางเดียวที่เหลืออยู่สำหรับให้ประชาชนได้รับรู้ความจริงในเหตุการณ์ต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นจากการชุมนุมของกลุ่ม นปช.


ผลพวงจากการประกาศ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน การยกระดับให้ศูนย์อำนวยความสงบเรียบร้อยหรือ ศอ.รส. เป็นศูนย์อำนวยการแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉินหรือ ศอฉ. โดยมีนายสุเทพ เทือกสุบรรณ เป็นผู้อำนวยการ ดำเนินงานด้วยงบประมาณถึง 3,700 ล้านบาทและการดำเนินงาน 2 เดือนพบว่า ใช้งบประมาณไปกว่า 5,000 ล้านบาท และได้ตัดกำลังทหารเพื่อเข้าร่วมภารกิจครั้งนี้ถึง 54,000 นาย ซึ่ปงระกอบไปด้วยทหารจากกองพลต่าง ๆ ดังต่อไปนี้


1. พล.1 รอ. จำนวน 21 ร้อย.รส. โดยมีทหารจาก มทบ.11 จากกองทัพภาคที่ 3 เข้าร่วมจำนวน 11 ร้อย.รส. ควบคุมพื้นที่ แยกจปร. แยกเทวกรรม ไปยังสะพานมัฆวานรังสรรค์ และรักษาแนวที่บริเวณเชิงสะพานชมัยมรุเชฐ


2. พล.ร.2 รอ. จำนวน 14 ร้อย.รส. โดยมี พล.ร.9 จำนวน 10 ร้อย.รส. และพล.ม. 2 รอ. จำนวน 1 ร้อย.รส. ขึ้นควบคุมทางยุทธการกับ พล.ร.2 รอ. ควบคุมพื้นที่แยกคอกวัวไปจนถึงอนุสาวรีย์ประชาธิปไตย และจากรายงานข่าวพบว่ามีการนำรถบัส รถน้ำ และรถจี๊บที่ใช้ในราชการของกองทัพมาจอดขวางทางขึ้นสะพานปิ่นเกล้าจากฝั่งธนบุรี ระบุได้ว่า ร.29 พัน 1 และทหารราว 5-6 กองร้อยจาก (เป็นหน่วยในสังกัดของ พล.ร.9) บนถนนอรุณอัมรินทร์ ทางที่จะมุ่งหน้าไปโรงพยาบาลศิริราช ซึ่งอยู่ในบริเวณใกล้เคียง จึงคาดเดาได้ว่าน่าจะมาจาก ร.29 พัน 1 เช่นกัน


3. ทหารจากทางด้านสะพานพระราม 8


4. นปอ. จำนวน 18 ร้อน.รส. ควบคุมพื้นที่แยกการเรือน, แยกอู่ทอง, แยกวังแดง, แยกวัดเบญจมบพิตร, แยกอุทัย, แยกเสาวนีย์, แยกเทวกรรม


5. นปพ.ทบ. จัดชุดปฏิบัติการพิเศษ ปฏิบัติภารกิจร่วมกับหน่วยบินเฉพาะกิจ ศอฉ. ในการตรวจการและการใช้แก๊สน้ำตาทางอากาศเพื่อสนับสนุนภารกิจของ ทภ.1/กกส.รส.ทภ.1 บริเวณพื้นที่ชุมนุมตามขั้นตอนของกฎการใช้กำลัง


6. สยก.ศอฉ. และ สกร.ศอฉ. จัดชุม ปจว. ทางอากาศปฏิบัติภารกิจโปรยเอกสารคำชี้แจงของ ศอฉ. สร้างความเข้าใจที่ถูกต้องแก่กลุ่มผู้ชุมนุม


รัฐบาลนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ และ ศอฉ. 
เดินทางเข้าประชุมร่วมกัน
ภาพ : บีบีซี

การประกาศพ.ร.ก.ฉุกเฉินร้ายแรงฉบับนี้ทำให้แสดงถึงเจตนาของรัฐบาลที่จะใช้ความรุนแรงสูงสุดปราบปรามประชาชนอย่างไร้เหตุผลพอสมควร เพราะยังไม่มีเหตุการณ์ร้ายแรงใด ๆ เกิดขึ้นในเวลานั้น การเข้าไปในรัฐสภาของกลุ่มผู้ชุมนุม นปช. จำนวนหนึ่ง ก็ไม่มีเรื่องความรุนแรงใด ๆ นอกจากนี้ประชาชนยังได้ขาดความเชื่อมั่นต่อองค์กรอิสระหลายองค์กร โดยเฉพาะคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนที่ละเลยที่แสดงบทบาทคัดค้านอำนาจรัฐที่ประกาศพระราชบัญญัติความมั่นคงตั้งแต่ 9 มีนาคม และกรณี 7 เมษายน 2553 คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนก็ไม่มีปฏิกิริยาใด ๆ ต่อการออก พ.ร.บ. และ พ.ร.ก. ที่รัฐบาลนายอภิสิทธิ์ออกมาในขณะเหตุการณ์นั้น มีเพียงคำพูดที่ออกมาจากปากประธานคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนเพียงสั้น ๆ ที่บอกว่ายังงง ๆ อยู่เมื่อถูกถามว่าทำไมไม่คัดค้าน พ.ร.บ.ความมั่นคง และ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน นี่คือข้อแก้ตัวที่ต่อมาภายหลังก็ได้เห็นถึงความไม่ยุติธรรมและความลำเอียงกับกลุ่มผู้ชุมนุม นปช. กับรายงานของคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติที่ชื่อว่า รายงานผลการตรวจสอบเพื่อมีข้อเสนอแนะเชิงนโยบาย กรณีเหตุการณ์สลายการชุมนุมของกลุ่มนปช.ระหว่างวันที่ 12 มีนาคม 2553 ถึงวันที่ 19 พฤษภาคม 2553 ซึ่งถือว่าเป็นจุดยืนและทัศนคติของคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนชุดนี้ ซึ่งได้มาจากการสรรหาตามรัฐธรรมนูญ 2550 เน้นการกล่าวหาว่าผู้ชุมนุมใช้ความรุนแรง มีชายชุดดำ รัฐบาลจึงมีความชอบธรรมในการใช้กำลังทหารปราบปราม เป็นการปกป้องรัฐบาล เป็นทัศนะที่อคติ เลือกข้างฝ่ายการเมืองอย่างชัดเจนจนนำมาสู่การวิพากษ์วิจารณ์กันในวงกว้างตามมาต่อรายงานฉบับนี้


การต่อสู้ของกลุ่ม นปช. นั้นแสดงให้เห็นถึงการต่อสู้แบบสันติวิธีไม่ใช้ความรุนแรงใด ๆ ดังจะเห็นได้จากกรณีของการรับข่าวสารว่ามีทหารได้มีการแทรกแซงเข้าไปซ่อนตัวของเจ้าหน้าที่ทหาร และซุกซ่อนอาวุธตามวัดและสถานที่ราชการต่าง ๆ ในรอบ ๆ บริเวณพื้นที่ชุมนุม และได้มีการขอเข้าไปตรวจค้นจากคนเสื้อแดง ซึ่งนำโดยนพ.เหวง โตจิราการ และก็ได้มีการขัดขวางการเข้าไปขอตรวจค้นจากเจ้าหน้าที่ หลัง ศอฉ. ได้ทำการตัดสัญญาณสถานีโทรทัศน์ PEOPLE CHANNEL ได้สำเร็จและส่งทหารเข้าควบคุมสถานไทยคมที่ลาดหลุมแก้ว ปทุมธานี


ขอบคุณภาพ : มติชน, บีบีซี, ประชาไท


#นปช #คนเสื้อแดง

#UDDnews #ยูดีดีนิวส์


นปช.และคนเสื้อแดงจำนวนหนึ่งมาเผ้าที่ไทยคม นนทบุรี
ภาพ : ประชาไท