ฉายภาพยนต์ไกลบ้าน"เสรีภาพที่ปล้นไม่ได้" - เสวนา "กึ่งศตวรรษ วัฒน์ วรรลยางกูร ในสายธารวรรณกรรมไทย" โดยสุชาติ-วาด รวี -ไอดา ในวาระการจากไปของนักเขียนผู้ยืนหยัดต่อสู้เพื่อประชาธิปไตยจนวาระสุดท้าย
วันนี้ (24 เม.ย. 65) สืบเนื่องจากครอบครัววรรลยางกูร ร่วมกับกลุ่มคนเดือนตุลา จัดงานไว้อาลัย "วัฒน์ วรรลยางกูร" นักเขียนเจ้าของรางวัลศรีบูรพา ซึ่งเป็นผู้ลี้ภัยทางการเมืองคดีม.112 ในอายุ 67 ปี ซึ่งเสียชีวิตที่ประเทศฝรั่งเศส เมื่อเวลา 21.30 น. ของวันที่ 21 มี.ค. 65 ตามเวลาในฝรั่งเศส หลังลี้ภัยนานกว่า 7 ปี
โดยตามที่ช่วงเช้ามีการเดินขบวนวนรอบอนุสาวรีย์ประชาธิปไตย 3 รอบ โดยบุตรชาย/บุตรสาว เป็นผู้เชิญภาพของวัฒน์ วรรลยางกูร เดินนำขบวน จากนั้นเคลื่อนขบวนต่อมายังอนุสรณ์สถาน 14 ตุลา และปักธงแดง เพื่อแสดงออกถึงการสานต่อเจตนารมณ์ด้วยรักแห่งอุดมการณ์ "วัฒน์ วรรลยางกูร" ก่อนตัวแทนจากกลุ่มองค์กรเพื่อประชาธิปไตยต่าง ๆ จะขึ้นกล่าวคำอาลัย อ่านบทกวี และปิดท้ายกิจกรรมในช่วงเช้าด้วยการวางช่อดอกไม้แสดงความอาลัย นั้น
ในเวลาต่อมา 13.30 น. ที่ห้องประชุมมูลนิธิ 14 ตุลา ด้านหลังอนุสรณ์สถาน 14 ตุลา สี่แยกคอกวัว ได้มีการฉายภาพยนตร์ "ไกลบ้าน" โดย ธีรพันธ์ เงาจีนานันต์ ผู้กำกับสารคดีสะท้อนชีวิตของผู้ลี้ภัยทางการเมือง
โดยเนื้อหาได้อธิบายถึงสาเหตุที่หลังรัฐประหารปี 2549 วัฒน์ วรรลยางกูร ต้องลี้ภัยผ่านช่องทางธรรมชาติ ไปยังประเทศลาว ซึ่งขณะนั่นมีผู้ถูกออกหมายเรียกกว่า 400 คน และวัฒน์คือหนึ่งในนั้น โดยเป็นการฉายภาพสลับกับภาพบ้านของวัฒน์ ใน จ.กาญจนบุรี
จากนั้น เวลา 14.30 น. เป็นช่วงของเสวนาในหัวข้อ "กึ่งศตวรรษ วัฒน์ วรรลยางกูร ในสายธารวรรณกรรมไทย" โดยมีผู้ร่วมเสวนา ได้แก่ นายสุชาติ สวัสดิ์ศรี หรือ สิงห์สนามหลวง อดีตศิลปินแห่งชาติ สาขาวรรณศิลป์ พ.ศ. 2554, น.ส.ไอดา อรุณวงศ์ ณ อยุธยา บรรณาธิการ เจ้าของสำนักพิมพ์อ่าน และผู้ถือบัญชีร่วมในนาม"กองทุนราษฎรประสงค์" และนายรวี สิริอิสสระนันท์ หรือ วาด รวี นักเขียนชาวไทยและบรรณาธิการสำนักพิมพ์ไชน์ และดำเนินรายการโดย ปานิส โพธิ์ศรีวังชัย บรรณาธิการ The101.world
ในตอนหนึ่ง นายสุชาติ สวัสดิ์ศรี หรือ สิงห์สนามหลวง อดีตศิลปินแห่งชาติ สาขาวรรณศิลป์ พ.ศ. 2554 กล่าวว่า ตนจำชัดเจนไม่ได้ว่ารู้จักวัฒน์ตอนไหน แต่เข้าใจว่าเป็นช่วงหลังเหตุการณ์ 14 ตุลา ซึ่งวัฒน์เรียนอยู่ที่ ม.รามคำแหง เขาเขียนหนังสือตั้งแต่สมัยเรียน โดย ช่วงเรียนหนังสือสมัยมัธยม เริ่มส่งเรื่องสั้นไปนิตยสารยานเกราะ
นายสุชาติกล่าวว่า วัฒน์ไม่ตามใคร แต่ก็ไม่นำใคร ทั้งเรื่องงานและชีวิต ความเป็นอิสระชนในหลายรูปแบบทำให้เขามีผลงานหลากหลาย ซึ่งทำให้เกิดความแตกต่างจากนักเขียนในช่วงเดือนตุลาที่ค่อนข้างเป็นสูตรสำเร็จ เป้าหมายของวัฒน์ต้องการสื่อถึงเรื่องความเหลื่อมล้ำ และต่อมาวัฒน์ต้องลี้ภัยในช่วงหลังรัฐประหาร 2557 ไป สปป.ลาว และไปยังฝรั่งเศส
สิ่งที่วัฒน์พูดมาตลอดคือคนเหมือนกันแต่ทำไมจึงมีอะไรไม่เหมือนกัน นี่คือจุดยืนการเลือกข้างของเขามาตั้งแต่ปี 2518 นายสุชาติกล่าว
ขอให้สิ่งที่วัฒน์ได้สร้างไว้ในความหลากหลายของงานเขียน รวมถึงบทเรียนต่าง ๆ ที่ได้รับรู้จากความเจ็บปวดและความขมขื่นของเขา ทำให้แวดวงที่เหมือนเป็นโลกคู่ขนานได้มีความชัดเจน อย่างน้อยก็ชัดเจนในฐานะที่เป็นมิตรน้ำหมึก ในฐานะที่ร่วมอยู่ในสมรภูมิเดียวกันแต่แยกกันรบ นายสุชาติกล่าวทิ้งท้าย
ด้านนายรวี สิริอิสสระนันท์ หรือ วาด รวี นักเขียน กล่าวว่า ในช่วงแรกที่วัฒน์เริ่มเขียนหนังสือ ไม่นานก็เกิดกระแสเพื่อชีวิต วัฒน์จึงถือได้ว่าเป็นนักเขียนเพื่อชีวิตรุ่นแรก และเป็นสัญลักษณ์ของ "เพื่อชีวิต" ก็ว่าได้ เป็นงานเขียนที่มีธงชัดเจนว่าเขียนเพื่ออะไร เพื่อประชาชน ตีแผ่การกดขี่ทางชนชั้น
งานชิ้นที่มีชื่อเสียงที่สุดคือนิยาย ตำบลช่อมะกอก ตีแผ่ประเด็นความขัดแย้งระหว่างชาวบ้านกับชนชั้นนำ จนกลายเป็นหนังสือต้องห้าม และมนต์รักทรานซิสเตอร์ คืองานเขียนชิ้นแรกหลังออกจากป่าที่ไม่ได้พูดถึงการเมือง เพื่อพิสูจน์ตัวเองว่าเส้นทางนักเขียนจะเป็นอย่างไรต่อ
ขณะที่ น.ส.ไอดา อรุณวงศ์ ณ อยุธยา บรรณาธิการสำนักพิมพ์อ่าน กล่าวในฐานะบรรณาธิการคนสุดท้ายของสำนักพิมพ์อ่าน ซึ่งตีพิมพ์หนังสือของวัฒน์ คือ "ต้องเนรเทศ" โดยโชว์ปกจำลองหนังสือเล่มสุดท้ายของวัฒน์ที่จะพิมพ์ ในวันจันทร์ที่ 25 เมษายนนี้ 2 ปก
น.ส.ไอดากล่าวว่า เมื่ออ่านต้นฉบับของวัฒน์ที่จบลงตรงท่อนแรกที่ว่า "ไม่กลับ การลาลับ คงอยู่" ก็รู้สึกไม่สบายใจและหวั่นใจ เพราะไม่ทราบว่าจะขอร้องอย่างไรว่าอย่าเขียนราวกับเป็นหนังสือเล่มสุดท้ายของชีวิต แต่ครั้งสุดท้าย คือ หมุดหมายของการบรรลุบั้นปลายว่าจะถึงชัยชนะ หมายถึงการพ้นจากภาวะ "ครั้งแล้วครั้งเล่า" เพราะคือที่สุดของความสมบูรณ์แบบดั่งแรงใจ แต่ที่ตลกร้ายคือเรามักจะไม่ได้เห็นมัน
น.ส.ไอดาได้กล่าวว่า หนังสือเล่มนี้เริ่มต้นด้วยการเล่าภาพรวมจากเส้นทางจากหุบเขาถึงปารีส นกปีกหัก บทที่ 2 คือ บ้านท่าเสา กาญจนบุรี ที่อบอวลด้วยความรักความผูกพัน ที่ไม่ใช่เพียงที่พักเหนื่อย แต่คือทุกสิ่งทุกอย่างในชีวิต ในบทที่ 3-4-5 เป็นมหากาพย์ช่วงลี้ภัย ในภาวะที่ไม่อาจกำหนดอะไรได้
เขาบรรยายชีวิตที่พยายามตั้งหลักในประเทศที่ 2 สะท้อนความคิดถึงบ้านท่าเสา และจำลองความเป็นบ้านที่ไม่ใช่ ที่ไม่เหลือใคร นอกจากความลำพัง และสำหรับบทที่ 9 กล่าวถึงดินแดนฝรั่งเศส ที่ให้สิทธิมนุษยชน และรัฐสวัสดิการ
โดยเมื่อจบช่วงเสวนา กิจกรรมได้ย้ายออกมาจัดที่อนุสรณ์สถานฯ อีกครั้งเป็นช่วง กวี ดนตรี ปราศรัย และละคร
#UDDnews #ยูดีดีนิวส์ #วัฒน์วรรลยางกูร