วันอาทิตย์ที่ 24 เมษายน พ.ศ. 2565

ธิดา ถาวรเศรษฐ : “วัฒน์ วรรลยางกูร” ขุนพลเอกฝ่ายประชาชนในสนามรบด้านวัฒนธรรม

 


“วัฒน์ วรรลยางกูร” ขุนพลเอกฝ่ายประชาชนในสนามรบด้านวัฒนธรรม


สนามรบด้านวัฒนธรรมเป็นสิ่งสำคัญยิ่งในสงครามการต่อสู้ด้านชนชั้นและความเป็นธรรมของสังคม หลายคนอาจคิดไม่ถึงว่างานศิลปะ งานประพันธ์ การแสดง เป็นสนามรบสำคัญระหว่างประชาชนผู้ถูกปกครองและผู้ปกครองที่เป็นเครือข่ายชนชั้นนำจารีตนิยม อำนาจนิยม หลังการรัฐประหาร พ.ศ. 2490 เป็นต้นมา เครือข่ายจารีตนิยมได้เริ่มบทบาทหลักผ่านทางแนวรบด้านวัฒนธรรม งานประพันธ์ต่าง ๆ ในรูปนิยาย บทความ สารคดี ที่ฟื้นฟูความรุ่งโรจน์ของการปกครองในระบอบเก่าที่มีการปกครองของเทวราชา สนามรบแห่งนี้ ฝ่ายจารีตนิยมได้ยึดกุมตลอดมา ฝ่ายเรามีขุนพลใหญ่ในแนวรบนี้ไม่ว่าจะเป็น ศรีบูรพา, จิตร ภูมิศักดิ์, นายผี อัศนี พลจันทร และอื่น ๆ เช่น ทวีป วรดิลก เหล่านี้เป็นคนรุ่นก่อน 14ตุลา16 ทั้งสิ้น แต่ขุนพลหลัง 14ตุลา16 เมื่อเวลาผ่านไปก็กลายเป็นเปลี่ยนฝ่าย ดิฉันไม่อยากจะกล่าวถึง


แต่ “วัฒน์ วรรลยางกูร” เป็นขุนพลที่ปักหลักในสนามรบด้านวัฒนธรรมชนชั้นในฝ่ายประชาชนอย่างเด็ดเดี่ยว สุดจิตสุดใจ ไม่ถอยแม้แต่ก้าวเดียวจนวาระสุดท้ายของชีวิต ผู้ที่ผ่านการศึกษาและการปฏิบัติที่เป็นจริงในสนามการต่อสู้ของประชาชนย่อมเข้าใจดีว่า แนวรบด้านวัฒนธรรมมีบทบาทสูงเพียงใดในการต่อสู้ของประชาชน เพราะจะเป็นส่วนสำคัญยิ่งในการนำเสนออุดมการณ์, การตีแผ่ความเป็นจริงของสังคมอย่างมีศิลปะชั้นเชิง ทำให้คนเห็นด้วยหรือมีการเปลี่ยนแปลงความคิดและจุดยืนให้มาอยู่ฝ่ายประชาชนด้วยความสมัครใจ ไม่ได้ถูกบังคับ หลอกลวง หรือติดกับในความเท็จใด ๆ ที่ถูกสร้างจากฝ่ายจารีต-อำนาจนิยม


ฝ่ายจารีตนิยมได้ใช้อานุภาพของงานประพันธ์ต่าง ๆ และการแสดงเชิงศิลปวัฒนธรรมของฝ่ายจารีตครอบงำ โน้มน้าว จูงใจ กล่อมเกลา กระทั่งในสถานศึกษาทุกระดับชั้น ได้ผลมากเป็นลำดับกว่า 70 ปีมาแล้ว ในฝ่ายประชาชนนั้น เรามีขุนพลในสนามรบนี้น้อยกว่ามาก โดยเฉพาะอย่างยิ่งใน 2 ทศวรรษของการต่อสู้ในยุคใหม่


ดิฉันได้พบ “วัฒน์” เมื่อช่วงเวลาในเขตป่าเขา ได้เดินทางไปภูพาน ก็อยู่ที่นั่นช่วงสั้น ๆ กับกลุ่มแนวร่วมแล้วกลับออกมาไปที่อื่น ไม่ได้พูดคุยการเมืองใด ๆ กันกับ “วัฒน์”, “วิสา”


ในปี 52 ได้ไปงานฌาปนกิจ “สหายรุ่งโรจน์” ภรรยาของวัฒน์ ที่เป็นแม่ของลูก 3 คน ได้ทราบจากวัฒน์ว่าเธอเป็นแดงเต็มตัว ต่อต้านรัฐประหารเต็มที่ ต่อมาวัฒน์ได้มาเยี่ยมที่คลินิกพร้อมให้ชิมไวน์ที่ผลิตเอง หลังจากนั้นก็แทบไม่ได้พบกัน ได้พบกันที่ธรรมศาสตร์ร่วมร้องเพลงกับวงท่าเสาของวัฒน์ เข้าใจว่าวัฒน์ได้ใกล้ชิดกับกลุ่มอิสระและไม้หนึ่ง ก. กุนที แม้ไม่ได้มาร่วมกับคณะนปช. แต่ถือเป็นเสื้อแดงเต็มตัว

 

ในช่วงที่ดิฉันเป็นประธานนปช. (ธ.ค. 53 - ก.พ. 57) ก็ได้ให้โอกาสกลุ่มต่าง ๆ เป็นอิสระ ทำงานตามความคิดของตนเต็มที่โดยไม่บังคับควบคุมคนเสื้อแดงให้ขึ้นต่อนปช.ทั้งหมด ทั้งนี้ให้เป็นเรื่องสมัครใจและความเชื่อถือของคนเสื้อแดงเอง แต่ขุนพลสำคัญทางวัฒนธรรมอีกคนคือ “วิสา คัญทัพ” นั้นได้ใกล้ชิดร่วมงานกันมากกว่า


แต่ดังที่ดิฉันได้กล่าวแล้วว่า ดิฉันให้ความเคารพ เชื่อมั่นในจุดยืนเพื่อประชาชนและขีดความสามารถในงานศิลปะ งานประพันธ์ของ “วัฒน์ วรรลยางกูร” เต็มที่ แม้เราจะห่างหายกันโดยการพบส่วนตัวบ้างในตอนก่อนทำการรัฐประหารครั้งสุดท้าย แต่ความห่วงใยฉันท์สหายร่วมอุดมการณ์มีอยู่มาก ดิฉันเคยเชื่อว่า “วัฒน์” จะอยู่ได้สบายในประเทศสังคมนิยมใกล้บ้านเรา เพราะเคยเป็นสหายเก่า ย่อมรู้ถึงวินัยและการชี้แนะของพรรคปฏิวัติลาว แต่ในที่สุดก็ยากที่จะอยู่ เมื่อเพื่อนฝูงใกล้ชิดถูกอุ้มฆ่ากันหมด เมื่อ “วัฒน์” ได้ไปฝรั่งเศสก็ดีใจด้วย แต่ความสบายใจก็อยู่ได้ไม่นาน เมื่อทราบว่าป่วยหนัก


ในตอนท้าย ๆ ดิฉันได้มีโอกาสสนทนากับคุณจรัล ดิษฐาอภิชัย และคุณภัทรา (โบว์) คู่ชีวิตคนใหม่ เกี่ยวกับเรื่องการรักษา การใช้ยาของโรงพยาบาลในฝรั่งเศสที่ดูแล “วัฒน์” ก็เห็นว่าเขาใช้ยาอย่างดี ใช้เต็มที่แล้ว และการดูแลก็ทำกันได้ดี จดข้อมูลบอกดิฉันได้ละเอียดมาก น่าชมเชย “วัฒน์” โชคดีที่มีภรรยาดีและมีครอบครัวที่ดี


อย่างไรก็ตามดิฉันคิดว่าชีวิตของ “วัฒน์” น่าเสียใจที่จากไปก่อนเวลาอันควร เพราะถ้าไม่มีโรคร้าย “วัฒน์” คงสร้างสรรค์ผลงานให้ประชาชนได้มากกว่านี้ มีความสุขในปั้นปลายชีวิตนานกว่านี้


แต่ดิฉันก็มีทัศนะต่อการมีชีวิตและการจากไปของ “วัฒน์” ว่า เมื่อมีชีวิตอยู่ก็มีความสุขใจยิ่งใหญ่ที่ร่วมเดินเส้นทางที่ถูกต้องร่วมกับประชาชน เพื่อประชาชน แม้จะมีทุกข์กายแต่สุขใจนั้นสำคัญกว่า ก็เปรียบเหมือน “วัฒน์” ได้อยู่แดนสุขาวดีของนักต่อสู้ของประชาชน ทั้งในยามมีชีวิตอยู่แล้ว และยามจากไป ความยิ่งใหญ่ในใจของประชาชนนั้นคือสิ่งที่ยิ่งกว่าแดนสุขาวดี ที่เราไม่รู้หรอกว่ามีจริงหรืออยู่ที่ไหน


ความตายดังขุนเขานั้น คือการถูกบันทึกไว้ในใจและประวัติศาสตร์การต่อสู้ของฝ่ายประชาชน


ธิดา ถาวรเศรษฐ

2 เมษายน 2565


#UDDnews #ยูดีดีนิวส์