วันเสาร์ที่ 30 เมษายน พ.ศ. 2565

อัยการสั่งฟ้องคดี 4 สมาชิก #ทะลุฟ้า กรณีกิจกรรมปาสีหน้าพรรคภูมิใจไทย ศาลให้ประกันตัว วางหลักทรัพย์รวม 175,000 บาท กำหนดเงื่อนไขให้ติด EM, ห้ามทำให้สถาบันกษัตริย์และศาลเสื่อมเสีย ทั้งที่พฤติการณ์ไม่เกี่ยวกับ ม.112 แต่อย่างใด

 


อัยการสั่งฟ้องคดี 4 สมาชิกทะลุฟ้า กรณีกิจกรรมปาสีหน้าพรรคภูมิใจไทย ศาลให้ประกันตัว วางหลักทรัพย์รวม 175,000 บาท กำหนดเงื่อนไขให้ติด EM, ห้ามทำให้สถาบันกษัตริย์และศาลเสื่อมเสีย ทั้งที่พฤติการณ์ไม่เกี่ยวกับ ม.112 แต่อย่างใด


วานนี้ (29 เม.ย. 65) พนักงานอัยการมีคำสั่งฟ้อง จตุภัทร์ บุญภัทรรักษา, จิตริน พลาก้านตง, ทรงพล สนธิรักษ์ และปนัดดา ศิริมาศกูล 4 สมาชิกกลุ่มทะลุฟ้า ต่อศาลอาญา กรณีถูกกล่าวหาจากการทำกิจกรรมหน้าพรรคภูมิใจไทย เพื่อยื่นหนังสือข้อเรียกร้องให้ถอนตัวจากพรรคร่วมรัฐบาล เมื่อวันที่ 30 ก.ค. 64 โดยมีการปาถุงสีแดงใส่หน้าพรรคด้วย


สำหรับ 5 ข้อกล่าวหาได้แก่ ฝ่าฝืนข้อกำหนดตาม พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ, ประมวลกฎหมายอาญามาตรา 215 มั่วสุมกับตั้งแต่ 10 คนขึ้นไป ขู่เข็ญว่าจะใช้กําลังประทุษร้าย หรือกระทำการให้เกิดการวุ่นวายขึ้นในบ้านเมือง, มาตรา 216 เมื่อเจ้าพนักงานสั่งผู้ที่มั่วสุมให้เลิกไป แต่ไม่เลิก, ร่วมกับขีดเขียนพ่นสี หรือทำให้ปรากฏซึ่งข้อความ ภาพ ที่กําแพง อาคาร หรือที่สาธารณะ ตาม พ.ร.บ.ความสะอาดฯ และใช้เครื่องขยายเสียงโดยไม่ได้รับอนุญาต


ต่อมาศาลอาญามีคำสั่งอนุญาตให้ประกันตัวทั้ง 4 คน โดยให้วางหลักทรัพย์ประกันสำหรับจตุภัทร์ เป็นจำนวน 70,000 บาท ส่วนอีกสามคนวางหลักทรัพย์คนละ 35,000 บาท รวมเป็นหลักทรัพย์จำนวน 175,000 บาท จากกองทุนราษฎรประสงค์


โดยกำหนดเงื่อนไขได้แก่ ห้ามกระทำการใดๆ ในลักษณะหรือทํานองเดียวกับที่ถูกกล่าวหาในคดีนี้ หรือเข้าร่วมในกิจกรรมใดๆ ที่อาจก่อให้เกิดความวุ่นวายขึ้นในบ้านเมือง หรือกระทำการหรือร่วมกิจกรรมใดๆ ในอันที่จะทำให้เกิดความเสื่อมเสียต่อสถาบันพระมหากษัตริย์และศาลในทุกด้าน ห้ามจำเลยเดินทางออกนอกราชอาณาจักรจนกว่าศาลจะมีคำสั่งเป็นอย่างอื่น และเพื่อให้เป็นหลักประกันว่าผู้ต้องหาจะปฏิบัติตามเงื่อนไขของศาล เห็นควรให้ติดอุปกรณ์ติดตามตัวอิเล็กทรอนิกส์ (EM) และห้ามจำเลยออกนอกเคหสถานระหว่างเวลา 18.00 น. ถึง 06.00 น. ของวันรุ่งขึ้น เว้นแต่ในกรณีที่จะต้องมาดำเนินการตามคำสั่งของเจ้าพนักงานหรือศาล หรือได้รับอนุญาตจากศาลก่อน และให้จำเลยมารายงานตัวต่อศาลทุก 30 วัน จนกว่าศาลจะมีคำสั่งเป็นอย่างอื่น


และศาลนัดตรวจพยานหลักฐานต่อไปวันที่ 30 พ.ค. 2565 เวลา 9.00 น.


เป็นที่น่าสังเกตว่าเงื่อนไขการประกันตัวดังกล่าว มีลักษณะเดียวกับแกนนำราษฎรหลายคนในคดีมาตรา 112 ทั้งที่ในคดีนี้ไม่ได้มีข้อกล่าวหาดังกล่าว และไม่เกี่ยวข้องกับสถาบันพระมหากษัตริย์แต่อย่างใด ขณะที่ทั้งจิตริน, ทรงพล และปนัดดา เอง ก็ไม่เคยถูกดำเนินคดีมาตรา 112 มาก่อน


#ทะลุฟ้า

#UDDnews #ยูดีดีนิวส์