วันศุกร์ที่ 8 เมษายน พ.ศ. 2565

#12ปีรำลึกเมษาพฤษภา53 ตอนที่ 10

 


#12ปีรำลึกเมษาพฤษภา53 ตอนที่ 10


จากบทบรรยาย ยุทธการขอคืนพื้นที่ เมษา 53

(เหตุการณ์วันที่ 10 เมษายน 2553)


วันที่ 10 เมษายน 2553 ช่วงเวลา 18.00 น. ถึง 20.00 น. สถานการณ์เริ่มมีการตึงเครียดและเริ่มมีการเผชิญหน้ากันในหลาย ๆ จุด ประกอบกับความกดดันของเจ้าหน้าที่ทหารที่ได้รับคำสั่งจาก ศอฉ. ภายใต้รัฐบาลนายอภิสิทธิ์ ให้ปฏิบัติหน้าที่ให้สำเร็จภายในวันนั้น และจากการที่เป็นช่วงเวลาค่ำ ท้องฟ้าเริ่มมืดลงเรื่อย ๆ ดังนั้นการปฏิบัติการจึงเข้มข้นขึ้นกว่าช่วงเวลากลางวัน มีการยิงปืนขู่ นำรถขยายเสียงเปิดเพลงสลับกับประกาศให้ผู้ชุมนุมออกจากพื้นที่ ด้านบนฟ้าก็มีการทิ้งแก๊สน้ำตาด้อยคุณภาพเพื่อสลายการชุมนุมอย่างเป็นระยะ ด้านบริเวณพื้นที่สี่แยกคอกวัว ถนนตะนาว ถนนข้าวสาร เมื่อท้องฟ้ามืดลง ก็เริ่มมีการเผชิญหน้าและเริ่มตึงเครียด จนแนวเผชิญหน้าห่างกันเพียงแค่ 10-15 เมตร จากนั้นทหารเริ่มยิงแก๊สน้ำตาใส่ผู้ชุมนุม แต่ทิศทางลมกลับพัดพาแก๊สน้ำตากลับไปยังฝั่งทหารจนต้องถอยร่น


นอกจากนั้นเจ้าหน้าที่ยังมีการทำลายรถของผู้ชุมนุมที่จอดเป็นแนวกั้นเอาไว้ ทหารได้กลับมาอีกรอบพร้อมกับเดินหน้ากระดานกินพื้นที่เข้ามาหาผู้ชุมนุม พร้อมทั้งสาดกระสุนยางปนกระสุนจริง พร้อมทั้งยิงแก๊สน้ำตาใส่ผู้ชุมนุมจนถูกผู้ชุมนุมแนวหน้าบาดเจ็บเป็นจำนวนมาก บางรายต้องตาบอดจากกระสุนยางของเจ้าหน้าที่ทหาร บางรายบาดเจ็บสาหัสจากการถูกยิงตามลำตัวหลายจุด นอกจากนั้นยังมีเสียงดังคล้ายระเบิดเป็นระยะ ๆ


ช่วงเวลา 19.25 น. กลุ่มผู้ชุมนุมนปช. ได้ฉีดน้ำยาดับเพลิงเข้าใส่ทหารเพื่อเป็นการต้าน จนทหารต้องถอยไปทางปากทางถนนข้าวสาร และมีการยิงปืนขู่ผู้ชุมนุมเป็นระยะ ต่อมามีการยิงกระสุนยางปนกระสุนจริงใส่ผู้ชุมนุมจนผู้ชุมนุมต้องแตกกระเจิงออกจากแนวเผชิญหน้า


ในช่วงเวลาประมาณทุ่มตรงเป็นต้นไป ถือเป็นเวลาวิกฤตของบริเวณแยกคอกวัวและบริเวณถนนดินสอ การเผชิญหน้าระหว่างผู้ชุมนุมกับเจ้าหน้าที่ทหารเต็มไปด้วยความตึงเครียดและมีการใช้ความรุนแรงทุกรูปแบบจากทหาร ส่งผลให้บริเวณแยกคอกวัว ถนนตะนาว ถนนข้าวสาร นี้มีการสูญเสียชีวิตของผู้ชุมนุมเป็นจำนวนมากถึง 10 ราย ซึ่งเวลาของการเกิดเหตุการณ์เสียชีวิตนั้นเกิดอยู่ในช่วงเวลา 19.00-20.15 น. ก่อนการปรากฎตัวของชายชุดดำ


หลังเหตุเผชิญหน้ากลุ่มผู้ชุมนุมได้มีการเก็บหลักฐานต่าง ๆ เพื่อเป็นหลักฐานของการใช้ความรุนแรงจากเจ้าหน้าที่ทหารไว้มากมาย


ช่วงเวลา 20.00 น. มีเหตุระเบิดดังขึ้น 2 ครั้ง จากนั้นมีรายงานของผู้เสียชีวิตเป็นเจ้าหน้าที่ทหารจำนวน 5 นาย โดยรายงานข่าวได้ระบุถึงระเบิดที่ใช้สังหารเจ้าหน้าที่ทั้ง 5 นายนี้ว่าเป็นระเบิดประเภท M79 แต่จากการสอบสวนในภายหลังกลับพบว่าทหารทั้ง 5 นาย เสียชีวิตจากระเบิดชนิดขว้าง M67 หลังเหตุการณ์ระเบิดก็อ้างว่ามีกลุ่มผู้ก่อการร้ายเข้าแฝงตัวอยู่ในกลุ่มผู้ชุมนุม จึงเพิ่มความรุนแรงในการสลายการชุมนุมด้วยการใช้มาตรการระดมยิงปืนโดยการยิงในแนวราบเข้าหาผู้ชุมนุมอย่างบ้าคลั่ง จนทำให้การเสียชีวิตและบาดเจ็บเพิ่มขึ้นอีกเป็นจำนวนมาก และมีคำสั่งอนุญาตการใช้ซุ่มยิงด้วยสไนเปอร์จากที่สูงเพื่อเข่นฆ่าผู้ชุมนุมอย่างโหดเหี้ยม โดยมีพยานหลายคนได้เห็นแสงไฟสว่างจากบนตึก โดยเน้นไปที่ผู้ชุมนุมที่แสดงตัวอย่างเด่นชัด เช่น มีการถือธงในมือ ซึ่งเป็นเป้าหมายที่ชัดเจนที่สุด ภายหลังก็มีข้อมูลอ้างถึงการเตรียมกองกำลังพลซุ่มยิงเพื่อทำการอารักขา ผอ.หน่วยและไล่ล่าแกนนำที่ถูกออกหมายจับ โดยวางตัวบนตึกสูง ซึ่งมาจากหน่วยเฉพาะกิจ 90 ชลบุรี และอีกหน่วยมาจากทหารเสือราชินี ร.21 รอ. ซึ่งปฏิบัติการหน่วยพลซุ่มยิงและสไนเปอร์นี้ ทหารถือเป็นยุทธวิธีที่ประสบผลสำเร็จจากเหตุการณ์นั้น และได้ถูกนำมาใช้เป็นกองกำลังสำคัญในเหตุการณ์การสลายการชุมนุมพฤษภา 53 ซึ่งยังผลให้มีผู้เสียชีวิตมากกว่า 100 และบาดเจ็บอีกนับพันคน


ช่วงเวลา 21.00 น. หลังมีการเผชิญหน้ากันอย่างต่อเนื่องระหว่างผู้ชุมนุมนปช. มือเปล่าปราศจากอาวุธและเจ้าหน้าที่ทหารในบริเวณต่าง ๆ ใกล้กับที่ชุมนุม เช่น ถนนดินสอช่วงวงเวียนอนุสาวรีย์ประชาธิปไตย และถนนตะนาวช่วงแยกคอกวัว ฝั่งเชื่อมต่อถนนข้าวสาร โดยมีผู้เสียชีวิตเป็นจำนวนมาก ทหารได้รับคำสั่งถอนจากพื้นที่ แต่ไม่นานก็กลับเข้ามาใหม่พร้อมกระสุนจริง ยิงใส่ผู้ชุมนุมที่ยึดรถถังเพื่อเป็นการเก็บหลักฐาน เพื่อไม่ให้กลุ่มผู้ชุมนุมได้หลักฐานเหล่านี้ในการโต้ตอบ


สถานการณ์เริ่มตึงเครียดอีกครั้ง และยังผลให้การเผชิญหน้าบริเวณสี่แยกคอกวัว ถนนประชาธิปไตย หน้าโรงเรียนสตรีวิทยา มีผู้เสียชีวิตและได้รับบาดเจ็บจำนวนมากส่งโรงพยาบาล แกนนำนปช. และกลุ่มผู้ชุมนุมบางส่วนได้ไปยังโรงพยาบาลเพื่อรับศพจากเจ้าหน้าที่พยาบาล เพราะเป็นผู้เสียชีวิตจากเหตุปะทะ โดยมีเหตุผลคือไม่ต้องการให้เป็นเหมือนเหตุการณ์เมื่อปี 2552 ที่มีการปิดข่าวเรื่องการเสียชีวิตของผู้ชุมนุม จากนั้นได้นำศพขึ้นเวทีผ่านฟ้า มีธงชาติคลุมร่างอันไร้วิญญาณของผู้ชุมนุมนปช. ในเหตุการณ์ช่วงนี้ได้มีกลุ่มผู้ชุมนุมสูญเสียชีวิตเป็นจำนวนถึง 4 คน และมีช่างภาพชาวญี่ปุ่นของสำนักข่าวรอยเตอร์เสียชีวิตจากการทำหน้าที่ นับเป็นสื่อมวลชนต่างชาติรายแรกที่เสียชีวิตในเหตุการณ์ความรุนแรงเดือนเมษา-พฤษภา 53


หลังความรุนแรงประมาณ 23.00 - 23.30 น. ก็มีอีก 1 ศพ ซึ่งเสียชีวิตจากการปฏิบัติหน้าที่ของเจ้าหน้าที่ทหาร ซึ่งเป็นเหตุการณ์หลังจากที่ทหารได้รับคำสั่งถอนกำลังจากพื้นที่เผชิญหน้าเพื่อลดความรุนแรง ซึ่งผู้เสียชีวิตรายสุดท้ายนี้ทำงานเป็นเจ้าหน้าที่ลูกจ้างชั่วคราวของสวนสัตว์ดุสิต ซึ่งการเสียชีวิตของนายมานะ เจ้าหน้าที่สวนสัตว์ดุสิตนี้ ดีเอสไอได้สรุปสำนวนว่าเกิดจากการกระทำของเจ้าหน้าที่รัฐในขณะปฏิบัติการตามหน้าที่


หลังเหตุการณ์สงบ ได้มีการขอเจรจาจาก ศอฉ. และรัฐบาลอภิสิทธิ์ แต่ทางแกนนำนปช. ไม่ยอมเจรจา เพราะเหตุว่าการกระทำของรัฐบาลขณะนั้นรุนแรงเกินกว่าจะมีการเจรจาใด ๆ แล้ว หลังเหตุการณ์ประมาณ 23.35 น. นายอภิสิทธิ์ก็ได้ออกมาแถลงการณ์ผ่านโทรทัศน์รวมการเฉพาะกิจ โดยกล่าวอ้างถึงแนวทางการใช้กระสุนจริง และกล่าวว่ามีปัญหาและอุปสรรคของการสลายการชุมนุม อันเกิดจากการขัดขวางของกลุ่มผู้ชุมนุม รวมไปถึงการกล่าวหาว่าผู้ชุมนุมมีอาวุธ และการสูญเสียชีวิตมาจากอาวุธ M79 หลายครั้ง ซึ่งการแถลงการณ์ของนายอภิสิทธิ์แสดงให้เห็นถึงความไม่ใส่ใจต่อข้อเท็จจริงและสภาพแวดล้อมของเหตุการณ์ที่ประจักษ์พยานและหลักฐานต่าง ๆ ตามสื่อมวลชนแม้แต่น้อย รวมถึงสีหน้าแววตาท่าทางที่ไม่ได้รู้สึกเสียใจต่อการสูญเสียชีวิตของผู้ชุมนุมและเจ้าหน้าที่ทหาร และไม่มีคำขอโทษต่อความรุนแรงและผู้เสียชีวิตทั้ง 27 ราย และมีผู้ได้รับบาดเจ็บอย่างน้อย 1,427 ราย แต่กลับโยนความผิดทั้งหมดไปให้ชายชุดดำและกลุ่มผู้ชุมนุมนปช. ที่อยู่ในเหตุการณ์นี้แทน


#นปช #คนเสื้อแดง

#UDDnews #ยูดีดีนิวส์