“ศุภณัฐ” ตั้งกระทู้ จี้คมนาคม “รถเมล์”
เปลี่ยนเลขสายใหม่ยิ่งสร้างความสับสน-ไม่เกิดประโยชน์ แต่ปัญหาที่ควรแก้ยังไม่แก้
ทั้งสภาพรถแย่ ไม่เพียงพอ เส้นทาง-ตั๋ว-ค่าโดยสารไม่เชื่อมต่อกับระบบอื่น
วันที่
8 กุมภาพันธ์ 2567 ในการประชุมสภาผู้แทนราษฎร ศุภณัฐ
มีนชัยนันท์ สส.กรุงเทพฯ เขต 9 (จตุจักร หลักสี่ บางเขน)
พรรคก้าวไกล ตั้งกระทู้สดถามรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม
ถึงกรณีการเปลี่ยนเลขสายรถเมล์ในกรุงเทพมหานคร และประเด็นอื่น ๆ
เกี่ยวกับระบบขนส่งสาธารณะที่เกี่ยวข้อง โดยรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคมได้มอบหมายให้
สุรพงษ์ ปิยะโชติ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม เป็นผู้ตอบกระทู้แทน
ศุภณัฐระบุว่า
หลังจากที่กรมการขนส่งทางบกเริ่มต้นการปฏิรูปรถเมล์ในกรุงเทพฯ และปริมณฑล
ปัญหาที่ประชาชนบ่นกันมากที่สุดอันดับหนึ่งคือการเปลี่ยนเลขสายรถเมล์เป็นรูปแบบใหม่
“X-XX” หรือที่เรียกกันว่าแบบ “มีขีดคั่นกลาง”
ซึ่งที่มาของรูปแบบนี้รัฐคิดขึ้นมาเองด้วยการแบ่งกรุงเทพฯ ออกเป็น 4 โซน โดยเลขหน้าขีดคือเลขโซน โซนที่หนึ่งทิศเหนือก็ใช้ 1-XX โซนที่สองทิศตะวันตกใช้ 2-XX โซนที่สามทิศตะวันออก 3-XX
และโซนที่สี่ทิศใต้ใช้ 4-XX
ซึ่งฟังปกติก็ดูเหมือนว่าจะมีตรรกะแบบแผน
แต่เมื่อลงไปดูรายละเอียดเส้นทางกลับพบความสับสนและไม่ตรงกับโซนที่กำหนดไว้ เช่น
เส้นทางบางเขน-วิภาวดี-หัวลำโพง สายเก่าคือเลข 29 สายใหม่คือเลข 1-1
คำถามคือหัวลำโพงไปอยู่โซนทิศเหนือของกรุงเทพฯ ตั้งแต่เมื่อใด
เส้นทางมีนบุรี - จตุจักร สายเก่าคือเลข 26 สายใหม่คือเลข 1-36
มีนบุรีอยู่โซนทิศเหนือตั้งแต่เมื่อใด เส้นทางแฮปปี้แลนด์-สะพานพุทธ
สายเก่าคือเลข 8 สายใหม่คือเลข 2-38 แฮปปี้แลนด์อยู่โซนทิศตะวันตกตั้งแต่เมื่อใด
หรือเส้นทางบางขุนเทียน - ทางด่วน - แฮปปี้แลนด์ สายเก่าคือเลข 173 กลายร่างไปเป็นเลข 4-27E เมื่อสักครู่แฮปปี้แลนด์ยังให้ไปอยู่โซนทิศตะวันตกอยู่เลย
ทำไมตอนนี้ถึงไปอยู่โซนทิศใต้แล้ว
ศุภณัฐกล่าวต่อไปว่า
ตนอยากรู้ว่าใครเป็นเจ้าของความคิดนี้
เพราะในความเป็นจริงรถเมล์ไม่ได้วิ่งอยู่แค่ในโซนของตัวเอง แต่วิ่งกันข้ามโซน
ระยะทาง 20-50
กิโลเมตร อีกทั้งเลขสายแบบใหม่นี้ผู้สูงอายุบ่นกันเป็นจำนวนมาก
เพราะงง ไม่คุ้นชิน ไม่ใช่สายที่ใช้อยู่เป็นประจำ จนไม่กล้าขึ้นรถเมล์
และที่สำคัญกว่านั้น กรมการขนส่งทางบกเคยทำประชาพิจารณ์เลขสายรถเมล์ใหม่ไปแล้ว
แต่ไม่ผ่าน ประชาชนไม่เอาด้วย แต่กรมการขนส่งทางบกก็ไม่ฟังเสียงประชาชน
ยังดันทุรังจะใช้เลขสายใหม่ แม้กระทั่งผู้ให้บริการอย่างองค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพ
(ขสมก.) และไทยสมายล์บัสก็ไม่เอาด้วย จึงนำเลขสายเก่ามาใช้เป็นหลัก
แล้ววงเล็บเลขสายใหม่ไว้ข้าง ๆ ตัวเล็ก ๆ
ล่าสุดเมื่อสัปดาห์ที่แล้ว
รมว.คมนาคมได้ให้สัมภาษณ์ว่าจะแก้ปัญหาเลขสายรถเมล์อีกรอบ
โดยยืนยันจะใช้เลขสายรถเมล์รูปแบบใหม่ X-XX เหมือนเดิม
แต่จะตัดขีดคั่นกลางออก แล้ววงเล็บเลขสายเก่าไว้ข้าง ๆ ตัวเล็ก ๆ เช่น สาย 1-8
จะกลายเป็นสาย 18 แล้วใส่เลข 59 ที่เป็นเลขสายเก่าไว้ในวงเล็บเป็น “18 (59 เดิม)” ซึ่งตนขอเรียกรูปแบบนี้ว่า
“เวอร์ชั่นสุริยะ” แต่ปัญหาคือมันไปซ้ำกับเลขสายเก่าที่ใช้กันมานาน เช่น สาย 18
ใหม่ที่มาจาก 1-8 ไปซ้ำกับสาย 18 เดิม (ท่าอิฐ-อนุสาวรีย์ชัยฯ) ซึ่งจะทำให้ประชาชนยิ่งสับสนมากขึ้นไปอีก
“การแก้ปัญหาแบบนี้แสดงให้เห็นว่าผู้บริหารในกระทรวงคมนาคมไม่เคยนั่งรถเมล์
และที่แย่กว่านั้นคือท่านไม่เคยไปคลุกคลี ไม่เคยไปสอบถามประชาชนเลย
ผมเรียนว่าเลขสายเวอร์ชั่นท่านสุริยะที่กำลังออกมาตอนนี้หนักที่สุดแล้ว
ยิ่งแก้ยิ่งสับสน และผมย้ำว่าไม่มีประโยชน์ เพราะว่าเลขสายของโซนรถเมล์มันใช้ไม่ได้จริง”
ศุภณัฐกล่าว
ด้วยเหตุนี้
ศุภณัฐตั้งคำถามถึงรัฐมนตรีในข้อแรกว่า
ในฐานะที่รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคมมีหน้าที่กำกับกรมการขนส่งทางบกโดยตรง
ท่านทราบหรือไม่ว่าเลขสายรถเมล์ใหม่ทั้งแบบ X-XX ที่กรมการขนส่งทางบกคิดขึ้นมา
และแบบ XXX ที่ออกแบบโดยรัฐมนตรีสุริยะ
ประชาชนเขาไม่เอาด้วยแล้ว เมื่อท่านทราบเช่นนี้แล้ว
ท่านจะยกเลิกนโยบายและกลับไปใช้เลขแบบเดิมหรือไม่
ด้านนายสุรพงษ์
ปิยะโชติ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคมในฐานะกำกับดูแลกรมขนส่งทางบก
กล่าวชี้แจงว่าในคำถามแรกว่า ที่มาของการเปลี่ยนเลขสายรถเมล์เริ่มต้นมาจากปี 2558 กระทรวงคมนาคมได้เล็งเห็นสภาพปัญหาของ
ขสมก. ที่ขาดทุนสะสมและมีการบริการที่เสื่อมถอย
จึงมีการตั้งคณะกรรมการขึ้นมาศึกษาการปฏิรูประบบรถเมล์กรุงเทพฯ
และได้ผลการศึกษาออกมาในปี 2559 จึงมีมติให้ยกเลิกมติ ครม.
ที่ให้ ขสมก. เป็นผู้ผูกขาดสิทธิการเดินรถเมล์ในกรุงเทพฯ
และปริมณฑลแต่เพียงเจ้าเดียว และในปี 2560 ก็มีมติ ครม.
ออกมารับทราบแผนการปฏิรูป โดยได้มีการกำหนดเส้นทางใหม่
ทำให้มีเส้นทางการเดินรถเพิ่มขึ้นเป็น 269 เส้นทาง (จากเดิม 202
เส้นทาง) และมีการเปลี่ยนเส้นทางวิ่งไปจากเดิมมากกว่า 80%
ส่วนที่มาของเลขเส้นทางที่มีขีดคั่นกลางและการแบ่งเป็นโซนนั้น
คณะศึกษาฯ ได้ให้เหตุผลว่า แต่ละโซนถ้าวิ่งไปไหน สุดท้ายขากลับจะกลับมาอยู่ที่เดิม
การจดจำโซนการวิ่งจะสามารถแก้ปัญหา “ผู้โดยสารหลงทาง” ได้
ส่วนเรื่องความไม่เข้าใจของประชาชนในเลขสายการเดินรถ ทางรัฐบาลก็พยายามจะศึกษาและหาแนวทางแก้ไข
ซึ่งตนได้มอบหมายให้คณะกรรมการขนส่งกลางฯ ไปทำการศึกษามาประมาณ 1-2 สัปดาห์แล้ว
ว่าให้ลองดูความเป็นมา การเริ่มต้น หลักการ วิธีคิด และผลสะท้อนจากประชาชน
สุรพงษ์กล่าวต่อไปว่า
วันนี้ตนยังไม่แน่ใจว่าการเปลี่ยนกลับไปกลับมาจะเป็นผลดีหรือไม่
หรือใช้รูปแบบใหม่แล้วพยายามทำความเข้าใจกับประชาชนจะดีกว่า
ต้องไปศึกษาเพิ่มเติมว่าที่ผ่านมาการประชาสัมพันธ์ของผู้ให้บริการเพียงพอหรือไม่
ถ้าขาดเรื่องการประชาสัมพันธ์ก็จะเติมเต็มตรงส่วนนี้เข้าไปให้ประชาชนเข้าใจ
หลังจากนั้นจะมีการออกแบบสอบถามเพื่อถามประชาชนอีกครั้งว่าเข้าใจมากขึ้นหรือไม่
และจะมีทีมลงไปศึกษารายละเอียดอีกครั้งหนึ่ง คาดว่าไม่เกิน 90 วันคงได้คำตอบที่ชัดเจน
ต่อคำตอบแรกของรัฐมนตรี
ศุภณัฐกล่าวว่า โดยปกติรถเมล์ก็วิ่งรถไปและกลับอยู่แล้ว
เพราะฉะนั้นเลขสายแบบใหม่นี้ไม่มีประโยชน์อะไรสำหรับประชาชนเลย
ตนจึงขอแนะนำว่าให้เปลี่ยนไปใช้แบบเดิม จะสะดวกสบายและง่ายต่อประชาชนมากกว่า
แม้การปฏิรูปรถเมล์จะมีการเปลี่ยนแปลงเส้นทางวิ่ง
แต่ถ้าเป็นการแก้ไขเพียงเล็กน้อยก็ยังสามารถใช้เลขเดิมได้
ถ้าแก้ไขมากก็ค่อยไปใช้เลขใหม่ นอกจากนี้
การที่รัฐมนตรีระบุว่าต้องไปสำรวจผู้ให้บริการว่ามีการประชาสัมพันธ์ทั่วถึงหรือไม่
ตนยืนยันว่าเรื่องนี้ไม่ใช่หน้าที่ของผู้ให้บริการ แต่เป็นหน้าที่ของกรมการขนส่งทางบก
เพราะท่านเป็นคนไปกำหนดเลขใหม่ทั้งหมดเอง
นอกจากนี้
หลังจากการปฏิรูปรถเมล์ซึ่งเปลี่ยนผู้กำกับดูแล (Regulator) จาก ขสมก.
เป็นกรมการขนส่งทางบก ทำให้ตนต้องตั้งคำถามว่า
กรมการขนส่งทางบกมีศักยภาพจริงหรือไม่
เพราะในอดีตกรมการขนส่งทางบกมีหน้าที่แค่ตรวจสภาพรถ
แต่ตอนนี้ต้องมารับภารกิจหลักคือการออกใบอนุญาต วางเส้นทางเดินรถ
ข้อกำหนดและกฎระเบียบต่าง ๆ ในการคัดสรรผู้เดินรถ เรียกได้ว่าเป็นผู้กำหนดชะตาชีวิตของรถเมล์ไทย
ศุภณัฐกล่าวต่อไปว่า
รถเมล์ที่สะดวก สะอาด เข้าถึงง่าย และราคาจับต้องได้
เป็นสิทธิขั้นพื้นฐานที่ประชาชนทุกคนควรได้รับจากรัฐบาล
แต่จากที่รัฐมนตรีบอกว่าหลังการปฏิรูปรถเมล์ มีเส้นทางวิ่งทั้งหมด 269 เส้นทาง
ปัจจุบันก็ยังวิ่งได้ไม่ครบทุกเส้นทาง
รวมถึงรถเมล์ที่วิ่งอยู่ก็ทั้งเก่าและรอนานเป็นชั่วโมง
ซึ่งตนก็ยังไม่เห็นว่ารัฐบาลจะมีแผนในการจัดการที่เป็นรูปธรรมอย่างไร
ในเขตปริมณฑลทุกวันนี้แทบจะไม่มีรถเมล์วิ่งอยู่แล้ว
ต่างจังหวัดหนักกว่านี้หลายเท่า
หลังการปฏิรูปตนเข้าใจว่ารถเมล์จะดีขึ้น
แต่ประชาชนหลายล้านคนกลับต้องพบปัญหาจำนวนรอบวิ่งรถเมล์ซึ่งไม่เป็นไปตามที่กำหนดไว้ในสัญญา
ผู้ประกอบการมีรถไม่เพียงพอ ซึ่งตาม พ.ร.บ. การขนส่งทางบก มาตรา 31 และมาตรา
46 ต้องมีการปรับและริบใบอนุญาต แต่ก็ไม่มีการบังคับใช้
หลายสายมีการลดรอบวิ่ง
บางสายที่ประเมินว่าขาดทุนแน่นอนและรัฐควรต้องอุดหนุนเพื่อให้เกิดขึ้น
ก็ยังไม่มีการสนับสนุนหรืออุดหนุนใด ๆ
ศุภณัฐย้ำว่า
รถเมล์คือระบบขนส่งมวลชนที่สำคัญ
โดยเฉพาะการเป็นฟีดเดอร์วิ่งถนนรองและเส้นเลือดฝอยเพื่อดันคนเข้ามาสู่ระบบราง
แต่ปัจจุบันหลายสถานีรถไฟฟ้าก็ไม่มีรถเมล์
ทุกวันนี้ตนเห็นแต่ข่าวรัฐมนตรีและรัฐบาลสนใจจะอุดหนุนรถไฟฟ้า
จะให้เงินชดเชยขนาดไหนก็ให้ได้เต็มที่ แต่รถเมล์กลับไม่เห็นมีการพูดถึง
การชดเชยอุดหนุนรถเมล์ก็ไม่มี แค่หารถใหม่สภาพดีก็ยังไม่หากัน
จะเพิ่มจำนวนรถก็ไม่เพิ่ม ถ้าเปรียบเทียบกับเงินลงทุนรถไฟฟ้าหนึ่งสาย
การลงทุนรถเมล์สามารถทำได้ทั้งกรุงเทพฯ จะซื้อใหม่ยกชุดก็ยังได้ แต่ก็ไม่ทำ
นำมาสู่คำถามข้อที่สอง
ศุภณัฐถามรัฐมนตรีว่า ท่านจะแก้ไขปัญหารถเมล์ขาดแคลน วิ่งไม่ครบรอบอย่างไร
และถนนที่ยังไม่มีรถเมล์ในกรุงเทพฯ รวมถึงจังหวัดที่ไม่มีรถเมล์
ท่านมีแนวทางทำให้เกิดรถเมล์อย่างไร และภายในปี 2567 จะมีจังหวัดใดอยู่ในแผนของรัฐบาลบ้างที่จะผลักดันให้เกิดรถเมล์เพิ่ม
ด้านสุรพงษ์ตอบคำถามที่สองว่า
รัฐบาลไม่ได้นิ่งนอนใจ และให้ความสำคัญกับระบบขนส่งมวลชนทั้งระบบแบบบูรณาการ
โดยต่อไปรถเมล์จะเป็นพระเอกของกรุงเทพฯ วันนี้อาจจะยังไม่เห็นภาพชัดเจน
แต่ในอนาคตระบบล้อและระบบรางจะสัมพันธ์กัน
รถเมล์และรถไฟฟ้าจะเป็นฟีดเดอร์ซึ่งกันและกัน
ปัจจุบันเรามีระบบรางทั้งประเทศอยู่ประมาณ 4,044 กิโลเมตร วิ่งผ่าน 41
จังหวัด แต่ถ้ารถไฟทางคู่เสร็จ ระบบรถไฟความเร็วสูงเสร็จ
เราจะมีรถไฟวิ่งผ่าน 64 จังหวัด
รถเมล์ก็จะมีบัสเลนชัดเจนที่จะขนส่งผู้โดยสาร
ส่วนเส้นทางการวิ่งก็ต้องปรับปรุงและปรับเปลี่ยนไปตามสถานการณ์
วันนี้รัฐบาลเข้ามารับมาทำงานได้ประมาณครึ่งปี
ก็พยายามที่จะวางแผนบูรณาการ นำปัญหาเก่ามาปัดฝุ่น และนำมาเพื่อบูรณาการร่วมกัน
เชื่อว่าอีกไม่นาน ท่านจะได้เห็นการเปลี่ยนแปลงของระบบขนส่งมวลชนไทย
ส่วนคำถามที่ว่ารัฐบาลจะผลักดันให้จังหวัดใดมีขนส่งสาธารณะบ้าง
ที่ผ่านมาเมื่อต้นเดือนมกราคม
ได้มีการแก้ไขกฎกระทรวงหนึ่งให้ท้องถิ่นสามารถเป็นผู้ประกอบการร่วมกับบริษัท ขนส่ง
จำกัด (บขส.) และ ขสมก. ได้ โดยขึ้นอยู่กับรูปแบบของท้องถิ่นนั้น ๆ
พร้อมย้ำว่ารัฐบาลให้ความสำคัญกับบริการสาธารณะเหล่านี้เท่าเทียมกัน
แต่การเชื่อมโยงแบบบูรณาการจะเป็นรูปเป็นร่างสำเร็จได้ก็ต้องสัมพันธ์กับระบบราง
วันนี้จะเห็นว่าการเปลี่ยนแปลงในกรุงเทพฯ และปริมณฑลได้เริ่มต้นขึ้นแล้ว
ต่อคำตอบที่สองของรัฐมนตรี
ศุภณัฐระบุว่า
การที่รัฐมนตรีกล่าวว่าได้ให้อำนาจท้องถิ่นในการดูแลขนส่งสาธารณะแล้ว
คือการให้อำนาจเป็นเรื่องที่ดี แต่ท่านต้องให้เงินด้วย
ไม่เช่นนั้นรถเมล์ก็จะไม่เกิด
สำหรับคำถามที่สาม
ศุภณัฐถามรัฐมนตรีว่า ตั้งแต่รัฐบาลแถลงนโยบายมา
ตนยังมองไม่เห็นภาพการบูรณาการร่วมกันของระบบขนส่งมวลชนเลย และที่สำคัญ
พันธกิจของกระทรวงคมนาคมคือการต้องทำให้แต่ละระบบเชื่อมโยงกันให้ได้จริง ๆ
โดยเฉพาะการทำระบบตั๋วร่วม คือการใช้ตั๋วใบเดียวขึ้นทั้งรถ-ราง-เรือได้
และระบบค่าโดยสารร่วม คือขึ้นรถ-ราง-เรือตลอดทั้งทริป เปลี่ยนกี่รอบ
กี่รูปแบบการเดินทางก็ได้ แต่รวมกันแล้วราคาต้องไม่เกินอัตราที่กำหนด
ซึ่งแม้ล่าสุดจะมีการพูดถึง พ.ร.บ. ตั๋วร่วม
แต่ก็ยังไม่ชัดเจนว่าจะรวมรถ-ราง-เรือได้จริงหรือไม่ จึงขอตั้งคำถามว่า
รัฐมนตรีจะจัดการเรื่องระบบตั๋วร่วมรถ-ราง-เรืออย่างไร และเรื่องค่าโดยสารร่วม
ตลอดเส้นทางกำหนดราคาไว้สูงสุดอยู่ที่เท่าไร
สุรพงษ์ตอบคำถามสุดท้ายว่า
พ.ร.บ. ตั๋วร่วมน่าจะเข้าสู่การพิจารณาของคณะรัฐมนตรีภายในเดือนนี้
และจะมีการนำร่างฯ เสนอเข้าสู่สภาฯ ต่อไป
คงต้องรอความชัดเจนต่อไปในชั้นกรรมาธิการว่าจะปรับแก้รูปแบบและราคาให้ออกมาเป็นอย่างไร
ส่วนเรื่องการอุดหนุนงบประมาณการจัดทำระบบขนส่งมวลชนในท้องถิ่นนั้น
ทุกวันนี้กรมการขนส่งทางบกที่เก็บภาษีล้อเลื่อนในแต่ละจังหวัดได้ส่งเงินทุกบาททุกสตางค์กลับไปที่จังหวัดต่าง
ๆ ทั่วประเทศอยู่แล้ว เพราะฉะนั้นงบประมาณอยู่ที่ท้องถิ่นแล้ว
จึงขอฝากนายกและผู้บริหารองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น
ว่าเงินภาษีล้อเลื่อนทั้งหมดที่ทางกรมการขนส่งทางบกเก็บให้
ท่านควรจะนำไปลงทุนและบริการพี่น้องประชาชนด้วยระบบขนส่งสาธารณะต่อไป