วันเสาร์ที่ 10 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2567

“พิธา” แจงปมเป็นนายประกัน 'ตะวัน' ต้องแยกออกเป็นกรณี ขอสังคมตั้งสติ หาทางออกร่วมกัน ด้าน “ชัยธวัช” ขอทุกฝ่ายเปิดกว้าง ใจเย็น เชื่อนิรโทษกรรม เป็นประตูคลี่คลายความขัดแย้งทางการเมือง

 


“พิธา” แจงปมเป็นนายประกัน 'ตะวัน' ต้องแยกออกเป็นกรณี ขอสังคมตั้งสติ หาทางออกร่วมกัน ด้าน “ชัยธวัช” ขอทุกฝ่ายเปิดกว้าง ใจเย็น เชื่อนิรโทษกรรม เป็นประตูคลี่คลายความขัดแย้งทางการเมือง


เมื่อวันที่ 10 ก.พ.2567 นายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ สส.บัญชีรายชื่อ ประธานที่ปรึกษาหัวหน้าพรรคก้าวไกล ให้สัมภาษณ์ถึงกระแสวิพากษ์วิจารณ์กรณีที่เป็นนายประกันให้ น.ส.ทานตะวัน ตัวตุลานนท์ หรือ ตะวัน นักกิจกรรมทางการเมืองว่า ตนคิดว่าไม่สำคัญ ในฐานะที่เป็นนักการเมืองและคนไทยคนหนึ่ง ก็กังวลถึงสถานการณ์บ้านเมือง และอนาคตของคนรุ่นใหม่ด้วย จึงอยากเชิญชวนทุกคนตั้งสติ เข้าใจว่ามีหลายฝ่ายไม่สบายใจ กังวลใจ และต้องการความเข้าใจ ตนก็อยากให้ทุกฝ่ายคลี่คลายสถานการณ์ไม่ให้แตกร้าวไปมากกว่านี้


เมื่อถามว่า พรรคก้าวไกล โดยเฉพาะนายพิธาสนับสนุนพฤติกรรมของเยาวชนกรณีขบวนเสด็จหรือไม่ นายพิธา กล่าวว่า คงไม่ใช่สนับสนุน ส่วนเรื่องที่เกี่ยวกับนายประกัน เป็นเรื่องสิทธิการประกันตัว ต้องแยกเป็นกรณี ควรใช้ความละมุนละม่อม หาทางออกร่วมกัน เพื่อทำให้สถานการณ์คลี่คลาย


เมื่อถามย้ำว่า จุดยืนของนายพิธา ต่อการกระทำของ น.ส.ทานตะวัน เป็นอย่างไร นายพิธา กล่าวว่า "กังวลใจ แต่เข้าใจ"


เมื่อถามว่า วันนี้กลุ่มเยาวชนมีการทำกิจกรรม และเกิดการปะทะกันเกิดขึ้น นายพิธา กล่าวว่า รู้สึกกังวล ทุกฝ่ายควรตั้งสติ และทุกภาคส่วนของสังคมต้องช่วยกัน หาทางออกจากความขัดแย้งในเรื่องนี้


เมื่อถามว่า จะมีการยื่นประกันตัวกลุ่มเยาวชนคดี มาตรา 112 หรือไม่ เพราะในพรรคก้าวไกล ก็มีทั้งคนเห็นด้วยและไม่เห็นด้วย นายพิธา กล่าวว่า เรื่องนี้ต้องแยก สิทธิในการประกันตัว ทุกคนมีสิทธิ์ที่จะถูกสันนิษฐานว่าเป็นผู้บริสุทธิ์ไว้ก่อน ส่วนการอารักขาบุคคลสำคัญของประเทศ ก็เป็นอีกเรื่อง แต่การแสดงออกก็เป็นอีกเรื่องเช่นกัน อย่าไปผูกรวม จะทำให้การแก้สถานการณ์ไม่ได้ และแตกแยก ไม่เป็นผลดีต่อสังคมไทย


ด้าน นายชัยธวัช ตุลาธน หัวหน้าพรรคก้าวไกลกล่าวถึงการตั้งคณะกรรมการศึกษาร่างพระราชบัญญัตินิรโทษกรรม ว่า เป็นประตูอีกบานที่จะคลี่คลายความเครียดและความขัดแย้งทางการเมือง เพื่อเปิดพื้นที่ให้ฝ่ายที่มีความคิดเห็นไม่ตรงกันได้มีพื้นที่ปลอดภัยในการพูดคุยกัน หาจุดร่วมให้ได้โดยใช้กระบวนการทางประชาธิปไตย หวังว่าในคณะกรรมาธิการวิสามัญฯมีการพิจารณาอย่างรอบด้านทั้งข้อดีและข้อเสีย ไม่ว่าจะเป็นเนื้อหากระบวนการในการนิรโทษกรรม 


ส่วนกรณีของนางสาวทานตะวัน ตัวตุลานนท์ แกนนำกลุ่มทะลุวัง ที่ยังเป็นประเด็นอยู่ขณะนี้ นายชัยธวัช ย้ำว่า เป็นสิ่งที่ไม่ปรารถนามากที่สุดคือการปะทะกันอย่างรุนแรงไม่ว่าจะเป็นการไล่ล่า การล่าแม่มด โดยหากให้ฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งสุดขั้วขึ้นเรื่อย ๆ จะต้องตั้งสติให้ดี ใช้กระบวนการทางประชาธิปไตยและสติในการที่จะลดช่องว่างทางความคิด ความเข้าใจ โดยไม่ต้องใช้ความรุนแรง ซึ่งในกรณีนี้ก็เข้าใจในความคับข้องใจ แต่ก็ต้องช่วยกันดูว่าการสื่อสาร การแสดงความคิดให้สังคมได้มีความเข้าใจ และพร้อมที่จะพิจารณาสื่อสารประเด็นที่ดีที่สุดว่าควรจะเป็นอย่างไร


นายชัยธวัช ยังกล่าวถึงกรณีที่นายวิโรจน์ ลักขณาอดิศร สส.บัญชีรายชื่อ ออกมาแสดงความไม่เห็นด้วยกับกรณีที่นางสาวทานตะวันทำ content ขวางขบวนเสด็จว่า ยอมรับว่า ในเรื่องนี้มีความคิดเห็นหลากหลาย เรื่องนี้ก็เป็นตัวอย่าง แม้ว่าจะมีคนหลายส่วนพร้อมที่จะเข้าใจประเด็นนี้อยากจะสื่อสาร แต่ก็อาจจะมีคนไม่เห็นด้วยกับวิธีการ แต่นั่นไม่ใช่ประเด็นที่จะเป็นเหตุผลที่จะผลักให้ฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งสุดขั้วมากขึ้นเรื่อย ๆ ไม่ยอมรับ เพิ่มช่องว่างระหว่างกัน ยิ่งปะทะกันอย่างรุนแรงเป็นเหตุที่ไม่ควรเกิดขึ้น และเห็นว่าเป็นเวลาที่จะต้องใช้สติมากขึ้น โดยไม่ใช้อารมณ์ ซึ่งการนิรโทษกรรมก็เป็นกระดุมเม็ดแรก ซึ่งหวังว่าจะเป็นการระบายความกดดัน พร้อมกันนี้ยังเห็นว่าจะต้องทำให้ทุกคนเย็นลงเพื่อจะได้นั่งพูดคุยกัน


#UDDnews #ยูดีดีนิวส์ #ก้าวไกล #นิรโทษกรรมประชาชน