วันพฤหัสบดีที่ 8 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2567

กมธ.พัฒนาเศรษฐกิจ ถกปัญหาขาดดุลดิจิทัล หลังแพลตฟอร์มค้าออนไลน์แย่งตลาดผู้ประกอบการไทย ทำรายย่อยแข่งขันลำบาก พบช่องว่างทางกฎหมาย สินค้านำเข้าต่ำ 1,500 บาทไม่ต้องเสียภาษี จี้หน่วยงานตรวจสอบ

 


กมธ.พัฒนาเศรษฐกิจ ถกปัญหาขาดดุลดิจิทัล หลังแพลตฟอร์มค้าออนไลน์แย่งตลาดผู้ประกอบการไทย ทำรายย่อยแข่งขันลำบาก พบช่องว่างทางกฎหมาย สินค้านำเข้าต่ำ 1,500 บาทไม่ต้องเสียภาษี จี้หน่วยงานตรวจสอบ

 

วันที่ 8 กุมภาพันธ์ 2567 ที่รัฐสภา สิทธิพล วิบูลย์ธนากุล สส.บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล ในฐานะประธานคณะกรรมาธิการการพัฒนาเศรษฐกิจ แถลงข่าวผลการประชุม กมธ. กรณีผลกระทบของการขาดดุลจากแพลตฟอร์มดิจิทัลจากต่างประเทศ และนโยบายการรับมือที่เหมาะสม ว่า กมธ. ได้รับข้อร้องเรียนจากภาคเอกชนถึงผลกระทบของแพลตฟอร์มดิจิทัลต่อผู้ประกอบการไทย เนื่องจากนับวันการค้าออนไลน์ ไม่ว่าจะเป็นสินค้าหรือบริการ เช่น ดูหนัง ฟังเพลง ประชาชนซื้อจากออนไลน์เพิ่มขึ้น บริการสตรีมมิ่งภาพยนตร์จากต่างประเทศครองส่วนเเบ่งทางการตลาดในไทยมากถึง 41% ขณะที่ตลาดของอี-คอมเมิร์ซจากต่างประเทศครองส่วนเเบ่งในไทยมากกว่า 50% ทำให้ผู้ประกอบการไทยได้รับผลกระทบ ปัญหาอยู่ที่ปัจจุบันมีช่องว่างทางกฎหมายหลายอย่างที่ทำให้ผู้ประกอบการไทยเสียเปรียบหรือถูกเอาเปรียบจากผู้ค้าต่างประเทศ

 

วันนี้ กมธ. จึงได้เชิญหน่วยงานที่เกี่ยวข้องมาให้ข้อมูล ได้แก่ กรมสรรพากร กรมศุลกากร กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม กรมพัฒนาธุรกิจการค้า ตลอดจนภาคเอกชน สิ่งที่พบคือ ช่องว่างการจัดเก็บภาษีของแพลตฟอร์มออนไลน์ ที่โดยปกติแล้วการดำเนินธุรกิจที่มีรายได้ในประเทศไทยจำเป็นต้องจ่ายภาษีให้กับภาครัฐ แต่ธุรกิจแฟลตฟอร์มออนไลน์ส่วนมากมีต้นกำเนิดจากต่างประเทศ ทำให้หลายธุรกรรมทางการเงินถูกส่งไปต่างประเทศ แต่รายได้ไม่ถูกบันทึกในไทย จึงไม่เกิดกระบวนการจัดเก็บภาษีในประเทศ

 

สิทธิพลกล่าวว่า การจัดเก็บภาษีจากผู้ให้บริการผ่านแพลตฟอร์มออนไลน์ต่างๆ เช่น ดูหนัง ฟังเพลง สื่อโซเชียลมีเดีย ในต่างประเทศสามารถจัดเก็บภาษีอย่างเต็มเม็ดเต็มหน่วย สำหรับประเทศไทยมีการจัดเก็บภาษีมูลค่าเพิ่มสำหรับการบริการอิเล็กทรอนิกส์ชื่อว่า VAT for Electronics Service หรือ VES โดยปัญหาที่ กมธ. สอบถาม แต่ยังไม่ได้ตำตอบที่ชัดเจนจากหน่วยงานที่ชี้แจง คือปัจจุบันมีกระบวนการที่เพียงพอในการให้บริษัทภาคเอกชนขึ้นทะเบียนกับภาครัฐหรือยัง รวมถึงรายได้ที่นำส่งให้รัฐ เต็มเม็ดเต็มหน่วยครบถ้วน ภาครัฐตรวจสอบได้หรือไม่

 

การเติบโตของแพลตฟอร์มออนไลน์ ยังส่งผลต่อการเข้ามาของสินค้าต่างประเทศ ที่กลับได้รับสิทธิประโยชน์เหนือสินค้าของผู้ประกอบการไทย โดยเฉพาะการได้รับยกเว้นภาษีสำหรับสินค้านำเข้าที่ราคาต่ำกว่า 1,500 บาท ขณะที่ผู้ประกอบการในประเทศไทยต้องจ่ายภาษีมูลค่าเพิ่มตั้งแต่บาทแรก

 

ในวันที่การสั่งสินค้าออนไลน์ทำได้ง่าย สั่งแล้วส่งได้ทันทีหรือส่งได้รวดเร็ว ทำให้ผู้ประกอบการไทย นอกจากแข่งขันยาก ต้นทุนสูง ยังเผชิญภาษีที่ไม่เป็นธรรม หนำซ้ำมีสินค้าจากหลายประเทศมาตั้งคลังสินค้าในประเทศไทย อาศัยช่องว่างทางกฎหมาย ทำให้ยิ่งส่งสินค้าจากต่างประเทศจากคลังสินค้าที่เรียกว่า free trade store ส่งถึงบ้านเรือนประชาชนง่ายขึ้น หากเราไม่มีแนวทางการกำกับสินค้าบนแพลตฟอร์มออนไลน์อย่างเท่าทัน นับวันจะทำให้ผู้ประกอบการไทยแข่งขันได้ลำบากมากขึ้น

 

เรื่องนี้สำคัญ หากเราไม่ทำอะไรในระยะยาว ผู้ประกอบการไทยโดยเฉพาะ SMEs พ่อค้าแม่ค้ารายย่อยจะอยู่ลำบาก นับวันจะค้าขายยากขึ้น เงินทุกบาทที่คนไทยช็อปปิ้งออนไลน์จะไหลไปอยู่ต่างประเทศทั้งหมด กระทบต่อการจ้างงาน ต่อการลงทุนในประเทศ วันนี้ กมธ. จึงขอให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง กลับไปหารือกันอย่างเร่งด่วนว่าจะมีแนวทางอย่างไรเพื่อช่วยเหลือผู้ประกอบการ” ประธาน กมธ.พัฒนาเศรษฐกิจ กล่าว

 

สิทธิพลกล่าวว่า สิ่งที่ควรออกมาเป็นมาตรการให้ชัดเจนคือ สำหรับสินค้าที่มูลค่าต่ำกว่า 1,500 บาทจากต่างประเทศ จะทำอย่างไรให้สินค้าไทยไม่เผชิญความเสียเปรียบจากช่องว่างทางภาษี รวมถึงประเด็นแพลตฟอร์มออนไลน์ต่างๆ โดย กมธ. ตั้งเวลาไว้ที่ 30-60 วัน เพื่อให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องกลับมาชี้แจงใน กมธ. นอกจากนี้จะตั้งคณะทำงานเพื่อติดตามประเด็นนี้โดยเฉพาะเพื่อหาแนวทางแก้ไขปัญหาให้ผู้ประกอบการและประชาชน

 

#UDDnews #ยูดีดีนิวส์ #กมธพัฒนาเศรษฐกิจ