วันอาทิตย์ที่ 25 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2567

พิธาบรรยายหอการค้าพิษณุโลก มองรัฐบาลเศรษฐาไม่แก้ปัญหาโครงสร้างเศรษฐกิจ นโยบายการเงิน-การคลังไม่ไปด้วยกัน ชวนคนตั้งคำถามให้ไกลกว่าวิวาทะรัฐบาล-แบงก์ชาติ

 


พิธาบรรยายหอการค้าพิษณุโลก มองรัฐบาลเศรษฐาไม่แก้ปัญหาโครงสร้างเศรษฐกิจ นโยบายการเงิน-การคลังไม่ไปด้วยกัน ชวนคนตั้งคำถามให้ไกลกว่าวิวาทะรัฐบาล-แบงก์ชาติ

 

วันที่ 25 กุมภาพันธ์ 2567 พิธา ลิ้มเจริญรัตน์ ประธานที่ปรึกษาหัวหน้าพรรคก้าวไกล ขึ้นบรรยายในหัวข้อ “เศรษฐกิจโลก เศรษฐกิจไทย ในอีก 5 ปีข้างหน้า” ซึ่งจัดโดยกลุ่มนักธุรกิจรุ่นใหม่หอการค้าจังหวัดพิษณุโลก (YEC) ที่โรงแรมท็อปแลนด์ จังหวัดพิษณุโลก

 

พิธาเริ่มบรรยายโดยการกางกราฟข้อมูลจากกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) ที่ชี้ให้เห็นว่าประเทศไทยมีคาดการณ์การเจริญเติบโตเศรษฐกิจต่ำกว่าค่าเฉลี่ยทั่วโลกที่ 3.6% และมีรายได้เฉลี่ยต่อหัวประชากรต่ำกว่าค่าเฉลี่ยโลกที่ 17,000 ดอลลาร์สหรัฐฯ เช่นกัน ดังนั้น เมื่อถามว่าตนอยากเห็นทิศทางเศรษฐกิจไทยเป็นอย่างไร คงตอบได้ว่าอยากเห็นเศรษฐกิจที่ “คนไทยเท่าเทียมกัน ประเทศไทยเท่าทันโลก” แต่คำถามต่อมาคือจะทำอย่างไรไม่ให้เกิดวงจรอุบาทว์ทางเศรษฐกิจ และจะพัฒนาโครงสร้างเศรษฐกิจให้ไปไกลได้มากกว่านี้อย่างไรบ้าง

 

เมื่อย้อนกลับไปดูประเทศที่เติบโตขึ้นมาส่วนใหญ่นั้นเริ่มต้นด้วยการผลิตสินค้าและบริการที่ Low Tech - Low Touch เช่น อินเดีย จีน บราซิล ซึ่งอาจจะเป็นไปได้เพราะมีการผลิตที่รวดเร็ว จำนวนมาก มีต้นทุนที่ถูก มีตลาดที่กว้างขวาง ทำให้สามารถทำสินค้าและบริการดังกล่าวได้ แต่ปัญหาคือประเทศไทยไม่สามารถสู้กับต่างชาติด้วยวิธีนี้ได้อีกแล้ว เราไม่สามารถและไม่ควรกดค่าแรงให้ถูกเท่าประเทศเพื่อนบ้าน ดังนั้น ทิศทางที่เป็นไปได้อย่างเดียวคือการเน้นอุตสาหกรรมสินค้าและบริการ High Tech - High Touch ที่มองว่าประเทศที่อยู่ระดับกลางๆ อย่างเช่นประเทศไทยจะต้องเดินเส้นทางนี้

 

แต่ตลอดหลายเดือนที่ผ่านมา กลับพบว่าวิวาทะกันในหน้าสื่อเป็นเพียงแค่คำถามว่าวิกฤตหรือไม่ GDP จะโตเท่าไหร่ จะคงหรือจะลดอัตราดอกเบี้ย นี่คือปัญหาการเมืองหรือปัญหาเศรษฐกิจกันแน่ ฯลฯ โดยมีการแสดงออกผ่านทวิตเตอร์และการให้ข่าวสื่อมวลชนกันไปมา

 

พิธากล่าวว่า ตนมองว่าจุดอ่อนของรัฐบาลนายกฯ เศรษฐา ทวีสิน ก็คือการไม่แตะที่ต้นตอโครงสร้างเศรษฐกิจที่เป็นปัญหา เน้นการแก้ปัญหาระยะสั้นด้วยการลดดอกเบี้ยเพียงอย่างเดียว ซึ่งเป็นมาตรการทางการเงินที่ธนาคารแห่งประเทศไทยเป็นผู้กำหนด โดยมีจุดประสงค์เพื่อรักษาเสถียรภาพ แต่รัฐกลับไม่ยอมใช้มาตรการทางการคลังที่ยังมีช่องว่างให้พอทำได้ และถือเป็นอำนาจโดยแท้ของรัฐบาลที่จะสามารถทำได้ นอกจากนี้ยังไม่มีการพูดคุยกับธนาคารแห่งประเทศไทยอย่างจริงจังเพื่อแสวงหาความเข้าใจที่ชัดเจนตรงกันเกี่ยวกับทิศทางนโยบายในการแก้ไขปัญหาระยะยาวเชิงโครงสร้างให้มีประสิทธิภาพ ทำให้ผู้กุมนโยบายการเงินและการคลังไม่ได้เห็นทิศทางตรงกันหรือเดินไปในทางเดียวกัน จึงกลายเป็นวิวาทะที่ปรากฏอยู่ในหน้าสื่อเท่านั้น ยิ่งทำให้สังคมไม่มั่นใจในเศรษฐกิจไทย โดยความกังวลสองประเด็นหลักของนักลงทุนคือความไม่สอดคล้องกันของนโยบายการเงิน-การคลัง และความเป็นอิสระของธนาคารแห่งประเทศไทย

 

ต่อมา ถ้าเราสนใจตัวชี้วัดแค่ GDP ว่าจะต้องโตเท่าไหร่ ดอกเบี้ยนโยบายจะเป็นเท่าไหร่ แต่ไม่ได้กำหนดตัวชี้วัดอื่น ๆ ให้ไปสู่ “เศรษฐกิจที่ดี” ประเทศไทยก็จะไม่สามารถไปไกลกว่านี้ได้อีกแล้ว เราควรตั้งคำถามให้ไกลและลึกมากกว่านั้นโดยยึดประชาชนเป็นที่ตั้ง เช่น จะช่วยเหลือผู้ประกอบการเอสเอ็มอีอย่างไรให้สามารถแข่งขันได้ โครงสร้างต้นทุนพลังงานเป็นธรรมหรือไม่ การแก้ไขกฎหมายเพื่อให้ประชาชนดำเนินการธุรกิจได้ง่ายจะต้องแก้อะไรบ้าง การกระจายรายได้ในอุตสาหกรรมท่องเที่ยวจะไปไกลมากกว่าการกระจุกแค่ 5 จังหวัดท่องเที่ยวได้หรือไม่และทำอย่างไร ทำอย่างไรจึงจะเก็บภาษีสินค้าจากต่างประเทศให้เสมอภาคเป็นธรรมกับแม่ค้าในประเทศ ไม่ให้เกิดเหตุ “แพลตฟอร์มโต แม่ค้าตาย” ฯลฯ

 

พิธากล่าวต่อไปว่า ตัวอย่างข้อเสนอ High Tech ของก้าวไกล คือการใช้เทคโนโลยีเพื่อลดความเหลื่อมล้ำในสังคม สมมติว่าเราตั้งโจทย์การสร้างเศรษฐกิจใหม่จากปัญหาของคนพิษณุโลก เช่นกรณีน้ำประปาทั้งประเทศ ที่มีการสูญเสียในระบบกว่า 52% และหลายแห่งมีระบบท่ออายุมากกว่า 70 ปี นำมาสู่ข้อเสนอของก้าวไกลคือการสร้างระบบน้ำประปาดื่มได้ทั่วประเทศ พร้อมระบบเซ็นเซอร์ สมาร์ตมิเตอร์ ออกบิลเก็บเงินผู้ใช้โดยอัตโนมัติ สะดวก รวดเร็ว มีประสิทธิภาพ ไม่ใช่แค่น้ำประปาที่มีคุณภาพดี สะอาด ดื่มได้ แต่ยังสามารถต่อยอดไปสู่อุตสาหกรรมอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้องได้อีก เช่น การผลิตน้ำสะอาดเพื่อใช้ในอุตสาหกรรมผลิตชิป แผงวงจร เพื่อนำไปใช้ต่อในโทรศัพท์มือถือ รถยนต์ ฯลฯ

 

ส่วนประเด็นเรื่อง High Touch ในเมื่อรัฐบาลผลักดัน Soft Power มีกางเกงประจำจังหวัดแล้ว พิธามองว่า Soft Power ไม่ใช่แค่เศรษฐกิจสร้างสรรค์ แต่สิ่งที่สำคัญมากก็คือเสรีภาพ ความหลากหลาย กฎหมายที่ไม่ปิดกั้นควมคิดสร้างสรรค์ และหากสังเกตจากดัชนีตัวเลขประเทศที่มีความแข็งแกร่งทาง Soft Power มากที่สุดในโลก ก็พบว่าส่วนใหญ่มาจากการเป็นประชาธิปไตยและมีเสรีภาพในการแสดงออก รวมถึงสิ่งที่ทิ้งไม่ได้เลยคือสวัสดิการและความเป็นอยู่ที่ดีของคนในอุตสาหกรรมสร้างสรรค์

 

สุดท้าย พิธาเล่าถึงแนวคิดในการพัฒนาเศรษฐกิจอย่างเป็นธรรม โดยพรรคก้าวไกลเสนอ “3F” ได้แก่ Firm Ground วางรากฐานเศรษฐกิจไทยให้มั่นคง, Fair Game สร้างกติกาและกลไกภาครัฐเพื่อเศรษฐกิจที่เป็นธรรม, และ Fast Growth เสริมเครื่องจักรขับเคลื่อนเศรษฐกิจตัวใหม่

 

#UDDnews #ยูดีดีนิวส์ #ก้าวไกล #พิธา