วันอาทิตย์ที่ 11 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2567

“เครือข่ายนิรโทษกรรมประชาชน” ถ่ายรูปหมู่ประชาชนที่ถูกดำเนินคดีจากการแสดงออกทางการเมือง นับแต่รัฐประหาร 49 ถึงปัจจุบัน ยันไม่มีใครควรถูกดำเนินคดีทางการเมือง

 


“เครือข่ายนิรโทษกรรมประชาชน” ถ่ายรูปหมู่ประชาชนที่ถูกดำเนินคดีจากการแสดงออกทางการเมือง นับแต่รัฐประหาร 49 ถึงปัจจุบัน ยันไม่มีใครควรถูกดำเนินคดีทางการเมือง


วันนี้ (11 กุมภาพันธ์ 2567) ที่ลานประชาชน อาคารรัฐสภา เกียกกาย เครือข่ายนิรโทษกรรมประชาชนจัดกิจกรรมฟังดนตรี ชมนิทรรศการ ซื้อของที่ระลึก ส่งต่อความรัก ความหวัง กำลังใจให้กัน และร่วมเป็นส่วนหนึ่งของการ “ถ่ายภาพหมู่” ครั้งประวัติศาสตร์ ที่ประชาชนที่ถูกดำเนินคดีจากการแสดงออกทางการเมืองตั้งแต่รัฐประหาร 19 กันยา 2549 จนถึงปัจจุบัน กว่า 200 ชีวิต ที่มารวมตัวถ่ายภาพร่วมกัน และจะได้อัพเดทชีวิต และความคืบหน้าของคดีความ เพื่อร่วมส่งต่อความรัก ความหวัง และกำลังใจ ให้แก่กันในระหว่างที่ยังต้องรอการเปลี่ยนแปลงทางกฎหมายและนโยบาย


ด้วยเป็นเวลานานเกือบ 20 ปีแล้วที่เกิดความขัดแย้ง การชุมนุมขนาดใหญ่ การจับกุมและดำเนินคดีกับประชาชนที่ต้องการแสดงออกซึ่งความคิดเห็นทางการเมือง ทำให้มีคดีความที่สะสมมานานมีคนที่เกี่ยวข้องและถูกดำเนินคดีเกือบ ๆ 5,000 คน และขณะนี้ทุกอย่างเดินหน้ามาถึงวันที่รัฐสภากำลังพูดคุยเรื่องการ “นิรโทษกรรม”


เพื่อส่งเสียงถึงความสำคัญที่จะต้องนิรโทษกรรมคดีทางการเมืองให้กับประชาชน จึงได้ชวน “เจ้าของเรื่อง” ให้มา “ปรากฏตัว”​ร่วมกันและส่งเสียงถึงสภา ในกิจกรรม LOVE FAIR 11.2


16.30 น. นายปดิพัทธ์ สันติภาดา รองประธานสภาผู้แทนราษฎรคนที่ 1 กล่าวก่อนกิจกรรมเริ่ม ว่าที่แห่งนี้ลานประชาชนสามารถใช้ได้ทุกคน ทุกกลุ่ม เพื่อให้มีพื้นที่ในการแสดงออกและไม่มีใครสามารถหยุดเสรีภาพทางความคิดได้ เราทุกคนมีสิทธิ์พูดเขียน พิมพ์ ตามขอบเขตรัฐธรรมนูญได้ และแม้ตอนนี้สภาอาจดูอำนาจน้อยไป แต่อยากให้ทุกคนมีความหวังยาว ๆ ว่าอำนาจสูงสุดผ่านการเลือกตั้งยังอยู่ที่สภานิติบัญญัติ หรือสภาผู้แทนราษฎร เพราะฉะนั้น การเสนอกฎหมายยังพอเป็นไปได้ จึงอยากให้เสนอเข้ามา เพราะไม่มีอำนาจใด มาสั่งให้สภาไม่พิจารณากฎหมายได้


17.30 น. ผู้ถูกดำเนินคดีทางการเมืองเกือบ 200 ชีวิตที่มารวมตัวกันร่วมถ่ายรูปหมู่


โดยนายยิ่งชีพ อัชฌานนท์ เป็นตัวแทนกล่าว โดยชาวงหนึ่งระบุว่า เราไม่ได้อยากทำผิดกฎหมาย และเราไม่ได้ฝ่าฝืนความไม่สงบเรียบร้อย ไม่อยากเป็นภัยต่อความมั่นคงของรัฐ แต่เร่เห็นว่าบางเรื่องต้องถูกพูด และเราก็รู้ว่าต้องโดน แต่มันจำเป็นก็ต้องทำ เราไม่ได้อยากเป็นคนผิด เรารู้ว่ากฎหมายที่ผ่านมาถูกใช้สนองอำนาจทางการเมือง ถูกออกโดยคนทำรัฐประหาร จึงเป็นที่มาของคดีทางการเมืองกว่า 5 พันคดีในช่วง 20 ปีที่ผ่านมา


เราในที่นี้ต่างมีเรื่องราวของตัวเอง มีบาดแผลของตัวเอง มีความเจ็บแค้น แต่เรามาเพื่อให้เห็นหน้า เห็นตัว เห็นตน เห็นว่าชีวิตเราทุกคน ก็เป็นคน ไม่ใช่ตัวเลขทางสถิติ เรามีความคิด ความเชื่อความฝัน มีสิ่งที่อยากเห็น และควรจะเป็น โดยเราเชื่อว่าเราแสดงออกได้ ไม่ใช่สิ่งผิด แม้บ้างครั้งมีคนเห็นด้วย และไม่เห็นด้วย เรามาด้วยข้อเสนอนิรโทษกรรมประชาชน ถามว่าคืนชีวิตปกติให้เราได้ไหม ช่วยยกมือออกกฎหมาย และประกาศว่าสิ่งที่เราทำมาไม่ใช่ความผิดอะไร ข้อเรียกร้องตรงนี้คือปล่อยพวกเราให้ไปใช้ชีวิตอย่างคนธรรมดาได้ไหม


และในปีนี้ทั้งปีจะมีคำพิพากษา และจะมีคนเข้าเรือนจำอีกจำนวนมาก และไม่เห็นว่ามี สส. พรรคไหนเสนอให้ยกเลิก หรือยุติการดำเนินคดีทางการเมือง หรือดำเนินคดีในมาตรา 112 เลย เมื่อไม่มีใครเสนอ ลเราจึงต้องเสนอ ดังนั้นข้อเสนอวันนี้ เป็นข้อเสนอเกี่ยวกับที่พวกเราเรียกร้องมาตลอดหลายปี เพื่อทวงคืนสิทธิชั้นพื้นฐาน ทวงคืนความยุติธรรม ให้เราเข้าชื่อส่งตรงไปถึงสภาว่าให้ปล่อยเพื่อนเรา นายยิ่งชีพกล่าว


และกิจกรรมในค่ำคืนนี้ยังมีการพูดคุยกับผู้ดำเนินคดีทางการเมืองและวีดีโอจากผู้ลี้ภัยทางการเมืองรวมถึงปิดท้ายด้วยวงดนตรีสามัญชน

 

ลงชื่อด้วยตัวเองผ่านช่องทางออนไลน์ได้จนถึงวันที่ 14 กุมภาพันธ์ 2567  https://amnestypeople.com/


#UDDnews #ยูดีดีนิวส์ #นิรโทษกรรมประชาชน