วันศุกร์ที่ 9 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2567

เครือข่ายนิรโทษกรรมประชาชน ยื่นหนังสืออัยการสูงสุด ให้ยุติการดำเนินคดีทางการเมือง ชี้ไม่เป็นประโยชน์สาธารณะ

 


เครือข่ายนิรโทษกรรมประชาชน ยื่นหนังสืออัยการสูงสุด ให้ยุติการดำเนินคดีทางการเมือง ชี้ไม่เป็นประโยชน์สาธารณะ

 

วันนี้ (9 กุมภาพันธ์ 2567) เมื่อเวลา 13.00 น. ที่สำนักงานอัยการสูงสุด ถนนรัชดาภิเษก #เครือข่ายนิรโทษกรรมประชาชน นำโดย ธนพร วิจันทร์ จากเครือข่ายเเรงงานเพื่อสิทธิประชาชน พร้อมแนวร่วมเครือข่ายนิรโทษกรรม เดินทางมายื่นหนังสือถึงอัยการสูงสุดขอให้ยุติการดำเนินคดีทางการเมือง เนื่องจากการดำเนินคดีไม่เป็นประโยชน์ต่อสาธารณะ

 

ธรพร เป็นตัวแทนอ่านเเถลงการณ์ มีใจความว่า จากการติดตามของศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน ตั้งแต่เริ่มการชุมนุมของ “เยาวชนปลดแอก” เมื่อวันที่ 18 กรกฎาคม 2563 จนถึงวันที่ 31 มกราคม 2567 มีประชาชนที่ถูกดำเนินคดีจากสถานการณ์ชุมนุมและการแสดงความคิดเห็นทางการเมือง ไปแล้วอย่างน้อย 1,947 คน ในจำนวน 1,268 คดีในจำนวนนี้ เป็นเด็กและเยาวชนที่อายุต่ำกว่า 18 ปี จำนวน 286 ราย ใน 217 คดี สำหรับสถิติการดำเนินคดี แยกตามข้อกล่าวหาสำคัญ ได้แก่

 

1.ข้อหา ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 มีผู้ถูกกล่าวหาอย่างน้อย 263 คน ในจำนวน 288 คดี

 

2.ข้อหา “ยุยงปลุกปั่น” ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 116 มีผู้ถูกกล่าวหาอย่างน้อย 147 คน ในจำนวน 45 คดี

 

3.ข้อหาฝ่าฝืน พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ มีผู้ถูกกล่าวหาอย่างน้อย 1,469 คน ในจำนวน 664 คดี (นับตั้งแต่เดือนพฤษภาคม 2563 ที่เริ่มมีการดำเนินคดีข้อหานี้ต่อผู้ชุมนุมและทำกิจกรรมทางการเมือง)

 

4.ข้อหาตาม พ.ร.บ.การชุมนุมสาธารณะ มีผู้ถูกกล่าวหาอย่างน้อย 179 คน ในจำนวน 91 คดี

 

5.ข้อหาตาม พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ มีผู้ถูกกล่าวหาอย่างน้อย 197 คน ในจำนวน 215 คดี

 

6.ข้อหาละเมิดอำนาจศาลอย่างน้อย 43 คน ใน 25 คดี และคดีดูหมิ่นศาลอย่างน้อย 34 คน ใน 10 คดี

 

จากจำนวนคดี 1,268 คดีดังกล่าว มีจำนวน 494 คดี ที่สิ้นสุดไปแล้ว เท่ากับยังมีคดีอีกกว่า 774 คดีที่ยังดำเนินอยู่ในกระบวนการชั้นต่าง ๆ ซึ่งอยู่ในกระบวนการทำงานของพนักงานอัยการเครื่อข่ายแรงงานเพื่อสิทธิประชาชน ซึ่งเป็นการรวมตัวของกลุ่มบุคคลเพื่อรณรงค์สิทธิแรงงานสิทธิมนุษยชนและประชาธิปไตย เห็นว่าการดำเนินคดีกว่า 774 คดีซึ่งยังไม่ถึงที่สุดนั้น

 

ในฐานะพนักงานอัยการมีบทบาทอย่างยิ่งต่อการดำเนินคดีและการรักษาความเป็นธรรม ทั้งนี้เนื่องจาก

 

1. คดีการเมืองกว่า 774 คดีนั้น ส่วนใหญ่เกิดขึ้นในสมัยของรัฐบาลพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชาซึ่งสืบทอดอำนาจมาจากรัฐบาลเผด็จการ และเกิดจากมูลเหตุความเห็นที่แตกต่างทางการเมืองการแสดงออกทางการเมืองและความขัดแย้งทางการเมือง ไม่ใช่คดีที่เกิดจากความตั้งใจเป็นอาชญากรต้องการก่อเหตุร้ายหรือความไม่ปลอดภัยขึ้นในสังคม ในขณะที่ปัจจุบันพรรคแกนนำรัฐบาลได้เปลี่ยนผ่าน เป็นพรรคของประชาชน คดีความทางการเมืองซึ่งเกิดจากการชุมนุมทางการเมืองหรือการแสดงออกทางการเมือง ที่เกิดขึ้นในห้วงเวลาตั้งแต่ปี 2563 เป็นต้นจึงสมควรได้รับการแก้ไขผ่านกระบวนการยุติธรรม

 

2. คดี 428 คดี จาก 774 คดีนั้นเกิดขึ้นเป็นคดีผ่าฝืนพระราชกำหนดการบริหารในสถานการณ์ฉุกเฉิน เนื่องจากสถานการณ์โควิด-19 ทำให้มีการประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินทั่วราชอาณาจักร ตั้งแต่เดือนมีนาคม 2563 ซึ่งในห้วงเวลาดังกล่าวสถานการณ์โรคระบาดที่แพร่หลาย มีประชาชนเสียชีวิตจำนวนมาก การได้รับวัคซีนล่าช้า การควบคุมโรคโดยการปิดสถานที่ต่าง ๆ ซึ่งส่งผลต่อการทำมาหากิน เศรษฐกิจและสังคมของประชาชน ทำให้ประชาชนออกมาชุมนุมจำนวนมาก เพราะการชุมนุมเป็นเพียงไม่กี่หนทาง ที่จะสื่อสารต่อผู้มีอำนาจปกครองบ้านเมือง และเนื่องจากมีประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินทำให้ประชาชนถูกจำกัดเสรีภาพในการชุมนุม ณ ขณะนั้นและทำให้ถูกดำเนินคดี และถูกสลายการชุมนุม หากสังคมอยู่ในภาวะปกติ คดีดังกล่าวย่อมไม่เกิดขึ้น ในขณะที่ปัจจุบันสถานการณ์โรคระบาดได้ผ่อนคลายลงกลับคืนสู่สถานการณ์ปกติแล้ว แต่ประชาชนที่ออกมาเรียกร้องทางการเมืองกลับต้องแบกรับภาระทางคดีต่อไป ทำให้ต้องเสียทั้งเงินและเวลาในการต่อสู้คดี เช่นเดียวกับหน่วยงานของรัฐ ทั้งเจ้าหน้าที่ตำรวจ พนักงานอัยการ และศาลยุติธรรมที่ต้องเสียเวลาดำเนินคดีนับร้อยคดีโดยไม่เป็นประโยชน์ต่อสาธารณะ

 

3. การดำเนินคดีทางการเมืองนั้นละเมิดต่อสิทธิเสรีภาพในการแสดงออกและเสรีภาพในการชุมนุมของประชาชนตามกติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมืองข้อ 19 และข้อ 21 และสิทธิเสรีภาพตามรัฐธรรมนูญ และส่งผลต่อประชาธิปไตย ซึ่งไม่เป็นผลดีต่อสังคม สังคมไทยจะพัฒนาได้ก็ด้วยการเคารพความเห็นที่แตกต่างและหลากหลาย มิใช่การใช้อำนาจดำเนินคดีต่อประชาชน

 

4. การดำเนินคดีต่อเยาวชนกว่า 286 คน ที่แสดงออกทางการเมืองนั้นไม่เป็นผลดีต่อเยาวชนและสังคมโดยรวม เพราะเด็กนั้นย่อมมีสิทธิที่จะมีส่วนร่วม สิทธิที่จะได้รับการพัฒนา และสิทธิที่จะได้รับการปกป้อง คุ้มครอง การดำเนินคดีต่อเยาวชนเพียงเพราะการแสดงออกทางการเมืองนั้นยังขัดต่อหลักการประโยชน์สูงสุดของเด็กและละเมิดต่ออนุสัญญาว่าด้วยสิทธิเด็ก

 

5. เครือข่ายแรงงานเพื่อสิทธิประชาชนเห็นว่าพนักงานอัยการเข้ามามีบทบาทอย่างมีนัยสำคัญในการใช้อำนาจตามมาตรา 21 พระราชบัญญัติองค์กรอัยการและพนักงานอัยการ พ.ศ. 2553 มีคำสั่งไม่ฟ้องคดีฝ่าฝืนพระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉินกว่า 63 คดี ซึ่งเป็นการใช้อำนาจในเชิงบวกให้ความเป็นธรรมต่อประชาชน และเป็นประโยชน์ต่อสังคมโดยรวม

 

เครือข่ายแรงงานเพื่อสิทธิประชาชนจึงขอให้ท่านพิจารณาสั่งไม่พ้อง ไม่ยื่นคำร้อง ไม่อุทธรณ์ ไม่ฎีกา ถอนฟ้อง ถอนคำร้อง ถอนอุทธรณ์ และถอนฎีกา คดีซึ่งเกิดจากการชุมนุมทางการเมืองหรือการแสดงออกทางการเมือง 774 คดีที่ยังไม่ถึงที่สุด เนื่องจากการดำเนินคดีทางการเมืองต่อไปนั้นไม่เป็นประโยชน์ต่อสาธารณชน ตามมาตรา 21 พระราชบัญญัติองค์กรอัยการและพนักงานอัยการ พ.ศ. 2553

 

ทั้งนี้นอกจากการไม่ดำเนินคดีทางการเมืองจะทำให้หน่วยงานรัฐมีเวลาดูแลประชาชนได้เพิ่มมากขึ้น ยังมีบทบาทช่วยให้คลี่คลายความขัดแย้งในทางการเมืองซึ่งดำรงอยู่มาอย่างยาวนาน การคืนความปกติให้แก่ประชาชนนั้นเป็นประโยชน์ต่อสาธารณชนอย่างแท้จริงด้วยความเคารพต่อสิทธิเสรีภาพของประชาชน

 

จากนั้นรองอธิบดีอัยการ เป็นตัวเเทนออกมารับหนังสือจากเครือข่ายฯ เพื่อดำเนินการตามขั้นตอนต่อไป

 

#UDDnews #ยูดีดีนิวส์ #นิรโทษกรรมประชาชน #อัยการสูงสุด