“ชลธิชา”
เสวนาครบรอบ 3
ปี รัฐประหารเมียนมา ชี้ผู้ลี้ภัย - หนีภัยสงครามจากเมียนมากว่า 9
หมื่นคนไร้สถานะในระบบกฎหมาย-ราชการ เรียกร้องรัฐบาลไทยเร่งปรับท่าทีต่อประเด็นสิทธิมนุษยชนก่อนชิงตำแหน่งคณะมนตรีสิทธิมนุษยชน
UN
ในการเสวนา
Sol Bar
Talk หัวข้อ “3 ปี รัฐประหารเมียนมา :
สงครามยังคงอยู่ ประชาชนยังคงตาย” เมื่อวันที่ 2 กุมภาพันธ์ 2567
ที่ผ่านมา ที่อาคารอนาคตใหม่ ร่วมเสวนาโดย พรรณิการ์ วานิช
กรรมการมูลนิธิคณะก้าวหน้า, ลลิตา หาญวงษ์
นักวิชาการผู้เชี่ยวชาญด้านเมียนมา และ ชลธิชา แจ้งเร็ว สส.ปทุมธานี เขต 3 พรรคก้าวไกล พูดคุยถึงสถานการณ์ความเป็นไปในเมียนมา
และบทบาทตลอดจนผลกระทบที่ประเทศไทยอาจได้รับจากการคลี่คลายไปของสถานการณ์
ในช่วงหนึ่ง
ชลธิชาได้กล่าวถึงสถานการณ์การเมืองและการสู้รบในเมียนมา หลังรัฐประหาร 2564 ซึ่งทำให้มีผู้พลัดถิ่นที่หนีภัยสงครามข้ามไปมา
ระหว่างพรมแดนประเทศไทย-เมียนมา
ทำให้ประเทศไทยหลีกเลี่ยงจากบทบาทการให้ความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมไม่ได้
และประเด็นเรื่องการอพยพลี้ภัยควรเป็นเรื่องที่เราต้องหยิบยกมาคุยกันอย่างจริงจัง
เพราะที่ผ่านมาเราเป็นประเทศที่รองรับผู้พลัดถิ่นที่หนีภัยจากสงครามในเมียนมาเข้ามาในประเทศเป็นจำนวนมาก
ย้อนไปได้ทั้งในรอบปี 2564 และในรอบเกือบ 40 ปีที่ผ่านมา
แต่ปัญหาคือทั้งกฎหมายและในระบบราชการของประเทศไทยไม่เคยยอมรับว่าประเทศไทยมี
“ผู้ลี้ภัย”
ตลอด
40 ปีที่ผ่านมา ประเทศไทยมีผู้ลี้ภัยใน 9 ศูนย์พักพิงชั่วคราว
ใน 4 จังหวัดชายแดนเมียนมา อยู่กว่า 9 หมื่นคน
โดยที่เกินครึ่งหนึ่งเป็นคนที่เกิดและเติบโตอยู่ในค่าย
แต่เนื่องจากไม่ได้รับสิทธิและสถานะในฐานะผู้ลี้ภัย
จึงไม่สามารถทำงานและไม่สามารถออกจากค่ายได้ ซึ่งเป็นเรื่องน่าเศร้า
ทั้งที่พวกเขาเข้านิยามผู้ลี้ภัยทุกประการ เพียงแต่รัฐไทยไม่เคยนิยามพวกเขาว่าเป็นผู้ลี้ภัย
เพื่อที่จะได้ไม่ต้องรับรองเรื่องสิทธิและสถานะต่างๆ ของพวกเขาทางกฎหมาย
ชลธิชากล่าวต่อไป
ว่าในช่วงเดือนกันยายนปีนี้จะมีการเลือกตั้งคณะมนตรีสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติ
ซึ่งประเทศไทยกำลังหมายมั่นจะเอาที่นั่งนี้ให้ได้
ตนจึงเห็นว่าถึงเวลาแล้วที่รัฐบาลไทยจะต้องกลับมาคำนึงถึงประเด็นสิทธิมนุษยชน
เพื่อให้เหมาะสมกับตำแหน่งที่กำลังจะได้รับในประชาคมโลก
ซึ่งมีหลายประเด็นมากที่ประเทศไทยจะต้องผลักดัน เช่น การนิรโทษกรรม
เพราะที่ผ่านมาทางองค์การสหประชาชาติหรือกลไกขององค์การสหประชาชาติหลายองค์กร
ได้มีการส่งข้อเสนอแนะมาให้รัฐบาลไทยหลายครั้ง
เรียกร้องให้ยุติการดำเนินคดีทางการเมืองกับนักกิจกรรม
และอีกประเด็นที่สำคัญไม่แพ้กันคือเรื่องของเมียนมา
ที่มีความใกล้ชิดกับประเทศไทยมาก เพราะทั้งสองประเทศมีทั้งพรมแดนร่วมกัน
มีการแลกเปลี่ยนทางวัฒนธรรม และยังมีการไปมาหาสู่ของผู้คนร่วมกัน
อย่าลืมว่าคนเมียนมาในประเทศไทยเยอะมาก ๆ
และพวกเขาคือพลังหนึ่งที่สำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศไทย
ชลธิชากล่าวต่อไปว่าตนจึงอยากใช้โอกาสนี้เรียกร้องไปถึงรัฐบาลไทยให้กลับมาทบทวนบทบาทท่าทีของตัวเองต่อประเด็นเมียนมา
โดยเฉพาะในเรื่องระเบียงมนุษยธรรม (Humanitarian Corridor) ซึ่งที่ผ่านมามีปัญหาการคิดจากส่วนกลางลงไปยังพื้นที่โดยไม่สอดคล้องกับข้อเท็จจริง
เช่น การไปดำเนินการในพื้นที่ที่ยังคงมีการสู้รบหนักหน่วงอยู่
ซึ่งในด้านนี้ควรมีการปรับปรุง โดยเฉพาะต้องไม่ลืมผู้มีส่วนได้ส่วนเสียในพื้นที่
ไม่ว่าจะเป็นฝั่งชาติพันธุ์กลุ่มต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง รัฐบาลเอกภาพแห่งชาติหรือ NUG
(National Unity Government) คนไทยที่อยู่ตามพรมแดน
องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น กองทัพ ฯลฯ
ประเทศไทยมีไม่ใช่แค่ผู้หนีภัยจากการสู้รบตามชายแดน
แต่ยังมีผู้ลี้ภัยทางการเมืองชาวเมียนมา หลายคนเป็นนักกิจกรรม แพทย์ พยาบาล วิศวกร
ครู เป็นบุคลากรที่มีทักษะวิชาชีพ
แต่อยู่ในประเทศไทยด้วยสถานะของการเข้าเมืองผิดกฎหมาย
ทำให้ไม่ได้รับสิทธิรับรองอะไรเลยในทางกฎหมาย ไม่ว่าจะเป็นสิทธิในการทำงาน
สิทธิในการศึกษา สิทธิในการรับการรักษาพยาบาล
สัดส่วนจำนวนประชากรของผู้ที่หนีภัยสงครามเองหรือแม้กระทั่งผู้ลี้ภัยทางการเมืองที่อยู่ตามหัวเมืองใหญ่ๆ
ของประเทศไทย ไม่ว่าจะเป็นกรุงเทพฯ แม่สอด หรือเชียงใหม่ มีสัดส่วนที่เป็นเยาวชน
เด็ก และคนชราสูงมาก ซึ่งเราไม่ควรที่จะละทิ้งและละเลยคนเหล่านี้ หากไทยอยากได้ตำแหน่งในคณะมนตรีสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติหนักหนา
รัฐบาลไทยก็ต้องพิสูจน์ความจริงจังในเรื่องนี้ให้ได้
“ถึงเวลาแล้วที่เราต้องพิสูจน์ตัวเองให้กับประชาคมโลกเห็นว่าเราเหมาะสมกับตำแหน่งในคณะมนตรีสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติจริง
ๆ พิสูจน์ให้เห็นทั้งในเรื่องประเด็นการเมืองในไทยเอง อย่างเรื่องการนิรโทษกรรม
และประเด็นเรื่องเมียนมาเพื่อนบ้านของเราด้วย” ชลธิชากล่าว