‘ทวี’ ชี้ ‘ทักษิณ’นอนรพ.ถือว่ารับโทษแล้ว ไม่รู้ 18 ก.พ.ได้กลับบ้านหรือไม่
ขึ้นอยู่กับคณะกรรมการพักโทษ เรื่องประกันตัวคดี" ม.112" อยู่ที่ดุลยพินิจ อสส. ด้าน "ยิ่งลักษณ์" ยังไม่มีการขออภัยโทษ
วันนี้
(6 กุมภาพันธ์ 2567) เวลา 12.15 น.
ที่ทำเนียบรัฐบาล พ.ต.อ.ทวี สอดส่อง รมว.ยุติธรรม ให้สัมภาษณ์กรณีกระแสข่าว
นายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี จะได้รับการพักโทษวันที่ 18 ก.พ.ว่า
เรื่องนี้ต้องให้คณะกรรมการพิจารณาพักโทษของกรรมราชทัณฑ์ที่มีทั้งสิ้น 19 คนจากหน่วยงานต่าง ๆ อาทิ กระทรวงมหาดไทย สาธารณสุข พิจารณากันก่อน
โดยจะมีการพิจารณากันทุกเดือน โดยต้องพิจารณานักโทษจำนวนหลายร้อยคน
ส่วนเดือนนี้จะประชุมกันวันไหนนั้นต้องถามกรมราชทัณฑ์
ขณะนี้เรื่องดังกล่าวยังไม่ถึงตน แต่น่าจะประชุมใกล้ ๆ นี้
เมื่อถามว่ามีกระแสข่าวเอกสารหลุดว่านายทักษิณ
จะได้รับการพักโทษ ได้ตรวจสอบแล้วหรือยัง พ.ต.อ.ทวี กล่าวว่ายังไม่ได้ตรวจสอบ
โดยการให้พักโทษจะพิจารณาตามหลักเกณฑ์ไม่ได้ดูที่ชื่อคน
การพักโทษเหมือนถูกลงโทษอยู่ แต่กฎหมายอนุญาตให้พักโทษ
เมื่อถามว่าหากได้รับการพักโทษ
นายทักษิณ จะต้องใส่กำไลอีเอ็มหรือไม่ พ.ต.อ.ทวี ตอบว่า
ขึ้นอยู่กับคณะกรรมการและกรมคุมประพฤติ โดยจะลงไปตรวจสอบรายละเอียดอีกครั้ง
โดยสิทธิของผู้พักโทษเราก็อยากให้ได้รับสิทธิตรงเวลาตามมาตรฐานสากล
และยืนยันว่าการให้สิทธิพักโทษนายทักษิณ เป็นไปตามกฎหมาย
เพราะเป็นเรื่องสำคัญละเอียดอ่อน
เมื่อถามว่ากรณีของนายทักษิณจะมีปัญหาหรือไม่
เพราะไม่ได้ติดคุกแม้แต่วันเดียว แต่ได้รับการพักโทษ พ.ต.อ.ทวี กล่าวว่า
ในทางกฎหมายถือว่าถูกควบคุมตัว ก็คือได้รับโทษ
แต่ในความรู้สึกของคนอาจมีมุมมองที่แตกต่าง
"การอยู่โรงพยาบาล เขาใช้คำว่าห้องควบคุม ถูกควบคุม
ก็ต้องเรียนว่าในอดีตมีผู้ที่เจ็บป่วยไปถูกควบคุมตัวที่สถานโรงพยาบาลห้องควบคุมพิเศษ
ดุลยพินิจนี้อยู่ที่โรงพยาบาลไม่ใช่หมอ
โดยในส่วนของโรงพยาบาลตำรวจก็อยู่ที่เจ้าหน้าที่ตำรวจซึ่งมีเงื่อนไขทางด้านความปลอดภัยและอีกหลายเงื่อนไข
เป็นดุลยพินิจของโรงพยาบาล"
เมื่อถามถึงกรณี
กระแสข่าวเจ้าหน้าที่ตำรวจและอัยการเตรียมขออายัดตัวนายทักษิณ
มาดำเนินคดีตามความผิดมาตรา 112 พ.ต.อ.ทวี ตอบว่า คดี 112 เป็นคดีนอกราชอาณาจักร
อัยการสูงสุดเป็นพนักงานสอบสวนและจะประสานให้เจ้าหน้าที่ตำรวจร่วมสอบสวนด้วย
การอายัดตัวเป็นเรื่องที่ผู้ถูกกล่าวหาถูกควบุคตัวในอคีอื่นอยู่
แล้วมีคดีใหม่เข้ามา ถึงต้องอายัดตัวเพื่อนำเข้าสู่กระบวนการสอบสวนสำหรับคดีใหม่
ซึ่งจะต้องดูว่าจะมีการส่งฟ้องหรือไม่ฟ้องหรือไม่
โดยเรื่องนี้ให้ไปถามสำนักงานอัยการสูงสุดว่าจะดำเนินการอย่างไร
ในส่วนของกระทรวงยุติธรรมหากมีการขออายัดตัวก็จะอำนวยความสะดวกให้พนักงานสอบสวน
และในกรณีนี้เจ้าหน้าที่ตำรวจคงหมดหน้าที่เพราะเป็นหน้าที่ของอัยการสูงสุด
ที่จะต้องนำคำให้การของผู้ถูกกล่าวหาไปประกอบการพิจารณา
ถ้าสอบสวนเสร็จแล้วก็หมดอำนาจอายัดตัวซึ่งก็จะอาจมีการปล่อยตัวชั่วคราว
หรือควบคุมตัว เพื่อรอกระบวนการพิจารณาว่าจะสั่งฟ้องหรือไม่ และถือว่าเป็นคดีใหม่
และตอนนี้ต้องถามอัยการว่าสอบสวนแล้วหรือยัง ถ้าสอบสวนเสร็จแล้วก็ไม่ต้องอายัดตัว
เมื่อถามว่า
นส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ขอพระราชทานอภัยโทษหรือไม่ พ.ต.อ.ทวี กล่าวว่า “ไม่ทราบเลย
ไม่มี”