‘ก้าวไกล’ ชงตั้ง กมธ.พิจารณาแนวทางจัดการศึกษา
สำหรับเด็กที่ไม่มีหลักฐานทะเบียนราษฎรหรือไม่มีสัญชาติไทย
หวังสรุปปัญหาเด็กไม่มีรหัสจี เข้าไม่ถึงการศึกษา
ประสานหน่วยงานเกี่ยวข้องแก้ไขเป็นระบบ
วันที่
10 สิงหาคม 2566 ณัฐวุฒิ บัวประทุม สส.บัญชีรายชื่อ
พรรคก้าวไกล พร้อมด้วย ปารมี ไวจงเจริญ สส.บัญชีรายชื่อ มานพ คีรีภูวดล
สส.บัญชีรายชื่อ และ เลาฟั้ง บัณฑิตเทอดสกุล สส.บัญชีรายชื่อ
ร่วมแถลงข่าวบริเวณโถงรัฐสภา เสนอตั้งคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาแนวทางการจัดการศึกษาสำหรับเด็กที่ไม่มีหลักฐานทะเบียนราษฎรหรือไม่มีสัญชาติไทย
จากกรณีเด็กที่ไม่มีเอกสารทางทะเบียนราษฎรที่มาศึกษาในโรงเรียนไทยรัฐวิทยา 6
อ.ป่าโมก จ.อ่างทอง ถูกส่งกลับภูมิลำเนาที่ประเทศเพื่อนบ้านกว่า 100
คน
ณัฐวุฒิ
ในฐานะ สส.บัญชีรายชื่อ จากจังหวัดอ่างทอง กล่าวว่า
ตนได้มีส่วนสืบข้อเท็จจริงตั้งแต่วันแรกที่ปรากฏข่าว
และข้อค้นพบคือโรงเรียนไม่สามารถออกรหัส G หรือ Generate Code ที่จัดทำขึ้นเพื่อใช้กำหนดรหัสประจำตัวสำหรับนักเรียนที่ไม่มีหลักฐานทางทะเบียนราษฎรได้
เนื่องจากนักเรียนทั้งหมดมาจากประเทศเพื่อนบ้าน อย่างไรก็ดี แม้กรณี จ.
อ่างทองขณะนี้อยู่ระหว่างดำเนินคดีกับผู้เกี่ยวข้อง
แต่จำเป็นต้องถอดบทเรียนร่วมกันว่าเป็นกรณีที่เข้าข่ายขัดต่ออนุสัญญาว่าด้วยสิทธิเด็ก
หลักการจัดการศึกษาเพื่อปวงชน (Education for All) ตลอดจนขัดต่อนโยบายหรือมติคณะรัฐมนตรีที่ต้องเคารพต่อคนไร้สถานะในประเทศไทยหรือไม่
เรื่องนี้เกี่ยวข้องกับหลายหน่วยงาน
จึงไม่อาจใช้กระบวนการปรึกษาหารือหรือการยื่นต่อกรรมาธิการสามัญซึ่งยังไม่เกิดขึ้นคณะใดคณะหนึ่งได้
โดยขณะนี้พรรคก้าวไกลได้ยื่นญัตติตั้ง กมธ.วิสามัญฯ เรียบร้อยแล้ว
หวังว่าสภาจะเร่งบรรจุวาระการพิจารณา และหวังว่าเพื่อนสมาชิกจากทุกพรรคการเมืองจะสนับสนุน
โดยสิ่งที่เราคาดหวัง
ประการแรก ต้องมีการสรุปตัวเลขและประเด็นปัญหาให้ชัดเจน
ว่าวันนี้ยังมีเด็กที่ไม่สามารถเข้าถึงระบบการศึกษา
หรือเข้าถึงแต่ไม่สามารถออกรหัส G ได้ทั้งหมดจำนวนเท่าไร ติดปัญหาอุปสรรคใด
ประการที่สอง กรณีเด็กที่มีรหัส G แล้วนั้น
จะต้องนำไปสู่การลงรายการสถานะบุคคล ปัจจุบันพบว่ากว่า 90,000 คนที่มีการลงรหัส G มีการลงรายการสถานะบุคคลเลขประจำตัว
13 หลักเพียง 30,000 คนเท่านั้น
“ยืนยันพรรคก้าวไกลไม่นิ่งนอนใจ จะนำไปสู่การตั้งคณะกรรมาธิการวิสามัญฯ ผลักดันนโยบายในประเด็นการให้สถานะบุคคลหรือการให้สัญชาติไทยแก่บุคคลที่ควรจะได้
ซึ่งเป็นนโยบายที่พรรคเคยหาเสียง พรรคไม่คืนคำพูด
จะเดินหน้าทำหน้าที่ตามที่หาเสียงไว้อย่างแน่นอน” ณัฐวุฒิกล่าว
ด้าน
ปารมี ในฐานะผู้เสนอญัตติและคณะทำงานประเด็นนี้ กล่าวว่า กรณี จ.อ่างทอง
หากแก้ปัญหาสั้นๆ ทีละจุด ก็จะมีปัญหาพบต่อเนื่องไปเรื่อยๆ
จึงมีมติของพรรคเห็นว่าควรแก้ปัญหาอย่างเป็นระบบและยั่งยืน ปัจจุบันปัญหาเด็กรหัส G นั้น
แม้แต่ตัวเลขยังไม่แน่นอนว่ามีจำนวนเท่าไร หน่วยงานที่เกี่ยวข้องตอบไม่ได้
จากการค้นข้อมูลพบว่าเมื่อปี
2562 นักเรียนที่เป็นลูกหลานแรงงานข้ามชาติในไทยมีถึง 300,000 คน ในจำนวนนี้ได้รหัส G เข้าเรียนประมาณ 100,000
คน นั่นแสดงว่าส่วนที่เหลือไม่เข้าถึงการศึกษา ดังนั้น การตั้ง
กมธ.วิสามัญฯ จะทำให้ได้ตัวเลขและหน่วยงานผู้รับผิดชอบเบื้องต้น ไม่ว่าจะเป็น
กระทรวงศึกษาธิการ กระทรวงมหาดไทย กระทรวงแรงงาน
เรื่องนี้นอกจากเป็นประเด็นด้านมนุษยธรรม
ยังเกี่ยวข้องกับระบบเศรษฐกิจไทย เนื่องจากปัจจุบันแรงงานไทยเลือกไม่ทำในหลายอาชีพ
ทำให้ต้องพึ่งพาแรงงานข้ามชาติจากประเทศเพื่อนบ้าน ดังนั้น
หากเราทำให้ลูกหลานแรงงานเหล่านี้ลงรหัส G และเข้าเรียนได้
จะส่งผลดีต่อระบบเศรษฐกิจไทยที่จะได้แรงงานที่มีทักษะเพิ่มขึ้น
ตลอดจนลดปัญหาอาชญากรรม ปัญหาความมั่นคง ปัญหาสาธารณสุขด้วย
ด้านมานพ
ในฐานะประธานเครือข่ายชาติพันธุ์และชนเผ่าพื้นเมืองพรรคก้าวไกล กล่าวว่า
ระหว่างที่รอญัตติตั้ง กมธ.วิสามัญดังกล่าว พรรคก้าวไกลโดยเครือข่ายชาติพันธุ์จะทำหน้าที่ประสานข้อมูล
ลงพื้นที่เพื่อประกอบการทำงาน นอกจากนี้ เรื่องใดที่ไม่ต้องรอ กมธ.
โดยเฉพาะการแก้ไขปัญหาสถานะบุคคล พรรคก้าวไกลพร้อมประสานดำเนินการโดยทันที
ส่วนพี่น้องประชาชนที่มีปัญหาในการประสานงานกับภาครัฐหรือกระบวนการทำงานขอสถานะบุคคลและสัญชาติ
สามารถประสานมาที่คณะทำงานด้านสถานะบุคคลและสัญชาติของพรรคก้าวไกลได้เช่นกัน
#UDDnews #ยูดีดีนิวส์ #ก้าวไกล