‘พริษฐ์’ เสนอญัตติด่วน ขอให้สภาฯ พิจารณาแจ้ง ครม.
จัดประชามติเดินหน้ารัฐธรรมนูญใหม่ ถามประชาชนตรงไปตรงมา เห็นด้วยหรือไม่ ทำ รธน.
ใหม่ทั้งฉบับ โดย สสร. เลือกตั้ง 100% หวังทุกพรรคสนับสนุน
เร่งบรรจุวาระพิจารณาสัปดาห์หน้าทันที
วันที่
16 สิงหาคม 2566 ที่รัฐสภา พริษฐ์ วัชรสินธุ
สส.บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล แถลงข่าวถึงการเสนอญัตติด่วน
เรื่องขอให้สภาผู้แทนราษฎรพิจารณาเห็นชอบและแจ้งให้คณะรัฐมนตรีดำเนินการให้มีการออกเสียงประชามติ
เพื่อสอบถามความเห็นของประชาชนต่อการจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่
พริษฐ์
กล่าวว่า
พรรคก้าวไกลยืนยันมาตลอดว่าภารกิจสำคัญในการฟื้นฟูประชาธิปไตยและนำพาการเมืองไทยกลับสู่สภาวะประชาธิปไตยปกติ
คือการจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ มาแทนที่รัฐธรรมนูญ 2560 ที่พรรคก้าวไกลมองว่าขาดความชอบธรรมทางประชาธิปไตยทั้ง
ที่มา กระบวนการ เนื้อหา และมีส่วนนำพาประเทศไทยมาสู่วิกฤตทางการเมือง ณ ปัจจุบัน
หากดำเนินการตามกระบวนการที่ถูกกำหนดโดยรัฐธรรมนูญ
2560 ขั้นตอนในการนำพาประเทศไปสู่การมีรัฐธรรมนูญฉบับใหม่
อาจต้องอาศัยการที่ประชาชนเข้าคูหาทั้งหมด 4 ครั้ง
ประกอบด้วย ประชามติ 2 ครั้ง ต่อด้วยการเลือกตั้ง สสร. 1
ครั้ง และประชามติหลังมีร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ที่ร่างโดยสสร. 1
ครั้ง
โดยขั้นตอนแรกคือการจัดทำประชามติครั้งที่
1 ก่อนจะมีการเสนอร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญใดๆ เกี่ยวกับ สสร.
เข้าสู่การพิจารณาของรัฐสภา
เพื่อถามประชาชนว่าเห็นด้วยหรือไม่ให้มีการจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่
แม้การจัดประชามติครั้งที่
1 นี้ อาจไม่ได้มีความจำเป็นในเชิงกฎหมาย แต่หากประชาชนลงมติเห็นชอบกับการจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่
ผลของประชามติดังกล่าว จะทำให้ไม่มีสมาชิกรัฐสภาคนใดสามารถยกเหตุผลใดๆ
หรือหยิบคำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญ 4/2564 มาปัดตกเจตจำนงของประชาชนได้
พริษฐ์กล่าวต่อว่า
ตนเชื่อว่าหลายพรรคเห็นตรงกัน ว่าการจัดประชามติลักษณะนี้
เป็นกระดุมเม็ดแรกในการจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ ที่เราควรติดโดยเร็ว
แต่ปีศาจอยู่ในรายละเอียดเสมอ และรายละเอียดที่สำคัญของประชามติที่จะเกิดขึ้น
คือคำถามในประชามติ
หากเราต้องการให้ประชามติดังกล่าวนำไปสู่รัฐธรรมนูญฉบับใหม่ที่สะท้อนฉันทามติใหม่ของสังคม
พรรคก้าวไกลเสนอว่าคำถามควรถูกใช้ในประชามติครั้งที่ 1 คือ
‘ท่านเห็นชอบหรือไม่ ว่าประเทศไทยควรมีการจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ทั้งฉบับ
แทนที่รัฐธรรมนูญ พ.ศ. ๒๕๖๐ ฉบับปัจจุบัน โดยสภาร่างรัฐธรรมนูญ (สสร.)
ที่มาจากการเลือกตั้งโดยตรงของประชาชน?’
พริษฐ์กล่าวว่า
มีเหตุผล 4
ข้อว่าทำไมคำถามนี้จะนำไปสู่รัฐธรรมนูญฉบับใหม่ที่สะท้อนฉันทามติใหม่ของสังคมได้
1.
เป็นการถามเพื่อยืนยันหลักการสำคัญ ว่าควรมีการร่าง
‘รัฐธรรมนูญฉบับใหม่ทั้งฉบับ’ - พรรคก้าวไกลยืนยันจุดยืนมาตลอด
ว่าควรร่างรัฐธรรมนูญใหม่ทั้งฉบับ เพราะรัฐธรรมนูญ 2560 ไม่ได้มีปัญหาเพียงแค่ไม่กี่มาตรา
ที่การแก้ไขรายมาตราเพียงอย่างเดียวจะเพียงพอ แต่รัฐธรรมนูญ 2560 มีปัญหาเรื่องความชอบธรรมทางประชาธิปไตยด้านที่มา กระบวนการ
และมีปัญหาเชิงเนื้อหาสาระในหลายมาตราที่มีลักษณะพัวพันกัน เช่น
อำนาจและที่มาของวุฒิสภา อำนาจและที่มาองค์กรอิสระ
ช่องโหว่ในการคุ้มครองสิทธิเสรีภาพ ดังนั้น
คำถามว่าควรมีการร่างใหม่ทั้งฉบับหรือไม่
จึงเป็นคำถามที่มีความสำคัญต่ออนาคตการเมืองไทย
และควรถูกบรรจุในคำถามประชามติครั้งที่ 1
2.
เป็นการถามเพื่อยืนยันหลักการสำคัญ ว่า สสร. ควรมาจากการเลือกตั้ง 100
เปอร์เซ็นต์ - รายละเอียดอื่นๆ ของ สสร. ไม่ว่าจะเป็น จำนวนสมาชิก
ระบบเลือกตั้ง สสร. ระยะเวลาทำงาน
เป็นรายละเอียดที่สามารถถกเถียงกันในขั้นตอนต่อไปได้
แต่หลักการสำคัญที่ต้องถามประชาชนให้ยืนยันตั้งแต่ประชามติครั้งที่ 1 คือหลักการว่า สสร. ควรมาจากการเลือกตั้งทั้งหมด เพื่อให้ สสร.
ที่จะมาร่างกฎหมายสูงสุดของประเทศ ประกอบด้วยตัวแทนที่มาจากการเลือกตั้งของประชาชน
และเป็นตัวแทนของทุกชุดความคิดในสังคม
ทั้งนี้
ต้องย้ำว่าการกำหนดให้ สสร. มาจากการเลือกตั้งทั้งหมด
ไม่ได้หมายความว่าจะไม่มีพื้นที่ให้ผู้เชี่ยวชาญทางกฎหมายที่จะเข้ามามีส่วนร่วมในการจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่
เพราะแม้มีการเลือกตั้ง สสร. 100 เปอร์เซ็นต์
ก็สามารถตั้งคณะกรรมาธิการยกร่างเพื่อเปิดพื้นที่ให้ผู้เชี่ยวชาญทางกฎหมายที่อาจไม่ประสงค์ลงสมัครรับเลือกตั้งเป็น
สสร. เข้ามามีส่วนร่วมได้ แต่การทำให้ สสร. มาจากการเลือกตั้ง 100 เปอร์เซ็นต์ เป็นการวางหลักประกันว่าทุกการตัดสินใจของ สสร.
จะกระทำโดยตัวแทนที่มาจากการเลือกตั้งโดยตรงของประชาชน
3.
เป็นคำถามที่ ‘เข้าใจง่าย ไม่ชี้นำ -
ข้อวิจารณ์สำคัญต่อคำถามพ่วงในประชามติ 2559 ที่นำมาสู่มาตรา
272 ให้ สว. แต่งตั้งมีอำนาจร่วมเลือกนายกรัฐมนตรี
คือการที่คำถามไม่ได้ถามเรื่องดังกล่าวอย่างตรงไปตรงมา
แต่เป็นการเขียนคำถามที่มีลักษณะซับซ้อนและชี้นำโดยเจตนา
4.
เป็นคำถามที่ทุกพรรคการเมืองหลักจากสภาฯ ชุดที่แล้ว
เคยลงมติเห็นชอบมาแล้ว - คำถามที่เสนอไม่ได้เป็นคำถามใหม่
แต่เคยถูกเสนอเป็นญัตติด่วนโดย สส. พรรคก้าวไกล คือ ณัฐพงษ์ เรืองปัญญาวุฒิ และ
สส. พรรคเพื่อไทย คือ จุลพันธ์ อมรวิวัฒน์ ในสภาผู้แทนราษฎร เมื่อปี 2565 ยิ่งไปกว่านั้น ญัตติด่วนที่เสนอคำถามประชามติดังกล่าว
ได้รับความเห็นชอบอย่างเป็นเอกฉันท์จากสภาผู้แทนราษฎร จาก
สส.ทุกพรรคการเมืองหลักที่เข้าประชุม เมื่อวันที่ 3 พ.ย. 2565
โดยผลคะแนนคือ เห็นด้วย 324 ราย (เช่น
จากพรรคเพื่อไทย 62 สส. จากพรรคพลังประชารัฐ 57 ส.ส. จากพรรคภูมิใจไทย 32 สส. จากพรรคประชาธิปัตย์
และ 44 สส. จากพรรคก้าวไกล) ไม่เห็นด้วย 0 ราย งดออกเสียง 1 ราย
พริษฐ์กล่าวว่า
สำหรับขั้นตอนต่อไป การเสนอให้จัดประชามติ รวมถึงการเสนอคำถามประชามตินั้น
หากอ้างอิงตาม พ.ร.บ.ประชามติ 2564 สามารถดำเนินการได้ 3 ช่องทาง ได้แก่ (1) ครม. ออกมติด้วยตนเอง (2)
ประชาชนเข้าชื่อ 50,000 คน เพื่อเสนอให้ ครม.
อนุมัติ ซึ่งขณะนี้มีภาคประชาชนกำลังรวบรวมรายชื่อเพื่อยื่นข้อเสนอนี้อยู่ภายใต้ชื่อ
‘conforall’ และ (3) สมาชิกรัฐสภาเสนอให้สภาผู้แทนฯ
และวุฒิสภาเห็นชอบ เพื่อแจ้ง ครม. ให้ดำเนินการ
เรามองว่าเพื่อความรวดเร็ว
ไม่มีความจำเป็นต้องเลือกทางใดทางหนึ่ง แต่ดำเนินการคู่ขนานกันได้ ดังนั้น
วันนี้พรรคก้าวไกลจึงจะใช้กลไกของสภา เพื่อเสนอญัตติด่วนดังกล่าวฯ
ตามคำถามที่เราได้เสนอไว้ ซึ่งสอดคล้องกับคำถามที่ภาคประชาชนเสนอในการเข้าชื่อ
พริษฐ์ทิ้งท้ายว่า
ขอความร่วมมือจากทุกพรรคการเมือง
โดยเฉพาะพรรคการเมืองที่ประกาศเห็นชอบกับการจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่
มาร่วมมือกับเราในการให้มีการพิจารณาญัตตินี้โดยเร็วที่สุด
ทันทีที่มีการบรรจุเข้าระเบียบวาระสัปดาห์หน้า และมาร่วมเห็นด้วยกับเรา
ในการยึดคำถามประชามติที่ทุกพรรคเคยลงมติเห็นชอบมาแล้ว
#UDDnews #ยูดีดีนิวส์ #เขียนรัฐธรรมนูญใหม่ #ก้าวไกล