วันจันทร์ที่ 28 สิงหาคม พ.ศ. 2566

กลุ่มประชาชนร่างรัฐธรรมนูญ ยื่นรายชื่อ - คำถามประชามติ"เขียนใหม่ทั้งฉบับเลือกตั้ง100%" กว่า 205,739 รายชื่อ หวังพรรคเพื่อไทย มุ่งผลักดันประชามติ เปิดทางร่างรัฐธรรมนูญประชาชน

 


กลุ่มประชาชนร่างรัฐธรรมนูญ ยื่นรายชื่อ - คำถามประชามติ"เขียนใหม่ทั้งฉบับเลือกตั้ง100%" กว่า 205,739 รายชื่อ หวังพรรคเพื่อไทย มุ่งผลักดันประชามติ เปิดทางร่างรัฐธรรมนูญประชาชน


วันนี้ (28 ส.ค. 66) เวลา 14.00 น. ที่ทำการพรรคเพื่อไทย กลุ่มประชาชนร่างรัฐธรรมนูญ นำโดย iLaw (โครงการอินเทอร์เน็ตเพื่อกฎหมายประชาชน) เข้ายื่นหนังสือถึงพรรคเพื่อไทย และนายกรัฐมนตรี เรื่อง ขอให้พิจารณาคำถามประชามติรัฐธรรมนูญว่า ต้องเขียนใหม่ทั้งฉบับ โดย สสร.จากการเลือกตั้ง 100% โดยไม่ต้องรอ กกต.ตรวจเอกสาร


โดยมีนายแพทย์ชลน่าน ศรีแก้ว สส.น่านและหัวหน้าพรรคเพื่อไทย นายชูศักดิ์ ศิรินิล สส.บัญชีรายชื่อและรองหัวหน้าพรรค นายประเสริฐ จันทรรวงทอง สส.บัญชีรายชื่อและเลขาธิการพรรค นางสาวขัตติยา สวัสดิผล สส.บัญชีรายชื่อ นายอนุสรณ์ เอี่ยมสะอาด สส.บัญชีรายชื่อ นางสาวตรีชฎา ศรีธาดา รองโฆษกพรรค ร่วมกันรับหนังสือจากตัวแทนกลุ่มประชาชนร่างรัฐธรรมนูญ นำโดย iLaw ซึ่งรณรงค์รวบรวมรายชื่อประชาชน จำนวน 205,739 รายชื่อ เสนอให้รัฐบาลที่นำโดยพรรคเพื่อไทย ดำเนินการจัดทำประชามติที่นำไปสู่การยกร่างรัฐธรรมนูญ โดยกระบวนการที่ประชาชนมีส่วนร่วม พร้อมนำคำถามประชามติที่ประชาชนเข้าชื่อเสนอมาเข้าสู่การพิจารณาของคณะรัฐมนตรี


เริ่มต้นด้วยตัวแทนกลุ่ม #ประชาชนร่างรัฐธรรมนูญ ได้อ่านแถลงการณ์ว่า มีเนื้อหาระบุว่า พรรคเพื่อไทยเคยออกแถลงการณ์ครั้งที่หนึ่ง เมื่อวันที่ 2 สิงหาคม 2566 และครั้งที่สองร่วมกับพรรคภูมิใจไทย เมื่อวันที่ 7 สิงหาคม 2566 เรื่อง การประกาศเป็นแกนนำจัดตั้งรัฐบาล มีสาระสำคัญตรงกันที่จะเร่งแก้ไขรัฐธรรมนูญ โดยจะมีมติให้ทำประชามติเพื่อจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ตั้งแต่การประชุมคณะรัฐมนตรีนัดแรก กลุ่มประชาชนร่างรัฐธรรมนูญเห็นเป็นนิมิตรหมายอันดีและเห็นความตั้งใจดีของพรรคการเมืองที่เป็นแกนนำของรัฐบาลที่กำลังจะเกิดขึ้น 


แต่ยังคงมีความกังวลว่า หากในการทำประชามตินั้น คณะรัฐมนตรีออกแบบคำถามการจัดทำรัฐธรรมนูญใหม่ให้มีเงื่อนไข หรือให้บุคคลที่จะยกร่างรัฐธรรมนูญมาจากกระบวนการที่ประชาชนไม่ได้มีส่วนร่วม จะทำให้ประชาชนที่ไปออกเสียงประชามติไม่มีทางเลือกหรือผลการทำประชามติ ไม่มีความหมาย ไม่สะท้อนเจตจำนงค์ของประชาชน และไม่นำไปสู่กระบวนการเขียนรัฐธรรมนูญของประชาชนอย่างแท้จริง


กลุ่มประชาชนร่างรัฐธรรมนูญเป็นการรวมตัวกันเฉพาะกิจของนักกิจกรรมทางสังคม และองค์กรภาคประชาสังคมกว่า 30 แห่ง เห็นความสำคัญของการตั้งคำถามในการทำประชามติตั้งแต่เริ่มต้น จึงประสงค์ที่จะเสนอคำถามที่ครอบคลุมชัดเจนว่า การเขียนรัฐธรรมนูญใหม่ต้องเขียนใหม่ได้ทั้งฉบับ และหากจะมีสมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญ (สสร.) ต้องมาจากการเลือกตั้งของประชาชนทั้งหมด โดยได้ใช้สิทธิตามมาตรา 9 (5) ของ พ.ร.บ.ว่าด้วยการออกเสียงประชามติ พ.ศ. 2564 รวบรวมรายชื่อประชาชนอย่างน้อย 50,000 รายชื่อ เพื่อเสนอคำถามดังกล่าว 


โดยกิจกรรมนี้มีประชาชนที่เห็นด้วยจำนวนมาก และช่วยกันรวบรวมรายชื่อได้มากกว่า 205 ชื่อ ด้วยการลงชื่อบนกระดาษภายในเวลาเพียงสั้น ๆ และอยู่ระหว่างการจัดระเบียบเอกสารเป็นไฟล์อิเล็กทรอนิกส์เพื่อนำส่งให้สำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.)


ด้วยจำนวนรายชื่อของประชาชนที่มากเช่นนี้ กลุ่มประชาชนร่างรัฐธรรมนูญมีความไม่มั่นใจว่าสำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้งจะตรวจสอบรายชื่อด้วยความรวดเร็วและเสนอไปยังสำนักงานเลขาธิการคณะรัฐมนตรีได้ทันการประชุมเริ่มคณะรัฐมนตรีใหม่นัดแรก จึงนำคำถามประชามติที่ประชาชนร่วมกันเข้าชื่อเพื่อเสนอนี้มายื่นต่อพรรคแกนนำจัดตั้งรัฐบาลและนายกรัฐมนตรีคนใหม่ เพื่อให้นำคำถามนี้เข้าสู่การพิจารณาในการประชุมคณะรัฐมนตรีนัดแรก และตัดสินใจให้มีการทำประชามติเพื่อจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ โดยมีสาระสำคัญและมาตรฐานไม่ต่ำกว่าที่ประชาชนต้องการจะเห็น โดยไม่ต้องรอขั้นตอนการเสนอเรื่องของหน่วยงานราชการ


ด้านนายแพทย์ชลน่าน กล่าวว่า ขอบคุณกลุ่มประชาชนร่างรัฐธรรมนูญ ที่แสดงเจตจำนงค์ในการใช้ช่องทางตามกฎหมายประชามติ ในการเสนอคำถามที่จะให้คณะรัฐมนตรี (ครม.) พิจารณากำหนดในการทำประชามติเพื่อนำไปสู่การแก้ไขรัฐธรรมนูญและจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ ในส่วนของพรรคเพื่อไทยในฐานะแกนนำรัฐบาล ได้เสนอเรื่องนี้เอาไว้ เราก็จะทำตามเจตนารมณ์ เมื่อการจัดตั้งรัฐบาล เสร็จเรียบร้อยก็จะนำเรื่องนี้เข้าสู่การพิจารณาของ ครม. 


นายชูศักดิ์ ศิรินิล กล่าวว่า พรรคเพื่อไทยริเริ่มในการขอจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่มานานแล้ว เมื่อปี 2563 เราได้เสนอร่างแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ มาตรา 256 เพื่อเปิดทางให้มีสภาร่างรัฐธรรมนูญ (สสร.) แต่ก็มีคนไปร้องศาลรัฐธรรมนูญให้วินิจฉัยอำนาจหน้าที่รัฐสภาในการแก้ไขจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ ซึ่งสุดท้ายไม่สามารถโหวตผ่านได้ เนื่องจากสมาชิกรัฐสภาตีความกันว่าก่อนจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่จะต้องไปสอบถามประชาชนก่อน ในครั้งนี้เราก็ยืนยันว่าจะต้องมีการจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่และก่อนอื่นต้องทำประชามติสอบถามประชาชนว่าต้องการให้ทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่หรือไม่ เพื่อเป็นหลักประกันว่าเราได้สอบถามประชาชนแล้ว 


นายชูศักดิ์ กล่าวว่า ขณะเดียวกันการจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่นั้น ในอดีตเราเคยเสนอกระบวนการของ สสร. ที่มาจากการเลือกตั้งของประชาชน ในครั้งนี้เราจึงเห็นว่าจะต้องสอบถามประชาชนให้ชัดเจนว่า 1.ประสงค์จะมีรัฐธรรมนูญฉบับใหม่หรือไม่ และ 2. จะมีการเลือกตั้ง สสร. มายกร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่หรือไม่ ถ้าสามารถถามได้สะเด็ดน้ำแบบนี้ก็เชื่อว่ากระบวนการจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่จะเดินไปได้ราบรื่น ซึ่งสุดท้ายเราก็จะได้รัฐธรรมนูญที่เป็นประชาธิปไตยอย่างแท้จริง 


#UDDnews #ยูดีดีนิวส์ #ilaw #เพื่อไทย #คำถามประชามติ #conforall