วันอังคารที่ 22 สิงหาคม พ.ศ. 2566

‘ชัยธวัช’ ชี้รัฐบาลผสมพันธุ์ข้ามขั้ว ไม่ใช่การสลายขั้วให้ประเทศไทยไปต่อง แต่คือการต่อลมหายใจให้ระบบการเมืองของระบอบ คสช. พร้อมยก 3 ต้นทุนที่ประชาชนต้องจ่าย

 


‘ชัยธวัช’ ชี้รัฐบาลผสมพันธุ์ข้ามขั้ว ไม่ใช่การสลายขั้วให้ประเทศไทยไปต่อง แต่คือการต่อลมหายใจให้ระบบการเมืองของระบอบ คสช. พร้อมยก 3 ต้นทุนที่ประชาชนต้องจ่าย  


วันที่ 22 สิงหาคม 2566 ในการประชุมร่วมกันของรัฐสภาเพื่อพิจารณาให้ความเห็นชอบบุคคลซึ่งสมควรได้รับแต่งตั้งเป็นนายกรัฐมนตรี ชัยธวัช ตุลาธน เลขาธิการพรรคก้าวไกล ได้ลุกขึ้นอภิปรายโดยชวนให้คิดใหม่ว่า ในขณะที่หลายคนบอกว่าการจัดตั้งรัฐบาลแบบพิเศษในครั้งนี้ ‘เป็นความจำเป็นทางการเมืองที่หลีกเลี่ยงไม่ได้’ พรรคการเมืองและนักการเมืองจำเป็นต้องกลืนเลือด จำเป็นต้องยอมจ่ายต้นทุนทางการเมืองมหาศาล โดยมีวาระของประเทศและประชาชนเป็นตัวตั้ง แต่แล้วอะไรคือราคาหรือต้นทุน ที่ประชาชนและสังคมไทยต้องจ่าย ให้แก่การจัดตั้งรัฐบาลแบบพิเศษนี้บ้าง


เลขาธิการพรรคก้าวไกลกล่าวว่า เหตุผลที่ผู้แทนราษฎรพรรคก้าวไกล ไม่สามารถโหวตเห็นชอบให้แก่ผู้ที่ถูกเสนอชื่อเป็นนายกฯ ในวันนี้ได้นั้น ไม่ใช่เรื่องที่เราไม่รู้จักหรือไม่มีข้อมูลตามที่สมาชิกบางคนได้อภิปรายและซักถาม เราเชื่อเป็นอย่างยิ่งว่าพี่น้องประชาชนได้รับทราบข้อมูลอย่างครบถ้วนแล้วตั้งแต่ก่อนวันเลือกตั้ง และเราก็หวังว่าสมาชิกรัฐสภาทุกคนควรจะให้ความสำคัญกับข่าวสารบ้านเมืองตั้งแต่ก่อนเลือกตั้ง และก็คิดว่าท่านน่าจะได้ใช้สิทธิ์และวิจารณญาณนั้นไปแล้วพร้อมกับประชาชนทุกคน


เหตุผลที่ผู้แทนราษฎรของพรรคก้าวไกลไม่สามารถเห็นชอบนายกฯ ในวันนี้จึงไม่ใช่เรื่องคุณสมบัติของผู้ถูกเสนอชื่ออย่างที่มีการกล่าวหากันผ่านสื่อมวลชนหรืออย่างที่มีผู้นำส่งเอกสารให้กับสมาชิกรัฐสภาทุกคนในวันนี้


เหตุที่ผู้แทนราษฎรพรรคก้าวไกล ไม่สามารถโหวตเห็นชอบให้ได้นั้น เป็นเพราะการจัดตั้งรัฐบาลที่กำลังเกิดขึ้นอยู่ขณะนี้ เป็นการจัดจั้งรัฐบาลที่ขัดต่อเจตจำนงของพี่น้องประชาชนที่ได้แสดงออกไปแล้วอย่างตรงไปตรงมา ผ่านการเลือกตั้งเมื่อวันที่ 14 พฤษภาคม ว่าประชาชนส่วนใหญ่ต้องการยุติรัฐบาลที่สืบทอดอำนาจมาจากการรัฐประหารของ คสช. 


“พวกเราพรรคก้าวไกลยังเห็นด้วยว่า การจัดตั้งรัฐบาลที่กำลังเกิดขึ้นอยู่นี้ ไม่ใช่การสลายขั้วเพื่อให้ประเทศไทยไปต่อ แต่มันคือการต่อลมหายใจ ให้แก่ระบบการเมืองที่ระบอบ คสช. วางไว้ต้องการดำเนินสืบไป” ชัยธวัชระบุ


เลขาธิการพรรคก้าวไกลกล่าวต่อไปว่า แล้วอะไรคือราคาต้นทุนที่ประชาชนและสังคมไทยต้องจ่าย หลายคนบอกว่าการจัดตั้งรัฐบาลแบบพิเศษในครั้งนี้ ‘เป็นความจำเป็นทางการเมืองที่หลีกเลี่ยงไม่ได้’ พรรคการเมืองและนักการเมืองจำเป็นต้องกลืนเลือด จำเป็นต้องยอมจ่ายต้นทุนทางการเมืองมหาศาล โดยมีวาระของประเทศและประชาชนเป็นตัวตั้ง แต่ตนอยากชวนคิดใหม่ว่า แล้วอะไรคือราคาหรือต้นทุน ที่ประชาชนและสังคมไทยต้องจ่าย ให้แก่การจัดตั้งรัฐบาลแบบพิเศษนี้บ้าง


ประการแรก ราคาที่ประชาชนส่วนใหญ่ต้องจ่าย คือ ‘ความหวัง’ การเลือกตั้งทั่วไปเมื่อวันที่ 14 พฤษภาคม 2566 เคยเป็นวันแห่งความหวังของประชาชน พวกเขาหวังว่าเสียงของพวกเขาจะทำให้การเมืองไทยออกจากระบอบการเมืองที่เป็นมรดกของคณะรัฐประหารได้โดยสันติในที่สุด พวกเขาหวังว่าเสียงของพวกเขาจะทำให้การเมืองไทยเดินหน้าไปสู่อนาคต ไม่ใช่เดินวนกลับไปสู่อดีตอย่างที่เป็นอยู่ในขณะนี้


ประการที่สอง ราคาที่ประชาชนส่วนใหญ่ต้องจ่ายให้การจัดตั้งรัฐบาลแบบพิเศษนี้ คือ ‘อำนาจ’ พี่น้องประชาชนเคยเชื่อจริงๆ ว่าอำนาจสูงสุดในระบอบประชาธิปไตย คืออำนาจของประชาชน แต่เมื่อพวกเขาออกไปใช้อำนาจของตัวเองแล้วในการเลือกตั้งทั่วไปเมื่อวันที่ 14 พฤษภาคม 2566 ปรากฏว่าการจัดตั้งรัฐบาลหลังเลือกตั้งกลับกลายเป็นการจัดตั้งรัฐบาลแบบพิเศษ ที่อนุญาตให้ประชาชนออกมาใช้สิทธิเลือกตั้งได้พอเป็นพิธี แต่จะไม่มีวันยอมให้อำนาจเป็นของประชาชนจริงๆ กลายเป็นระบอบประชาธิปไตย ‘อันมีประชาชนเป็นไม้ประดับ’ ไม่ใช่เจ้าของอำนาจอธิปไตยอย่างแท้จริง


ประการที่สาม ราคาที่ประชาชนส่วนใหญ่ต้องจ่าย คือ ‘ความศรัทธา’ การจัดตั้งรัฐบาลแบบพิเศษนี้ กำลังทำให้เราสูญเสียต้นทุนทางสังคมที่สำคัญ นั่นคือความศรัทธาของประชาชนในระบบรัฐสภา ความเชื่อมั่นศรัทธาของประชาชนเป็นพื้นฐานสำคัญในระบอบประชาธิปไตย แล้วเมื่อไรที่ประชาชนหมดศรัทธาต่อระบบการเมืองหรือสถาบันการเมืองใดๆ แล้ว นั่นจะเป็นสัญญาณอันตรายต่อการเมืองของเราในอนาคต


จึงอยากฝากความหวังดีผ่านไปยังท่านสมาชิกรัฐสภาทุกท่าน ว่าหัวใจสำคัญของปัญหาการเมืองไทยในช่วง 2 ทศวรรษที่ผ่านมา คือการปะทะขัดแย้งระหว่างอำนาจของประชาชนที่แสดงออกผ่านการเลือกตั้ง กับอำนาจที่ไม่ได้มาจากประชาชน  


“จนถึงวันนี้เรายังหาทางออกจากการเมืองแบบนี้ไม่ได้ และเราเห็นว่าทางออกจากความขัดแย้งทางการเมืองที่ยืดเยื้อนี้ ไม่ใช่การสลายขั้วความขัดแย้งอย่างผิวเผินด้วยการจัดตั้งรัฐบาลแบบผสมพันธุ์ข้ามขั้ว แต่ทางออกที่พวกเราต้องช่วยกันแสวงหาคือ ระบบการเมืองที่จะกลายเป็นฉันทามติใหม่ โดยวางอยู่บนหลักการพื้นฐานที่ว่า ‘อำนาจสูงสุดของประเทศนี้เป็นของประชาชน’” ชัยธวัชกล่าว


ดังนั้น ถ้าเรายังสยบยอมหรือต่อหายใจให้กับระบบการเมืองที่ตอบไม่ได้ว่าอำนาจของประชาชนอยู่ตรงไหน ถ้าเรายังสยบยอมหรือสืบทอดระบอบที่เรียกว่าประชาธิปไตยแต่ไม่ยอมเคารพอำนาจของประชาชนต่อไป ประชาชนจะสูญสิ้นศรัทธาและหันหลังให้กับระบบการเมืองของเรา และสุ่มเสี่ยงที่จะเกิดความรุนแรงทางการเมืองครั้งใหญ่ได้ในอนาคต


ชัยธวัชกล่าวต่อว่า ขอสื่อสารผ่านไปยังประชาชนนอกสภาฯ แห่งนี้ ตนทราบดีว่าพี่น้องประชาชนจำนวนนับล้านกำลังผิดหวัง กำลังโกรธ หรือกำลังคับข้องใจกับสถานการณ์การเมืองที่เกิดขึ้น แต่ตนอยากบอกพี่น้องประชาชนว่าการเลือกตั้งครั้งที่ผ่านมาได้แสดงให้เห็นแล้วว่าสังคมไทยได้เปลี่ยนแปลงไปแล้ว เพียงแต่ว่ามันยังเปลี่ยนไม่มากพอ 


ดังนั้น แม้ท่านจะไม่พอใจ ผิดหวัง คับข้องใจ แต่ขอให้ประชาชนอย่าเพิ่งหันหลังให้การเมือง แต่เราต้องช่วยกันสร้างความเปลี่ยนแปลงคนละไม้คนละมือ ทำให้ระบอบประชาธิปไตยเป็นประชาธิปไตยจริง ๆ ทำให้อำนาจสูงสุดของประเทศนี้เป็นของประชาชนจริง ๆ


#UDDnews #ยูดีดีนิวส์ #โหวตนายก #ประชุมสภา