#13ปีเมษาพฤษภา53
ในช่วงเวลาแห่งการรำลึกเหตุการณ์
เมษาพฤษภา53
“ยูดีดีนิวส์” ได้นำเสนอบทความซึ่งเขียนโดย พลเอก อดุล อุบล
ซึ่งเขียนไว้ในเวลาต่าง ๆ กัน จากหนังสือ “ฝากไว้...ให้ตราตรึง”
หนังสืออนุสรณ์พระราชทานเพลิงศพของท่าน เพื่อเผยแพร่ต่อสาธารณชนคนรุ่นหลัง
และให้ได้ทราบว่าในกองทัพไทยยังมีนายทหารประชาธิปไตยผู้รักชาติรักประชาชน
ที่เขียนไว้ให้ปรากฏ โดยแง่คิดต่าง ๆ
นี้จะเป็นประโยชน์อย่างยิ่งต่อนายทหารและเจ้าหน้าที่รัฐต่าง ๆ
ไม่หลงผิดทำสิ่งเลวร้าย ดังที่เกิดขึ้นในประเทศไทย เป็นวงจรอุบาทว์เสมอมา
“มันเร้นกายภายใต้ความเบลอ”
คำถามที่
top hit ที่สุดในชาติตอนนี้คือใครเป็นคนสั่งฆ่าประชาชน 92 ศพ
(รวมทั้งทหารด้วย) ใครจะต้องรับผิดชอบในเหตุการณ์นี้
ผมเข้าใจว่าคำถามนี้มุ่งเป้าไปที่ทั้งผู้นำรัฐบาลและผู้นำกองทัพพร้อมกันในขณะนี้
แท้จริงแล้วผมไม่อยากจะคุยกับเพื่อน
ๆ ในเรื่องนี้ กลัวว่าบุคคลที่ไม่เข้าใจและพวกอาชีพทหารจะเอาไปกล่าวหาว่าเป็นการชี้นำ
แต่ที่ต้องออกมาพูดในเชิงวิชาการก็เพราะเหตุว่าคนส่วนใหญ่ในประเทศนี้ไม่รู้ว่าการควบคุมและการใช้กำลังทหารนั้นเขาทำกันอย่างไร
ไม่ได้หมายความว่ามันยากเกินกว่าจะเข้าใจ แต่มันเป็นเพราะประเทศของเราไม่ได้เป็นประชาธิปไตยที่แท้จริงมาโดยตลอด
มันจึงไม่มีการปฏิบัติในเรื่องนี้อย่างถูกต้องเหมาะสม
และนักวิชาการทางการเมืองการปกครองส่วนใหญ่ก็ไม่อยากเปลืองตัวออกมาเกี่ยวข้องกับเรื่องนี้
คงปล่อยให้เป็นไปตามความต้องการของผู้มีอำนาจในบ้านเมืองและบรรดาทหารใหญ่ในเวลานั้นออกมาแสวงประโยชน์และปล่อยให้เรื่องนี้อยู่ในความเบลอของคนส่วนใหญ่ในชาติ
เพื่อเอาตัวรอดพ้นความผิดและความรับผิดชอบจากความสูญเสียที่เกิดขึ้นเช่นนี้ตลอดมาและจะมีอีกต่อ
ๆ ไป
อย่าว่าแต่ประชาชนเลยครับ
แม้แต่ทหารเองยังไม่เข้าใจเรื่องนี้อยางถูกต้องเลย ทหารส่วนใหญ่เองยังเข้าใจว่าการควบคุมและการใช้กำลังทหารนั้นเป็นเรื่องของทหารด้วยกันเองเท่านั้น
เพราะทหารได้รับการศึกษาอบรมมาว่าต้องเชื่อมั่น
และปฏิบัติตามคำสั่งความต้องการตามสายการบังคับบัญชาอย่างเคร่งครัด
ดังคำปฏิญาณที่ว่า “คำสั่งของผู้บังคับบัญชาคือพรจากสวรรค์” (ผมได้เขียนเรื่องนี้ไว้ในด้วยรักและห่วงใยมาแล้ว
คิดว่าคงยังจำได้ ถ้าอย่างไรไปทบทวนดูใหม่ก็ได้ครับ)
นอกจากนี้ในแบบธรรมเนียมทหารยังระบุไว้อีดด้วยว่า ผู้บังคับบัญชาสูงสุดของทหารคือ
รมว.กห. แล้วผมอยากจะถามว่า
นายกรัฐมนตรีที่เป็นผู้นำเสนอรายชื่อผู้บังคับบัญชาชั้นสูงของกองทัพ
กราบบังคมทูลเพื่อลงพระปรมาภิไธยและรับสนองพระบรมราชโองการหลังจากที่ได้โปรดเกล้าฯ
ลงมาแล้วว่า อย่างนี้จะนับว่าเป็นผู้บังคับบัญชาหรือไม่ มันงง ๆ อยู่นะ แล้ว นรม.
ยังเป็น หน.รัฐบาล ซึ่งก็คือผู้บังคับบัญชาของ รมว.กห. อีกด้วย
หรือว่าเรื่องนี้เราพิจารณาเป็นเรื่องการเมืองไม่เกี่ยวกับการทหาร
แน่นอนครับในระดับยุทธวิธีเราคงแยกออกได้ว่าการเมืองและการทหารไม่เกี่ยวกัน
แต่ในระดับยุทธการและยุทธศาสตร์ไม่ใช่แล้วครับ
ในระดับยุทธศาสตร์นั้นการเมืองและการทหารเกี่ยวข้องกันอย่างหนัก
เพราะความต้องการทางการเมืองเป็นผู้กำหนดทิศทางและการใช้กำลังทหาร ซึ่งก็ลงมาจาก
ครม. ซึ่งมีนายก รมต. เป็น ผบช. นั่นเอง
ทีนี้หันกลับมาดูเหตุการณ์
เมื่อ เม.ย. - พ.ค. 53
ของประเทศไทยที่มีคนบาดเจ็บล้มตายเป็นจำนวนมาก คิดง่าย ๆ
โดยไม่ต้องสอบสวนให้ลึกซึ้งเลยครับในชั้นต้น
-
ทำไมถึงมีผู้เสียชีวิต ก็เพราะมีการพลศพและนับได้ 92 ศพเป็นอย่างน้อย ศพเหล่านั้นถูกยิงด้วยอาวุธสงคราม ทั้งจากอาวุธประจำกาย
และปืนซุ่มยิง ซึ่งไม่ใช่อาวุธที่ประชาชนคนธรรมดาสามารถมีไว้ครอบครองได้
ก็คงต้องเป็นอาวุธของทหารเท่านั้น
นอกเสียจากจะมีพยานหลักฐานพิสูจน์ได้แน่ชัดว่ามีพวกอื่นที่มีอาวุธแบบเดียวกับทหาร
-
มีการใช้กำลังทหารออกมาแก้ไขสถานการณ์นี้
แน่นอนไม่ว่าจะด้วยข้ออ้างอะไรก็แล้วแต่
และทหารที่ถืออาวุธออกมาเป็นกองพลเช่นนี้ไม่สามารถออกมาเองได้
จะต้องมีผู้ออกคำสั่งให้ทหารออกมา
การสั่งการเรื่องนี้ต้องทำกันตามลำดับชั้นอีกด้วย การที่ทหารออกมาขอคืนพื้นที่หรือกระชับพื้นที่
ไม่ว่าจะเรียกอะไรก็ตาม แต่มันก็คือการสลายฝูงชนนั่นแหละ
ทหารพวกนี้นอกจากมีอุปกรณ์สลายฝูงชนแล้ว
ยังมีอาวุธประจำกายและมีพลซุ่มยิงมาร่วมปฏิบัติการด้วย
-
ขนาดเหตุการณ์เป็นไปถึงขั้นนี้แล้ว
ยังไม่มีใครออกมารับผิดชอบในความเสียหายที่บังเกิดขึ้น
ทุกระดับสามารถปัดออกไปให้พ้นตัวว่าตนเองไม่ได้เป็นผู้ออกคำสั่งที่ทำให้เกิดความเสียหายเหล่านั้น
-
รัฐบาลซึ่งเป็นฝ่ายผู้มีอำนาจรัฐ ประกาศใช้
พ.ร.ก.ฉุกเฉินในการบริหารราชการแผ่นดิน ตั้ง ศอฉ. โดยมีรองนายกคนหนึ่งเป็น ผอ.ศอฉ.
และมี ผบ.ทบ. เป็นรอง ผอ.ศอฉ. อีกท่านหนึ่ง โดยระบุให้ ศอฉ.
มีหน้าที่รับผิดชอบในการใช้กำลังเข้าแก้ไขสถานการณ์อย่างเต็มที่
การนี้ส่งผลให้ฝ่ายทหารมีอำนาจควบคุมและใช้กำลังทหารเต็มรูปแบบ
แต่ไม่น่าจะทำให้ความรับผิดชอบของ นายก รมต. ในเรื่องนี้พ้นไปด้วย
(หลักการที่ต้องตามจริยธรรม คือผู้บังคับบัญชาสามารถมอบงานให้ผู้อื่นที่รองลงมาจากตนได้
แต่ไม่สามารถมอบความรับผิดชอบได้ กล่าวคือ
ความรับผิดชอบในความสำเร็จและความล้มเหลวของงานคงอยู่กับตนเองตลอดไป)
จากการกระทำดังกล่าวมาแล้วกับสายการบังคับบัญชรทางทหารที่ปรากฏอยู่ในแบบธรรมเนียมทหารทำให้เกิดความเบลอ
(blur) ในเรื่องของการใช้และควบคุมกำลังทหารในระดับยุทธศาสตร์ของชาติ
ส่งผลเสียสำคัญให้ทั้งฝ่ายการเมืองและฝ่ายทหารสามารถเร้นกายเอาตัวรอด
อ้างว่าตนไม่ได้เป็นผู้รับผิดชอบในการสั่งใช้ทหารออกมาสลายมวลชนอย่างผิดหลักการได้
นายกฯ ออกมาอ้างว่าเป็นหน้าที่ของทหารที่จะต้องแก้ไขสถานการณ์ตามการควบคุมของ ศอฉ.
ฝ่ายผู้บังคับบัญชาทหารก็อ้างว่าทหารออกมาปฏิบัติหน้าที่ตามคำสั่งของ ศอฉ.
ที่รัฐบาลเป็นผู้สั่งจัดตั้ง
ไม่มีผู้ใดต้องรับผิดชอบอย่างแน่ชัดในการสูญเสียชีวิตของประชาชนจำนวนมากในครั้งนี้
มันเป็นความผิดชอบประชาชนเองที่มาตายในเหตุการณ์นี้ ดังนั้น
ประชาชนต้องรับผิดชอบในเรื่องนี้อย่างตัวใครตัวมัน
อย่ามาถามหาอะไรให้เป็นที่ก่อกวนสร้างความรำคาญขัดขวางการหาเสียงของนักการเมือง
ผมก็คิดได้เท่านี้แหละครับ
แต่อยากจะถามทุกฝ่ายรวมทั้งประชาชนในชาติว่า
มันถึงเวลาแล้วหรือยังที่จะต้องปฏิวัติกองทัพและออกกฎหมายให้แน่ชัดในเรื่องการควบคุมและการใช้กำลังทหารของชาติให้เหมือนกับที่ชาติศิวิไลซ์เขาปฏิบัติกันเสียที
อย่างน้อยที่สุดมันอาจจะทำให้นักการเมืองและพวกอาชีพทหารไม่สามารถเร้นกายออกไปจากการเข่นฆ่าประชาชนด้วยกำลังทหารได้
ซึ่งจะช่วยส่งผลให้ผู้ที่จะใช้กำลังทหารออกมาประจันหน้ากับประชาชนผู้เป็นเจ้าของกองทัพอย่างแท้จริงต้องหยุดคิดถึงอนาคตของผลกรรมจากการกระทำของตนเองมากขึ้น
อดุล
อุบล
พลเอก, ทหารราบ
22
มิ.ย. 54
นี่คือบทความบางตอน
ในหนังสือ “ฝากไว้...ให้ตราตรึง” อนุสรณ์พระราชทานเพลิงศพ พล.อ.อดุล อุบล
ประวัติการศึกษา
พล.อ.อดุล อุบล บางส่วน : โรงเรียนเตรียมทหาร รุ่นที่ 11 (พ.ศ.
2511), โรงเรียนนายร้อยพระจุลจอมเกล้า รุ่นที่ 22 (พ.ศ. 2513), หลักสูตรภาษาอังกฤษกองทัพอากาศออสเตรเลีย
(พ.ศ. 2525), หลักสูตรชั้นนายพันทหารราบ กองทัพบกออสเตรเลีย
(พ.ศ. 2525) , หลักสูตรชั้นนายพันทหารราบ
กองทัพบกสหรัฐอเมริกา (พ.ศ. 2527), หลักสูตรหลักประจำโรงเรียนเสนาธิการทหารบก
สถาบันวิชาการทหารบกชั้นสูง ชุดที่ 64 (สอบได้ที่ 1) พ.ศ. 2528, หลักสูตรภาษาอังกฤษแบบออสเตรเลีย
(สอบได้ที่ 1) พ.ศ. 2528, โรงเรียนเสนาธิการทหารบก
กองทัพบกสหรัฐอเมริกา (พ.ศ. 2530), หลักสูตรการบริหารทรัพยากรทางทหาร
กระทรวงกลาโหมสหรัฐอเมริกา (พ.ศ. 2531), วิทยาลัยป้องกันราชอาณาจักร
รุ่นที่ 48 (พ.ศ. 2548)