วันพฤหัสบดีที่ 26 กันยายน พ.ศ. 2567

เปิดตัวโครงการฟรีดอมบริดจ์ (Freedom Bridge) สะพานมนุษยธรรม สื่อสารเรื่องราว ให้ความช่วยเหลือดูแลคุณภาพชีวิตและสิทธิของนักโทษทางการเมือง


เปิดตัวโครงการฟรีดอมบริดจ์ (Freedom Bridge) สะพานมนุษยธรรม สื่อสารเรื่องราว ให้ความช่วยเหลือดูแลคุณภาพชีวิตและสิทธิของนักโทษทางการเมือง


วันนี้ (26 กันยายน 2567) เวลา 13.30 น. ที่สมาคมผู้สื่อข่าวต่างประเทศแห่งประเทศไทย (FCCT) มีงานแถลงข่าวและเสวนาเปิดตัวโครงการ "Freedom Bridge": Building the Bridge for Freedom องค์กรไม่แสวงหาผลกำไร ที่เป็นสะพานเชื่อมเพื่อช่วยเหลือที่จำเป็นโดยตรงแก่นักโทษการเมืองและครอบครัว เพื่อให้เขาเข้าถึงปัจจัยขั้นพื้นฐานที่ดีและมีมาตรฐานระหว่างการต่อสู้คดี รวมถึงการดูแลครอบครัวข้างนอกที่ได้รับผลกระทบจากการขาดเสาหลักของครอบครัวด้วย


เพื่อประคับประคองความหวังในวันที่ยังต้องต่อสู้เพื่อสิทธิ เสรีภาพ และความยุติธรรมอยู่ในเรือนจำ ขณะเดียวกัน การถูกคุมขังไม่เพียงแต่ทำให้พวกเขา (นักโทษการเมือง) สู ญเสียอิสรภาพและโอกาสในชีวิตเท่านั้น แต่ยังส่งผลกระทบอย่างลึกซึ้งต่อครอบครัวของพวกเขาด้วย ไม่ว่าจะผลกระทบทางจิตใจหรือสภาพความเป็นอยู่ เนื่องจากผู้ต้องขังทางการเมืองหลายคนคือเสาหลักของครอบครัว


โครงการ Freedom Bridge จึงเกิดขึ้นเพื่อทำหน้าที่เป็นสะพานสื่อสารเรื่องราวของนักโทษทางการเมืองให้เพื่อนในสังคมได้รับรู้ พร้อมกับทำงานให้ความช่วยเหลือที่จำเป็นในการดูแลสภาพความเป็นอยู่ด้านต่าง ๆ ของผู้ต้องขังทางการเมือง และบรรเทาผลกระทบที่เกิดกับครอบครัวของพวกเขา


สำหรับภายในงาน เริ่มต้นด้วย ปาฐกถาจากศาสตราจารย์กิตติคุณวิทิต มันตาภรณ์ ผู้รายงานพิเศษแห่งสหประชาชาติ


ต่อด้วยการเปิดคลิปวิดีโอ 'มาลัย นำภา' มารดาของนายอานนท์ นำภา สื่อสารถึงความรู้สึกบอกเล่าความคิดถึงและเป็นห่วงลูกชายที่ถูกจำคุกอยู่ในเรือนจำพิเศษกรุงเทพมหานครมากว่า 1 ปีแล้ว รวมถึงขอบคุณทุกคน ขอบคุณลุงป้าน้าอา รวมถึงนักข่าวที่ไม่เคยลืมลูกของแม่


จากนั้น ปฐมพร แก้วหนู เจ้าหน้าที่โครงการ Freedom Bridge กล่าวถึงวัตถุประสงค์และการดำเนินงานของโครงการ มีใจความโดยสรุปคือ 

 

โครงการ Freedom Bridge ก่อตั้งมาตั้งแต่เดือนพฤษภาคม 2567 โดยมีภารกิจหลักสามด้านคือ 


1. การให้ความช่วยเหลือที่จำเป็นโดยตรงแก่นักโทษทางการเมืองและครอบครัว ไม่ว่าจะเป็นการจัดซื้อน้ำ อาหาร ของใช้จำเป็นหรือการฝากเงินรายเดือนให้กับผู้ต้องขัง เพื่อเป็นการรับประกันว่าพวกเขาจะสามารถเข้าถึงการดูแลขั้นพื้นฐานที่จำเป็นต่อการมีคุณภาพชีวิตที่ดีระหว่างที่ยังต้องสู้คดีอยู่ในเรือนจำ


2. การบันทึกข้อมูลนักโทษทางการเมืองในปัจจุบันและมิติต่าง ๆ ทั้งเรื่องราวคุณภาพชีวิตของผู้ต้องขังทางการเมืองและผลกระทบที่เกิดขึ้นต่อครอบครัวของเขาเพื่อสื่อสารไปยังสังคมวงกว้าง


และ 3. การทำงานร่วมกับองค์กรพันธมิตรทำให้ระดับท้องถิ่น ภูมิภาค นานาชาติเพื่อผลักดันการยุติการคุมขังทางการเมืองและการเปลี่ยนผ่านสู่ประชาธิปไตยในประเทศไทย


ภารกิจทั้งสามด้านของโครงการสะท้อนถึงการทำงานเพื่อตั้งใจผลักดันเป้าหมายระยะยาวนั่นคือการผลักดันเรียกร้องการปล่อยตัวนักโทษการเมืองทั้งหมด ยุติการคุมขังทางการเมืองตลอดจนส่งเสริมฟื้นฟูหลักสิทธิมนุษยชนและประชาธิปไตยในไทย


ขณะเดียวกันก็ตระหนักถึงความสำคัญในการทำงานให้ความช่วยเหลือตามความจำเป็นต่อผู้ได้รับผลกระทบจากการดำเนินคดีไม่ว่าจะเป็นตัวของนักโทษทางการเมืองเองหรือครอบครัวของพวกเขาจนกว่าจะบรรลุเป้าหมายระยะยาวดังกล่าว แม้การมีอยู่ของโครงการให้ความช่วยเหลือนักโทษทางการเมืองเช่น Freedom bridge คือตัวบ่งชี้ว่าสังคมไทยยังคงมีปัญหา ในเรื่องสิทธิเสรีภาพในการแสดงออกซึ่งเป็นพื้นฐานของหลักสิทธิมนุษยชน และสิ่งที่เราต้องการมากที่สุดคือการได้เห็นประเทศไทยไม่มีนักโทษการเมืองหรือนักโทษทางความคิด แต่ความเป็นจริงที่เกิดขึ้นยังคงมีคนจำนวนมาก จับกุม ถูกดำเนินคดี พร้อมการแสดงออก ทางความเห็นและความเชื่อทางการเมืองของพวกเขายังมีอีกหลายครอบครัวได้รับผลกระทบจากการที่สมาชิกครอบครัวอันเป็นที่รักถูกคุมขัง


การร่วมกันดูแลผู้ที่ถูกคุมขังอยู่ในเรือนจำเป็นอีกหนึ่งหนทางต่อสู้เพื่อรับหลักการทางสิทธิมนุษยชนและหลักมนุษยธรรม Freedom Bridge จึงอยากเชิญชวนทุกท่านที่ยังมีกำลังร่วมต่อสู้ไปกับเราด้วยความรักความเห็นอกเห็นใจในเพื่อนมนุษย์ที่กำลังประสบชะตากรรมที่ไม่เป็นธรรม มาช่วยกันดูแลคุณภาพชีวิตฟื้นฟูกำลังใจพร้อมทั้งร่วมบรรเทาผลกระทบที่เกิดกับผู้ต้องขังทางการเมืองและครอบครัวของพวกเขา


จากนั้นเป็นวงเสวนา 'ในเรือนจำคุณภาพชีวิตนักโทษทางการเมือง" ผู้ร่วมเสวนาได้แก่ ปฐมพร แก้วหนู เจ้าหน้าที่โครงการ Freedom Bridge, ปฎิมา อดีตผู้ต้องขังทางการเมือง, แพรวพรรณ พิลาทอง ทนายความอาสา ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน ดำเนินรายการโดย ภูริณัฐ ชัยบุญลือ เจ้าหน้าที่ศูนย์ข้อมูล ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน


และปิดท้ายด้วยวงเสวนา นิรโทษกรรมประชาชนยังมีความหวัง มีผู้ร่วมเสวนา ได้แก่ ณัฐชนน ไพโรจน์ เครือข่ายนิรโทษกรรมประชาชน, ผศ.ดร. เข็มทอง ต้นสกุลรุ่งเรือง คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, ชูวัส ฤกษ์ศิริสุข ผู้ช่วยเลขานุการคนที่ 3 คณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาศึกษาแนวทางการตรา พ.ร.บ. นิรโทษกรรม, ชัยธวัช ตุลาธนอดีตหัวหน้าพรรคก้าวไกล


ทั้งนี้ ขณะนี้มีนักโทษการเมืองทั้งหมด 52 คน สำหรับโครงการนี้จะดำเนินการระดมทุนผ่านบัญชี “มูลนิธิสิทธิเพื่อความยุติธรรม” ที่เปลี่ยนแปลงจากกองทุนให้ความช่วยเหลือชั่วคราวในนามบัญชี “อานนท์ นำภา” ที่เดิมครอบครัวของอานนท์เป็นตัวกลางช่วยเหลือนักโทษการเมือง มาเป็นบัญชีมูลนิธิที่เป็นระบบและยั่งยืนมากขึ้น


สามารถติดตามรายละเอียดโครงการได้ที่ https://freedombridge.network/ หรือร่วมบริจาคเข้าบัญชีธนาคารกรุงศรีอยุธยา เลขบัญชี 800-9-71446-2 ชื่อบัญชี มูลนิธิสิทธิเพื่อความยุติธรรม สาขา ถนนพหลโยธิน 26 (ตึกช้าง)


#UDDnews #ยูดีดีนิวส์ #FreedomBridge #คืนสิทธิประกันตัวประชาชน #ปล่อยนักโทษการเมือง