“จดหมายตัวแทนของอิสรภาพ และความหวังที่ยังถูกกักขัง” วงเสวนา เล่าความฝัน ความหวัง การขับเคลื่อน พ.ร.บ.นิรโทษกรรม ปล่อยผู้ต้องขังทางการเมือง
เมื่อวันที่ 29 กันยายน 2567 เวลา 18.30 - 19.30 น. ที่ KINJAI CONTEMPORARY เขตบางพลัด กรุงเทพฯ ภายใน นิทรรศการ “ซ่อน(ไม่)หา(ย)” มีการจัดเสวนา 'จดหมายตัวแทนของอิสรภาพ และความหวังที่ยังถูกกักขัง' โดยวงเสวนาดังกล่าว เป็นการพูดคุยเกี่ยวกับเรื่อง 'จดหมาย' ที่เป็นเหมือนสื่อกลางในการส่งต่อความหวังและกำลังใจ ทั้งคนในส่งออกมา คนนอกส่งเข้าไป ทำให้เรื่องราวของพวกเขายังไม่หายไป
สำหรับประเด็นวงพูดคุยเป็นเรื่องราวของ นกกระเรียน 1,000 ตัว ที่พับระหว่างตอนอยู่ในเรือนจำถูกยึดไป เวลาที่คนในเรือนจำได้รับจดหมายที่เขียนเข้าไป จากทั้งคนรู้จักและไม่รู้จัก มันมีความหมายกับเขายังไง ถึงเราจะส่งจดหมายกันได้วันละ 100 ฉบับ ก็ไม่เทียบเท่าไม่ได้กับอิสรภาพของจริง แล้วเรายังมีหวังอยู่ไหมที่พวกเขาจะได้รับอิสรภาพอย่างแท้จริง และเราจะหล่อเลี้ยงความหวังนั้นไว้อย่างไร และในประเด็นอื่น ๆ
โดยมีผู้ร่วมเสวนา นางสาวแสงเทียน เผ่าเผือก เจ้าหน้าที่ฝ่ายรณรงค์สาธารณะ แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล, นางสาวพูนสุข พูนสุขเจริญ หรือ ทนายเมย์ ทนายความจากศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน และนายถิรนัย เป๋าอยู่ หรือ ธี อดีตผู้ต้องขังคดีครอบครองวัตถุระเบิดปิงปอง ซึ่งถูกค้นพบก่อนมีการชุมนุม #ม็อบ29สิงหา64 และ อดีตการ์ดผู้ชุมนุมอาชีวะฯ ดำเนินรายการโดย นายณัฐชนน ไพโรจน์
นางสาวแสงเทียน เผ่าเผือก เจ้าหน้าที่ฝ่ายรณรงค์สาธารณะ แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล กล่าวว่า เราต้องเข้าใจว่ากฎหมายว่าการติดต่อสื่อสารของผู้ต้องขังระบุไว้ในกฎระหว่างประเทศรวมถึงสิทธิคือสิทธิขั้นพื้นฐาน ตอนนั้นตนได้ไปเข้าพบกับตัวแทนกรมราชทัณฑ์ว่าเจ้าหน้าที่ไม่พอ ตนจึงอยากสอบถามว่าทางนโยบายจะมีวิธีการแก้ไขหรือไม่แทนที่จะไปจำกัดสิทธิ์ของผู้ต้องขัง ถ้าไปจำกัดสิทธิ์การรับส่งจดหมายนั่นหมายความว่าคุณกำลังกระทำการกระทบสิทธิ์ต่อผู้ต้องขังและผู้คนข้างนอกที่ต้องการจะสื่อสารกับเพื่อนของเขา จึงไม่ควรทำแบบนั้น
“จดหมายถือเป็นวิธีทางหนึ่งที่จะทำเช่นนั้น ยิ่งเราเขียนจดหมายหนักมากขึ้นเรื่อย ๆ ต่อให้จะเจออุปสรรคอะไรก็แล้วแต่ ยิ่งคนเขียนเยอะตนมองว่าเป็นการบอกกับผู้มีอำนาจว่าคนอยู่ในเรือนจำว่ามีคนข้างนอกรอการออกมา คนเหล่านี้ไม่ถูกลืม เป็นหน้าที่ของผู้มีอำนาจที่จะคนเหล่านี้ต้องได้รับความยุติธรรม และประชาชนทั่วไปก็สามารถร่วมกันจับตาและสนับสนุนร่าง พ.ร.บ.นิรโทษกรรม ให้ผ่านให้ได้“ นางสาวแสงเทียน เผ่าเผือก กล่าว
ด้านนางสาวพูนสุข พูนสุขเจริญ หรือ ทนายเมย์ ทนายความจากศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน กล่าวว่า เราคิดว่าเรามีความหวังเสมอและความหวังหลักที่เราฝากไว้คือความหวังจากประชาชนเพราะตนเชื่อว่าสิทธิเสรีภาพและสิทธิในกระบวนการยุติธรรมมีมาตลอด ในช่วงก่อนปี 2563 สิ่งที่ คสช. ทำมากที่สุดคือการทำลายนิติรัฐ ซึ่งภายหลังจากปี 63 มีคนพูดถึงมากขึ้น มีคนสนับสนุนกองทุนราษฎรประสงค์มากขึ้น ซึ่งเรามีความหวังกับสิ่งนี้เสมอแม้ว่ามันจะไม่พอ สิ่งที่เราจะต้องทำคือการต้องขยายแนวร่วมมากขึ้น ตนคิดว่ามันเป็นเรื่องสำคัญที่จะเราต้องทำ และเราอาจจะต้องพูดไปเรื่อย;ๆ และทำข้อมูลไปเรื่อย ๆ ซึ่งจะทำให้เกิดความรับรู้ของผู้คนจำนวนมาก จึงจำเป็นที่ต้องมีคนที่ทำงานอย่างต่อเนื่องสม่ำเสมอ และถ้าเราไม่หยุดทำ เราจะมีความหวังและนำตัวเองเป็นฟันเฟือง เก็บความหวัง เก็บความสำเร็จ ตนเชื่อว่าจะได้เป็นการเปลี่ยนแปลงสังคมเรื่อย ๆ สำหรับเรื่องของชัยชนะตนเองก็การันตีไม่ได้ แต่ก็ถือว่าเป็นการส่งเสริมว่าพลังของตัวเองและความสำเร็จของตัวเองและความสำเร็จของผู้อื่น ที่อยู่บนพื้นฐานบนความเป็นจริงที่ขับเคลื่อนในทุก ๆ วัน
ธี ถิรนัย กล่าวว่า ก้าวแรกที่ตนเข้าสู่วงการการเมืองคือในช่วงของพลเอกประยุทธ์ ซึ่งตอนนั้นอายุ 20 ปี ซึ่งตอนนั้นตนมองว่ามันไม่ใช่ และสิ่งที่ตนอยากทำคืออยากนั่งไปทำเนียบรัฐบาล หรือ สภาฯ ก็คาดหวังว่าจะเข้าไปการเปลี่ยนแปลงเพื่อให้ประเทศไทยดีขึ้น ตอนอยู่ในเรือนตำตนได้พับ นกพิราบ 1,000 ตัว โดยหวังว่าถ้าได้ออกจากเรือนจำ จะนำมาโปรย แต่สุดท้ายก็ถูกยึดไป ก่อนออกจากเรือนจำเพื่อนผู้ต้องขังได้แก่เก็ท โสภณ หนุ่ม สมบัติ ทองย้อย และทนายอานนท์ได้ถามว่าจะเอายังไงต่อ ตนก็ตอบไปว่าตนจะเดินหน้านิรโทษกรรม ซึ่งตนได้ให้คำมั่นสัญญากับเพื่อนผู้ต้องขังทั้งสามคนนี้ไว้แล้ว
”เมื่ออดีตตนอยู่ข้างใน ตนเชื่อมั่นว่าเค้าจะเดินหน้าทำต่อ อย่างที่บอกว่าเรื่องพรบนิรโทษกรรม ตนก็หวังว่าประเทศไทยจะสงบสุขและไม่มีความขัดแย้ง ก็อยากจะฝากถึงรัฐบาลให้ผ่านร่างกฎหมายพระราชบัญญัตินิรโทษกรรมไปด้วยกันของทุกกลุ่ม ไม่ว่าจะเป็น กปปส. กลุ่มสามนิ้ว กลุ่มคนเสื้อแดง” ธี ถิรนัย กล่าวทิ้งท้าย
สำหรับนิทรรศการ ซ่อน(ไม่)หา(ย) Presumption of Innocence at KINJAI CONTEMPORARY จะจัดต่อเนื่อง ถึงวันที่ 27 ต.ค. 67 โดยมีเวลาเปิดทำการ
วันอังคาร - วันอาทิตย์ (ปิดทำการวันจันทร์)
12.00 - 20.00 น.
#UDDnews #ยูดีดีนิวส์ #ซ่อนไม่หาย #นิรโทษกรรมประชาชน