“เซีย” ทวงสัญญาค่าจ้างขั้นต่ำ 400 บาทเท่ากันทั่วประเทศ หลังบอร์ดค่าจ้างล่มแล้วล่มอีก จี้ขอไทม์ไลน์ขึ้นค่าแรง 600 ในปี 70 ด้าน รมว.แรงงาน อ้างปรับขึ้นเฉพาะกิจการไซส์ L เพราะหวั่นกระทบ SME ไม่พร้อมรับผิดชอบผลที่ตามมา ส่วนไทม์ไลน์ยังไม่ตอบ ขอขึ้นค่าแรง ต.ค. นี้ให้ได้ก่อน
วันที่ 26 กันยายน 2567 เซีย จำปาทอง สส.บัญชีรายชื่อ พรรคประชาชน ลุกขึ้นตั้งกระทู้ถามสดด้วยวาจา ต่อรัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน พิพัฒน์ รัชกิจประการ กรณีการกำหนดอัตราค่าจ้างขั้นต่ำ โดยเริ่มต้นว่านโยบายเรือธงของพรรคแกนนำรัฐบาลที่ใช้เป็นนโยบายหาเสียงกับผู้ใช้แรงงานทั่วประเทศ คือการปรับค่าแรงขั้นต่ำเป็น 600 บาทต่อวันภายในปี 2570
ย้อนไปเมื่อวันที่ 1 มกราคม 2556 รัฐบาลพรรคเพื่อไทยในเวลานั้นปรับขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำเป็น 300 บาททั่วประเทศ จนถึงปัจจุบันนับเป็นเวลา 11 ปี มีการปรับค่าจ้างขั้นต่ำเพียง 6 ครั้งเท่านั้น ค่าเฉลี่ยเพิ่มขึ้น 30-70 บาท กระทั่งวันที่ 1 พฤษภาคม 2567 ที่ผ่านมา พิพัฒน์ในฐานะ รมว.แรงงานรัฐบาลอดีตนายกฯ เศรษฐา ทวีสิน แถลงข่าวเนื่องในวันแรงงานแห่งชาติ บอกว่ามีบิ๊กเซอร์ไพรส์คือการปรับค่าจ้างขั้นต่ำเป็น 400 บาทเท่ากันทั่วประเทศ
ต่อมานายกฯ คนใหม่ แพทองธาร ชินวัตร เข้าแถลงนโยบายรัฐบาลที่รัฐสภา ก็ได้ยืนยันว่าจะมีการปรับค่าจ้างขั้นต่ำขึ้นเป็น 400 บาทต่อวันในวันที่ 1 ตุลาคมนี้อย่างแน่นอน อย่างไรก็ตาม จากการประชุมคณะกรรมการค่าจ้างเมื่อวันที่ 16 กันยายนที่ผ่านมา การประชุมล่มเพราะผู้แทนฝ่ายนายจ้างไม่เข้าร่วมประชุมทั้ง 5 คน และเมื่อมีการนัดประชุมครั้งต่อมาวันที่ 20 กันยายน ก็ล่มอีกครั้ง โดยครั้งนี้ผู้แทนฝ่ายนายจ้างมาครบ แต่ฝ่ายรัฐบาลกลับไม่เข้าร่วมประชุมถึง 4 คน ฝ่ายลูกจ้างอีก 2 คน
ตนจึงอยากตั้งคำถามว่า รัฐบาลทราบดีว่าเรื่องนี้เป็นประเด็นสำคัญ เหตุใดจึงไม่เข้าร่วมประชุม โดยเฉพาะกรรมการฝ่ายรัฐบาล อธิบดีกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงานก็เป็นผู้ใต้บังคับบัญชาของ รมว.แรงงาน รวมถึงผู้แทนของธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ในคณะกรรมการค่าจ้าง ซึ่งที่ผ่านมาเข้าร่วมประชุมโดยตลอด แม้กระทั่งในการประชุมเมื่อวันที่ 16 กันยายน ก็เข้าประชุม แต่ไม่ถึงสัปดาห์กลับบอกว่าไม่ได้เป็นตัวแทนของ ธปท. แล้ว ต้องรอแต่งตั้งผู้แทนคนใหม่ จึงจะประชุมพิจารณาค่าจ้างขั้นต่ำได้
จึงขอถามไปยัง รมว.แรงงาน ว่าทั้งหมดนี้เป็นเพียงเกมการเมืองและเล่นละครตบตาเพื่อบ่ายเบี่ยงการปรับขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำใช่หรือไม่ การประชุมจึงล่มแล้วล่มอีกเช่นนี้ รัฐมนตรีมีความมุ่งมั่นจะปรับอัตราค่าจ้างขั้นต่ำเป็น 400 บาทจริงหรือไม่ และจะปรับขึ้นเมื่อไหร่
พิพัฒน์ตอบคำถามแรกว่า ขอยืนยันมีความตั้งใจ ตนยึดถือนโยบายปรับค่าแรงเป็น 600 บาทภายในปี 2570 แม้ในนโยบายรัฐบาลแพทองธารไม่ได้กำหนดไว้ แต่ถือว่าเป็นสิ่งที่รับมาจากรัฐบาลอดีตนายกฯ เศรษฐา ส่วนที่ถามว่าเล่นละครหรือเปล่า ต้องบอกว่าการประชุมไตรภาคีนั้น ถ้าขาดฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง ผู้เข้าร่วมประชุมไม่ครบสองในสาม ก็ไม่สามารถเปิดประชุมและลงมติได้
“ดังนั้นเรื่องนี้อยู่นอกเหนือการที่ผมจะเข้าไปกำกับหรือบังคับ เพราะเป็นข้อห้ามว่ารัฐมนตรีแรงงานไม่สามารถแทรกแซงนโยบายค่าแรงขั้นต่ำ”
พิพัฒน์กล่าวว่า จะบอกว่าเป็นเทคนิคก็ได้ แต่ถ้ามีการประชุมในวันที่ 20 กันยายน ก็ไม่สามารถโหวตได้ แต่ถ้ามีการโหวต ขอถามว่าผู้เสียหายคือกลุ่มใด ฝ่ายนายจ้างอย่างไรเขาก็ไม่อยากขึ้น ประเด็นสำคัญไปกว่านั้น นอกเหนือจากอัตราเงินเฟ้อ สิ่งที่เพิ่มต้นทุนให้ฝ่ายนายจ้างคือดอกเบี้ยที่สูงเกินความจริง รัฐบาลพยายามเจรจากับ ธปท. เรื่องความเป็นไปได้ในการลดดอกเบี้ย ซึ่ง ธปท. อ้างว่าหนี้สินครัวเรือนสูงมาก
เซียถามคำถามต่อไปว่า ฟังคำชี้แจงแล้วสงสัย บอกว่าไม่สามารถแทรกแซงคณะกรรมการไตรภาคีได้ในการพิจารณาปรับค่าจ้างขั้นต่ำ แต่ที่ผ่านมา รมว.แรงงาน ให้สัมภาษณ์กับสื่อต่างๆ ตั้งแต่ 1 พฤษภาคม 2567 ว่าจะปรับอัตราค่าจ้างขั้นต่ำเป็น 400 บาทเท่ากันทั่วประเทศ ถือเป็นการแทรกแซงหรือไม่
ล่าสุดที่ รมว.แรงงาน บอกว่าจะปรับขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำเป็น 400 บาทเฉพาะบริษัทไซส์ L ที่มีลูกจ้าง 200 คนขึ้นไป ทั้งที่ก่อนหน้านี้บอกว่าจะปรับขึ้นเท่ากันทั่วประเทศ หรือกรณีก่อนหน้านี้เมื่อเดือนเมษายน ปรับขึ้นแค่ 10 จังหวัด เฉพาะกิจการโรงแรม 4 ดาวขึ้นไป และต้องมีลูกจ้าง 50 คนขึ้นไปเท่านั้น ทำให้โรงแรมอยู่คนละฟากถนน แต่กลับมีค่าจ้างไม่เท่ากัน
เช่น ในกรุงเทพมหานคร ปรับขึ้นแค่เขตวัฒนาและปทุมวัน โรงแรมเขตวัฒนาปรับขึ้น แต่โรงแรมเขตคลองเตยไม่ปรับขึ้นทั้งที่อยู่บนถนนสายเดียวกัน สินค้าอุปโภคบริโภคราคาเท่ากัน ทำไมปรับไม่เท่ากัน เวลาไปซื้อของ พ่อค้าแม่ค้าเขาไม่ได้ถามพี่น้องแรงงานว่าใครอยู่เขตไหน แล้วจะให้ราคาสินค้าถูกกว่าเพราะค่าจ้างขั้นต่ำถูกกว่า จึงอยากทราบว่าเหตุใดกระทรวงแรงงานถึงมีแนวคิดปรับค่าแรงไม่เท่ากัน
สำหรับพรรคประชาชน ตอนที่เราคิดนโยบายขึ้นค่าแรง 450 บาท เราคิดถึงนโยบายที่ช่วยเพิ่มศักยภาพและลดผลกระทบให้กับกลุ่มเอสเอ็มอีด้วย รวมถึงปรับเพิ่มสวัสดิการของคนทุกช่วงวัย จึงขอถามว่ารัฐบาลมีมาตรการช่วยเหลือเอสเอ็มอีบ้างหรือไม่
พิพัฒน์ตอบคำถามที่สองว่า “การให้สัมภาษณ์ ผมถือว่าเป็นการให้นโยบายแก่ปลัดกระทรวงแรงงานเพื่อนำไปหารือในที่ประชุมคณะกรรมการไตรภาคี ถ้าผมแทรกแซง คงต้องขอเวลาพูดในที่ประชุม”
การประกาศขึ้นค่าแรงขั้นต่ำเฉพาะกิจการขนาดใหญ่นั้น เหตุผลเพราะเอสเอ็มอีมีแรงงานอยู่ในระบบถึง 90% ของประเทศ วันนี้เอสเอ็มอีแทบจะอยู่ไม่ได้เพราะการต่อสู้ทางการค้าค่อนข้างรุนแรง กระทรวงการคลังและกระทรวงแรงงานกำลังหาแนวทางในการกู้สถานะทางการเงินของเอสเอ็มอีเพื่อรองรับการปรับค่าแรงในครั้งต่อไป
“แต่ถ้าเราทำกันในเวลานี้ คงมีเพื่อนผู้ใช้แรงงานที่จะไม่มีงานทำ ผมคงไม่พร้อมที่จะรับผิดชอบมากมายขนาดนั้น”
พิพัฒน์กล่าวต่อว่า การปรับเพิ่มค่าจ้างเฉพาะกิจการไซส์ L กระทบผู้ใช้แรงงานประมาณ 2,290,000 คน แรงงานไทยที่ได้ประโยชน์ประมาณ 1,700,000 คน นอกนั้นเป็นแรงงานต่างด้าว แต่นายจ้างจะได้รับผลกระทบประมาณ 72.78 บาทต่อคน ค่อนข้างรุนแรงอยู่แล้ว ดังนั้น ถ้าเราผลักภาระนี้ไปให้เอสเอ็มอี ถ้าเอสเอ็มอีล้มความรับผิดชอบก็อยู่ที่กระทรวงแรงงาน
แต่ถ้าเราขึ้นค่าแรงให้ไซส์ L ไปก่อน เมื่อกู้สถานะของเอสเอ็มอีได้แล้ว ค่อยมาว่ากันก็ได้ โดยเรามีนโยบายในช่วงสิ้นปีนี้ต่อเนื่องไปถึงปี 2568 จะมีการประกาศขึ้นค่าแรงขั้นต่ำเฉพาะเอสเอ็มอีอีกครั้งหนึ่งตามที่คณะอนุกรรมการไตรภาคีแต่ละจังหวัดส่งข้อมูลมาให้
คำถามสุดท้าย เซียถามว่า รมว.แรงงาน จะสามารถให้ไทม์ไลน์การปรับขึ้นค่าจ้าง ตั้งแต่วันนี้ไปจนถึงปี 2570 ได้หรือไม่ว่า แต่ละช่วงจะมีการปรับค่าจ้างขึ้นเป็นอย่างไร รวมถึงคำถามที่หลายฝ่ายสงสัยว่าปี 2570 ค่าจ้างขั้นต่ำจะถึง 600 บาทหรือไม่
พิพัฒน์กล่าวว่า ตนมีความมุ่งมั่น เดือนตุลาคมนี้ให้จบที่ 400 บาทให้ได้ก่อน เมื่อจบแล้วจึงจะชี้แจงไทม์ไลน์ของการประกาศขึ้นค่าแรงขั้นต่ำว่าจะมีอีกเมื่อไร
“ถ้าผมประกาศอย่างเดียวแต่ไม่ดูสถานะของผู้ประกอบการหรือสภาวะเศรษฐกิจของประเทศ การประกาศก็เป็นเพียงลมปาก แต่ถ้าจะทำให้สำเร็จจริง ก็อาจไม่ถึง 600 บาทก็ได้ แต่ขอให้มีความก้าวหน้าในการขึ้นอัตราค่าแรงขั้นต่ำที่แรงงานต้องอยู่ให้ได้ จึงขอไม่ตอบในเรื่องนี้”
#UDDnews #ยูดีดีนิวส์ #ประชุมสภา #กระทรวงแรงงาน #พรรคประชาชน #รมวแรงงาน #บอร์ดค่าจ้าง