วันอังคารที่ 3 กันยายน พ.ศ. 2567

เครือข่าย #conforall ยื่นหนังสือถึงนายกฯแพทองธาร เรียกร้องครม.ชุดใหม่ "ทำสัญญาให้เป็นจริง" ก้าวข้ามประชามติที่ไม่จำเป็น เดินหน้าเขียนรัฐธรรมนูญใหม่ทั้งฉบับ ขีดเส้น 15 วันดูท่าทีรัฐบาล เตรียมจัดกิจกรรที่สภาฯ

 




เครือข่าย #conforall ยื่นหนังสือถึงนายกฯแพทองธาร เรียกร้องครม.ชุดใหม่ "ทำสัญญาให้เป็นจริง" ก้าวข้ามประชามติที่ไม่จำเป็น เดินหน้าเขียนรัฐธรรมนูญใหม่ทั้งฉบับ ขีดเส้น 15 วันดูท่าทีรัฐบาล เตรียมจัดกิจกรรที่สภาฯ


วันนี้ (3 กันยายน 2567) ที่ทำเนียบรัฐบาล เวลา 10.00 น. กลุ่มประชาชนร่างรัฐธรรมนูญ จัดกิจกรรม “1 ปี รัฐธรรมนูญใหม่? : ‘Move On’ เร่งเดินหน้า ทำสัญญาให้เป็นจริง” ณ ทำเนียบรัฐบาล เพื่อยื่นหนังสือถึงนางสาวแพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี เรียกร้องคณะรัฐมนตรีดำเนินการจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ โดยการเสนอร่างรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2560 (แก้ไขเพิ่มเติม) ที่เปิดทางให้มีสภาร่างรัฐธรรมนูญที่มาจากการเลือกตั้ง


สำหรับรายละเอียดหนังสือที่ยื่นระบุว่า ​ตั้งแต่กลุ่มประชาชนร่างรัฐธรรมนูญดำเนินกิจกรรม “CONFORALL” เพื่อให้ประชาชนมาร่วมเข้าชื่อเสนอคณะรัฐมนตรีมีมติดำเนินการออกเสียงประชามติ นำไปสู่การ “เขียนรัฐธรรมนูญใหม่ทั้งฉบับ โดย สสร. ที่มาจากการเลือกตั้ง 100%” เมื่อวันที่ 13 สิงหาคม 2566 การเข้าชื่อครั้งนั้นมีประชาชนมาเข้าชื่อจำนวน 211,904 รายชื่อ และกลุ่มฯ ได้ยื่นรายชื่อทั้งหมดให้กับรัฐบาลไปแล้วเมื่อวันที่ 31 สิงหาคม 2566 ที่ผ่านมา อย่างไรก็ดี ตลอดเวลา 1 ปีที่ผ่านมา รัฐบาลไม่ได้แสดงออกโดยตรงเพื่อตอบสนองการเข้าชื่อของประชาชนที่เสนอคำถามประชามติไปแต่อย่างใด แม้กลุ่มฯ จะมีความพยายามในการขอเข้าพบนายเศรษฐา ทวีสิน อดีตนายกรัฐมนตรี เมื่อเดือนมกราคม 2567 ที่ผ่านมา และคณะรัฐมนตรีก็มีมติเห็นชอบกับผลการศึกษาของคณะกรรมการเพื่อพิจารณาศึกษาแนวทางในการทำประชามติฯ ที่เสนอให้ประชามติ 3 ครั้ง โดยครั้งแรกมีคำถามประชามติว่า “ท่านเห็นด้วยหรือไม่กับการจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ ยกเว้นหมวด 1 บททั่วไป และหมวด 2 พระมหากษัตริย์” เมื่อวันที่ 23 เมษายน 2563


​กลุ่มฯ เห็นว่า การเข้าชื่อของประชาชนเมื่อ 1 ปีก่อนนั้นเป็นสิ่งแสดงถึงเจตจำนงที่ชัดเจนว่า ประชาชนมีความต้องการที่จะให้การจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ทั้งฉบับ โดยสภาร่างรัฐธรรมนูญที่มาจากการเลือกตั้งทั้งหมด นอกจากนี้ การเข้าชื่อนี้ก็ยังการกระตุ้นให้คณะรัฐมนตรีเริ่มดำเนินการเพื่อให้เกิดรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ เห็นได้จากการตั้งคณะกรรมการดังกล่าว อย่างไรก็ดี ผลการศึกษาของคณะกรรมการ และมติเห็นชอบของคณะรัฐมนตรี ทำให้กลุ่มฯ มีความกังวลว่าเจตจำนงของประชาชนที่ร่วมเข้าชื่อไปนั้นอาจไม่ได้รับการตอบรับจากรัฐบาล การมีส่วนร่วมของประชาชนในการจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ถูกลดทอนความสำคัญลง และกระบวนการจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่อาจไม่เกิดขึ้น


​เพื่อให้การจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่เกิดขึ้นและมาจากประชาชนอย่างแท้จริง กลุ่มจึงเดินทางมายื่นหนังสือเพื่อขอให้นางสาวแพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี และคณะรัฐมนตรี พิจารณาดำเนินการเสนอร่างรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2560 (แก้ไขเพิ่มเติม) ที่มีเนื้อหาเกี่ยวกับการจัดให้มีสมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญที่มาจากการเลือกตั้งของประชาชนเข้าสู่วาระการพิจารณาของสภาผู้แทนราษฎร ภายใน 15 วัน นับแต่วันที่ได้ยื่นหนังสือฉบับนี้


โดยมีนายธิติวัฐ อดิศรพันธ์กุล รองเลขาธิการรองนายกรัฐมนตรี เป็นตัวแทนรัฐบาลมารับหนังสือ


นายธิติวัฐ กล่าวว่า รัฐบาลและพรรคเพื่อไทยมีความมุ่งมั่นในการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ปัจจุบันได้ผลักดันการแก้ไข พ.ร.บ.ว่าด้วยการออกเสียงประชามติ เพื่อแก้ไขปัญหาเสียงข้างมากสองชั้น (double majority) ซึ่งในขณะนี้ได้ผ่านสภาผู้แทนราษฎรเข้าไปสู่การพิจารณาของวุฒิสภาแล้ว คาดว่าภายหลังจากแก้ไขกฎหมายประชามตินี้แล้วเสร็จ รัฐบาลจะจัดให้มีการทำประชามติ พร้อมกับการเลือกตั้งนายกองค์การบริหารส่วนจังหวัด (อบจ.) ในวันที่ 2 กุมภาพันธ์ 2568 ซึ่งรัฐบาลเชื่อว่าทันในกำหนดวาระของรัฐบาล


ในส่วนของรายละเอียด สสร. ขึ้นอยู่กับรัฐสภา รัฐบาลเชื่อว่ารัฐสภาเป็นสถานที่ที่สะท้อนเสียงและการแสดงออกของประชาชนในหลักการและหลักเกณฑ์ของประชาธิปไตยได้อย่างแท้จริงเราจึงมอบหมายให้รัฐสภาเป็นผู้พิจารณาในเรื่องนี้ และขอส่งสารนี้ให้ความมั่นใจกับประชาชนว่ารัฐบาลมีความมุ่งมั่นในการแก้ไขธรรมนูญเพื่อประโยชน์ของประเทศไทย


นายธิติวัฐ ยังได้ระบุต่อว่า รัฐบาลได้ตั้งคณะกรรมการเพื่อพิจารณาศึกษาแนวทางในการทำประชามติ และได้เปิดรับฟังความคิดเห็นจากประชาชนหลายวาระหลายครั้ง จากนี้เราไม่ปฏิเสธที่จะรับฟังความคิดเห็นจากพี่น้องประชาชน เราน้อมรับและยินดีความคิดเห็นของทุกกลุ่มทุกคนทุกความคิดเห็นที่ประชาชนจะสะท้อนขึ้นมาให้เราได้ยิน


ด้านนายนันทวัฒน์ ศักดิ์สกุลคุณากร คณะรณรงค์เพื่อรัฐธรรมนูญฉบับประชาชน ได้เน้นย้ำว่าหลังจากมายื่นหนังสือในวันนี้แล้วจะต้องมีการติดตามทวงถามกันต่อไป โดยเน้นย้ำว่าให้เวลารัฐบาล 15 วันในการพิจารณาและดำเนินการ ถ้ายังไม่ได้รับการตอบรับเหมือนทุกครั้งในหนึ่งปีที่ผ่านมา ก็จะขับเคลื่อนต่อไป โดยระบุว่า วันนี้มาชวนรัฐบาล Move on เร่งเดินหน้าทำตามสัญญาไปด้วยกัน แต่ถ้ารัฐบาลไม่Move on ไปกับพวกเรา ภาคประชาชนจะเดินหน้าต่อ ให้มีการทำประชามติ 2 ครั้งให้ได้ เพื่อนำไปสู่การทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ให้ทันปี 2570 เป็นรัฐธรรมนูญที่ประชาชนมีส่วนร่วม ทั้งนี้ 15 วันคือเวลาที่ทางกลุ่มได้กำหนดกรอบไว้เพื่อดูท่าทีและการสนองตอบของรัฐบาล


เช่นเดียวกัน นายณัชปกร นามเมือง หรือถา ไอลอว์ ระบุว่า สิ่งหนึ่งที่จะวัดผลว่ารัฐบาลรับฟังหรือไม่รับฟัง ก็คือคำแถลงนโยบายของนายกรัฐมนตรีแพทองธาร ชินวัตร ว่าสุดท้ายแล้วเรื่องรัฐธรรมนูญจะมีความคืบหน้าอย่างไร ก็ฝากประชาชนช่วยกันติดตาม ในคำแถลงนโยบายต่อรัฐสภา จะบรรจุเรื่องของรัฐธรรมนูญเป็นนโยบายเร่งด่วนหรือไม่ เพราะในอดีตเรื่องสสร.ไม่ได้ถูกบรรจุไว้ในคำแถลงของนโยบายรัฐบาลมาก่อน


โดยกิจกรรมหลังจาก15 วันนี้ จะไปทำกิจกรรมที่รัฐสภา ฝากภาคประชาชนติดตามและมาเคลื่อนไหวร่วมกัน

 

#UDDnews #ยูดีดีนิวส์ #เขียนรัฐธรรมนูญใหม่ #ประชามติ #รัฐบาลแพทองธาร