วันพฤหัสบดีที่ 5 กันยายน พ.ศ. 2567

ศาลอุทธรณ์ยกฟ้อง “ป้าวันทนา” คดีตะโกนไล่ประยุทธ์ ระบุตำรวจละเมิดเสรีภาพการแสดงความเห็นของประชาชน




ศาลอุทธรณ์ยกฟ้อง “ป้าวันทนา” คดีตะโกนไล่ประยุทธ์ ระบุตำรวจละเมิดเสรีภาพการแสดงความเห็นของประชาชน


วันนี้ (5 กันยายน 2567) ที่เว็บไซต์ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน รายงานว่า ศาลแขวงราชบุรีนัดอ่านคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ ภาค 7 ในคดีของ วันทนา โอทอง ประชาชนวัย 63 ปี ในจังหวัดราชบุรี จากเหตุยืนรอขบวน พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ขณะนั้นเป็นนายกรัฐมนตรี ลงพื้นที่ในอำเภอบ้านโป่ง จังหวัดราชบุรี และตะโกนวิพากษ์วิจารณ์การทำงาน เมื่อวันที่ 13 มี.ค. 2566


ก่อนหน้า ก่อนหน้านี้ ศาลแขวงราชบุรีได้พิพากษา ลงโทษจำคุก วันทนา เต็มอัตรา 6 เดือน 10 วัน ปรับ 1,000 บาท ไม่รอลงอาญา ใน 3 ข้อหาตามคำฟ้อง ได้แก่ ไม่ปฏิบัติตามคำสั่งเจ้าพนักงาน, ส่งเสียงหรือกระทำความอื้ออึงโดยไม่มีเหตุอันสมควร และต่อสู้หรือขัดขวางเจ้าพนักงาน ก่อนศาลให้ประกันตัวระหว่างอุทธรณ์


โดยในวันนี้ (5 ก.ย. 2567) ศาลแขวงราชบุรีได้อ่านคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 7 โดยมีใจความสำคัญดังนี้ 


รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยทุกฉบับตั้งแต่ปี 2475 เป็นต้นมาได้บัญญัติรับรองและคุ้มครองเสรีภาพในการชุมนุมไว้ หากการชุมนุมนั้นเป็นการชุมนุมโดยสงบและปราศจากอาวุธ โดยเฉพาะรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2560 มาตรา 34 วรรคหนึ่ง บัญญัติว่า บุคคลย่อมมีเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็น การพูด เขียน พิมพ์ และโฆษณา และการสื่อความหมายโดยวิธีอื่น การจำกัดเสรีภาพดังกล่าวจะกระทำมิได้เว้นแต่อาศัยอำนาจตามบทบัญญัติที่กฎหมายตราขึ้นเฉพาะ เพื่อรักษาความมั่นคงแห่งรัฐ เพื่อคุ้มครองสิทธิหรือเสรีภาพของบุคคลอื่น และเพื่อรักษาความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชน หรือเพื่อป้องกันสุขภาพของประชาชน


นอกจากนี้ ประเทศไทยยังมีพันธกรณีระหว่างประเทศตามกติกาสากลระหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง (ICCPR) ที่ประเทศไทยเคยให้สัตยาบันไว้ เมื่อปี 2539 ในข้อ 19 รับรองเสรีภาพในการแสดงออกของประชาชนและสื่อมวลชน รวมถึงการเข้าถึงข้อมูลต่าง ๆ เป็นสิทธิขั้นพื้นฐานที่ทำให้ความเป็นมนุษย์สมบูรณ์ 


อีกทั้งการรองรับและคุ้มครองเสรีภาพในการแสดงออกเป็นสิ่งที่บ่งชี้ว่าประเทศไทยให้ความเคารพต่อคุณค่าในหลักการประชาธิปไตยที่ยอมรับฟังความคิดเห็นที่แตกต่าง โดยเฉพาะอย่างยิ่งความเห็นต่อการบริหารรัฐกิจ และการวิพากษ์วิจารณ์บุคคลสาธารณะ ซึ่งผู้ที่ได้รับอาณัติจากประชาชนจะต้องอดทนต่อการตั้งคำถามและการตรวจสอบอย่างเข้มข้นจากประชาชนผู้เป็นเจ้าของอำนาจอธิปไตย 


ดังนั้น การฟ้องร้องดำเนินคดีประชาชนที่แสดงความเห็นต่างหรือสื่อมวลชนเพื่อปิดกั้นการแสดงออกโดยชอบด้วยกฎหมาย จึงไม่เป็นที่ยอมรับในสังคมประชาธิปไตยที่เคารพหลักนิติรัฐและนิติธรรม 


ทั้งนี้ รัฐสามารถจํากัดสิทธิเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นโดยอาศัยบทบัญญัติของกฎหมายเฉพาะในกรณีมีความจําเป็นต่อการเคารพในสิทธิหรือชื่อเสียงของบุคคลอื่น หรือการรักษาความมั่นคงของชาติ หรือความสงบเรียบร้อย หรือการสาธารณสุข หรือศีลธรรมอันดีของประชาชนเท่านั้น แต่จะต้องไม่มีผลร้ายถึงขนาดไม่ให้แสดงความคิดเห็นอันเป็นสิทธิขั้นพื้นฐาน บทบัญญัติแห่งกฎหมายที่ตราขึ้นนี้จะต้องผ่านมาตรฐานที่เข้มข้นสูงสุด มีความชัดเจนแน่นอนเพียงพอที่บุคคลจะสามารถรู้ได้ว่า จะต้องปฏิบัติตามอย่างไร และกฎหมายจะต้องไม่เปิดช่องให้เจ้าหน้าที่ใช้ดุลพินิจในการจํากัดเสรีภาพและดำเนินคดีต่อผู้ใช้สิทธิเสรีภาพในการแสดงออกได้อย่างไม่มีข้อจํากัด รัฐมีหน้าที่ในการแสดงให้เห็นว่า การจํากัดสิทธิเสรีภาพในการแสดงออกมีฐานทางกฎหมายอย่างไรและสอดคล้องอย่างไรต่อหลักความจําเป็นและหลักความได้สัดส่วน


ข้อเท็จจริงไม่ปรากฏจากพยานหลักฐานของโจทก์ว่า จําเลยวางแผนกระทำการในสิ่งที่ผิดกฎหมาย และไม่ปรากฏว่าจําเลยมีอาวุธ หรือเครื่องขยายเสียง จึงต้องถือว่าจําเลยมาชุมนุมด้วยความสงบและปราศจากอาวุธ อันเป็นสิทธิเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นของประชาชนตามที่รัฐธรรมนูญกำหนด แม้จำเลยจะแสดงออกว่าไม่สนับสนุนพลเอกประยุทธ์ นายกรัฐมนตรีในขณะนั้น เหมือนผู้ชุมนุมคนอื่น ๆ แต่การกระทำของจำเลยก็ยังเป็น ‘ผู้ชุมนุม’ ตามนิยามในมาตรา 4 ของ พ.ร.บ.การชุมนุมสาธารณะฯ เจ้าหน้าที่ตำรวจจึงมีหน้าที่รักษาความปลอดภัยหรืออํานวยความสะดวกแก่จําเลยในสถานที่ชุมนุมตามมาตรา 19 หากจําเลยร้องด่านายกฯ เจ้าหน้าที่ตำรวจก็ต้องรวบรวมพยานหลักฐานเพื่อพิสูจน์ความผิดของจําเลยตามกฎหมายเป็นอีกส่วนหนึ่ง


การกระทำของเจ้าหน้าที่ตำรวจที่กระทำต่อจำเลย โดยใช้มือปิดปาก และนำตัวจำเลยออกมาจากพื้นที่ดังกล่าว ย่อมเป็นการลิดรอนสิทธิเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นของจำเลยตามรัฐธรรมนูญ ทั้งจำเป็นเพียงหญิงอายุ 62 ปี ที่ไม่ยอมไปยืนในจุดที่พนักงานตำรวจกำหนดไว้ โดยไม่ปรากฏว่าจ๋าเลยจะก่อความไม่สงบหรือความรุนแรงให้เกิดขึ้น 


เมื่อเปรียบเทียบการกระทำกับการจำกัดสิทธิและเสรีภาพของจำเลยไม่ให้แสดงความคิดเห็นดังกล่าว ซึ่งมีผลทำให้หลักการใช้สิทธิเสรีภาพของประชาชนตามรัฐธรรมนูญต้องเสียไป และไม่ได้สัดส่วนกัน ประกอบกับการปฏิบัติต่อจําเลยซึ่งเป็นหญิงผู้สูงอายุ จะต้องเพิ่มความระมัดระวังและปฏิบัติให้มีความเหมาะสมแก่สถานภาพ โดยคำนึงถึงสิทธิมนุษยชนที่ไม่ทำให้เสียภาพพจน์ในการปฏิบัติการ ตามคู่มือการปฏิบัติการดูแลการชุมนุมสาธารณะของสำนักงานตำรวจแห่งชาติ


ดังนั้น แม้จำเลยจะดิ้นขัดขืน ก็เพื่อปกป้องการใช้สิทธิเสรีภาพในการแสดงออกของตนและเพื่อให้หลุดพ้นจากการปฏิบัติที่เกินขอบเขตอำนาจตามกฎหมาย ถือไม่ได้ว่าจําเลยมีเจตนาต่อสู้ขัดขวางเจ้าพนักงานโดยใช้กําลังประทุษร้าย การกระทำของจําเลยไม่เป็นความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 138 วรรคสอง


นอกจากนี้ เมื่อข้อเท็จจริงฟังได้ว่า การกระทำของจําเลยเป็นการใช้สิทธิเสรีภาพในการแสดงความเห็นตามรัฐธรรมนูญ การจํากัดสิทธิเสรีภาพในการชุมนุมจะต้องสอดคล้องกับหลักความจําเป็น หมายความว่า มาตรการที่รัฐเลือกใช้นั้นจะต้องเป็นมาตรการที่กระทบต่อสิทธิเสรีภาพของประชาชนให้น้อยที่สุด นอกจากนั้นยังต้องสอดคล้องกับหลักความได้สัดส่วนด้วย ซึ่งหมายความว่า การจํากัดสิทธิเสรีภาพเช่นว่านั้น จะต้องเป็นไปเพื่อประโยชน์สาธารณะอย่างแท้จริง หากปรากฏว่าสาธารณะได้ประโยชน์น้อย เมื่อเปรียบเทียบกับสิทธิและเสรีภาพของประชาชนที่เสียไป ต้องถือว่าการใช้อำนาจนั้นไม่ชอบด้วยกฎหมาย 


แม้ข้อเท็จจริงรับฟังได้ว่า เจ้าพนักงานตำรวจออกคำสั่งห้ามจําเลยยืนที่บริเวณหน้าแผงเหล็กกั้น แต่จําเลยไม่ปฏิบัติก็ตาม แต่เมื่อพิจารณาพฤติการณ์ขณะเกิดเหตุ จําเลยซึ่งเป็นหญิงผู้สูงอายุยืนอยู่โดยปราศจากอาวุธใด ๆ ทั้งไม่ปรากฏว่าจะเกิดเหตุร้ายแรงต่อประชาชนที่บริเวณดังกล่าว การที่เจ้าพนักงานตำรวจมีคําสั่งห้ามจําเลยยืนบริเวณจุดเกิดเหตุ จึงเกินความจําเป็นและไม่ได้สัดส่วนกับการใช้สิทธิเสรีภาพของจําเลย 


ส่วนที่จําเลยส่งเสียง ทำให้เกิดเสียงหรือกระทำความอื้ออึง ก็ไม่ปรากฏว่าจําเลยใช้เครื่องขยายเสียงจนทำให้ประชาชนตกใจหรือเดือดร้อน คงมีเพียงเสียงร้องจากปากของจ๋าเลยที่มีอยู่เพื่อปกป้องสิทธิเสรีภาพของจําเลยตามรัฐธรรมนูญเท่านั้น การกระทำของจําเลยจึงไม่เป็นความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 368 และมาตรา 370 


และถึงแม้ความผิดฐานส่งเสียงอื้ออึงโดยไม่มีเหตุอันสมควร เมื่อศาลชั้นต้นพิพากษาปรับ 1,000 บาท จึงต้องห้ามอุทธรณ์ในปัญหาข้อเท็จจริง แต่เมื่อการกระทำของจําเลยไม่เป็นความผิดฐานดังกล่าวเสียแล้ว ศาลอุทธรณ์ภาค 7 มีอำนาจยกฟ้องในฐานดังกล่าวได้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 185 วรรคหนึ่ง ประกอบมาตรา 215 เนื่องจากเป็นข้อเท็จจริงอันเดียวเกี่ยวพันกัน 


ที่ศาลชั้นต้นพิพากษามา ศาลอุทธรณ์ภาค 7 ไม่เห็นพ้องด้วย อุทธรณ์ของจำเลยฟังขึ้น พิพากษากลับให้ยกฟ้อง


ขอบคุณข้อมูลจาก : ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน


#UDDnews #ยูดีดีนิวส์ #TLHR