“ณัฐพงษ์” กระทุ้งรัฐบาลออก 10 มาตรการเร่งด่วนหลังน้ำลด
อัดฉีดเงินเยียวยาให้ผู้ประสบภัย-ธุรกิจฟื้นตัวโดยเร็ว
พร้อมแนะมาตรการเชิงรุกปรับปรุงระบบเตือนภัย
เตรียมรับมือพายุลูกใหม่ที่กำลังพัดเข้าไทย
วันที่
19 กันยายน 2567 ในการประชุมสภาผู้แทนราษฎร ณัฐพงษ์
เรืองปัญญาวุฒิ สส.บัญชีรายชื่อ และหัวหน้าพรรคประชาชน
ตั้งกระทู้ถามสดนายกรัฐมนตรีเกี่ยวกับการรับมือสถานการณ์น้ำท่วมที่เกิดขึ้นในหลายจังหวัดทั่วประเทศ
รวมถึงมาตรการฟื้นฟูเยียวยาหลังน้ำลด โดยนายกรัฐมนตรีมอบหมายให้ธีรรัตน์ สำเร็จวาณิชย์
รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงมหาดไทย มาเป็นผู้ตอบกระทู้แทน
ณัฐพงษ์เริ่มต้นกระทู้ถามสดโดยกล่าวว่า
เมื่อวันที่ 14-15
กันยายนที่ผ่านมา ตนและ
สส.พรรคประชาชนได้ลงพื้นที่ไปยังอำเภอเมืองและอำเภอแม่สาย จังหวัดเชียงราย
เพื่อติดตามสถานการณ์น้ำท่วม ให้กำลังใจพี่น้องประชาชนผู้ประสบภัย
และขอบคุณทุกภาคส่วนที่ร่วมมือกันฟื้นฟูเยียวยาหลังน้ำลด
รวมถึงยังได้รับฟังปัญหาและข้อเสนอแนะที่ต้องการส่งไปถึงรัฐบาล
ซึ่งประเด็นหลักที่พบคือ น้ำท่วมคือภัยที่ส่งผลกระทบทั้งต่อชีวิตและการเงิน
เพราะนอกจากบ้านเรือนจะเสียหาย ส่งผลให้ชีวิตประจำวันยากลำบากแล้ว
การค้าขายและธุรกิจก็พังเสียหายยับเยินไปด้วย
ในขณะที่รายจ่ายและหนี้สินยังคงเดินหน้าทุกวัน นี่คือสิ่งที่ประชาชนผู้ประสบภัยกำลังทุกข์ทรมานอย่างยิ่ง
แม้ว่าน้ำจะลดลงไปแล้ว
ณัฐพงษ์มองว่า
การรับมือภัยพิบัติน้ำท่วมประกอบไปด้วย 2 ช่วง โดยช่วงแรก “ก่อนภัยมา”
สิ่งที่ต้องทำคือการลดความเสี่ยงให้เหลือน้อยที่สุด
ป้องกันความสูญเสียให้มากที่สุด ส่วนช่วงที่สอง “หลังภัยมา”
สิ่งที่ต้องทำคือการช่วยเหลือ-เยียวยาให้เร็วและทั่วถึงที่สุด
รวมถึงการซ่อมแซม-ฟื้นฟูให้วิถีชีวิตกลับมาเป็นปกติสุขโดยเร็วที่สุด
โจทย์ข้างต้นสามารถแปลงเป็นสิ่งที่รัฐบาลต้องบริหารจัดการได้
3 ข้อคือ 1. “ลดความเสี่ยง” ด้วยการบริหารจัดการน้ำฝน
น้ำท่า และน้ำที่ข้ามพรมแดนมาจากต่างประเทศ 2. “ลดความสูญเสีย”
ด้วยระบบการแจ้งเตือนภัย
ซึ่งรัฐบาลต้องเตรียมความพร้อมทั้งด้านการบูรณาการข้อมูลและวางระบบเทคโนโลยีการแจ้งเตือนภัย
3. “ช่วยเหลือ เยียวยา ซ่อมแซม ฟื้นฟู”
ด้วยการบริหารสถานการณ์ภัยพิบัติและการออกมาตรการช่วยเหลือต่างๆ จากรัฐ
อย่างไรก็ตาม
ณัฐพงษ์กล่าวว่า จากสถานการณ์เฉพาะหน้าหลังน้ำลด
สิ่งที่ประชาชนผู้ประสบภัยต้องการให้รัฐบาลจัดการมากที่สุดในขณะนี้
คือการช่วยเหลือเยียวยาและซ่อมแซมฟื้นฟู โดยมี 10 มาตรการที่รัฐบาลควรทำเร่งด่วน
ซึ่งบางมาตรการรัฐบาลได้ดำเนินการไปบ้างแล้ว
แต่ยังมีปัญหาอยู่หลายจุดที่ตนขอให้ข้อเสนอแนะ ดังนี้
1.
การจัดตั้งศูนย์กลางประสานความช่วยเหลือ ซึ่งปัจจุบันรัฐบาลได้ดำเนินการตั้ง
“ศูนย์ปฏิบัติการช่วยเหลือผู้ประสบอุทกภัย วาตภัย และดินโคลนถล่ม (ศปช.)”
เป็นที่เรียบร้อยแล้ว โดยมีรองนายกรัฐมนตรีภูมิธรรม เวชยชัย เป็นประธาน
2.
การยกเว้นค่าน้ำ-ค่าไฟในเดือนกันยายน และลดราคา 30% ในเดือนตุลาคม ซึ่งต้องตั้งคำถามว่าเพียงพอหรือไม่ น้อยไปหรือไม่
รวมถึงระบบน้ำประปาที่บริหารโดยองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.)
รัฐบาลจะตั้งงบประมาณชดเชยค่าน้ำประปาให้กับ อปท. ด้วยหรือไม่
3.
เงินเยียวยาน้ำท่วม ซึ่งปัจจุบันมีขั้นตอนที่ยุ่งยากเกินไป
เพราะกำหนดเงื่อนไขว่าต้องมีหนังสือรับรองผู้ประสบภัยจากองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น
ต้องผ่านประชาคมหมู่บ้าน และต้องผ่านคณะกรรมการภัยพิบัติระดับอำเภอและจังหวัด
อีกทั้งระยะเวลาดำเนินการยังกำหนดไว้ยาวนานถึง 90 วัน
ตนขอเสนอว่า
รัฐบาลสามารถใช้ภาพถ่ายดาวเทียมจากสำนักงานพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ (GISTDA)
มาซ้อนทับกับข้อมูลพิกัดที่อยู่บนแผนที่โลก (Geocoding) เพื่อให้เงินชดเชยผู้ประสบภัยโดยอัตโนมัติผ่านแอปพลิเคชันทางรัฐได้เลยทันที
4.
เงินซ่อมแซมบ้าน ซึ่งรัฐบาลจะจ่ายให้หลังละ 2.3 แสนบาทหากมีความเสียหายเกิน 70% ซึ่งก็เกิดคำถามว่า 70%
นั้นวัดจากอะไร มีรายละเอียดอะไรบ้างก็ไม่ชัดเจน ตนขอเสนอว่า
รัฐบาลควรให้เงินซ่อมแซม 10,000 บาททันทีสำหรับบ้านทุกหลังที่ประสบภัย
จากนั้นเมื่อสำรวจและประเมินความเสียหายเสร็จสิ้นก็ค่อยจ่ายส่วนต่างที่เหลือตามมา
5.
การพักชำระหนี้
ซึ่งปัจจุบันธนาคารรัฐจะพักชำระหนี้ให้ทั้งเงินต้นและดอกเบี้ย
ส่วนธนาคารเอกชนพักชำระหนี้เฉพาะเงินต้นเท่านั้น ตนขอเสนอว่า
รัฐบาลควรเจรจาให้ธนาคารเอกชนพักชำระหนี้ทั้งเงินต้นและดอกเบี้ยเช่นเดียวกับธนาคารรัฐ
6.
เงินเยียวยาพื้นที่เกษตรกรรม
โดยเฉพาะข้าวที่ปัจจุบันรัฐบาลชดเชยไร่ละ 1,340 บาท
ซึ่งเกษตรกรสะท้อนว่าไม่เพียงพอ
เพราะต้นทุนที่เสียหายจริงสูงกว่าที่รัฐบาลประเมินถึง 4 เท่า
ตนขอเสนอว่า รัฐบาลควรเพิ่มอัตราเยียวยาพื้นที่เกษตรกรรมตามต้นทุนการผลิตจริง
7.
งบประมาณซ่อมแซมถนนและทรัพย์สินราชการ รัฐบาลอนุมัติงบกลาง 5.3
พันล้านบาทให้เฉพาะกรมชลประทาน กรมทางหลวง
และกรมทางหลวงชนบทเท่านั้น ตนขอเสนอว่า รัฐบาลควรอนุมัติงบประมาณให้ อปท.
เพิ่มเติมด้วย เพื่อซ่อมแซมถนน ไฟส่องสว่าง โรงเรียน โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล
(รพ.สต.) และอื่นๆ
8.
การอุดหนุนงบประมาณเพิ่มเติมให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น
ปัจจุบันยังไม่มีมาตรการ ตนขอเสนอให้รัฐบาลอุดหนุนงบประมาณเพิ่มเติม เพื่อให้ อปท.
มีกำลังในการออกนโยบายฟื้นฟูเยียวยาประชาชนอย่างเต็มที่มากขึ้น
9.
การกระตุ้นการท่องเที่ยว ปัจจุบันยังไม่มีมาตรการ
โดยเดิมรัฐบาลมีมาตรการกระตุ้นการท่องเที่ยวเมืองรอง ลดหย่อนภาษีได้ 15,000
บาท ตนขอเสนอให้รัฐบาลออกมาตรการกระตุ้นการท่องเที่ยว “เมืองน้ำลด”
ลดหย่อนภาษีได้เพิ่มเติมอีก 15,000 บาท รวมเป็น 30,000
บาท
10.
การให้สินเชื่อดอกเบี้ยต่ำ (Soft Loan) แก่ผู้ประกอบการ
ปัจจุบันยังไม่มีมาตรการ ตนขอเสนอว่ารัฐบาลควรให้สินเชื่อดอกเบี้ย 0% เพื่อให้ประชาชนนำมาเร่งฟื้นฟูกิจการธุรกิจร้านค้าโดยเร็ว
ณัฐพงษ์กล่าวต่อไปว่า
นอกจากมาตรการเร่งด่วนเฉพาะหน้าแล้ว
จากสถานการณ์ปัจจุบันที่กำลังจะมีพายุลูกใหม่พัดเข้าประเทศไทยในช่วงปลายสัปดาห์นี้
ทำให้ภาคเหนือและภาคอีสานมีความเสี่ยงที่จะเกิดน้ำท่วมซ้ำอีกระลอก ดังนั้น
โจทย์สำคัญของการรับมือภัยพิบัติในระยะกลางและระยะยาว
คือการลดความเสี่ยงและป้องกันความสูญเสียที่อาจเกิดขึ้นให้ได้มากที่สุด
โดยในส่วนของการลดความเสี่ยง
สิ่งที่รัฐบาลต้องทำคือแผนที่เสี่ยงภัยและระบบคาดการณ์น้ำท่วม
ซึ่งจะทำได้ก็ต่อเมื่อมีการเปิดเผยข้อมูลด้านน้ำทั้งระบบ ไม่ว่าจะน้ำฝนหรือน้ำท่า
โดยต้องมีการติดตั้งและบำรุงรักษาระบบชลมาตรหรือเครื่องมือวัดระดับน้ำที่ครอบคลุมและทั่วถึง
ส่วนน้ำจากต่างประเทศ เช่น น้ำที่ปล่อยมาจากเขื่อนจิ่งหงในประเทศจีน
รัฐบาลต้องหารือในระดับพหุภาคีระหว่างประเทศเพื่อบูรณาการข้อมูลน้ำร่วมกัน
นอกจากนี้
รัฐบาลควรมีนโยบายจัดทำข้อมูลพิกัดที่อยู่บนแผนที่โลก (Geocoding) เพื่อให้หน่วยงานต่างๆ
ลงพื้นที่เข้าไปช่วยเหลือและเยียวยาประชาชนได้อย่างสะดวก รวดเร็ว และถูกต้อง
โดยในหลายประเทศ เช่น แคนาดา สหรัฐอเมริกา และสหราชอาณาจักร
ได้มีการเปิดเผยข้อมูลพิกัดที่อยู่บนแผนที่โลกเป็นสาธารณะแล้ว
รัฐบาลไทยจึงควรสั่งการหน่วยงานรัฐวิสาหกิจที่มีข้อมูลนี้อยู่ ทั้งการไฟฟ้า
การประปา และไปรษณีย์ไทย ให้เปิดเผยเป็นข้อมูลเปิด (Open Data) ตามมาตรฐานสากล
ส่วนการป้องกันความสูญเสีย
สิ่งที่ต้องทำคือระบบแจ้งเตือนภัยและแผนเผชิญเหตุ
แต่ระบบแจ้งเตือนภัยผ่านโทรศัพท์มือถือ (Cell Braodcast) ที่รัฐบาลให้ข่าวเมื่อเดือนตุลาคมปีที่แล้วว่าขอเวลา
1 ปีจะใช้งานได้ ปัจจุบันก็ยังใช้งานไม่ได้จริง
เลื่อนแล้วเลื่อนอีก ขณะที่หอเตือนภัยในพื้นที่ต่างๆ ก็แทบไม่เคยมีการใช้งาน
ไม่มีการทดสอบความพร้อมของอุปกรณ์
เห็นได้จากเหตุการณ์น้ำท่วมที่อำเภอแม่สายที่ไม่มีการแจ้งเตือนผ่านหอเตือนภัยแต่อย่างใด
รวมถึงแผนเผชิญเหตุซึ่งมีอยู่แล้วในทุกจังหวัด แต่กลับไม่เคยถูกซักซ้อม
เจ้าหน้าที่และประชาชนไม่รู้วิธีปฏิบัติ อุปกรณ์เครื่องมือต่างๆ ก็ไม่พร้อม
เมื่อเป็นเช่นนี้ หากเกิดเหตุการณ์น้ำท่วมอีกในอนาคต
ประชาชนก็จะยังคงตกอยู่ในความเสี่ยงอันตรายเช่นเดิม
“จากแผนเผชิญเหตุที่มีอยู่แล้วทั้งประเทศ ตอนนี้มีคำสั่งจากท่านนายกฯ
หรือมีแนวนโยบายที่ชัดเจนจากรัฐบาลหรือยัง ที่จะหยิบแผนเผชิญเหตุเหล่านี้มาซักซ้อม
เพื่อให้ทั้งคนและเครื่องมือมีความพร้อมก่อนที่พายุลูกใหม่จะเข้ามา
จนอาจเกิดเหตุภัยพิบัติอื่นๆ อีกในอนาคต” ณัฐพงษ์กล่าว