วันอังคารที่ 3 กันยายน พ.ศ. 2567

“ณัฐพงษ์” ชี้งบ 68 สร้างภาระการคลังในอนาคต จัดเก็บรายได้ขาดประสิทธิภาพ หวั่นเกิดวัฏจักรเศรษฐกิจขาลง กู้มาแจกระยะสั้น-ขาดพื้นที่การคลังระยะยาว แนะรัฐบาลปฏิรูประบบภาษี-ระบบงบประมาณ

 


ณัฐพงษ์” ชี้งบ 68 สร้างภาระการคลังในอนาคต จัดเก็บรายได้ขาดประสิทธิภาพ หวั่นเกิดวัฏจักรเศรษฐกิจขาลง กู้มาแจกระยะสั้น-ขาดพื้นที่การคลังระยะยาว แนะรัฐบาลปฏิรูประบบภาษี-ระบบงบประมาณ


วันที่ 3 กันยายน 2567 ในการประชุมสภาฯ เพื่อพิจารณาร่าง พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2568 วาระ 2-3 ณัฐพงษ์ เรืองปัญญาวุฒิ สส.บัญชีรายชื่อ หัวหน้าพรรคประชาชน อภิปรายมาตรา 4 ว่าด้วยกรอบงบประมาณรายจ่ายประจำปี 2568 จำนวนกว่า 3.752 ล้านล้านบาท โดยแปรญัตติเพื่อขอปรับลดจำนวน 4%


ณัฐพงษ์กล่าวว่า การจัดทำงบ 68 เช่นนี้กำลังสร้างความเสี่ยงให้รัฐบาลชุดต่อไปจะไม่เหลือพื้นที่ทางการคลังมารองรับวิกฤตใหญ่ๆ ที่อาจเกิดขึ้นอย่างไม่คาดคิดในอนาคต ซึ่งตอนนี้สัดส่วนหนี้สาธารณะต่อจีดีพีของไทยสูงสุดเป็นประวัติการณ์ตามแผนการคลังระยะปานกลาง มีการคาดการณ์ว่าปี 2570 สัดส่วนหนี้จะสูงขึ้นถึงร้อยละ 69% เรียกได้ว่านี่เป็นการกู้มาแจกเพื่อการกระตุ้นเศรษฐกิจระยะสั้น ที่อาจทำให้เราต้องสูญเสียโอกาสเพื่อรองรับวิกฤตและการแก้ปัญหาระยะยาว


ถ้าพูดถึงฝั่งรายได้ ประเทศเรามีปัญหาใหญ่อีกหนึ่งอย่างคือการจัดเก็บรายได้ทางภาษีต่อจีดีพีที่ลดลงต่อเนื่องตั้งแต่ปี 2554 จนถึงปี 2566 จากเดิมที่ประเทศไทยเคยจัดเก็บรายได้ทางภาษีต่อจีดีพีอยู่ที่ 16% ปัจจุบันลดลงเหลือ 14% สวนทางกับประเทศที่เคยเป็นประเทศระดับรายได้ปานกลางเช่นเดียวกับไทยในอดีต ทุกวันนี้เขาหลุดออกจากกับดักรายได้ปานกลางแล้ว เช่น เกาหลีใต้ ชิลี และอุรุกวัย โดยเฉพาะอุรุกวัย หากเปรียบเทียบในช่วงเวลาเดียวกันตั้งแต่ปี 2533 จนถึงปี 2562 สัดส่วนรายได้ภาษีเงินได้เพิ่มจาก 1.2 เป็น 6.8% ขณะที่ประเทศไทยเพิ่มจาก 4.3 เป็น 6.1% โดยจะเห็นได้ว่าอัตราการเติบโตของสัดส่วนจะสูงมากกว่าไทยอย่างมีนัยสำคัญ


ณัฐพงษ์กล่าวต่อว่า ทุกคนทราบดีว่าภาษีการบริโภคหรือภาษีมูลค่าเพิ่มเป็นภาษีที่ส่งผลกระทบต่อคนจนมากกว่าคนรวย ประเทศที่หลุดออกจากกับดักรายได้ปานกลางไปแล้วมักจะมีการปฏิรูปโครงสร้างภาษี นี่คือประเด็นสำคัญที่เราจำเป็นต้องพูดถึงส่วนรายได้ของรัฐบาล ไม่สามารถพูดถึงเฉพาะส่วนรายจ่ายเท่านั้น นอกจากนี้ ตั้งแต่ปี 2554 จนถึงปี 2566 สัดส่วนรายได้ภาษีนิติบุคคลต่อจีดีพีของประเทศไทย ยังลดลงต่อเนื่องด้วยจาก 4.4% ในปี 2556 เหลือ 3.6% ในปี 2566


ตัวเลขทั้งหมดนี้ สะท้อนปัญหาการขาดพื้นที่ทางการคลัง อีกมุมหนึ่งคือการจัดเก็บรายได้ที่ขาดประสิทธิภาพ ทำให้ไม่มีเงินมาจัดทำสวัสดิการหรือพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานที่จะส่งต่อไปเป็นฐานของเศรษฐกิจแห่งอนาคตได้


เราไม่มีการลงทุนในเรื่องโครงสร้างพื้นฐาน แต่ใช้วิธีกู้มากระตุ้นเศรษฐกิจในระยะสั้น ดังนั้น ผมเป็นห่วงว่ารัฐบาลอาจทำให้เกิดวัฏจักรเศรษฐกิจขาลง จากการกู้มาแจกในระยะสั้น ขาดพื้นที่ทางการคลังในระยะยาว ไม่สามารถสร้างรายได้ในอุตสาหกรรมแห่งอนาคต และรัฐจัดเก็บภาษีได้น้อยลง” ณัฐพงษ์กล่าว


หัวหน้าพรรคประชาชนกล่าวต่อว่า วิธีแก้ปัญหาคือการปฏิรูประบบภาษีพร้อมกับการปฏิรูประบบงบประมาณ ต้องทำทั้งฝั่งรายได้และรายจ่ายไปพร้อมกัน ในส่วนรายได้นั้น จะทำอย่างไรให้เกิดการจัดเก็บภาษีอย่างยุติธรรม เพิ่มสัดส่วนรายได้ต่อจีดีพี ลดความเหลื่อมล้ำ พุ่งเป้าเก็บที่คน 1% ของประเทศในสัดส่วนที่เหมาะสม เช่น ภาษีที่ดินรวมแปลง เพื่อมากระจายทำสวัสดิการให้ประชาชน พัฒนาต้นทุนมนุษย์ พัฒนาโครงสร้างพื้นฐานเพื่อสร้างอุตสาหกรรมแห่งอนาคต สร้างเป็นรายได้ระยะยาวของประเทศ ทำให้เป็นวัฏจักรเศรษฐกิจขาขึ้นกลับมา


ในส่วนรายจ่าย สิ่งที่พวกเราอยากตั้งคำถามไปยังรัฐบาลชุดนี้ รวมถึงรัฐบาลชุดหน้าที่กำลังจะแถลงนโยบายต่อรัฐสภา เราอยากเห็นการลดรายจ่ายประจำ ทำอย่างไรให้มั่นใจได้ว่าหากต้องกู้แล้วจะไม่ได้กู้มาแจกอย่างเดียว แต่กู้มาเพื่อ Reskill-Upskill พัฒนาต้นทุนมนุษย์ พัฒนาโครงสร้างพื้นฐานสำหรับอุตสาหกรรมแห่งอนาคต


ด้วยเหตุนี้ ตนจึงไม่เห็นด้วยกับกรรมาธิการเสียงข้างมากและขอปรับลดกรอบงบประมาณรายจ่ายประจำปี 2568 ที่กู้จนชนเพดาน ไม่สามารถสร้างอนาคตให้กับประเทศ ตามที่ได้แปรญัตติไว้

 

#UDDnews #ยูดีดีนิวส์ #ประชุมสภา #อภิปรายงบประมาณปี68 #งบ68 #พรรคประชาชน