วันพุธที่ 11 กันยายน พ.ศ. 2567

จม.จากแดน 4 ฉบับ 11 ก.ย. 67 “อานนท์” เขียน “การที่เราชนะด้วยเหตุผลแต่ต้องแพ้คดีเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นและจะเกิดขึ้นอีกสักระยะ ในสังคมที่ป่วยไข้ สิ่งที่เราทำใจคือการใช้ตนเองบันทึกเรื่องราว อนาคตจะเป็นผู้ทำหน้าที่พิพากษา”

 


จม.จากแดน 4 ฉบับ 11 ก.ย. 67 “อานนท์” เขียน “การที่เราชนะด้วยเหตุผลแต่ต้องแพ้คดีเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นและจะเกิดขึ้นอีกสักระยะ ในสังคมที่ป่วยไข้ สิ่งที่เราทำใจคือการใช้ตนเองบันทึกเรื่องราว อนาคตจะเป็นผู้ทำหน้าที่พิพากษา”


วันนี้ (11 กันยายน 2567) เพจเฟสบุ๊ค “อานนท์ นำภา” โพส ข้อความจดหมายฉบับ 11 ก.ย. 67 โดยมีใจความว่า


“นน์ นนท์ พ่อ พ่อ” แม่ของพวกเธอเขียนจดหมายเล่าให้พ่อฟังว่าในตอนเช้า เจ้าขาลจะเอาแก้มไปแนบแก้มแม่ แล้วปลุกแม่เหมือนจะว่าชวนแม่ให้ตื่นพาเจ้าขาลมาเยี่ยมพ่อที่ศาล ตอนนี้เจ้าขาลพอจะรู้เรื่องแล้ว สามารถเรียกชื่อผู้คนได้แล้ว


11 กันยายน 2567 ถึงเจ้าปราณและเจ้าขาล ลูกรัก


วานนี้แม่พาเจ้าขาลมาเยี่ยมพ่อที่ศาล เจ้าขาลเรียกชื่อพ่อได้แล้ว ยังวิ่งซนในห้องพิจารณา 905 อย่างร่าเริง กระทั่งศาลลงพิจารณาคดี แม่จึงอุ้มเจ้าขาลร่ำลาพ่อ เรากอดกันมิทันคลายความคิดถึงก็ต้องจาก จากทั้งที่ใจไม่อาจคลายคิดถึง แต่การที่พ่อทั้งในฐานะจำเลยและต้องว่าความ จำเป็นต้องใช้สมาธิพอสมควร การลุกขึ้นว่าความถามค้านพยานโดยที่สายตาค่อยๆมองเจ้าขาลกับแม่โบกมืออำลาที่หน้าห้องพิจารณาทำให้หัวใจของพ่อปวดร้าวยิ่ง กระนั้น เมื่ออยู่ต่อหน้าพยาน ต่อหน้าศาล ย่อมมิอาจอ่อนไหวให้ใครเห็นและมิได้มีใครได้เห็นความอ่อนไหวนั้น นับเป็นการว่าความที่น้อยคนนักจักเข้าใจ แต่ย่อมมีคนเข้าใจ


ทักษะการว่าความเมื่อยังไม่เกิดย่อมต้องใช้เวลาและประสบการณ์ แต่เมื่อเกิดขึ้นแล้วก็ยากที่จะลบเลือน ถึงต้องเผชิญพายุในหัวใจ ต้องเผชิญถ้อยคำบาดลึกเพียงใด ทักษะการว่าความของพ่อก็ยังรับมือได้อย่างไม่ยากเย็น ที่ยากเย็นย่อมผ่านไปแล้ว การที่เราชนะด้วยเหตุผลแต่ต้องแพ้คดีเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นและจะเกิดขึ้นอีกสักระยะ ในสังคมที่ป่วยไข้ สิ่งที่เราทำใจคือการใช้ตนเองบันทึกเรื่องราว อนาคตจะเป็นผู้ทำหน้าที่พิพากษาสิ่งที่พ่อและเพื่อนๆทำอยู่ในห้วงเวลานี้


ฝากเจ้าปราณและเจ้าขาล กอดแม่แทนพ่อด้วย ฝากบอกแม่ว่าพ่อคิดถึงทุกลมหายใจ


อานนท์ นำภา


สำหรับ อานนท์ นำภา ทนายความจากศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน ขณะนี้ถูกคุมขังอยู่ที่เรือนจำพิเศษกรุงเทพ ภายหลังศาลอาญาพิพากษาจำคุก 4 ปี ปรับเป็นเงิน 20,000 บาท โดยไม่รอลงอาญา ในคดี #มาตรา112 คดีแรก เมื่อวันที่ 26 กันยายน 2566 เหตุจากการขึ้นปราศรัยใน #ม็อบ14ตุลา63


จากนั้น 17 ม.ค. 67 ศาลอาญาสั่งจำคุก "อานนท์ นำภา" เพิ่มอีก 4 ปี จากคดีมาตรา 112 (เป็นคดีที่ 2) กรณีโพสต์เฟซบุ๊กปี 2564 โดยให้บวกโทษเก่าอีก 4 ปี ทำให้อานนท์มีโทษจำคุกรวมแล้ว 8 ปี


ต่อมา เมื่อวันที่ 29 เม.ย. 2567 ศาลอาญากรุงเทพใต้ นัดฟังคำพิพากษาคดีของ อานนท์ นำภา หลังถูกฟ้องใน 4 ข้อกล่าวหา ได้แก่ หมิ่นประมาทกษัตริย์ฯ ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112, ฝ่าฝืน พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ, พ.ร.บ.โรคติดต่อฯ และใช้เครื่องขยายเสียงโดยไม่ได้รับอนุญาต เหตุมาจากการปราศรัยถึงข้อเรียกร้องปฏิรูปสถาบันกษัตริย์ ในกิจกรรม ‘เสกคาถาผู้พิทักษ์ปกป้องประชาชน’ หรือ #ม็อบแฮร์รี่พอตเตอร์2 ที่ลานหอศิลปวัฒนธรรมกรุงเทพฯ เมื่อวันที่ 3 ส.ค. 2564 โดยศาลพิพากษาว่าจำเลยมีความผิดทุกข้อหาตามฟ้อง พิพากษาจำคุกรวม 3 ปี 1 เดือน ปรับ 150 บาท ก่อนลดเพราะให้การเป็นประโยชน์ เหลือจำคุก 2 ปี 20 วัน และปรับ 100 บาท


ต่อมา 25 ก.ค. 67 ศาลอาญา นัดฟังคำพิพากษาในคดี #ม112 คดีที่ 4 ของ “อานนท์ นำภา” เหตุโพสต์ 2 ข้อความบนเฟซบุ๊ก ในช่วงเดือน ม.ค. – ก.พ. 2564 วิพากษ์วิจารณ์การใช้อำนาจบริหารราชการแผ่นดินของรัชกาลที่ 10


ศาลพิพากษาว่าจำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112, พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ มาตรา 14 วรรคหนึ่ง (1), (3) ให้ลงโทษฐาน 112 จำคุกกระทงละ 3 ปี รวม 2 กระทง เป็นจำคุก 6 ปี


ทางนำสืบของจำเลยเป็นประโยชน์ต่อการพิจารณา ลดโทษให้กระทงละหนึ่งในสาม คงจำคุก 4 ปี ไม่รอการลงโทษ


ทั้งนี้หลังศาลชั้นต้นมีคำพิพากษาคดีของอานนท์ไปแล้ว 4 คดี ทำให้อานนท์ถูกลงโทษจำคุกรวม 14 ปี 20 วัน และยังมีโทษในคดีตาม พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ จากกรณีชุมนุม #ม็อบ27พฤศจิกา2563 ที่ถูกจำคุกอีก 2 เดือน รวมเป็น 14 ปี 2 เดือน 20 วัน


#UDDnews #ยูดีดีนิวส์ #ปฏิรูปกระบวนการยุติธรรม #อานนท์นำภา #คืนสิทธิประกันตัวประชาชน