“ศิริกัญญา” ผิดหวังงบ 68 รีดไขมันส่วนเกินไม่มากพอ
ห่วงแนวโน้มจัดเก็บรายได้ปี 68 พลาดเป้า
เหตุเศรษฐกิจโตต่ำกว่าเป้า-นโยบายปรับลดภาษี
แนะปรับลดงบรองรับสถานการณ์ที่ไม่แน่นอน
วันที่
3 กันยายน 2567 มีการประชุมสภาผู้แทนราษฎรนัดพิเศษ
เพื่อพิจารณาร่าง พ.ร.บ.รายจ่ายงบประมาณ ประจำปีงบประมาณ 2568 ในวาระที่ 2-3 โดย ศิริกัญญา ตันสกุล
สส.บัญชีรายชื่อ พรรคประชาชน ในฐานะกรรมาธิการเสียงข้างน้อยผู้ขอสงวนความเห็น
ได้อภิปรายเปิดในภาพรวมถึงปัญหาการจัดเก็บรายได้ที่ไม่เป็นไปตามเป้าหมาย และเหตุผลที่ควรมีการปรับลดงบประมาณลงราว
2 แสนล้านบาท เหลือ 3.5 ล้านบาทเศษ
ศิริกัญญาเริ่มต้นการอภิปราย
โดยยกข้อมูล 5
อันดับกระทรวงที่มีการปรับลดงบประมาณสูงสุด 5 อันดับ
ได้แก่ รัฐวิสาหกิจ, กระทรวงอุตสาหกรรม, กระทรวงการคลัง, กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม,
สำนักนายกรัฐมนตรี และ กระทรวงกลาโหม รวมแล้วตัดได้ราว 4 หมื่นล้านบาท
แต่ปัญหาก็คือการปรับลดงบประมาณครั้งนี้
มีส่วนที่ไม่ควรตัดก็ไปตัด เช่น รัฐวิสาหกิจ
ซึ่งหลายรายการเป็นงบประมาณที่ต้องใช้ชำระหนี้จากการดำเนินการตามนโยบายของรัฐ
ขณะเดียวกันก็ยังมีส่วนที่เป็นไขมันส่วนเกินที่ยังรีดได้อีกเยอะมากแต่ไม่ถูดตัดไป
ไม่ว่าจะเป็นโครงการที่ซ้ำซ้อน ไม่สมเหตุสมผล ยังไม่มีเป้าหมายที่ชัดเจน
จึงเป็นเรื่องที่น่าเสียดาย ที่ยังมีไขมันที่แทรกซึม มีโครงสร้างที่ปรับเปลี่ยนได้
ศิริกัญญาอภิปรายต่อไปว่า
ยังมีความจำเป็นต้องปรับลดงบประมาณลง
เนื่องจากประเทศไม่ได้มีความสามารถหรือกำลังมาก พอใช้จ่ายเงินถึง 3.7 ล้านล้านบาท
โดยเฉพาะเมื่อพิจารณาจากการประมาณการรายได้ของปี 2568 ซึ่งถูกประมาณการมาตั้งแต่เดือนธันวาคม
2566 วันนั้นมีการตั้งงบประมาณไว้ที่ 3.6 ล้านล้านบาท ประมาณรายได้น่าจะจัดเก็บได้ 2.887 ล้านล้านบาท
โดยคาดว่าเศรษฐกิจจะเติบโตถึง 3.2% และมีการประมาณการหนี้สาธารณะไว้ราว
63%
แต่เหตุการณ์ได้เปลี่ยนแปลงไปมากจากเดือนธันวาคม
2566 มาถึงเดือนพฤษภาคม 2567 ที่มีการตั้งงบประมาณขาดดุลจนเกือบชนเพดาน
เศรษฐกิจมีแนวโน้มชะลอตัวลง จากคาดการณ์การเติบโตทางเศรษฐกิจที่ 3.2% ลดลงมาเหลือเพียง 2.5% ย่อมส่งผลกระทบกับการจัดเก็บรายได้ของรัฐบาลโดยตรง
อีกทั้งหนี้สาธารณะปี 2567 ยังสูงขึ้นไปกว่าการคาดการณ์เมื่อเดือนธันวาคม
2566 ที่ 62.7% กลายเป็น 65.7% และมีการคาดการณ์ว่า หนี้สาธารณะปี 2568 จะเพิ่มขึ้นไปอีกประมาณ
2%
ศิริกัญญากล่าวต่อไปว่า
แม้เหตุการณ์จะเปลี่ยนแปลงแต่งบประมาณปี 2568 กลับไม่ได้ถูกปรับเปลี่ยนเลย
โดยเฉพาะประมาณการรายได้
และยังมีแนวโน้มที่จะไม่สามารถจัดเก็บรายได้ได้ตามเป้าหมาย ตัวอย่างเช่น
กรมสรรพสามิต ที่ตั้งเป้าไว้ในปี 2567 ว่าจะจัดเก็บรายได้ได้เกือบ
6 แสนล้านบาท พอเก็บจริงกลับเก็บได้ไม่เกิน 5.3 แสนล้านบาท หลุดเป้าหมายไปเกือบ 7 หมื่นล้านบาท
เนื่องมาจากมีการปรับลดภาษีน้ำมันช่วยเหลือค่าครองชีพ การปรับลดภาษีรถยนต์ไฟฟ้า
และภาษีบุหรี่ที่จัดเก็บพลาดเป้าไปเกือบ 1 หมื่นล้านบาท
มาถึงปี
2568 มีการตั้งเป้าไว้อย่างท้าทายว่า จะจัดเก็บรายได้ได้ 6 แสนล้านบาทเศษ แต่ก็ไม่มีทางเป็นไปได้ที่จะจัดเก็บได้ตามเป้า
เพราะนโยบายภาษีรถยนต์ไฟฟ้ายังไม่มีแนวโน้มที่จะเปลี่ยนแปลง
ส่วนภาษีบุหรี่ก็ไม่มีการปรับปรุงนโยบายแต่อย่างไร
ดังนั้นเพื่อความระมัดระวังและการรองรับสถานการณ์ที่ไม่แน่นอนในอนาคตได้
จึงขอปรับลดงบประมาณปี 2568 ลงราว 2 แสนล้านบาท
เหลือ 3.5 ล้านล้านบาท