วันพฤหัสบดีที่ 19 กันยายน พ.ศ. 2567

เครือข่าย #conforall เพื่อรัฐธรรมนูญสำหรับประชาชนทุกคน ออกแถลงการณ์เรียกร้องรัฐบาล "ทำประชามติสองครั้ง - ร่างรัฐธรรมนูญใหม่ทันที"

 


เครือข่าย #conforall เพื่อรัฐธรรมนูญสำหรับประชาชนทุกคน ออกแถลงการณ์เรียกร้องรัฐบาล "ทำประชามติสองครั้ง - ร่างรัฐธรรมนูญใหม่ทันที"


วันที่ 19 กันยายน 2567 เครือข่ายประชาชนร่างรัฐธรรมนูญ (Conforall) จัดกิจกรรม “รัฐธรรมนูญใหม่ไปกันต่อ สสร. เลือกตั้ง” ที่ห้องประชุมสัมมนา B1-2 อาคารรัฐสภา (เกียกกาย) โดยภายในงานประกอบด้วยกิจกรรมเสวนา เสียงจากภาคประชาชน-นักวิชาการ เสียงจากสมาชิกรัฐสภาต่อประเด็นการจัดทำรัฐธรรมนูญใหม่ทั้งฉบับรวมถึงการจัดทำประชามติตลอดกระบวนการจัดทำรัฐธรรมนูญใหม่ที่รัฐบาลมีแนวทางจะจัดทำประชามติถึงสามครั้ง ได้แก่ 1) การจัดทำประชาก่อนการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ 2) ประชามติหลังร่างแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญเพื่อตั้งสภาร่างรัฐธรรมนูญ (สสร.) ผ่านวาระสาม ตามเงื่อนไขรัฐธรรมนูญ 2560 มาตรา 256 (8) และ 3) ประชามติร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ และแถลงจากภาคประชาชนเครือข่าย Conforall เรียกร้องให้รัฐบาลข้ามขั้นตอนที่ไม่จำเป็นและเร่งเดินหน้าจัดทำรัฐธรรมนูญใหม่


ตามกฎหมายและคำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญที่ 4/2564 ไม่ได้ระบุว่าต้องทำประชามติถึงสามครั้ง ในคำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญระบุชัดเจนว่าทำประชามติเพียงสองครั้งก็เพียงพอ หากรัฐบาลยืนยันเดินหน้าทำประชามติถึงสามครั้ง ก็จะทำให้กระบวนการเขียนรัฐธรรมนูญใหม่ “ล่าช้า” และมีโอกาศไม่แล้วเสร็จภายในรัฐบาลเพื่อไทยที่นำโดยแพทองธาร ชินวัตร


เครือข่ายภาคประชาชน จึงเรียกร้องให้รัฐบาลข้ามประชามติครั้งแรก และเสนอแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญเพื่อตั้ง สสร. โดยไว เพื่อให้กระบวนการเขียนรัฐธรรมนูญใหม่เกิดขึ้นทันก่อนการเลือกตั้งครั้งหน้า


โดยคำประกาศเครือข่าย Conforall เพื่อรัฐธรรมนูญสำหรับประชาชนทุกคน มีใจความว่า "เป็นเวลากว่าหนึ่งปีแล้วที่เรามีรัฐบาลใหม่นำโดยพรรคเพื่อไทย พร้อมคำมั่นสัญญาอย่างมั่นคงที่จะจัดทำรัฐธรรมนูญให้เป็นประชาธิปไตย โดยกระบวนการที่ประชาชนมีส่วนร่วม คณะรัฐมนตรีที่นำโดยเศรษฐา ทวีสิน แต่งตั้งคณะกรรมการขึ้นศึกษาแนวทางการทำประชามติ ซึ่งใช้เวลาไปสามเดือน จากนั้นรัฐสภาส่งคำร้องไปให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยความจำเป็นในการทำประชามติ ซึ่งใช้เวลาไปอีกสี่เดือน และคณะรัฐมนตรีชุดที่แล้วก็เสนอร่างแก้ไขพ.ร.บ.ว่าด้วยการออกเสียงประชามติ ให้รัฐสภาพิจารณา ซึ่งใช้เวลามาอีกห้าเดือนแล้ว ก็ยังไม่เสร็จสิ้น ทั้งที่ทั้งสามกระบวนการทำไปพร้อมกันได้ แต่กลับถูกเลือกทำทีละอย่าง แสดงถึงความ “ไม่จริงใจ” ที่จะ “เร่ง” การจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ให้เกิดขึ้นจริง


มาถึงเดือนกันยายน 2567 นายกรัฐมนตรีและคณะรัฐมนตรีเปลี่ยนหน้าไป และเหลือเวลาอีกเพียงสองปีแปดเดือนอายุของรัฐบาลชุดนี้ก็จะหมดลง หากเดินตามแนวทางเดิมที่จะต้องทำประชามติสามครั้ง และใช้คำถามที่ติดเงื่อนไขไม่ให้แก้ไขทุกหมวดทุกมาตรา “ไม่มีทาง” ที่รัฐธรรมนูญฉบับประชาชนจะเสร็จทันมีผลบังคับใช้ก่อนการเลือกตั้งครั้งหน้า


หากคณะรัฐมนตรีชุดใหม่ภายใต้นายกรัฐมนตรีแพทองธาร ชินวัตร ต้องการจะแก้ไขความล่าช้านี้ ก็ยังพอจะ “เป็นไปได้” ที่จะได้รัฐธรรมนูญฉบับใหม่เสร็จทันก่อนการเลือกตั้งครั้งหน้า แต่หนทางที่จะเป็นไปได้เหลือวิธีการเดียวเท่านั้น คือ


หนึ่ง ไม่ต้องทำประชามติครั้งแรก ที่เปลืองเวลา และไม่มีกฎหมายใดบังคับให้ทำ


สอง เริ่มกระบวนการเปิดสภาแก้ไขรัฐธรรมนูญมาตรา 256 ให้มีการจัดตั้งสภาร่างรัฐธรรมนูญ หรือ สสร. โดยทันที ซึ่งทำได้ทันที


สาม คณะรัฐมนตรีเร่งรัดกระบวนการได้โดยการเสนอร่าง “จัดตั้งสสร.” ฉบับของคณะรัฐมนตรีเอง ซึ่งทำได้ทันที


รัฐบาลที่นำโดยพรรคเพื่อไทยเข้าสู่อำนาจมาพร้อมกับกลไกของวุฒิสภาจากการแต่งตั้งและศาลรัฐธรรมนูญจากคณะรัฐประหาร หนทางเดียวที่จะยืนหยัดถึงความเป็นรัฐบาลเพื่อประชาธิปไตย คือ การจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่โดยประชาชน เพื่อรื้อถอนกลไกที่มีปัญหาทั้งหมดเท่านั้น หากคณะรัฐมนตรีชุดใหม่ไม่ได้ดำเนินการตามแนวทางนี้ภายในระยะเวลาหนึ่งถึงสองเดือนข้างหน้า ก็เท่ากับท่านทราบอยู่แล้ว และ “จงใจ” ที่จะ “ไม่” พยายามจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ให้แล้วเสร็จตามที่เคยประกาศไว้ 


ทั้งนี้ ขั้นตอนที่สองและสามที่จะเริ่มการ “จัดตั้งสสร.” ไม่จำเป็นต้องเริ่มต้นด้วยคณะรัฐมนตรีเท่านั้น แต่สามารถเริ่มต้นโดยประชาชนได้ หากคณะรัฐมนตรีชุดใหม่ไม่ริเริ่มด้วยตัวเอง เราอาจต้องเข้าชื่อของประชาชน 50,000 ชื่อเพื่อเสนอกระบวนการที่เป็นไปได้นี้ด้วยมือของประชาชนอีกครั้งหนึ่ง"


#UDDnews #ยูดีดีนิวส์ #ประชามติ #รัฐธรรมนูญใหม่ #เขียนรัฐธรรมนูญ