‘ก้าวไกล’ ยังไม่ตอบรับเข้าร่วม คกก.ศึกษาประชามติรัฐธรรมนูญ
ถามรัฐบาลตอบให้ชัด กรอบใหญ่ยืนยันจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ โดย สสร.
เลือกตั้งทั้งหมด หรือไม่
วันที่
3 ตุลาคม 2566 พริษฐ์ วัชรสินธุ โฆษกพรรคก้าวไกล
กล่าวถึงกรณีปรากฏในรายงานข่าวเมื่อวานนี้ (2 ตุลาคม)
ว่าภูมิธรรม เวชยชัย รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์
ในฐานะประธานคณะกรรมการศึกษาแนวทางการทำประชามติแก้ไขรัฐธรรมนูญ
ระบุพรรคก้าวไกลได้ตอบรับเข้าร่วมคณะกรรมการศึกษาแล้ว เพียงแต่ยังไม่ได้ส่งรายชื่อ
พริษฐ์กล่าวว่า
พรรคก้าวไกลต้องชี้แจงว่าเรายังไม่ได้ตอบรับเข้าร่วมคณะกรรมการดังกล่าว
ทางตัวแทนจากพรรคเพื่อไทยได้ประสานมาที่ชัยธวัช ตุลาธน
หัวหน้าพรรคก้าวไกลเมื่อกลางสัปดาห์ที่แล้ว
และชัยธวัชได้แจ้งกลับไปว่าจะนำมาหารือกับ สส. พรรค ซึ่งจะประชุมกันในวันนี้
ก่อนจะกลับมาให้คำตอบ
โดยเหตุผลหลักที่พรรคก้าวไกลยังไม่ตอบรับเข้าร่วม
เพราะพรรคยังไม่ได้รับความชัดเจนเกี่ยวกับเป้าหมายหรือกรอบของการแก้ไขรัฐธรรมนูญที่คณะกรรมการชุดนี้จะยึดถือ
เพื่อใช้เป็นหลักสำหรับการหารือเพิ่มเติมในรายละเอียดเกี่ยวกับการดำเนินการเรื่องประชามติ
ที่ผ่านมา
พรรคก้าวไกลได้แสดงจุดยืนมาตลอดว่าหลักการพื้นฐานที่พรรคก้าวไกลยึดถือและมองว่ามีความสำคัญอย่างยิ่งต่อการได้มาซึ่งรัฐธรรมนูญที่มีความชอบธรรมทางประชาธิปไตย
คือ (1) จัดทำรัฐธรรมนูญใหม่ทั้งฉบับ (ไม่ใช่การแก้ไขเพียงบางหมวด หรือ บางมาตรา)
และ (2) จัดทำโดย สสร. ที่มาจากการเลือกตั้งทั้งหมด (ไม่ใช่
สสร. ที่มีส่วนผสมของการแต่งตั้ง)
ทั้ง
2 หลักการนี้ ไม่เป็นแต่เพียงจุดยืนของพรรคก้าวไกล
แต่ยังเป็นข้อสรุปที่หลายฝ่ายทางการเมืองเคยมีร่วมกัน
ผ่านทั้งผลการศึกษาของคณะกรรมาวิสามัญของสภาผู้แทนราษฎรเกี่ยวกับการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ
2560 ในปี 2562-2563 ที่ได้ข้อสรุปว่าส่วนใหญ่เห็นตรงกันให้
‘มีการร่างรัฐธรรมนูญใหม่’ โดย ‘สภาร่างรัฐธรรมนูญ (สสร.) ที่มาจากประชาชน’
อยู่ในหน้า 122 ของรายงาน
รวมถึงผลการลงมติของรัฐสภาต่อร่างแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญที่จะนำไปสู่การมี
สสร. ที่มาจากการเลือกตั้งทั้งหมด มาจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ ในปี 2563-2564 โดยในวาระที่ 1 สมาชิกรัฐสภาลงมติเห็นชอบ 2 ร่างที่จะนำไปสู่การมี สสร. มาร่างรัฐธรรมนูญใหม่ ด้วยคะแนน 88% และ 79% ตามลำดับ ส่วนวาระที่ 2 สมาชิกรัฐสภาลงมติเห็นชอบให้ สสร. มาจากการเลือกตั้งทั้งหมด
โฆษกพรรคก้าวไกลกล่าวว่า
หากทางรัฐบาลยังไม่ยืนยันว่าการทำงานและการหารือของคณะกรรมการศึกษาจะอยู่ภายใต้ 2 หลักการสำคัญดังกล่าว
พรรคก้าวไกลมีความกังวลว่าคณะกรรมการศึกษาชุดนี้
(ซึ่งมีองค์ประกอบของตัวแทนจากรัฐบาลหรือคนที่รัฐบาลทาบทามเองเป็นส่วนใหญ่)
อาจถูกใช้เป็นเครื่องมือในการย้อนหลักการสำคัญที่เคยได้ข้อสรุปร่วมกันมาก่อนแล้วเรื่องการจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่
โดย สสร. ที่มาจากการเลือกตั้ง
แต่หากทางรัฐบาลยืนยันว่าการทำงานและหารือของคณะกรรมการศึกษาจะอยู่ภายใต้
2 หลักการสำคัญนี้ ตนเชื่อว่า สส. พรรคก้าวไกล จะยินดีให้ตัวแทนพรรคเข้าร่วมเพื่อให้ความเห็นและทำงานร่วมกันเพื่อหาข้อสรุปเกี่ยวกับรายละเอียดเรื่องแนวทางการทำประชามติ
(เช่น จำนวนครั้ง กรอบเวลา คำถาม) และแนวทางด้านอื่นๆ (เช่น จำนวน สสร.
กรอบเวลาทำงานของ สสร.)