วันอาทิตย์ที่ 15 ตุลาคม พ.ศ. 2566

'ชัยธวัช' ร่วมเสวนา ‘พ่อแม่ก้าวไกล อ่านหนังสืออะไรกับลูก ๆ’ ในงานมหกรรมหนังสือ แนะนำหนังสือเด็กน่าอ่าน - ยก Babybox ของคณะก้าวหน้าเป็นนโยบายสวัสดิการที่น่าสนใจ

 


'ชัยธวัช' ร่วมเสวนา ‘พ่อแม่ก้าวไกล อ่านหนังสืออะไรกับลูก ๆ’ ในงานมหกรรมหนังสือ แนะนำหนังสือเด็กน่าอ่าน - ยก Babybox ของคณะก้าวหน้าเป็นนโยบายสวัสดิการที่น่าสนใจ


วันที่ 15 ตุลาคม 2566 พรรคก้าวไกล นำโดย ชัยธวัช ตุลาธน หัวหน้าพรรค พร้อมด้วย ศศินันท์ ธรรมนิฐินันท์ สส.กรุงเทพฯ และวีรยุทธ กาญจน์ชูฉัตร ที่ปรึกษาหัวหน้าพรรค เข้าร่วมการเสวนาภายใต้หัวข้อ ‘พ่อแม่ก้าวไกล อ่านหนังสืออะไรกับลูก ๆ’ ในงานมหกรรมหนังสือระดับชาติ ครั้งที่ 28 ณ ศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ โดยระหว่างการเสวนามีการยกตัวอย่างวรรณกรรมเยาวชนจากประสบการณ์ตรงของแต่ละคนในฐานะผู้เป็นพ่อเป็นแม่ และพูดคุยกันถึงข้อเสนอแนะด้านการส่งเสริมพัฒนาการเด็กและการจัดเตรียมโครงสร้างพื้นฐานสำหรับการมีบุตร


ชัยธวัชยกตัวอย่างวรรณกรรมเยาวชนที่น่าอ่าน เช่น เรื่องพิสดารของเด็กชายโนริยาสึ เจ้าชายน้อย แมงมุมเพื่อนรัก ห้าสหายผจญภัย มูมิน และผลงานต่าง ๆ ของโรอาลด์ ดาห์ล (Roald Dahl) พร้อมระบุว่า ตนพยายามคัดสรรวรรณกรรมเยาวชนที่น่าสนใจมาให้ลูกอ่าน แต่ไม่เคยบังคับให้ลูกอ่านหนังสือ เพราะเชื่อว่าหากเด็กสนใจหนังสือเล่มใดก็จะเลือกไปอ่านเอง โดยในช่วงที่ลูกอยู่ในวัยประถม ชัยธวัชแนะว่าควรเน้นหนังสือภาพที่มีสีสัน มีคำย้ำตัวโต ๆ เพื่อให้เด็กมีพัฒนาการด้านการเรียนรู้ที่ดี


ในด้านการส่งเสริมพัฒนาการเด็ก วีรยุทธมองว่า พัฒนาการของเด็กเริ่มต้นตั้งแต่ 0-6 ขวบ ดังนั้น รัฐบาลจึงควรมีนโยบายในระดับชาติเพื่อส่งเสริมพัฒนาการของเด็กตั้งแต่ก่อนมารดาเริ่มตั้งครรภ์ไปจนถึงหลังคลอดบุตร ทั้งนี้ ชัยธวัชยกตัวอย่างโครงการที่ประสบความสำเร็จของคณะก้าวหน้าคือการร่วมมือกับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นในการมอบกล่องเบบี้บอกซ์ (Babybox) เป็นสวัสดิการให้กับคุณแม่ที่เริ่มตั้งครรภ์ โดยภายในมีทั้งอุปกรณ์การให้นมบุตร และหนังสือสำหรับเด็กที่ถูกคัดสรรโดยผู้เชี่ยวชาญอย่างเหมาะสม เช่น หนังสือบอร์ดบุ๊ก (boardbook) ที่ทนทานต่อการฉีกขาด


ในด้านการจัดเตรียมโครงสร้างพื้นฐานสำหรับการมีบุตร วีรยุทธเล่าประสบการณ์ในต่างประเทศที่ส่งเสริมการให้นมบุตรด้วยการสร้างจุดให้นมบุตรตามสถานที่สาธารณะต่าง ๆ ซึ่งศศินันท์มองว่าสังคมไทยยังให้ความสำคัญต่อเรื่องดังกล่าวน้อย และผลักภาระให้แม่ต้องให้นมบุตรในจุดที่ลับตาคน 


นอกจากนี้ วีรยุทธยังเล่าถึงประสบการณ์การส่งลูกเรียนโรงเรียนอนุบาลในประเทศญี่ปุ่น ซึ่งถึงแม้การเรียนชั้นอนุบาลจะไม่ใช่การศึกษาภาคบังคับของญี่ปุ่น แต่การจ่ายเงินค่าเล่าเรียนจะขึ้นอยู่กับรายได้ของผู้ปกครอง โดยหากผู้ปกครองมีรายได้ไม่ถึงเกณฑ์ที่กำหนดไว้ก็ไม่ต้องจ่ายค่าเล่าเรียน อีกทั้งรัฐบาลญี่ปุ่นยังมีการแจกหนังสือเด็กให้ตามฤดูกาล เช่น หนังสือที่แจกในฤดูใบไม้ผลิก็จะมีเนื้อหาที่สัมพันธ์กับธรรมชาติและชีวิตประจำวันในฤดูใบไม้ผลิ ทั้งนี้ หากรัฐบาลไทยมีนโยบายที่ส่งเสริมและสนับสนุนทั้งด้านพัฒนาการเด็กและโครงสร้างพื้นฐานสำหรับการมีบุตรอย่างเหมาะสม ก็จะทำให้คุณภาพชีวิตของพ่อแม่และเด็กดียิ่งขึ้น


#UDDnews #ยูดีดีนิวส์ #สัปดาห์หนังสือ #ชัยธวัช #ก้าวไกล