วันพุธที่ 25 ตุลาคม พ.ศ. 2566

“พริษฐ์” ชวนประชาชนจับตารัฐบาลเรื่อง “คำถาม” ประชามติ หลังสภาฯ ปัดตกญัตติประชามติรัฐธรรมนูญใหม่ของก้าวไกลที่เคยได้รับเสียงเห็นชอบเอกฉันท์เมื่อปีก่อน เผย เตรียมยื่นข้อเสนอต่ออนุกรรมการรับฟังความเห็นประชามติฯ กลางเดือน พ.ย. นี้

 


“พริษฐ์” ชวนประชาชนจับตารัฐบาลเรื่อง “คำถาม” ประชามติ หลังสภาฯ ปัดตกญัตติประชามติรัฐธรรมนูญใหม่ของก้าวไกลที่เคยได้รับเสียงเห็นชอบเอกฉันท์เมื่อปีก่อน เผย เตรียมยื่นข้อเสนอต่ออนุกรรมการรับฟังความเห็นประชามติฯ กลางเดือน พ.ย. นี้  


วันที่ 25 ตุลาคม 2566 พริษฐ์ วัชรสินธุ สส.บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล กล่าวภายหลังที่ประชุมสภาผู้แทนราษฎรมีมติไม่เห็นด้วย (ด้วยคะแนนเห็นด้วย 162 ไม่เห็นด้วย 261) ต่อญัตติที่พริษฐ์และพรรคก้าวไกลเสนอตามกลไกของ พ.ร.บ. ประชามติ มาตรา 9(4) เพื่อให้คณะรัฐมนตรีดำเนินการให้มีการสอบถามความเห็นของประชาชนต่อการจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ ด้วยคำถามที่ว่า


“ท่านเห็นชอบหรือไม่ ว่าประเทศไทยควรมีการจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ทั้งฉบับ แทนที่รัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2560 ฉบับปัจจุบัน โดยสภาร่างรัฐธรรมนูญ (สสร.) ที่มาจากการเลือกตั้งโดยตรงของประชาชน?”


พริษฐ์ กล่าวว่า เป็นเรื่องน่าเสียดาย ที่สภาผู้แทนราษฎรในวันนี้ ไม่สนับสนุนญัตติเรื่องการจัดประชามติและ “คำถาม” ประชามติเกี่ยวกับการจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ ที่เคยถูกเสนอโดยพรรคก้าวไกลและพรรคเพื่อไทยและได้รับความเห็นชอบอย่างเป็นเอกฉันท์จาก สส. ทุกพรรคการเมืองหลัก เมื่อ 3 พฤศจิกายน 2565 หรือไม่ถึง 1 ปีที่ผ่านมาเท่านั้น 


ในเมื่อช่องทางผ่านรัฐสภาถูกปิดลง ช่องทางที่เหลือเกี่ยวกับการจัดประชามติเรื่องการจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ รวมถึงอำนาจในการกำหนดคำถามประชามติ จะขึ้นอยู่กับคณะรัฐมนตรี ผ่าน 2 ช่องทางหรือกลไกที่เหลืออยู่ของ พ.ร.บ.ประชามติ นั่นคือ

(1) ครม. มีมติด้วยตนเอง (มาตรา 9(2))

(2) ครม. อนุมัติจัดประชามติตามข้อเสนอของประชาชนที่รวบรวมรายชื่อ (มาตรา 9(5))


ส่วนกรณีชนินทร์ รุ่งธนเกียรติ รองเลขาธิการนายกรัฐมนตรี ในฐานะกรรมการและผู้ช่วยเลขานุการคณะกรรมการเพื่อพิจารณาศึกษาแนวทางในการทำประชามติ เพื่อแก้ไขปัญหาความเห็นที่แตกต่างในเรื่องรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ.2560 ระบุจะส่งหนังสือถึงหัวหน้าพรรคก้าวไกล เพื่อพูดคุยแลกเปลี่ยนความคิดเห็นกับอนุกรรมการรับฟังความคิดเห็นของประชาชนเกี่ยวกับแนวทางในการทำประชามติเพื่อแก้ไขรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2560 นั้น พริษฐ์กล่าวว่า ตอนนี้ ชัยธวัช ตุลาธน หัวหน้าพรรคก้าวไกล ได้รับการประสานงานจาก นิกร จำนง ประธานอนุกรรมการฯ และได้ตอบรับการนัดหารือเรียบร้อยแล้ว เพื่อยื่นข้อเสนอและความเห็นของพรรคทั้งหมดต่อคณะกรรมการศึกษาฯ โดยคาดว่าการหารือจะมีขึ้นช่วงกลางเดือนพฤศจิกายน 


พริษฐ์กล่าวต่อว่า ตนย้ำว่าพรรคก้าวไกลได้ประกาศตั้งแต่ต้น ว่าแม้พรรคไม่เข้าร่วมคณะกรรมการศึกษาแนวทางการจัดทำประชามติฯ ในฐานะกรรมการ แต่ยินดีให้ความร่วมมือในการให้ข้อมูล ความเห็น และข้อเสนอของพรรค นอกจากนั้น คณะกรรมาธิการพัฒนาการเมืองฯ ของสภาผู้แทนราษฎร ที่ตนเป็นประธาน จะมีการตั้งอนุกรรมาธิการขึ้นมาในการประชุมวันพรุ่งนี้ (26 ตุลาคม) เพื่อจัดทำข้อเสนอและทางเลือกต่างๆ เกี่ยวกับระบบเลือกตั้งที่สามารถนำมาใช้ในการเลือกตั้งสภาร่างรัฐธรรมนูญ (สสร.) และยื่นให้คณะกรรมการของรัฐบาลในการประกอบการตัดสินใจ


#UDDnews #ยูดีดีนิวส์ #ก้าวไกล #ประชามติ