วันจันทร์ที่ 2 ตุลาคม พ.ศ. 2566

‘ชัชชาติ’ รับข้อเรียกร้อง 'สลัม 4 ภาค' เนื่องใน'วันที่อยู่อาศัยโลก' เพื่อร่วมแก้ปัญหาที่อยู่อาศัยคนจนเมือง ชี้เป็นเรื่องสำคัญที่ต้องหารือกับรัฐบาล ย้ำกทม.ให้ความสำคัญสวัสดิการขั้นพื้นฐาน เพื่อสิทธิเท่าเทียมกับคน กทม.

 


ชัชชาติ’ รับข้อเรียกร้อง 'สลัม 4 ภาค' เนื่องใน'วันที่อยู่อาศัยโลก' เพื่อร่วมแก้ปัญหาที่อยู่อาศัยคนจนเมือง ชี้เป็นเรื่องสำคัญที่ต้องหารือกับรัฐบาล ย้ำกทม.ให้ความสำคัญสวัสดิการขั้นพื้นฐาน เพื่อสิทธิเท่าเทียมกับคน กทม.

 

วันนี้ (2 ตุลาคม 2566) เวลา 08.00 น. ที่ลานคนเมือง หน้าศาลาว่าการกรุงเทพมหานคร เครือข่ายสลัม 4 ภาค พร้อมแนวร่วม จัดกิจกรรมรณรงค์ #เดินเพื่อบ้าน เนื่องใน'วันที่อยู่อาศัยโลก' (World Habitat Day) ที่ทางองค์การสหประชาชาติประกาศไว้ โดยเริ่มตั้งขบวนที่ลานคนเมือง และเคลื่อนขบวนไปยังอนุสาวรีย์ประชาธิปไตย กระทรวงคมนาคม องค์การสหประชาชาติ หรือยูเอ็น และทำเนียบรัฐบาล

 

เวลา 9.00 น. นายชัชชาติ สิทธิพันธ์ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร (กทม.) ได้ออกมารับหนังสือเครือข่ายสลัม 4 ภาค ที่ยื่นข้อเรียกร้องต่อหน่วยงาน กทม. เพื่อขอให้ช่วยเหลือในการจัดที่ดินที่อยู่อาศัยให้กับชุมชนได้อย่างถูกต้องตามกฎหมาย

 

นายชัชชาติ ได้กล่าวว่าเรื่องที่อยู่อาศัยเป็นเรื่องสำคัญ ถ้าเราไม่มีที่อยู่อาศัยที่เป็นหลักแหล่ง ก็จะเป็นการยากต่อการพัฒนาชีวิตให้มีคุณภาพได้ โดยชัชชาติ ได้ระบุว่า กทม. ไม่ได้มีที่ดินเป็นของตัวเอง แต่เป็นของหน่วยงานอื่น เช่นการรถไฟ การทางฯ ที่พัสดุ กรมธนารักษ์ ต่าง ๆ ดังนั้น กทม. จึงทำหน้าที่เพียงผู้ประสาน เพื่อขอใช้ที่ดินเท่านั้น และเป็นหน้าที่ ที่ต้องดูแลพี่น้องให้ดีที่สุด

 

ทั้งนี้โครงการหลัก ๆ ที่ดำเนินการอยู่ที่บริเวณคลองเปรมประชากร คลองลาดพร้าว ที่ทำบ้านมั่นคงอยู่ โดย กทม. จะพยายามเดินหน้าโครงการเหล่านี้อย่างเต็มที่ นายชัชชาติกล่าว

 

นายชัชชาติยังได้ย้ำอีกว่ากทม.ให้ความสำคัญกับเรื่องที่อยู่อาศัย โดยเฉพาะผู้มีรายได้น้อย และกลุ่มคนจนเมือง ด้วยการจัดหาห้องเช่าราคาถูก และการให้สวัสดิการขั้นพื้นฐาน ซึ่งที่ผ่านมาได้มีการแก้ปัญหาเรื่องการสร้างที่รุกล้ำลำคลองสาธารณะ ทั้งที่คลองลาดพร้าว และคลองเปรมประชากร ซึ่งได้ดำเนินการมาอย่างต่อเนื่อง แต่ยังคงติดปัญหาบางส่วน ที่ไม่ยอมย้ายออกจากพื้นที่

 

ส่วนเรื่องการอยู่อาศัยในพื้นที่ของหน่วยงานอื่น ก็อาจจะต้องมีการหารือร่วมกัน หากสามารถร่วมมือกันได้เชื่อว่าจะมีทางออกให้กับทุกคน

 

นายชัชชาติ กล่าวอีกว่า มองว่ารัฐบาลใหม่มา ก็จะมีการรับฟังพวกเราได้อย่างดียิ่งขึ้น ซึ่งเป็นเรื่องสำคัญที่ กทม. จะนำไปหารือกับรัฐบาล ซึ่งเรามีคณะทำงานที่นายกฯ จัดตั้งขึ้นมาในการแก้ไขปัญหา ส่วนโครงการที่ทำอยู่แล้ว เราจะเร่งดำเนินการต่อ ซึ่งบางโครงการอาจจะช้าแต่จะเร่งทำให้โดยเร็วที่สุด

 

จากนั้นเครือข่ายฯได้อ่านข้อเรียกร้องและยื่นหนังสือต่อ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร สำหรับข้อเรียกร้อง เนื่องในวันที่อยู่อาศัยโลก ปี 2566 มีดังนี้

 

1. ให้ กทม. เป็นหน่วยงานในการขอที่ดินสาธารณะ และที่ดินของหน่วยงาน กทม. เพื่อให้ชุมชน จัดสร้างที่อยู่อาศัยอย่างถูกต้องตามกฎหมาย โดยมีโครงการบ้านมั่นคง ของสถาบันพัฒนาองค์กรชุมชนเข้ามาสนับสนุน

 

2. กทม. ต้องหยุดใช้กฎหมาย ปว.44 ที่มาจากอำนาจเผด็จการ และลิดรอนสิทธิมนุษยชน ในกระบวนการยุติธรรม และให้มีกระบวนการยกเลิก ปว.44 นี้

 

3. ให้มีมาตรการที่ชัดเจน เพื่อให้ชุมชนสามารถปรับปรุง สร้างความมั่นคงในการอยู่อาศัยที่เดิมได้ โดยมีหลักเกณฑ์ที่ประกอบด้วย ต้องเป็นชุมชน ที่ปลูกบ้านเรือนไม่ลุกล้ำคลอง หรืออยู่ในสภาพที่ขัดขวางการระบายน้ำ และมีพื้นที่ในการปรับปรุงผังการอยู่อาศัยใหม่ให้เป็นระเบียบ ไม่ขัดขวางการระบายน้ำ รวมถึงเป็นชุมชนที่อยู่ในพื้นที่เสื่อมสภาพแล้ว ไม่สามารถใช้ในการระบายน้ำได้ ให้ชุมชนจัดผังการอยู่อาศัยใหม่ในพื้นที่เดิม

 

4. ในกรณีชุมชนไม่สามารถอยู่ที่เดิมได้ ให้ กทม. ขอใช้ที่ดินสาธารณะในเมือง เพื่อเป็นพื้นที่รองรับการย้ายไปสร้างชุมชนใหม่

 

5. ให้ กทม. สนับสนุน และสำรวจชุมชนที่อยู่อาศัยในพื้นที่ริมคลอง ในเขต กทม. ร่วมกับเครือข่ายภาคีองค์กรชุมชน สถาบันพัฒนาองค์ชุมชน และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ให้ได้ข้อมูลชุมชนที่ชัดเจน เพื่อใช้ในการแก้ปัญหา

 

6. ให้ชุมชนในพื้นที่ กทม. สามารถจดแจ้งชุมชนได้ เพื่อให้ผู้อยู่อาศัย และแรงงานที่ใช้ชีวิตในกรุงเทพมหานคร ได้เข้าถึงการพัฒนาคุณภาพชีวิตพื้นฐาน และ กทม. สามารถนำข้อมูลไปใช้ในการทำแผนการพัฒนาเมืองได้อย่างมีประสิทธิภาพ

 

7. ให้มีนโยบายการเก็บภาษีรายแปลงย่อยตามการอาศัยอยู่จริง หรือตามทะเบียนบ้านของผู้อยู่อาศัยในโครงการ

 

8. จัดทำข้อมูลชุมชนในโครงการบ้านมั่นคงในพื้นที่ กทม. ร่วมกัน (สถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน, กทม. และองค์กรชุมชน)

 

9. ต้องการการสนับสนุนจาก กทม. ในเรื่องอำนวยการ การจัดสร้างที่อยู่อาศัย ในโครงการบ้านมั่นคง และการพัฒนาสาธารณูปโภค

 

10. ให้แจ้งนโยบายการสนับสนุนโครงการบ้านมั่นคง และประสานงานกับสำนักงานเขต ให้มีการสนับสนุน และมี แผนการพัฒนาโครงการบ้านมั่นคงในพื้นที่ร่วมกัน ระหว่างองค์กรชุมชน สำนักงานเขต และสถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน

 

11. มีการดำเนินการนำร่องห้องเช่าราคาถูกย่านหัวลำโพง ร่วมกับ สสส. กรมพัฒนาสังคมและสวัสดิการ และ สถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน และกำลังดำเนินการที่ศูนย์คนไร้บ้าน จ. ปทุมธานี และก่อสร้างแล้วเสร็จที่ซอย เลียบวารี 79 เขตหนองจอก จึงต้องการ การสนับสนุนจากกรุงเทพมหานครในการสร้างรูปธรรมที่อยู่อาศัยเช่า ราคาถูกให้หลากหลาย รองรับผู้เช่าห้องในเมือง และสอดคล้องกับนโยบายการพัฒนาที่อยู่อาศัยเช่าราคาถูก สำหรับคนเริ่มต้นทำงาน ของกรุงเทพมหานคร

 

12. กรุงเทพมหานครจะดำเนินการพัฒนาโครงการที่อยู่อาศัยเช่าราคาถูกอย่างไร เริ่มดำเนินการในช่วงเวลาไหน ซึ่งทางเครือข่าย และหน่วยงานภาคีต่าง ๆ จะมีส่วนร่วมได้อย่างไร

 

13. มีการดาเนินการพัฒนานโยบายห้องเช่าราคาถูก ร่วมกับสถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน และภาคีต่าง ๆ (ตามเอกสารแนบ) ซึ่งต้องการความร่วมมือจากหน่วยงานกรุงเทพมหานคร ในการบูรณาการ และเพิ่มศักยภาพใน การพัฒนานโยบาย และรูปธรรม

 

14. ให้แจ้งไปยังสำนักงานเขต ให้ดำเนินการสร้างความเข้าใจกับชุมชนที่ต้องรื้อย้าย ให้รับรู้และย้ายชื่อไปไว้ใน ทะเบียนบ้านอื่นที่มี

 

15 .กรณีที่จะย้ายไปสร้างชุมชนใหม่ในโครงการบ้านมั่นคง ให้สำนักงานเขตออกทะเบียนบ้านให้ก่อน 1 หลัง เพื่อ รองรับผู้ที่จะรื้อย้ายไป และเมื่อสร้างบ้านเสร็จ ก็สามารถดำเนินการย้ายเข้าทะเบียนบ้านของตัวเองได้

 

#UDDnews #ยูดีดีนิวส์ #สลัม4ภาค