วันอังคารที่ 3 ตุลาคม พ.ศ. 2566

33 องค์กร ในนาม'เครือข่ายนักศึกษาและประชาชนคืนความยุติธรรม' ยื่นหนังสือประธานศาลฎีกา ร้องคืนสิทธิประกันตัวผู้ต้องขังทางการเมือง-ยุติการดำเนินคดีมาตรา 112 ต่อประชาชน

 


33 องค์กร ในนาม'เครือข่ายนักศึกษาและประชาชนคืนความยุติธรรม' ยื่นหนังสือประธานศาลฎีกา ร้องคืนสิทธิประกันตัวผู้ต้องขังทางการเมือง-ยุติการดำเนินคดีมาตรา 112 ต่อประชาชน

 

วันนี้ (3 ตุลาคม 2566) เวลา 11.30 น. ที่ด้านหน้าสำนักงานประธานศาลฎีกา เครือข่ายนักศึกษาและประชาชนคืนความยุติธรรม รวม 33 องค์กร ยื่นหนังสือถึงประธานศาลฎีกา เรื่องขอให้ศาลพิจารณา 2 ข้อเรียกร้องของ โสภณ สุรฤทธิ์ธำรง หรือเก็ท นักกิจกรรมกลุ่มโมกหลวงริมน้ำ ซึ่งขณะนี้เป็นผู้ต้องขังในคดีมาตรา 112 ตั้งแต่วันที่ 24 สิงหาคม 2566 จากกรณีเข้าร่วมปราศรัยในกิจกรรม "ฟื้นฝอยหาตะเข็บ 240 ปี ใครฆ่าพระเจ้าตาก" ที่วงเวียนใหญ่เมื่อ 6 เมษายน 2565

 

อย่างไรก็ตาม ระหว่างถูกขัง "เก็ท"ถูกเบิกตัวมาขึ้นศาล เมื่อวันที่ 4 กันยายน 2566 โดยในครั้งนั้น'เก็ท' แถลงต่อศาลขอถอนทนายความในคดี ม.112 พร้อมปฏิเสธอำนาจศาล เพื่อเรียกร้อง 2 ข้อ คืนสิทธิประกันตัวให้ผู้ต้องขังการเมืองทุกคน และยุติการดำเนินคดี ม.112 ทั้งหมด นั้น

 

ด้าน อันเจลโลว์ ศตายุ สาธร แนวร่วมธรรมศาสตร์และการชุมนุม กล่าวว่า วันนี้พวกเรามาในนามเครือข่ายนักศึกษาประชาชนคืนความยุติธรรม เพื่อยื่นหนังสือต่อประธานศาลฎีกา ในฐานะที่เป็นประมุขฝ่ายตุลาการ และเป็นประธานคณะกรรมการที่บริหารศาลยุติธรรมหลายชุด ให้พิจารณาถึง 2 ข้อเรียกร้อง ของ เก็ท โสภณ ตามรายละเอียดในหนังสือ

 

พวกเราเห็นว่าศาลควรจะต้องพิจารณาถึง 2 ข้อเรียกร้อง ด้วย 2 เหตุผลหลักคือ 1. สิทธิการประกันตัวเป็นสิทธิขั้นพื้นฐานของประชาชน และคดีความทั้งหมดที่อยู่ในจดหมายฉบับนี้เป็นคดีที่ยังไม่ได้ตัดสินจนถึงที่สุด ดังนั้นศาลจึงควรเคารพในสิทธิการประกันตัวของประชาชน และ 2. ปัจจุบันนี้ยังไม่มีขอบเขตทั้งบทและการบังคับใช้มาตรา 112 ที่ชัดเจน ทำให้มาตรา 112 ถูกใช้เป็นเครื่องมือทางการเมืองปิดปากประชาชนผู้เห็นต่าง พวกเราจึงเห็นว่า ศาลควรจะยุติการดำเนินคดีมาตรา 112 อย่างน้อยจนกว่าจะมีการกำหนดขอบเขตหรือการบังคับใช้ ที่ชัดเจน

 

ขอฝากถึงฝ่ายตุลาการ นักโทษการเมืองทุกคนที่กำลังถูกคุมขังอยู่ตอนนี้ ต่างเป็นคนที่มีครอบครัว มีความฝัน มีการงาน มีหน้าที่เหมือนคนทั่วไป หากศาลยิ่งพรากอิสระภาพของพวกเขาไป หลักนิติธรรมในประเทศก็จะยิ่งเสื่อมลง อันเจลโลว์ กล่าวทิ้งท้าย

 

จากนั้นเจ้าหน้าที่นิติกรสำนักงานประธานศาลฎีกาออกมารับจดหมาย พร้อมแจ้งรายละเอียดในการติดตามความคืยหน้า ก่อนที่ อภิสิทธิ์ ฉวานนท์ นิสิตจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และณิชารีย์ มีคุณ นักศึกษามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ร่วมอ่านรายจดหมายเปิดผนึกที่ยื่นถึงประธานศาลฎีกา โดยมีใจความว่า

 

ด้วยวันที่ 25 สิงหาคม 2566 ศาลอาญาได้มีการอ่านคำพิพากษา ในคดีหมายเลขดำ อ. 1447/2565 ให้จำคุกนายโสภณ สุรฤทธิ์ธำรง หรือเก็ทแกนนำกลุ่มโมกหลวงริมน้ำ 3 ปี 6 เดือน โดยไม่รอลงอาญา ในความผิดฐานหมิ่นประมาทพระมหากษัตริย์ฯ ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 และ พ.ร.บ.ควบคุมการโฆษณาโดยใช้เครื่องขยายเสียง

 

ต่อมาเมื่อวันที่ 27 สิงหาคม 2566 ศาลอาญาได้อ่านคำสั่งศาลอุทธรณ์ขอปล่อยตัวชั่วคราวของนายโสภณ ปรากฏว่าศาลอุทธรณ์ไม่อนุญาตให้ปล่อยนายโสภณในระหว่างอุทธรณ์

 

มิหนำซ้ำเมื่อวันที่ 4 กันยายน 2566 มีผู้ต้องขังทางการเมืองจำนวนหนึ่งเริ่มอดอาหารเพื่อเรียกร้องความยุติธรรม และนายโสภณมีความคิดเห็นว่าศาลนั้นไม่มีความชอบธรรมมากพอที่จะพิจารณาคดีได้อย่างเหมาะสมต่อผู้ต้องขังทางการเมือง นายโสภณจึงได้ประกาศ 2 ข้อเรียกร้องของตนต่อฝ่ายตุลาการของประเทศ โดยข้อเรียกร้องดังกล่าวมี 2 ประการ

 

1. คืนสิทธิประกันตัวให้ประชาชน

2. ยุติการดำเนินคดีตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 ต่อประชาชน

 

โดยในจดหมายเปิดผนึกยังระบุด้วยว่าปัจจุบันมีประชาชนที่เป็นผู้ต้องขังทางการเมืองและไม่ได้รับสิทธิประกันตัว แม้คดีจะยังไม่ถึงที่สุดอยู่ 25 ราย ได้แก่

1.วารุณี (สงวนนามสกุล)

2.เวหา แสนชนชนะศึก

3.วุฒิ (นามสมมติ)

4.“เก็ท” โสภณ สุรฤทธิ์ธำรง

5.อุดม (สงวนนามสกุล)

6.อานนท์ นำภา

7.ถิรนัย (สงวนนามสกุล)

8.ชัยพร (สงวนนามสกุล)

9.“มาร์ค” ชนะดล (สงวนนามสกุล)

10.ประวิตร (สงวนนามสกุล)

11.ธีรภัทร (สงวนนามสกุล)

12.ปฐวีกานต์ (สงวนนามสกุล)

13.คเชนทร์ (สงวนนามสกุล)

14.ขจรศักดิ์ (สงวนนามสกุล)

15.วัฒน์ (นามสมมติ)

16.ทีปกร (สงวนนามสกุล)

17.จตุพล (สงวนนามสกุล)

18.พลพล (สงวนนามสกุล)

19.วัชรพล (สงวนนามสกุล)

20.ณัฐพล (สงวนนามสกุล)

21.วีรภาพ วงษ์สนาม (รีฟ)

22.สมบัติ ทองย้อย

23.ไพฑูรย์ (สงวนนามสกุล)

24.สุขสันต์ (สงวนนามสกุล)

25.ธนายุทธ ณ อยุธยา

 

ทำให้ทางเครือข่ายฯจึงต้องมาร่วมยื่นจดหมายเปิดผนึกตามข้อเรียกร้องของเก็ท โสภณด้วย 2 เหตุผลคือ

 

1. คดีดังกล่าวทั้งหมดเป็นคดีที่ยังไม่ได้รับคำพิพากษาจากศาลฎีกา ศาลสูงสุดในแผ่นดิน โดยมีหลายคดีที่ยังอยู่ในขั้นตอนยื่นประกันตัวระหว่างฎีกา จึงสามารถเรียกได้ว่าเป็นคดีที่ยังตัดสินคดีไม่ถึงที่สุด ตามหลักการกฎหมายก่อนมีคำพิพากษาอันถึงที่สุดแสดงว่าบุคคลใดได้กระทำความผิด จะปฏิบัติต่อบุคคลนั้นเสมือนเป็นผู้กระทำความผิดไม่ได้ จำเลยในคดีดังกล่าวทั้งหมดจึงมีสิทธิ์ในการประกันตัวก่อนมีคำพิพากษาจากศาลสูงสุดซึ่งเป็นสิทธิขั้นพื้นฐานตามรัฐธรรมนูญ

 

หากศาลที่ควรจะเป็นผู้พิทักษ์ความยุติธรรมในประเทศ ตัดสินใจที่จะไม่คืนสิทธิการประกันตัวแก่ผู้ต้องหาคดีทางการเมืองดังกล่าวทั้งหมด จะเป็นการสวนทางกับผู้ต้องหาในคดีอื่น ๆ ที่มีอัตราโทษสูงกว่า ส่งผลให้หลักนิติธรรมของประเทศเสื่อมเสียและความเชื่อมั่นในฝ่ายตุลาการลดลง

 

2. คดีดังกล่าวทั้งหมดโดยเฉพาะคดีตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 เป็นผลของการที่รัฐบาลพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา รัฐบาลในวาระที่ผ่านมา ก่อการนิติสงครามกับประชาชนที่เห็นต่าง อันเห็นได้ชัดเจนจากแถลงการณ์นายกรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 19 พฤศจิกายน 2563 ที่พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีในขณะนั้น ประกาศเจตนารมณ์ที่จะใช้กฎหมายทุกฉบับทุกมาตรา เอาผิดผู้ชุมนุมที่ออกมาใช้สิทธิในเสรีภาพการชุมนุมตามมาตรา 44 ของรัฐธรรมนูญ พ.ศ 2560

 

ซึ่งการใช้กฎหมายลักษณะนี้ขัดต่อพระราชดำรัสที่รัชกาลที่ 9 เคยตรัสไว้ว่า “แต่ความจริง ก็ต้องวิจารณ์บ้างเหมือนกัน แล้วก็ไม่กลัว ถ้าใครจะวิจารณ์ว่าทำไม่ดีตรงนั้น ๆ จะได้รู้ เพราะถ้าบอกพระเจ้าอยู่หัวไปวิจารณ์ท่านไม่ได้ก็หมายความว่าพระเจ้าอยู่หัวไม่เป็นคน” เมื่อ 4 ธันวาคม 2548 และรัชกาลที่ 10 ตรัสว่า “สิ่งที่อยากจะบอกคนไทยทุกคนมาตรา 112 ไม่ได้ใช้เลย เพราะอะไรรู้มั้ยเพราะพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวท่านทรง พระเมตตา ไม่ให้ใช้นี่คือสิ่งที่ท่านทรงทำให้แล้ว” เมื่อ 15 มิถุนายน 2563

 

ทั้งนี้ในท้ายจดหมายได้แนบชื่อองค์กรที่ร่วมในเครือข่ายนักศึกษา-ประชาชนคืนความยุติธรรมทั้ง 33 กลุ่มดังต่อไปนี้

 

1. โมกหลวงริมน้ำ

2. แนวร่วมธรรมศาสตร์และการชุมนุม

3. DemHope

4. ทะลุฟ้า

5. พรรคโดมปฏิวัติ

6. กอผือรื้อ เผด็จการ

7. เพื่อนกัญปฏิวัติ

8. 14 ขุนพลคนของราษฎร

9. Law Long Beach – กลุ่มนักกฎหมายอาสาเพื่อสิทธิมนุษยชนภาคใต้

10. พรรคจุฬาของทุกคน

11. ทะลุวัง

12. Campaigners.who.hate.paperwork

13. แก๊ส

14. ภาคีนิสิตจุฬาฯ เพื่อสิทธิและเสรีภาพ

15. สโมสรนิสิตคณะสหเวชศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

16. สโมสรนิสิตคณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

17. คณะกรรมการนิสิตปริญญาบัณฑิตคณะครุศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

18. คณะกรรมการนิสิตคณะนิเทศศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

19. คณะกรรมการนิสิตอักษรศาสตร์ (ก.อศ.)

20. ฝ่ายส่งเสริมมนุษยธรรมและสิทธิมนุษยชนสากล องค์การบริหารสโมสรนิสิต

จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

21. องค์การนักศึกษามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

22. องค์การนักศึกษามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ศูนย์รังสิต

23. องค์การ นักศึกษามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์

24. คณะกรรมการนักศึกษาคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ศูนย์รังสิต

25. คณะกรรมการนักศึกษาคณะนิติศาสตร์ สาขากฎหมายธุรกิจ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

26. คณะกรรมการนักศึกษาคณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

27. คณะกรรมการนักศึกษาคณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

28. คณะกรรมการนักศึกษาสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

29. คณะกรรมการนักศึกษา คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

30. คณะกรรมการนักศึกษา วิทยาลัยนวัตกรรม มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

31. คณะกรรมการนักศึกษาวิทยาลัยพัฒนศาสตร์ ป๋วย อึ๊งภากรณ์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

32. คณะกรรมการนักศึกษาวิทยาลัยสหวิทยาการ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ศูนย์รังสิต

33. สภานักศึกษามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์สภานักศึกษามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

 

#UDDnews #ยูดีดีนิวส์ #ม112 #คืนสิทธิประชาชน