วันพุธที่ 11 ตุลาคม พ.ศ. 2566

บางแง่มุมเรื่อง “ดิจิทัล วอลเล็ต” จากหมอสลักธรรม

 


บางแง่มุมเรื่อง “ดิจิทัล วอลเล็ต” จากหมอสลักธรรม


เมื่อวันที่ 10 ตุลาคม 2566 นพ.สลักธรรม โตจิราการ หรือ “หมอหวาย” ได้โพสต์แสดงบางแง่มุมในเรื่อง #ดิจิทัลวอลเล็ต ซึ่งเป็นหนึ่งในนโยบายของพรรคเพื่อไทย และเป็นที่วิพากษ์วิจารณ์อย่างกว้างขวางในสังคมไทยขณะนี้ โดย “หมอหวาย” ได้โพสต์ข้อความว่า


เรื่องเงินดิจิตอลผมเองก็พยายามติดตาม แต่ก็ยังงง ๆ อยู่ เท่าที่พยายามปะติดปะต่อเข้าใจว่าจะเป็นแบบนี้ ไม่ทราบว่าจะถูกต้องไหม ถ้าทีมเพื่อไทยเข้ามาดูก็ช่วยแนะนำผมหน่อยครับว่าผมเข้าใจถูกหรือไม่


เงินดิจิตอล” ที่รัฐบาลวางแผนจะทำนี่น่าจะคล้ายกับ “คูปอง” ที่มีการระบุเงื่อนไขว่าซื้ออะไรในพื้นที่ไหนได้บ้าง (จะเป็นในรัศมี 4 กิโลเมตร หรือในตำบลที่เรามีทะเบียนบ้านอยู่) เมื่อจะใช้ต้องมีการสลักหลังทั้งทางฝั่งร้านค้าและฝั่งผู้ใช้ว่าใช้ซื้ออะไร ซื้อเมื่อไหร่ และพอเอาคูปองฉบับนี้ไปใช้ต่อก็ต้องมีการสลักหลังต่อท้ายไปเรื่อย ๆ และมีหลักฐานในการเก็บบันทึกสลักหลังทั้งฝั่งคนขาย คนซื้อ และรัฐ การสลักหลังและการบันทึกหลักฐานการสลักหลังโดยแยกเก็บหลักฐานไว้ทั้งคนซื้อ คนขาย และรัฐบาล (อาจรวมถึงการไปฝากหลักฐานการสลักหลังไว้ที่อื่นหลาย ๆ แหล่งกระจายกัน) แบบอัตโนมัติโดยใช้ระบบดิจิตอล ก็คือการทำบล็อกเชนนั่นเอง เพราะชีวิตจริงคงไม่มีใครมานั่งสลักหลังและทำบัญชีคูปองกันหรอกครับ


ตัวคูปอง “เงินดิจิตอล”นี้ ไม่ใช่เงินสด แต่จะเขียนมูลค่าเอาไว้ว่าเป็นกี่บาท อาจมีเงื่อนไขว่าสามารถนำไปแลกเป็นเงินจริงได้ที่ธนาคารของรัฐ โดยอาจมีค่าธรรมเนียมในการแลก คล้าย ๆ ทรูวอลเล็ต พร้อมกันสำรองเงินสดไว้ตามยอดดังกล่าวที่มีการประมาณว่าอยู่ที่ 5.6 แสนล้านบาท แต่ถ้าคนไม่ได้มาแลกออกเป็นเงินสดทั้งหมด ยอดเงินสดก้อนนี้ก็จะถูกใช้แค่บางส่วน แต่ถ้าจะให้ถอนออกมาเป็นเงินสดไม่ได้เหมือนเงินในบัตรสตาร์บัค ก็ต้องสร้างความเชื่อมั่นให้ประชาชนว่าเงินดิจิตอลนี้ใช้ได้จริงแม้จะแลกออกมาเป็นเงินสดไม่ได้ ต้องมีมาตรการดึงดูดร้านค้าให้รับเงินดิจิตอลก้อนนี้อย่างเช่นให้ร้านค้าสามารถนำเงินดิจิตอลที่ได้มาไปซื้อของกับผู้ค้าส่งได้โดยไม่ต้องถูกจำกัดเรื่องระยะทาง หรือให้ทั้งร้านค้าและผู้ค้าส่งสามารถนำเงินดิจิตอลมาจ่ายภาษีแทนเงินสดตามมูลค่าของเงินดิจิตอลได้เลย (ถ้าเป็นศัพท์เทคนิคของวงการ blockchain เงินดิจิตอลก็คือ fiat-collateralized stablecoin)


สุดท้าย ผมมองว่า “เงินดิจิตอล” จะได้ผลในการกระตุ้นเศรษฐกิจโดยไม่สร้างภาระทางการคลังไม่มากเกินไปหรือไม่ อยู่ที่รัฐจะสร้างความเชื่อถือให้กับเงินดิจิตอลให้คนไม่แลกออกมาเป็นเงินสด และยอมใช้เงินดิจิตอลในการเป็นตัวกลางในการแลกเปลี่ยนสินค้าแค่ไหนครับ และต้องรอดูว่าเงินดิจิตอลจะส่งผลต่อสภาวะเงินเฟ้ออย่างไรครับ


#UDDnews #ยูดีดีนิวส์ #พรรคเพื่อไทย #เงินดิจิทัล