วันเสาร์ที่ 21 ตุลาคม พ.ศ. 2566

‘พริษฐ์’ เผย ญัตติประชามติจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ เป็นคิวแรกประชุมสภาฯ 25 ต.ค. นี้ หวัง สส.ทุกพรรคสนับสนุน ให้ข้อเสนอประชามติมีกลไกคู่ขนาน สภาฯ-รัฐบาล

 


พริษฐ์’ เผย ญัตติประชามติจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ เป็นคิวแรกประชุมสภาฯ 25 ต.ค. นี้ หวัง สส.ทุกพรรคสนับสนุน ให้ข้อเสนอประชามติมีกลไกคู่ขนาน สภาฯ-รัฐบาล

 

วันที่ 21 ตุลาคม 2566 พริษฐ์ วัชรสินธุ โฆษกพรรคก้าวไกล เปิดเผยว่า จากหนังสือนัดประชุมสภาผู้แทนราษฎร วันที่ 25-26 ตุลาคม ที่เผยแพร่ต่อสาธารณะเมื่อวานนี้ (20 ตุลาคม) เป็นที่ชัดเจนแล้วว่าญัตติที่เข้าคิวเป็นอันดับแรกสำหรับการพิจารณาในการประชุมครั้งถัดไป ในวันพุธที่ 25 ตุลาคม คือญัตติเสนอให้จัดประชามติเพื่อเดินหน้าจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ ที่เสนอโดยตนและพรรคก้าวไกล

 

พริษฐ์กล่าวว่า พรรคก้าวไกลเรายืนยันว่าการจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ที่มีความชอบธรรมทางประชาธิปไตย เป็นภารกิจสำคัญต่ออนาคตการเมืองไทย โดยหลายฝ่ายเคยได้ข้อสรุปร่วมกันว่าขั้นตอนแรกของกระบวนการดังกล่าว คือการจัดประชามติเพื่อถามประชาชนว่าอยากให้มีการจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่หรือไม่

 

ในทางกฎหมาย การตัดสินใจจัดประชามตินั้น สามารถกระทำได้ผ่าน 3 ช่องทาง (1) ครม. ออกมติด้วยตนเอง (2) ประชาชนเข้าชื่อ 50,000 คน เพื่อเสนอให้ ครม. อนุมัติ และ (3) สมาชิกรัฐสภาเสนอให้สภาผู้แทนฯ และวุฒิสภาเห็นชอบ

 

ในฐานะพรรคฝ่ายค้านซึ่งไม่ได้อยู่ใน ครม. เมื่อ 2 เดือนที่แล้ว ตนและพรรคก้าวไกลจึงได้ยื่นญัตติเข้าสู่สภาฯ เพื่อใช้ช่องทาง (3) ในการเสนอให้มีการจัดประชามติด้วยคำถามที่ว่า "ท่านเห็นชอบหรือไม่ ว่าประเทศไทยควรมีการจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ทั้งฉบับ แทนที่รัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2560 ฉบับปัจจุบัน โดยสภาร่างรัฐธรรมนูญ (สสร.) ที่มาจากการเลือกตั้งโดยตรงของประชาชน?"

 

แม้รัฐบาลมีการตั้งคณะกรรมการขึ้นมาเพื่อศึกษาเรื่องแนวทางการจัดทำประชามติ แต่ตนเชื่อว่าการใช้กลไกและพื้นที่สภาฯ สำหรับการอภิปรายแลกเปลี่ยนความเห็นต่อประเด็นดังกล่าว จะเป็นข้อมูลที่เป็นประโยชน์ต่อการตัดสินใจของรัฐบาล

 

โฆษกพรรคก้าวไกล กล่าวอีกว่า ยิ่งไปกว่านั้น ตนหวังว่าสมาชิกจากทุกพรรคการเมืองจะร่วมกันสนับสนุนญัตติดังกล่าว เพื่อให้ข้อเสนอเรื่องการจัดประชามติเกี่ยวกับการจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ เดินหน้าต่อไปได้อย่างคู่ขนานกันระหว่างกลไกของสภาฯ และกลไกของรัฐบาล

 

โดยเหตุผลที่เราเสนอคำถามประชามติตามที่ปรากฎในญัตตินั้น เป็นเพราะ (1) เป็นคำถามประชามติ ที่ถามประชาชนถึงหลักการสำคัญว่าเห็นด้วยหรือไม่กับการจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่โดย สสร. ที่มาจากการเลือกตั้ง (2) เป็นคำถามประชามติ ที่ตรงไปตรงมา เข้าใจง่าย ไม่ชี้นำ (3) เป็นคำถามประชามติ ที่ทุกพรรคการเมืองหลักจากสภาฯ ชุดที่แล้ว เคยลงมติเห็นชอบมาแล้วอย่างเป็นเอกฉันท์ ไม่ถึง 1 ปีที่ผ่านมาในวันที่ 3 พฤศจิกายน 2565

 

พริษฐ์ระบุว่า สัปดาห์หน้า ตนขอเชิญชวนทุกคนติดตามวาระเกี่ยวกับการจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ ที่จะถูกพิจารณาในสภาผู้แทนราษฎร นอกเหนือจากการพิจารณาญัตติเรื่องประชามติรัฐธรรมนูญที่จะเป็นคิวแรกในการประชุมสภาฯ วันพุธ (25 ตุลาคม) ในการประชุมคณะกรรมาธิการพัฒนาการเมืองในวันพฤหัสบดี (26 ตุลาคม) จะมีการตั้งอนุกรรมาธิการขึ้นเพื่อจัดทำข้อเสนอและทางเลือกเกี่ยวกับระบบเลือกตั้งที่สามารถนำมาใช้ในการเลือกตั้งสภาร่างรัฐธรรมนูญ (สสร.) ตามมติของคณะกรรมาธิการที่เห็นชอบหลักการดังกล่าวไปแล้ว ในการประชุมเมื่อวันพฤหัสบดีที่ผ่านมา (19 ตุลาคม)

 

#UDDnews #ยูดีดีนิวส์ #ประชามติ #รัฐธรรมนูญ