วันพุธที่ 11 ตุลาคม พ.ศ. 2566

สลักธรรม โตจิราการ : เรื่องสงครามระหว่างอิสราเอล-ฮามาส

 


เรื่องสงครามระหว่างอิสราเอล-ฮามาส


วันนี้ (11 ตุลาคม 2566) ที่เฟซบุ๊กเพจ สลักธรรม โตจิราการ หรือ “หมอหวาย” ได้โพสต์แสดงความเสียใจกับการสูญเสียของประชาชนที่ถูกสังหารโหด รวมถึงผู้ถูกจับกุมคุมขังไม่ได้รับอิสรภาพในสงครามระหว่างอิสราเอลกับฮามาส โดยสถานการณ์การสู้รบของทั้งสองฝ่ายในปัจจุบันได้ทวีความตึงเครียดขึ้นเป็นลำดับ ทั้งนี้ยังมีชีวิตประชาชนที่ถูกจับเป็นตัวประกันอีกเป็นจำนวนมากที่ยังรอความช่วยเหลือ


ทั้งนี้ “หมอหวาย” ได้โพสต์ เรื่องสงครามครั้งนี้ ความว่า


เรื่องสงครามระหว่างอิสราเอล-ฮามาส


1. ขอแสดงความเสียใจกับประชาชนที่ถูกสังหาร ถูกจับกุมคุมขัง และสูญเสียทรัพย์สิน พวกเขาไม่ควรได้รับผลกระทบเช่นนี้


2. การรุกของฮามาสครั้งนี้ต้องถือว่าฮามาสมีศักยภาพสูง ลองจินตนาการว่าหากกองทัพของรัฐชาติอื่น ๆ ในย่านนั้นสามารถยิงจรวด 2,500 - 5,000 ลูก จนระบบป้องกันจรวดไอรอนโดมของอิสราเอลรับมือไม่ไหว และบุกโจมตีเมืองของอิสราเอลบางเมืองได้ต้องถือว่ากองทัพของรัฐชาตินั้นไม่ธรรมดา ไม่ต้องพูดถึงกองกำลังที่ยังไม่ได้เป็นกองทัพของรัฐชาติ มีคนเสนอว่าเพราะกำลังทหารส่วนใหญ่ของอิสราเอลมัวแต่ไปอยู่ในเขตเวสต์แบงค์ (ปาเลสไตน์อีกฟากที่ปกครองโดยกลุ่มฟาตาห์) เพื่อควบคุมพื้นที่นั้นเลยเป็นโอกาสของฮามาส


3. น่าคิดว่าตลอดหลายปีที่ผ่านมา ฉนวนกาซามีพรมแดน 4 ด้าน 2 ด้านติดกับอิสราเอลซึ่งควบคุมพรมแดนอย่างเคร่งครัดมานานแล้ว ด้านหนึ่งติดทะเลซึ่งอิสราเอลก็ควบคุมน่านน้ำ ด้านหนึ่งติดอียิปต์ซึ่งตอนนี้ปกครองด้วยรัฐบาลทหารจำแลง ซึ่งมองว่ากลุ่มฮามาสเป็นพวกเดียวกับกลุ่มภราดรมุสลิมที่เป็นศัตรูทางการเมืองของฝ่ายทหารอียิปต์ จึงควบคุมพรมแดนอย่างเข้มงวด เช่นเดียวกับด้านที่ติดกับอิสราเอล น่าสนใจมากว่าฮามาสสะสมกำลังอาวุธและวัตถุดิบในการสร้างจรวดได้อย่างไร เอาเข้าทางไหน


4. เรื่องนี้เปลี่ยนแปลงสมดุลในเรื่องภาพลักษณ์ของแต่ละฝ่ายในด้านความขัดแย้ง จากเดิมที่ส่วนใหญ่ถ้าไม่มองอิสราเอลลบก็มองกลาง ๆ กลายเป็นภาพอิสราเอลเป็นบวกมากขึ้น อิสราเอลเคยมีภาพดีขนาดนี้ในช่วงสงคราม 6 วัน ค.ศ. 1967 เนื่องจากคนมองว่าถูกรุม หลังจากนั้นคะแนนภาพพจน์ก็ค่อย ๆ ลดลงเพราะถูกมองว่าไปรุกรานคนอื่น แต่มาวันนี้ การสังหารพลเรือนทำลายความเห็นใจที่คนอาจมีให้ฮามาสลงไปมาก แม้ทางยุทธวิธีถือว่าฮามาสทำได้ดี แต่ทางการเมืองถือว่าเสียหาย และอาจส่งผลต่อการเรียกร้องของชาวปาเลสไตน์โดยรวมที่ต้องการเรียกร้องดินแดนของตัวเองคืน เพื่อมีที่อาศัยหลังจากอิสราเอลสามารถยึดครองดินแดนเหล่านี้


5. ในระยะยาว การที่อิสราเอลจะเข้าไปยึดดินแดนฉนวนกาซาทั้งหมดไม่ได้ง่ายอย่างที่คิด ไม่ต้องพูดถึงเรื่องการปกครอง เคยมีผู้ตั้งรกรากชาวยิวเข้าไปในฉนวนกาซามาก่อน และทหารอิสราเอลส่งกำลังเข้าไป “คุ้มกัน” ผู้ตั้งรกรากเหล่านั้น ปรากฏว่าต้องสู้รบกับชาวปาเลสไตน์ในกาซาอย่างต่อเนื่อง สร้างความสูญเสียให้กับอิสราเอลไม่น้อยจนสุดท้ายในปี ค.ศ. 2005 อิสราเอลหลังจากประเมินแล้วว่าไม่คุ้มจึงเลือกใช้วิธี “ถอนตัว” จากกาซา บังคับให้ชาวยิวออกจากฉนวนกาซาให้หมด แล้วสร้างกำแพงปิดล้อมกาซา ควบคุมคนเข้าออกและสินค้าเข้าออกจากกาซาอย่างเข้มงวด จนทำให้คนปาเลสไตน์ในพื้นที่บางส่วนรู้สึกว่าเหมือนอยู่ในค่ายกักกันเพราะเข้าออกลำบาก ฮามาสจึงสามารถใช้ประโยชน์จากเรื่องนี้ในการขยายความสนับสนุนในพื้นที่ได้ นี่เองทำให้อิสราเอลตัดสินใจใช้วิธีปิดล้อมแทนการบุกสายฟ้าแลบ ไม่เข้าไปในกาซาทันทีทั้งที่โดนลูบคมหนักขนาดนี้

6. แนวทางการเมืองในอนาคตหลังจากสงครามครั้งนี้แล้วคงต้องคิดกันดี ๆ ว่าจะจัดการปัญหากาซาและปาเลสไตน์อย่างไร ให้ทั้งคนปาเลสไตน์และคนยิวแม้จะไม่รักกันแต่อย่างน้อยยังอยู่ด้วยกันได้แบบไม่คับแค้นใจจนเกินไปนัก ซึ่งยอมรับว่ายาก แต่ถ้าทำไม่ได้ หรือเลือกทอดหุ่ย ไม่ทำไปเรื่อย ๆ ก็จะทำให้สายเหยี่ยวทั้งในอิสราเอลและในปาเลสไตน์ยิ่งมีอิทธิพลและความขัดแย้งจะรุนแรงขึ้นเรื่อย ๆ เหมือนที่ปรากฏในวันนี้ครับ


[แผนที่ฉนวนกาซาและพื้นที่ปิดล้อมของอิสราเอลและอียิปต์ทั้งทางบกและทางทะเล โดย United Nations Office for the Coordination of Humanitarian Affairs (OCHA)]


#UDDnews #ยูดีดีนิวส์ #ฮามาส # ฉนวนกาซา #อิสราเอล