วันอังคารที่ 17 ตุลาคม พ.ศ. 2566

ศาลแขวงปทุมวัน พิพากษา “ไผ่-ครูใหญ่-แอมป์-ธานี มีความผิด “พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ - กีดขวางจราจรฯ” เหตุจากการชุมนุมเมื่อ 25ตุลา63

 



ศาลแขวงปทุมวัน พิพากษา “ไผ่-ครูใหญ่-แอมป์-ธานี” ผิด “พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ - กีดขวางจราจรฯ” เหตุจากการชุมนุมเมื่อ 25ตุลา63


เมื่อวานนี้ (16 ตุลาคม 2566)ที่เพจ ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน ได้รายงานว่า เวลา 09.00 น. ศาลแขวงปทุมวันนัดฟังคำพิพากษา ในคดีฝ่าฝืน พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ​, กีดขวางทางสาธารณะและการจราจร ของ “ไผ่” จตุภัทร์ บุญภัทรรักษา (จำเลยที่ 1), “ครูใหญ่” อรรถพล บัวพัฒน์ (จำเลยที่ 2), “แอมป์” ณวรรษ เลี้ยงวัฒนา (จำเลยที่ 3) และ ธานี สะสม (จำเลยที่ 4) จากกรณีชุมนุมปราศรัยเพื่อขับไล่พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา ใน #ม็อบ25ตุลา63 บริเวณสี่แยกราชประสงค์


เวลา 11.45 น. ที่ห้องพิจารณาคดีที่ 710 จำเลยทั้ง 4 คน เดินทางมาศาลพร้อมด้วยทนายความเพื่อฟังคำพิพากษา เมื่อจำเลยมาครบทั้งสี่คนแล้ว สิริมา วิริยะโพธิ์ชัย ผู้พิพากษาเจ้าของสำนวนออกนั่งอ่านคำพิพากษา โดยมีใจความสำคัญสรุปได้ว่า


ก่อนเกิดเหตุ คือในวันที่ 24 ต.ค. 2563 จำเลยที่ 1 ไปร่วมชุมนุมที่หน้าเรือนจำพิเศษกรุงเทพฯ และกล่าวเชิญชวนประชาชนให้มาชุมนุมบริเวณแยกราชประสงค์ในวันที่ 25 ต.ค. 2563 ถือได้ว่า จำเลยที่ 1 เป็นผู้จัดการชุมนุม ซึ่งต้องแจ้งการชุมนุมก่อนการชุมนุมไม่น้อยกว่า 24 ชั่วโมง แต่จากคำเบิกความของพยานโจทก์ ไม่ปรากฏว่าได้มีการแจ้งการชุมนุม


นอกจากนี้การชุมนุมในช่วงเวลาดังกล่าวต้องจัดให้มีมาตรการป้องกันโรค แต่เมื่อจำเลยที่ 1 ขึ้นปราศรัยก็ไม่ได้แจ้งให้ผู้ชุมนุมปฏิบัติตามมาตรการป้องกันโควิด อีกทั้งเมื่อจำเลยที่ 1-4 ขึ้นปราศรัยก็ไม่ได้มีการสวมใส่หน้ากากอนามัย และการชุมนุมไม่ได้มีการเว้นระยะห่าง จึงวินิจฉัยว่า จำเลยที่ 1 เป็นผู้จัดการชุมนุมและไม่ได้จัดให้มีมาตรการป้องกันการแพร่ระบาดของโรค


ส่วนจำเลยที่ 2 - 4 ถึงแม้ว่าในวันที่ 24 ต.ค. 2563 จะไปชุมนุมที่หน้าเรือนจำพิเศษกรุงเทพฯ และปรากฏตัวในที่ชุมนุมในวันที่ 25 ต.ค. 2563 ตามที่จำเลยที่ 1 นัดหมาย รวมถึงยังขึ้นปราศรัยด้วย แต่ทางนำสืบของโจทก์ไม่ปรากฏว่า จำเลยที่ 2-4 พูดนัดหมายให้ไปชุมนุมในเวลาและสถานที่เช่นเดียวกับที่จำเลยที่ 1 กล่าว พยานหลักฐานโจทก์จึงไม่พอฟังได้แน่ชัดว่า จำเลยที่ 2-4 เป็นผู้จัดการชุมนุม


ส่วนในข้อหากีดขวางทางสาธารณะและกีดขวางการจราจร เห็นว่า ในเมื่อการชุมนุมไม่ได้รับอนุญาตตามกฎหมาย การกระทำของจำเลยที่ 1-4 ที่กีดขวางการจราจร เป็นการกระทำโดยไม่จำเป็นและไม่ได้รับอนุญาตจากเจ้าพนักงานจราจร จำเลยที่ 1-4 ยังร่วมกันกระทำการที่เป็นการกีดขวางทางสาธารณะ จนอาจเป็นอุปสรรคต่อความปลอดภัย พยานหลักฐานโจทก์มีน้ำหนักและปราศจากข้อสงสัยว่า จำเลยที่ 1-4 ร่วมกันกระทำความผิดตาม พ.ร.บ.จราจรฯ และประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 385


พิพากษาว่า จำเลยที่ 1 มีความผิดฐานฝ่าฝืน พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ, พ.ร.บ.จราจรฯ และประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 385 เป็นความผิดหลายกรรมต่างกัน ให้ลงโทษทุกกรรมเป็นกระทงความผิดไป ฐานฝ่าฝืน พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ปรับ 5,000 บาท และฐานร่วมกันกระทำการกีดขวางทางสาธารณะและการจราจร เป็นกรรมเดียวผิดต่อกฎหมายหลายบท ให้ลงโทษฐานกีดขวางทางสาธารณะ ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 385 ซึ่งมีโทษหนักที่สุด ปรับ 5,000 บาท รวมปรับ 10,000 บาท


ส่วนจำเลยที่ 2-4 มีความผิดตาม พ.ร.บ.จราจรฯ และประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 385 เป็นกรรมเดียวผิดต่อกฎหมายหลายบท ลงโทษตามมาตรา 385 ปรับคนละ 5,000 บาท


หลังจากศาลอ่านคำพิพากษาเสร็จสิ้น จำเลยทั้งสี่คนได้ไปจ่ายค่าปรับด้วยตนเองทันที


#UDDnews #ยูดีดีนิวส์ #ม็อบ25ตุลา63 #TLHR