ศาล "ยกฟ้อง" ข้อหาทำร้ายจนท. แต่ปรับทำให้เสียทรัพย์ คดีหนุ่ม ปวส. สาดสี-ชกตำรวจ ขณะเปิดเสียง L-RAD ในคาร์ม็อบเชียงใหม่
วันนี้
(15 พ.ย. 2565)
ศาลแขวงเชียงใหม่นัดฟังคำพิพากษาในคดีของ “โอ๊ต” (สงวนชื่อสกุล) นักศึกษา ปวส. วัย
18 ปี
ที่ถูกกล่าวหากรณีสาดน้ำสีและชกที่ใบหน้าเจ้าหน้าที่ตำรวจนอกเครื่องแบบที่ถือลำโพงเครื่องเสียงความถี่สูง
หรือ L-RAD ระหว่างเหตุการณ์ชุลมุนในกิจกรรมคาร์ม็อบ
“ล้านนาต้านศักดินาทัวร์” ครั้งที่ 2 เมื่อวันที่ 29 ส.ค. 2564
ที่บริเวณหน้าประตูทางเข้าศาลากลางจังหวัดเชียงใหม่
คดีนี้จำเลยถูกฟ้องในข้อกล่าวหา
“ต่อสู้ขัดขวางเจ้าพนักงานในการปฏิบัติการตามหน้าที่โดยใช้กำลังประทุษร้าย, ทำร้ายร่างกายเจ้าพนักงานซึ่งกระทำการตามหน้าที่
และทำให้เสียทรัพย์”
เวลาประมาณ
10.30 น. ศาลแขวงเชียงใหม่ได้เริ่มอ่านคำพิพากษาโดยสรุปว่า
ตามฟ้องโจทก์เหตุเกิดวันที่ 29 สิงหาคม 2564 มีการชุมนุมคาร์ม็อบ โดยขบวนรถวนรอบเมืองเชียงใหม่
เจ้าหน้าที่ตำรวจและเจ้าหน้าที่ฝ่ายปกครองมีการประจำอยู่ที่ศูนย์ราชการ
ต่อมามีการปิดประตูทางเข้า – ออก พร้อมใช้เครื่องขยายเสียงประกาศให้ยุติการชุมนุม
และมีเหตุชุลมุนเกิดขึ้น ฝ่ายผู้ชุมนุมพยายามเข้ามาในศูนย์ราชการฯ
แต่เจ้าหน้าที่ไม่อนุญาต ผู้ชุมนุมจึงมีการใช้น้ำสีขว้างปาเข้าใส่เจ้าหน้าที่
ทางตำรวจจึงใช้เครื่องเสียงความถี่สูงเปิดใส่ผู้ชุมนุม
จากนั้นจำเลยได้ต่อยเข้าที่ใบหน้าเจ้าหน้าที่ อันเป็นการต่อสู้ขัดขืนการทำงานของเจ้าหน้าที่
โจทก์ขอให้จำเลยชดใช้ความสินไหมทดแทนเป็นจำนวนเงิน 12,000
บาท
จำเลยให้การปฏิเสธ
นำสืบว่าที่เข้าร่วมการชุมนุม
เพราะเห็นถึงการบริหารวัคซีนโควิดของรัฐบาลนั้นไม่มีประสิทธิภาพและเรียกร้องเรื่องการประกันตัวของนักโทษทางการเมือง
การชุมนุมจำเลยมีหน้าที่ดูแลมวลชน
ส่วนการใช้ลูกโป่งน้ำนั้นก็เป็นวิธีการโดยสันติวิธี
จำเลยเห็นว่าการที่เจ้าหน้าที่ใช้เครื่องเสียงพิเศษนั้นไม่ถูกต้อง
การที่จำเลยชกเจ้าหน้าที่ไปนั้นเป็นการป้องกันตัว
อีกทั้งผู้ร้องใส่ชุดนอกเครื่องแบบ ทำให้ไม่ได้แสดงตัวว่าเป็นเจ้าพนักงานตำรวจ
ศาลเห็นว่าจำเลยเป็นผู้ใช้น้ำสีและชกผู้ร้อง
ซึ่งผู้ร้องได้รับหน้าที่ให้รับผิดชอบในการถือเครื่องเสียงคลื่นความถี่สูง
ถือเป็นการทำให้ทรัพย์เสียหายและเป็นการขัดขวางการทำงานของเจ้าหน้าที่
ส่วนประเด็น
“ทำร้ายร่างกาย”
จำเลยได้ทำการชกเจ้าหน้าที่ 1 ครั้ง
และเมื่อมีการตรวจสอบการวินิจฉัยของแพทย์
ผู้ร้องได้รับบาดเจ็บบริเวณปลายคางและคอด้านซ้าย
พบว่าผู้ร้องได้รับบาดเจ็บเล็กน้อย สามารถรักษาหายได้ใน 3
วัน ไม่ถึงขนาดเป็นการทำร้ายร่างกายเจ้าพนักงานขณะปฏิบัติหน้าที่
ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 296
ประเด็นที่จำเลยอ้างว่า
ไม่ทราบว่าผู้ร้องเป็นเจ้าพนักงานนั้น
การที่ผู้ร้องได้ร่วมเข้าไปหาและพูดคุยห้ามปรามกับเหล่าผู้ชุมนุม
จำเลยย่อมเห็นผู้ร้องเข้ามาพูดคุย ทั้งผู้ร้องมีเครื่องเสียงความถี่สูงอยู่กับตัว
ดังนี้การที่จำเลยอ้างว่าไม่ทราบว่าเป็นเจ้าพนักงานนั้นฟังไม่ขึ้น
ประเด็นเรื่องการป้องกันตัว
จำเลยมีการใช้น้ำสีขว้างปาและชกเจ้าหน้าที่
เห็นได้ว่าเจ้าหน้าที่ไม่ได้เปิดเครื่องเสียงความถี่ต่ำในทันทีเมื่อผู้ชุมนุมมาถึงจุดเกิดเหตุ
เมื่อผู้ชุมนุมปาลูกโป่งน้ำเจ้าหน้าที่จึงเปิดใช้เครื่อง
จำเลยจึงไม่อาจกล่าวอ้างว่าเป็นการป้องกันตัว หรือโดนบังคับให้ต้องทำ
เหตุเนื่องจากจำเลยเข้าร่วมชุมนุมและเป็นเหตุให้เจ้าหน้าที่ต้องใช้เครื่องมือดังกล่าว
ความผิดฐานทำให้เกิดความเสียหายต่อเสื้อผ้าผู้ร้องมีสิทธิเรียกร้อง
และสามารถเรียกดอกเบี้ยตั้งแต่ วันที่ 8 กุมภาพันธ์ 2565
ศาลพิพากษายกฟ้องข้อหาทำร้ายร่างกายเจ้าพนักงาน
แต่ลงโทษในข้อหาทำให้เสียทรัพย์และต่อสู้ขัดขวางเจ้าพนักงาน
เนื่องจากเป็นกรรมเดียวผิดกฎหมายหลายบท ลงโทษบทหนักสุด คือ ทำให้เสียทรัพย์
ให้ลงโทษปรับจำเลย 1,500 บาท แต่เนื่องจากขณะเกิดเหตุจำเลยอายุเพียง 18 ปี
เห็นควรให้ลดโทษปรับเหลือ 1,200 บาท
ประกอบกับจำเลยให้การเป็นประโยชน์ต่อการพิจารณา จึงลดโทษลงอีก คงเหลือปรับ 800 บาท
นอกจากนี้ศาลให้จำเลยชดใช้ค่าสินไหมทดแทน
เป็นค่าเสื้อผ้าของเจ้าพนักงานตำรวจที่เสียหายจากการถูกสีน้ำ เป็นจำนวนเงิน 2,000 บาท
พร้อมดอกเบี้ยร้อยละ 5 ต่อปี นับตั้งแต่วันที่โจทก์ร้อง
ส่วนค่าเสียหายต่อจิตใจเนื่องจากโจทก์ไม่นำสืบเข้ามา ศาลจึงยกค่าเสียหายส่วนนี้
ภายหลังจำเลยจ่ายค่าปรับ
จำนวน 800
บาท ต่อศาล ซึ่งได้รับความช่วยเหลือจากกองทุนราษฎรประสงค์
โอ๊ตก็ได้รับการปล่อยตัวกลับ โดยจะต้องไปดำเนินการจ่ายค่าเสียหายให้กับเจ้าหน้าที่ตำรวจ
สภ.ช้างเผือก ผู้ร้อง เป็นเงินจำนวน 2,000 บาท
พร้อมด้วยดอกเบี้ยตามคำพิพากษาต่อไป
ที่มา
: เพจ ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน
#UDDnews #ยูดีดีนิวส์ #TLHR