วันเสาร์ที่ 5 พฤศจิกายน พ.ศ. 2565

เสวนา "เสรีภาพกับราคาที่ต้องจ่าย" ซัด เห็นต่างกับผู้มีอำนาจก็ถูกดำเนินคดีได้ ทั้งถูกคุกคามยันครอบครัว ชี้ เกินไปไหมให้ประกันแบบใช้หลักทรัพย์และติด EM พ่วงเงื่อนไข นักกิจกรรมเผย EM สร้างบาดแผลทั้งกายและใจ

 


เสวนา "เสรีภาพกับราคาที่ต้องจ่าย" ซัด เห็นต่างกับผู้มีอำนาจก็ถูกดำเนินคดีได้ ทั้งถูกคุกคามยันครอบครัว ชี้ เกินไปไหมให้ประกันแบบใช้หลักทรัพย์และติด EM พ่วงเงื่อนไข นักกิจกรรมเผย EM สร้างบาดแผลทั้งกายและใจ 


วันนี้ (5 พ.ย. 65) ที่ The Jam Factory เขตคลองสาน กรุงเทพฯ ในส่วน Cartel Artspace กลุ่มโมกหลวงริมน้ำ, พรรคไฟเย็น, สถาบันปรีดี พนมยงค์, มูลนิธิผสานวัฒนธรรม ร่วมจัดนิทรรศการ "คืนยุติธรรม" : Dawn Of Justice" เพื่อเรียกร้องความเป็นคน ให้ผู้เรียกร้องสิทธิเสรีภาพและผู้สูญหายจากการเคลื่อนไหวทางการเมือง และเรียกร้องให้มีการคืนความยุติธรรม ตามกระบวนการทางกฎหมายและหลักสิทธิมนุษยชน 


สำหรับเวลา 12.30 - 14.30 น. มีการเสวนาเรื่อง #เสรีภาพกับราคาที่ต้องจ่าย หัวข้อ การถูกดำเนินคดี


วงเสวนาที่พูดถึง การต่อสู้เพื่อสิทธิในสังคมที่ไม่เคารพสิทธิ์ มักมีราคาที่ต้องจ่ายเสมอ และราคาที่ต้องจ่ายนั้น อาจเป็นราคาที่ไม่ใช่เงินทอง แต่มาในรูปแบบอื่น


ซึ่งหนึ่งในราคาที่ประชาชนในสังคมไทยกำลังต้องจ่าย เมื่อออกมาเรียกร้องสิทธิเสรีภาพคือ “การถูกดำเนินคดี”


โดยมีผู้ร่วมเสวนาได้แก่ น.ส.กุณฑิกา นุตจรัส หรือทนายทราย ทนายความที่ว่าความในคดีซึ่งประชาชนและนักกิจจกรรมถูกกล่าวหาว่ากระทำผิดทางอาญา, น.ส.อรวรรณ ภู่พงษ์หรือแบม ผู้ถูกดำเนินคดีจากการติดสติ๊กเกอร์บนโพลสำรวจ, มนูญ วงษ์มะเซาะห์ เจ้าหน้าที่ฝ้ายรณรงค์ แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล ประเทศไทย ในแคมเปญ ปล่อยเพื่อนเรา FREERATSADON และ หิน ทะลุแก๊ซ นักเคลื่อนไหวทางการเมือง ผู้ถูกดำเนินคดี และถูกคุมขังกว่า 3 เดือน ดำเนินรายการโดย แทนอุทัย แท่นรัตน์ 


น.ส.อรวรรณ กล่าวว่า กำไล EM ส่งผลต่อชีวิตประจำวัน ส่งผลต่อการทำงาน ขณะนี้ตนว่างงานอยู่และการใส่กำไล EM ก็มีผลต่อการสมัครงาน ทำให้สามารถทำงานได้เป็นจ็อบสั้น ๆ อีกทั้ง มีแผลพุพอง เนื่องด้วยเวลาวิ่งจะตีที่ตาตุ่ม หรือเหงื่อออกก็จะเสียดสี ส่งผลผลกระทบต่อจิตใจด้วย


การโดนคดี ไม่สามารถปิดปากในสิ่งที่เราจะพูดต่อไปได้ ยิ่งเราโดนคดี มันไม่ได้แปลว่าเราจะแพ้ แต่คือแรงผลักดันอย่างหนึ่ง ที่ทำให้เรามีชีวิตต่อไป เพื่อสู้กับความอยุติธรรมในประเทศนี้ ซึ่งมันคือการเปลี่ยนทั้งประเทศ นี่คือสิ่งเรากำลังต่อสู้อยู่ น.ส. อรวรรณ กล่าว 


ด้าน หิน ระบุว่า โดนคดี วันที่ 14 มิถุนายน ที่ผ่านมา เป็น พ.ร.ก.ฉุกเฉิน พ.ร.บ.การชุมนุม พ.ร.ก.มั่วสุม สั่งให้เลิกแล้วไม่เลิก ประทุษร้ายเจ้าหน้าที่เกิน 10 คนขึ้นไป โดยมองว่านี่เป็นเสรีภาพในการที่จะออกมาชุมนุมเรียกร้อง แต่เจ้าหน้าที่กลับมองว่าเราเป็นบุคคลที่สร้างความวุ่นวายโดยไม่ฟังเหตุผลในสิ่งที่เราต้องการอธิบาย พยายามที่จะยัดเยียดในส่วนของข้อกล่าวหาต่าง ๆ ให้กับเรา


ถูกคุมขังกว่า 3 เดือนและได้ประกันตัว พร้อมติดกำไล EM ก็มีผลกระทบทั้งการทำงาน และสภาพจิตใจ รวมถึงความเจ็บปวดของร่างกาย กำไลที่ใส่เบอร์เล็กกว่าข้อเท้าจึงทำให้ถูกบีบและเป็นแผลถลอก มีคนแนะนำว่าให้ใส่ถุงเท้า น้องที่โดนคดีด้วยกันใช้วิธีห่ออีเอ็ม ลองหลายครั้งแล้วไม่ได้ มันแน่นไป เดินเร็วไม่ได้ จะมีอาการปวดเหมือนเดิม


หิน ยังได้เล่าว่า ถูกคุกคามถึงบ้าน เจ้าหน้าที่นอกเครื่องแบบไปนั่งเฝ้าหน้าบ้านป้าบ้านยาย ทำให้ผู้ใหญ่ในบ้านไม่สบายใจและรู้สึกไม่ปลอดภัย ซึ่งตนเองก็รู้สึกสงสัยว่าทำไมถึงต้องส่งคนไปเฝ้าครอบครัว ทั้งที่ครอบครัวไม่ได้ผิดอะไร ไม่ได้เป็นนักโทษ 


ตนเป็นคนที่มีฐานะยากจนคนหนึ่ง ซึ่งเป็นเสาหลักของบ้าน หลังจากไปเยี่ยมยายที่ป่วย ป้าก็บ่นเพราะเป็นห่วง ถามว่า "เมื่อไหร่จะได้ถอดกำไลบ้า ๆ นี่ จะตามติดชีวิตเราไปถึงไหน" ซึ่งเป็นบางครั้งที่เราก็คิดเหมือนกันว่าจะเลิกไหม ชีวิตเราจะไปต่อได้ไหม แต่ก็เลือกที่จะยืนหยัด ในฐานะนักกิจกรรมที่ต่อสู้ทางการเมือง โดยสายเลือด ผมไปร่วมชุมนุมเพราะเห็นคนไทยกำลังจะตาย เห็นพี่น้องหลาย ๆ จังหวัด ที่ออกมาต่อสู้ นั่นคือสิ่งที่นึกแล้ว ก็หยุดที่จะต่อสู้ ไม่ได้ หิน กล่าว


ในส่วนของ น.ส.กุณฑิกา กล่าวว่า คดีที่เป็นความเห็นต่างทางการเมือง ไม่ใช่คดีที่รุนแรงก็ตั้งคำถามเหมือนกันว่าทำไมจะต้องติดกำไล EM จะเห็นว่าขณะนี้การจะประกันแต่ละทีก็คือทั้งหลักทรัพย์ด้วย ติดกำไล EM ด้วย พร้อมบวกเงื่อนไขด้วย บางคนถูกกักขังที่บ้านเป็นเวลา 24 ชั่วโมง คือให้ประกันออกจากเรือนจำแต่คุมตัวไว้ที่บ้าน ก็ต้องตั้งคำถามว่าเป็นการลิดรอนสิทธิเสรีภาพหรือเปล่า ถ้าศัพท์ทางกฎหมายจะเรียกว่า "เกินสัดส่วน"


น.ส.กุณฑิกา ยังกล่าวอีกว่า กฎหมายไทยถ้าพูดแบบเอารัฐธรรมนูญมาเลย ต้องทำใจประเทศเราเป็นประเทศที่มีรัฐธรรมนูญมาเยอะมาก มากขณะที่ฝรั่งร้องว้าว แต่มันก็ยังมีคำที่ยังมีอยู่เช่น มีสิทธิ มีเสรีภาพ มีคำหรู ๆ เช่นนิติธรรม และคำอื่น ๆ และในประเทศไทยบังเอิญว่ามีอย่างอื่นอยู่ด้วย เช่น ระบบการปกครองแบบคนไทย คือระบบมันขัดแย้งกันเองในตัว เราพยายามจะบอกให้เด็กมีความกล้าคิด กล้าทำ กล้าแสดงออก มีความสร้างสรรค์ และมั่นใจกล้าที่จะแสดงความเห็นต่าง แต่พอมาวันหนึ่งเรากลับมองเด็กเหล่านั้นเป็นเด็กดื้อ เพราะมันไปด้วยกันไม่ได้กับระบบที่เป็นอยู่ ไม่ได้เกี่ยวข้องกับตัวบทแล้วนะ แต่เวลาเราพิจารณาในกระบวนการยุติธรรมไทยเราพิจารณาถึง 2 สิ่งร่วมกัน ไม่ว่ากฎหมายจะเขียนมาดีขนาดไหน มันคงเป็นไปไม่ได้ถ้าการบังคับใช้มันไปไม่ถึง


คุณอาจจะเป็นนักกิจกรรมที่สังคมมองว่าดื้อ ทั้งที่คุณคาดหวังในสิ่งที่พูดไม่ได้ทำให้ประเทศแย่ ออกมาเคลื่อนไหวก็เพื่อให้ประเทศดีขึ้น เปลี่ยนแปลงไปสู่สิ่งที่ดีกว่า สุดท้ายก็ถูกดำเนินคดี


คุณคาดหวังกระบวนการยุติธรรมที่ดีที่ไปต่อได้ ที่คำนึงถึงสิทธิเสรีภาพ บทที่ดีอาจจะต้องควบคู่กับคนที่มีคุณภาพ แต่ก็ต้องกลับไปในเรื่องที่ว่าเราก็ต้องสร้างสังคมใหม่ที่ดีกว่าสังคมเก่า ก็เลยต้องมีเด็กที่กล้าพูดกล้าแสดงความที่เห็นต่าง คดีที่เกี่ยวกับความคิดทางการเมืองไม่ควรจะเอาบุคคลเหล่านี้ไปจองจำ เพราะฉะนั้นเราจะพูดได้อย่างไรว่ารัฐธรรมนูญของเราให้สิทธิเสรีภาพ สนับสนุนความเห็นต่างทางความคิด


ฝากถึงนักกิจกรรมนักเคลื่อนไหวที่ถูกเจ้าหน้าที่คุกคามให้เก็บข้อมูลว่าเขามาในลักษณะไหน ตำรวจยังเก็บข้อมูลนักกิจกรรมเลย ดังนั้นนักกิจกรรมก็ต้องเก็บข้อมูลเหล่านี้ไว้ด้วย โดยเฉพาะในเรื่องของการบันทึกภาพ ซึ่งตนเห็นความหวังในตัวของคนรุ่นใหม่ จึงได้มาทำงานตรงนี้ ทนายกุณฑิกา กล่าว 


ขณะที่ "มนูญ" เจ้าหน้าที่ฝ่ายรณรงค์ แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล ประเทศไทย กล่าวว่า วัตถุประสงค์การติดกำไล EM เพื่อลดความแออัดของผู้ต้องขังในเรือนจำ แต่การนำมาติดกับผู้เห็นต่างทางการเมืองหรือนักโทษทางความคิด พร้อมกับการตั้งเงื่อนไขที่ไม่ได้สัดส่วน เกินขอบเขตจึงชัดเจนว่ารัฐพยายามสร้างความกลัว ให้กับกลุ่มนักกิจกรรมหรือนักเคลื่อนไหวทางการเมือง สิ่งที่เรามองเห็นว่าการติดกำไล EM และการจำกัดสิทธิเสรีภาพของประชาชนที่ออกมาใช้สิทธิเสรีภาพในการแสดงออกหรือการประท้วงโดยสงบ คือสิ่งที่รัฐสร้างความกลัวเพื่อไม่ให้ประชาชนออกมาเคลื่อนไหว ไม่ว่าจะเป็นการสร้างเงื่อนไขที่เกินขอบเขตไม่ว่าจะเป็นการให้ต้องอยู่บ้าน 24 ชั่วโมง แม้กระทั่งจะต้องกลับเข้าเคหะสถานก่อนกี่โมงกี่โมง สิ่งเหล่านี้ส่งผลกระทบอย่างมากมายไม่ว่าจะเป็นในด้านอาชีพการงานที่บางคนต้องทำงานในเวลากลางคืน บางคนที่ต้องเดินทางไปต่างจังหวัดในการทำภารกิจหรือทำมาหากิน ถือเป็นการจำกัด Freedom of movement หรือเสรีภาพการเคลื่อนไหวของเขาด้วย


สถิติของการดำเนินคดี ในประเทศไทยที่เกี่ยวกับเสรีภาพการแสดงออกและการชุมนุมโดยสงบถือว่ามีค่อนข้างมาก มีคดี ใน จำนวน 1,864 คน ใน 1,145 คดี จากตัวเลขปลายปี 2563 ที่มีการชุมนุมใหญ่ และพูดในประเด็นสังคม เช่น ปฏิรูปสถาบันฯ เหล่านี้ถ้ามองในมุมมองของสิทธิมนุษยชนก็เป็นสิ่งที่ย่อมกระทำได้ แม้กระทั่งรัฐธรรมนูญปี 60 เองก็เขียนเอาไว้เช่นกัน ตัวรัฐไทยเอง เป็นพันธกรณีระหว่างประเทศ ในอนุสัญญาต่าง ๆ ซึ่งทั้งหมด 9 ฉบับ ไทยลงนามไป 7 ฉบับ หนึ่งในนั้นก็มีการลงนามไปในกติกาสากลระหว่างประเทศเช่นกัน หรือ ICCPR (กติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง) ลงนามตั้งแต่ 29 ตุลาคม 2539 ซึ่งต้องมีผลบังคับใช้แล้ว สิทธิเหล่านี้ เป็นสิทธิเสรีภาพในการแสดงออกและการชุมนุมประท้วงด้วยความสงบของประชาชน จึงเป็นสิทธิที่พึงกระทำได้ การใช้กฎหมายปิดปากหรือกฎหมายที่จะควบคุมเสรีภาพของประชาชนถือเป็นสิ่งที่รัฐไทยไม่ปฏิบัติตามพันธกรณี


ถ้ามองในภาพของกระบวนการยุติธรรมในเวลานี้ มีเรื่องที่ต้องย้ำเตือนผู้มีอำนาจทั้งหลายว่า จำเป็นจะต้องยึดหลักการของสิทธิมนุษยชน โดยเฉพาะหลักการที่ต้องสันนิษฐานไว้ก่อนว่าพวกเขายังเป็นผู้บริสุทธิ์ เรื่องสิทธิประกันตัวต่าง ๆ ของผู้ที่ยังอยู่ในเรือนจำซึ่งถือว่าเป็นสิ่งสำคัญมาก ๆ ต้องมองในเรื่องของสิทธิมนุษยชนเพื่อที่จะตอบโจทย์ การปฏิบัติตามพันธกรณี ซึ่งก็จะถูกลดการตั้งคำถามจากภาคประชาชน หน่วยงานระหว่างประเทศ รวมถึงประชาคมโลก ในเรื่องของการลิดรอนสิทธิเสรีภาพ ด้วย


ในส่วนของแอมเนสตี้เอง ก็ได้เรียกร้องให้รัฐไทยปฏิบัติตามพันธกรณีทั้งในเรื่องการคืนสิทธิประกันตัวให้กับนักโทษทางความคิดหรือผู้ต้องขังระหว่างพิจารณาคดี


เมื่อครั้งที่แอมเนสตี้ ทำแคมเปญ FREERATSADON #ปล่อยเพื่อนเรา เมื่อต้นปี 2564 ที่เกิดจากปัญหาที่มีนักกิจกรรมถูกคุมขังมากขึ้น สิ่งที่มองเห็นลึกไปกว่านั้น คือการอดอาหารประท้วงในเรือนจำที่กระทบกับชีวิตของ และการรักษาพยาบาลในเรือนจำด้วย จึงเริ่มทำแคมเปญนี้เพื่อสื่อสารองค์กรระหว่างประเทศและประชาคมโลก ว่ารัฐไทยกำลังละเมิดสิทธิมนุษยชนอยู่ หลังจากที่เริ่มแคมเปญนี้มาแอมเนสตี้เองก็ถูกคุกคามและโดนถล่มอย่างหนัก และโดนในเชิงที่ถูกภาครัฐกดดัน แต่ทั้งนี้ทาง แอมเนสตี้ ก็ยังยืนยันและยืนหยัดว่าสิทธิเสรีภาพในการชุมนุมและการแสดงออกขุมนุมประท้วงด้วยความสงบ เป็นสิทธิขั้นพื้นฐาน ที่ตัวรัฐเองต้องยอมรับว่าคุณเซ็นอนุสัญญาไว้ต่าง ๆ นา ๆ ซึ่งต้องปฏิบัติตามพันธกิจเหล่านั้น จริง ๆ แล้วประเทศไทยเป็น 40 ประเทศแรก ๆ ที่เข้าไปร่วมร่างปฏิญญาสากลระหว่างประเทศด้านสิทธิมนุษยชนด้วยซ้ำ มนูญ เจ้าหน้าที่จากแอมเนสตี้ กล่าว 


สำหรับวงเสวนานี้เป็นส่วนหนึ่งของ นิทรรศการ “คืนยุติธรรม” นิทรรศการที่เรียกร้องความเป็น “คน” ให้แก่ผู้เรียกร้องสิทธิเสรีภาพและผู้สูญหาย โดยจัดให้เข้าชมในวันที่ 3 - 6 พฤศจิกายน 2565 ที่ The Jam Factory (คลองสาน)


#คืนยุติธรรม #DawnOfJustice #โมกหลวงริมน้ำ #UDDnews #ยูดีดีนิวส์